​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๕๑ : ความลับผู้ป่วย จริยธรรมของแพทย์


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๕๑ : ความลับผู้ป่วย จริยธรรมของแพทย์

วิชาชีพแพทย์ว่าด้วยการเยียวยาผู้คน การเยียวยาผู้คนเป็นศักยภาพที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ไม่เพียงแค่เรามี "ระบบภูมิคุ้มกัน" ที่สามารถเยียวยาปกป้องตนเองได้ มนุษย์ยังสามารถเยียวยาซึ่งกันและกันได้อีกด้วย การเยียวยาในที่นี้หมายถึงการบรรเทาคลายทุกข์ ไม่จำเป็นต้องใช้ยา ผ่าตัด หรือฉายแสงอะไร

วิชาชีพแพทย์นั้นใช้ศักยภาพที่ว่านี้เป็นพื้นฐาน และขยายออกด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆเพิ่มเข้าไป เพื่อจัดการกับความทุกข์ทางกายที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นสิ่งแรกที่แพทย์จะต้องทำก่อนเริ่มการรักษานั่นคือการ "วินิจฉัย (diagnosis)" ว่าเป็นอะไรก่อน

การวินิจฉัยเป็นศิลปศาสตร์ที่ละเอียดอ่อน เพราะเป็นการประมวลข้อมูลชีวิตของคนเบื้องหน้าอย่างละเอียด ผสมรวมกับการตรวจร่างกายของผู้ป่วย นำไปเปรียบเทียบกับองค์ความรู้ที่สั่งสมกันมาตลอดในประวัติศาสตร์ความเจริญ ศิวิไลซ์ของมนุษย์ว่า "น่าจะเป็นอะไร" หมอจึงต้องมีการถามคำถามอะไรมากมายที่คนธรรมดาจะไม่ใช้กันในบทสนทนาทั่วๆไป กับคนที่พึ่งเจอะเจอกันเป็นครั้งแรก อาทิ
@ ประจำเดือนครั้งสุดท้ายมาเมื่อไรครับ?
@ ตกขาวของคุณมีลักษณะยังไงบ้างครับ มากหรือน้อย มีกลิ่นไหม?
@ คุณมีเพศสัมพันธ์กับใครในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ไหมครับ?
@ ถ่ายอุจจาระครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ครับ?
@ นอนกรนมากไหมครับ?
@ ถ่ายปัสสาวะพุ่งดีไหมครับ?
ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่อง "ส่วนตัว" เป็นเรื่องที่ "น่าละอายที่จะพูดกับคนแปลกหน้า" มากมาย แต่แพทย์จะได้รับ "อภิสิทธิ์" (แปลว่า "สิทธิอันยิ่งใหญ่") ที่ถามได้ แถมยังได้รับคำตอบด้วย ไม่ว่าจะฟังละลาบละล้วงแค่ไหน หรือบางคำถามถ้าไม่ใช่แพทย์ถาม อาจจะถูกตบได้!!!

ที่คนไข้ยอมให้ถาม และยอมร่วมมือตอบ ไม่ใช่เพราะถูกสะกดจิต แต่กำลังมอบสิ่งหนึ่งที่มีค่ามากมายที่สุดที่คนๆหนึ่งสามารถจะมอบให้อีกคนหนึ่งได้ นั่นคือ "ความหวัง ความไว้วางใจและความศรัทธา"

ความหวังเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่สุด นั่นคือ หวังว่าถ้ายอมให้ถาม ถ้ายอมตอบ ยอมร่วมมือให้หมอตรวจร่างกาย ขนาดบางครั้งต้องเปลื้องเสื้อผ้าออกทั้งหมด ให้หมอจับ คลำ ล้วง บางทีถึงกับใช้นิ้วล้วงเข้าไปในทวารหนัก ฯลฯ ที่คนใกล้ชิดสนิทสนมที่สุดในชีวิต ยังไม่เคยอนุญาตให้ทำอะไรแบบนี้เลยนั้น หมอคนที่ทำ จะนำเอาข้อมูลที่ได้ "ไปทำให้เขาหายทุกข์"

นี่คือเหตุผลเดียวที่ทำให้หมอมีอภิสิทธิ์ดังกล่าว

แล้วความไว้วางใจ ความศรัทธาในเรื่องอะไร?

ก็ในเรื่องที่ว่าข้อมูลที่ได้ไปนั้น ขอให้หมอนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความทุกข์ของเขาเท่านั้น อย่าไปไปโพทนา โฆษณา หรือนำไปเผยแพร่ใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างจำเพาะเจาะจงเด็ดขาด เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัวบ้าง เป็นเรื่องน่าละอายบ้าง เป็นเรื่องความทุกข์ของเฉพาะครอบครัวบ้าง ฯลฯ สำคัญขนาดเป็นหนึ่งในจริยธรรมหลักของวิชาชีพแพทย์ ได้แก่ autonomy beneficence non-malefience justice veracity และข้อสุดท้ายคือ "confidentiality การรักษาความลับผู้ป่วย"

เราทุกคนมีเรื่องราวส่วนตัว เรื่องราวที่ไม่ใช่ธุระองการอะไรของคนอื่นๆ จะมาเสือกสู่รู้ และเมื่อหมอได้รับอภิสิทธิ์เช่นนี้ ควรจะสำนึกลงไปในกมลสันดานให้ดีว่า เรามีหน้าที่ต่ออภิสิทธิ์เช่นนี้ รักษาไว้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่เพื่องให้วงการวิชาชีพเรายังคงมีอภิสิทธิ์ที่ว่านี้ต่อไป นำไปวินิจฉัยโรค ทำงานของเราให้ลุล่วงไปได้

ความไว้วางใจ และความศรัทธานั้นสร้างยาก สร้างเย็น เดชะบุญที่เราได้บรรพบุรุษแพทย์ พยาบาล ค่อยๆสร้างขึ้นมาหลายสิบ หลายร้อย generations และเรื่องแบบนี้สร้างยากก็จริง แต่ล่มสลายง่ายกว่ากันเยอะ ปัญหาก็คือ ตอนสร้างว่าสร้างยากแล้ว แต่สร้างใหม่หลังจากมันล่มลงไปครั้งหนึ่ง ยิ่งยากเป็นทวีคูณ ร้อยเท่า พันเท่า เพราะไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่คราวนี้เริ่มจากติดลบ

ในยุคนี้ที่คนสูญเสียความเคารพในความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นไป ยิ่งสุ่มเสี่ยงมากขึ้นในการทำงาน (ซึ่งเดิมก็ยากพออยู่แล้ว) หากเราไม่ได้มีสติให้ดีตลอดเวลา หากคิดว่าเรื่องราวของผู้ป่วยน่านำมาเล่าเพื่อประโยชน์ผู้อื่น เราสามารถจะเล่าโดยที่ไม่มีการ identify หรือบอกจนคนทราบว่าเป็นใคร แต่เล่าถึงลักษณะอาการ อาการแสดง หรือเรื่องราวที่อยากจะสื่อในแง่วิชาการเท่านั้นได้

เมื่อเร็วๆนี้ก็มีข่าวนักศึกษาแพทย์เมกซิกัน หรือรัสเซีย ที่โพสต์รูป selfie ตนเองกับคนไข้บ้าง กับเตียงเปื่อนเลือดคนไข้บ้าง และถูกองค์กรวิชาชีพทำโทษทันทีอย่างเด็ดขาด และรวดเร็ว เพื่อรีบซ่อมแซมความไว้วางใจของสาธารณชนต่อวงการวิชาชีพ เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หรือเรื่องที่จะปล่อยให้ลืมๆกันไปเอง

ประเด็นสำคัญคือ ไม่ใช่เพราะมันอยู่ในวิชาจริยธรรม เลยต้องปฏิบัติตามไปเป็นนกแก้ว นกขุนทอง แต่มันสะท้อนถึงทัศนคติว่า แท้ที่จริง เรา "มองเห็นและเคารพในความเป็นมนุษย์" ชองผู้อื่นแค่ไหน หรือจริงๆแล้วเราไม่เคยใส่ใจในเรื่องแบบนี้เลยกันแน่ บางคนก็อาจจะรู้แต่ในทฤษฎี แต่ไม่สำเนียกในนัยยะสำคัญของเรื่องนี้แต่อย่างใด เปรียบเสมือนท่องบ่นพระไตรปิฏกได้หมดเล่ม แต่ไม่เคยปฏิบัติ แถมยังล้อเลียน ประชดประชันกันเสียอีก

ปล่อยปละละเลยไปมากๆ อย่าแปลกใจที่นับวันเราจะทำงานยากขึ้น ทะเลาะกับคนไข้และญาติมากขึ้น หันไปพึ่งพากฏหมายบ้าง กฎระเบียบบ้าง ออกข้อพึงปฏิบัติต่างๆนานาบ้าง เพื่อกลบเกลื่อนพฤติกรรมที่ไร้ปัญญาของคนบางคน เพื่อกลบเกลื่อนความด้อยทักษะในการสื่อสาร เพื่อกลบเกลื่อนความพร่องในจริยธรรม จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ กลบเท่าไรก็ไม่มีวันพอ

เพียงรักษาไว้ซึ่งธัมมะแห่งวิชาชีพนั้นก็เกินพอแต่แรกแล้ว ถามตนเองดูอีกทีสิว่า เรายังเชื่อฟังในพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกอยู่อีกหรือไม่

น.พ.สกล สิงหะ
เขียนที่บ้านพักแพทย์ พ.๓๑ หลังอ่างเก็บน้ำ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วันพุธที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๙ เวลา ๒๑ นาฬิกา ๓๖ นาที
วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 599785เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2016 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2016 21:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท