บริจาคโลหิต : ง่ายงามในนิยามเพื่อสังคมของคน "มมส"


เป็นคนละประเด็นกับการมาบริจาคโลหิต เพื่อนำไปสะสมชั่วโมงกิจกรรมตามนโยบายการกู้ “กยศ.” นะครับ เพราะมุมมองส่วนตัวของผม -ผมมองว่านิสิตควรลงทุนอะไรที่มากกว่านี้สักหน่อย ขนาด “ผู้นำนิสิต” จากองค์กรต่างๆ ที่มาขอทุนการศึกษาในวาระต่างๆ ซึ่งมีทั้งที่เป็นทีมทำงานหลักในเรื่องนี้และเป็นผู้ที่ท่องสัญจรไปบริจาคโลหิตในเวทีที่เราๆ ท่านๆ จัดขึ้น ก็แทบจะไม่เคยเห็นใครหยิบยกเอาเรื่องบริจาคโลหิตมาเป็นเครดิตเพื่อขอรับทุน !






นี่เป็นอีกวันที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้จัด “กิจกรรมอันง่ายงาม” ตามปรัชญา/เอกลักษณ์/อัตลักษณ์ และค่านิยมของการเป็นนิสิต มมส -

นั่นก็คือกิจกรรมการ “บริจาคโลหิต” อันเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับภาคส่วนของรัฐ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม โรงพยาบาลมหาสารคาม และเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม



กิจกรรมเช่นนี้จัดต่อเนื่องมายาวนานมาก-

เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผมเคยวิเคราะห์และปักหมุดว่าเป็นงานที่ตอบโจทย์เอกลักษณ์ของ “มมส” ในอีกช่องทางหนึ่ง นั่นก็คือ “การเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน”

ส่วนนิสิต ก็ตอบโจทย์อัตลักษณ์ของการเป็น “ผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน”

รวมถึงตอบโจทย์ค่านิยมนิสิต ที่หมายถึง “พึ่งได้” (MSU FOR ALL) คือการพึ่งตนเองได้และเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้



กิจกรรมบริจาคโลหิต เป็นกิจกรรมแห่งการบ่มเพาะความเป็น “ผู้ให้” อย่างไม่ต้องกังขา เป็นกิจกรรม “ง่ายงาม” ในนิยามของการ “แบ่งปัน-เกื้อกูล” ต่อเพื่อนมนุษย์

ครับ-ง่ายงาม เพราะไม่ต้องลงทุนลงแรงด้วยเม็ดเงินให้มากนัก หรือไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปให้ไกลสุดกู่

เป็นความง่ายงามที่ไม่จำเป็นต้องแสดงการให้ผ่าน “วัตถุสิ่งของ” ที่แตะต้องได้ทางกายภาพและรูปธรรม ซึ่งวันหนึ่งก็เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา

แต่ความง่ายงามในเชิงนามธรรมเช่นนี้ คือความง่ายงามที่ถูกขับเคลื่อนออกจากภายในออกสู่ภายนอก ก่อเกิดเป็นความอิ่มเอมสถิตมั่นในจิตใจและความทรงจำของผู้ให้เอง

รวมถึงการ “พลิกวิกฤตของผู้รับ” อย่างยิ่งใหญ่ เพราะการให้เช่นนี้ มีมิติของการ “ให้ชีวิต” อยู่ในตัว



ครับ-ผมเห็นภาพความสุขฉายชัดจากดวงตาของนิสิตและบุคลากรที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้อย่างเด่นชัด

ถึงบางคนจะไม่ “ชูนิ้ว” เพื่อบอก “สู้ๆ ....สู้ตายค่ะ” ก็เถอะ

แต่ความเบิกบานบนดวงหน้าและแววตาก็ยืนยันหนักแน่นว่า “อิ่มสุข...และรื่นรมย์เป็นที่สุด”

การบริจาคโลหิตครั้งนี้ ฟันเฟืองสำคัญพลิกจากระดับ “คณะ” มาเป็น “องค์กรนิสิต” ในกลุ่มด้านวิชาการและนิสิตสัมพันธ์

ใช่ครับ-ผมกำลังสื่อสารอย่างสุภาพว่ามีปัญหาบ้างเล็กน้อยเกี่ยวกับความไม่พร้อมในบางประการจากองค์กรหลักในระดับนโยบาย

ดีหน่อยที่การหนุนเสริมของ “พี่เลี้ยง” จาก “กองกิจการนิสิต” ไม่ได้ละเลยและจำนนต่ออุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ

ตรงกันข้ามกลับทะเยอทะยานที่จะหนุนเสริมเชื่อมต่อให้กิจกรรมอันดีงามและง่ายงามเหล่านี้ดำเนินการต่อเนื่องต่อไปโดยไม่สะดุด และหยุดชะงัก



ครับ-องค์กรนิสิต ขยับมาช่วยเป็นเจ้าภาพร่วมกัน

ไม่ว่าจะเป็นประชาสัมพันธ์ จัดเตรียมสถานที่ จดบันทึกข้อมูล ฯลฯ

โดยทุกกิจกรรมล้วนดำเนินการร่วมกับบุคลากรจากส่วนกลาง –

และในทุกกระบวนการก็หมายถึงการซ่อนกระบวนการบ่มเพาะสู่การเรียนรู้เรื่องจิตอาสา –จิตสาธารณะไว้อย่างเนียนๆ




ว่าไปแล้ว-ผมยังอยากให้ในทุกๆ เวทีที่จัดกิจกรรมนี้มีนิสิตจากคณะพยาบาลศาสตร์ แพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ หรือสาธารณสุขศาสตร์ หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านมาร่วมปฏิบัติการในเรื่องเหล่านี้เสียด้วยซ้ำ เพราะจะได้ฝึกวิชาชีพตนเองไปในที

นี่อาจจะเป็นแนวคิดหนึ่งที่ควรหยิบจับมาพูดคุยพัฒนาระบบและกลไกของการจัดกิจกรรมนี้ก็เป็นได้

ผมไม่อยากให้ทำไปตามระบบและธรรมเนียมนิยมจนเกินไป โดยไม่เห็นกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องขึ้นเป็นลำดับขั้น



และโดยเฉพาะองค์กรนิสิตทั่วทั้งมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรบริหารนั่นแหละที่ควรต่อการขับเคลื่อนงานเหล่านี้ กิจกรรมตามแผนงานหลักที่เป็นประเพณีที่มักเทงบประมาณก้อนโตๆ แต่ก็ยากไม่ใช่ย่อยต่อการประมวลผลลัพธ์คืนกลับมาเป็นรูปธรรม ซึ่งผมก็ยังเห็นด้วยว่าควรทำต่อไป แต่หากมีเวลาก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนงานง่ายๆ และง่ายงามทำนองนี้ด้วยเหมือนกัน

และเท่าที่ผ่านมาต้องปรบมือให้ “สภานิสิต” เพราะเป็นองค์กรบริหารหลักที่ทำเรื่องนี้นำร่องคู่ไปกับสโมสรนิสิตในแต่ละคณะ

ที่เหลือคือการถอดรหัสกระบวนการมีส่วนร่วมให้ชัดเจนว่า การงานเหล่านี้ในระดับคณะ มีระบบและกลไกร่วมระหว่างบุคลากรคณะกับสโมสรนิสิตคณะเช่นใด เป็นส่วนหนึ่งกันอย่างไร หรือแยกส่วนกัน

รวมถึงเป็นคนละประเด็นกับการมาบริจาคโลหิต เพื่อนำไปสะสมชั่วโมงกิจกรรมตามนโยบายการกู้ “กยศ.” นะครับ เพราะมุมมองส่วนตัวของผม -ผมมองว่านิสิตควรลงทุนอะไรที่มากกว่านี้สักหน่อย

ขนาด “ผู้นำนิสิต” จากองค์กรต่างๆ ที่มาขอทุนการศึกษาในวาระต่างๆ ซึ่งมีทั้งที่เป็นทีมทำงานหลักในเรื่องนี้และเป็นผู้ที่ท่องสัญจรไปบริจาคโลหิตในเวทีที่เราๆ ท่านๆ จัดขึ้น ก็แทบจะไม่เคยเห็นใครหยิบยกเอาเรื่องบริจาคโลหิตมาเป็นเครดิตเพื่อขอรับทุน !



สำหรับสถิติการบริจาคโลหิตในครั้งนี้ (วันที่ 11 มกราคม 2559) ได้จำนวนทั้งสิ้น 21,200 ซีซี (53 คน)

ครั้งถัดไป มีโปรแกรมจิตอาสา ดังนี้ นะครับ

  • วันที่ 14 มกราคม 2559 โดย วิทยาลัยการเมืองการปกครอง
  • วันที่ 20 มกราคม 2559 โดย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์


หมายเหตุ : ภาพโดย เยาวภา ปรีวาสนา และทีมงาน



หมายเลขบันทึก: 599344เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2016 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2016 13:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบใจการเสียสละ

ทีมทำงานบริจาคก่อนเลย

ขอบคุณมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท