ชีวิตที่พอเพียง ๒๕๖๕. สวนอังกฤษ



รายการทีวีของ บีบีซี ชื่อ British Gardens in Time มี ๔ ตอน ให้ทั้งความรู้ทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และให้ความสดชื่นจากความงามของต้นไม้และดอกไม้

ตอนที่ ๑ พาชมสวน Great Dixterและเล่าเรื่องนักจัดสวนที่มีวิธีคิดและหลักการต่างๆ กัน ทำให้เกิดสวนหลากหลายแบบ และแม้แต่ในสวนเดียว ก็มีหลายโซน ที่เมื่อเข้าไป ให้ความรู้สึกแตกต่างกัน

เรื่องราวของ Great Dixter เชื่อมโยงกับครอบครัว Lloyd ที่มีลูกชายคนเล็กชื่อ Christopher Lloyd ที่เป็นนักทำสวน (gardener) ที่ยิ่งใหญ่ โดยได้รับอิทธิพลมาจากแม่ เรื่องราวในตอนที่ ๑ ช่วงท้ายๆ ที่อธิบายสไตล์การออกแบบสวน การปลูกไม้ดอกแบบฉีกแนว ที่ทำให้ได้สุนทรียทางสายตาที่แตกต่างจากเดิม เช่น sunken garden ทำให้คนบอดศิลปะอย่างผมได้เรียนรู้วิธีชมสวนไม้ดอก วิธีสังเกตความงาม จากความรกในสวนที่เขาจัดๆ กัน

แล้ว Christopher Lloyd ก็มีชื่อเสียง จากการออกแบบสวนที่เขารับมรดกมาจากแม่ ความมีชื่อเสียงทำให้ Beth Chatto นักทำสวนและนักเขียนหญิงผู้ยิ่งใหญ่ เขียนจดหมายมาหา และกลายเป็นเพื่อนกัน โดยที่สวนของ Beth Chatto มีบุคลิกต่างออกไป และผมชอบสวนของเธอมากกว่า และชื่นชมที่เธอจัดสวนให้เข้ากับสภาพภูมิศาสตร์ของที่ดินของสามีซึ่งแห้งแล้ง นำไปสู่ dry garden ที่แทบไม่ต้องรดน้ำเลย และต้องการการดูแลน้อยมาก

ตอนที่สองเป็นเรื่องสวนที่ใหญ่โตมโหฬารของ Stowe Landscape Gardens ผมได้สัมผัสรายการทีวีที่ไม่ใช่แค่ถ่ายรูปและอธิบายเรื่องสวน แต่มีเรื่องราวในประวัติศาสตร์เชื่อมโยงเข้ามาด้วย ทำให้ได้ความรู้หลายด้าน สวนสโตว์นี้ อายุกว่าห้าร้อยปี และออกแบบให้ขับความโอ่อ่าของคฤหาสให้เด่น และทรงอำนาจ บอกความร่ำรวยและทรงอำนาจของเจ้าของ ที่ซื้อตำแหน่งขุนนางจากพระเจ้าแผ่นดิน

ผมได้รู้จัก landscape gardenหรือ English Park ซึ่งที่จริงได้ไปเดินชมมาไม่น้อย แต่ไม่รู้หลักการออกแบบ หลากหลายสไตล์ และได้รู้ว่า การออกแบบสวนของคนใหญ่คนโตในบ้านเมืองสมัยนั้น ก็มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้นักออกแบบสวนอังกฤษพยายามฉีกแนวไปจากสวนฝรั่งเศส และหันไปมองแบบตะวันออก ผมจึงได้ตระหนักว่า น้ำ สะพาน และความงามที่สะท้อนจากพื้นน้ำ มาจากสวนญี่ปุ่น

นวัตกรรมการออกแบบที่ Stowe นำไปสู่การออกแบบสระน้ำ Serpentine ที่ Hyde Park ในลอนดอน

ผมได้เรียนรู้เรื่องการออกแบบสวนให้ “เล่าเรื่อง” และได้เรียนรู้เรื่องราวการต่อสู้ทางการเมืองสมัยสามร้อยปีก่อน เชื่อมโยงกับเรื่องสวนและสถาปัตยกรรมที่เล่าเรื่องราวในสวนนี้

Stowe กว้างใหญ่ขึ้น และท่านดยุคเจ้าของก็ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และหน้าใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเชิญเสด็จควีนวิกตอเรียและพระสวามีมาเยือนและพักที่ Stowe โดยจ่ายไม่อั้นในด้านการตกแต่งเพื่อรับเสด็จ จนหลังเสด็จไม่กี่ปี ท่านดยุคก็ถังแตก และต้องให้บริษัทมาจัดดำเนินการประมูลขายเครื่องเรือนและชิ้นงานศิลปะต่างๆ และต่อมาก็ต้องขายทั้งสวนและปราสาท เวลานี้กลายเป็นโรงเรียนประจำ

ตอนที่สาม เป็นเรื่องของ Biddulph Grange Gardenที่สร้างโดย James Bateman ผู้คลั่งใคล้ในต้นไม้และกล้วยไม้ เขาเขียนและพิมพ์หนังสือกล้วยไม้ที่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และหายากที่สุดด้วย เพราะพิมพ์เพียง ๑๕๐ เล่ม แต่ตอนหลังมีการพิมพ์ฉบับที่ขนาดเล็กลง หนังสือนี้สร้างชื่อเสียงแก่เขา และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนที่คลั่งใคล้แบบเดียวกัน ได้รับรู้เรื่องราวของคนที่คลั่งใคล้เรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ผมนึกถึงการศึกษา ที่ช่วยส่งเสริมให้คนมีไฟต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

คนเราต้องการเพื่อนคู่หู คนบ้าต้นไม้ย่อมต้องการเพื่อนที่บ้าเรื่องเดียวกัน Bateman อายุ ๒๓ ปี จึงเขียนจดหมายไปหา Lord Rothchild ผู้ร่ำรวย สูงส่ง และบ้าสวนและต้นไม้ ทำให้ทั้งสองเป็นเพื่อนกัน จากเรื่องของ Lord Rothchild ผมได้เรียนรู้วิวัฒนาการของเรือนกระจกที่แสนจะแพงในสมัยนั้น ที่ต่อมามีการสร้าง Crystal Palace อันเลื่องชื่อ

สวนของ Batemen สวย มีเสน่ห์ เพราะมีนักทำสวน นักออกแบบ และนักวาดรูปอย่าง Edward William Cooke ลักษณะจำเพาะของสวนนี้คือ มีส่วนแยกเป็นสวนประจำชาติหรือประจำเขตภูมิศาสตร์ เช่น สวนหิมาลัย สวนจีน ทั้งๆ ที่เจ้าของแะผู้ออกแบบไม่เคยเดินทางไปในประเทศเหล่านั้นเลย แต่สวนก็สวย มีเสน่ห์ และมีความหลากหลาย

ชื่อเสียงของ James Batemen ยิ่งขจรขจายจากหนังสือที่เขียนโดย Edward Kemp แต่ในที่สุด Batemen ก็ทนหนี้สินไม่ไหว และต้องขายบ้านและสวนในที่สุด หลังจากนั้นเกิดไฟไหม้บ้าน และเปลี่ยนมือเจ้าของ กลายเป็นโรงพยาบาล สวนทรุดโทรม และในที่สุด The National Trust เข้าไปดูแล และฟื้นสภาพให้ใกล้เคียงสภาพเดิม

จากคำอธิบายของนักจัดสวน ผมได้เรียนรู้ว่า การจัดสวนมีความหมายลึกๆ นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างสาวนประกอบต่างๆ ของสวนแล้ว สวนยังเชื่อมโยงสู่ความเข้าใจความหมายของโลกในภาพรวม

ตอนที่สี่ ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย เป็นเรื่องของ Nymansซึ่งเขาบอกว่าเป็นสวนสไตล์ Edwardian คือมีการจัดเป็นตอนๆ (compartment) เริ่มสร้างโดยเศรษฐีชาวเยอรมันเชื้อสายยิวที่ไปตั้งรกรากในอังกฤษ สวนนี้ก็เช่นเดียวกันกับสรรพสิ่งต่างๆ ในโลก ที่ต้องประสบอุปสรรค ความยากลำบาก และภัยอันตรายรอบด้าน ตั้งแต่สงครามโลก ระหว่างเยอรมันกับอังกฤษ ไฟไหม้ พายุพัดต้นไม้โค่นไปกว่า ๔๐๐ ต้น และในที่สุดก็เหมือนสวนอื่นๆ อีก ๓ แห่ง ต้องตกไปอยู่ใต้การดูแลของ National Trust เพราะการดูแลสวนขนาดใหญ่โตเช่นนี้ ต้องสิ้นเปลืองอย่างยิ่ง

หลังจากชม ดีวีดี ๔ ตอนนี้แล้ว ต่อไปหากได้ไปชมสวนอีก ผมจะมีวิธีมองหาความงามและคุณค่าของสวนได้อย่างมีเป้าหมายมากกว่าเดิม

ขอขอบคุณ อ. หมอปรีดา มาลาสิทธิ์ ที่เอื้อเฟื้อ ดีวีดี ชุดนี้



วิจารณ์ พานิช

๕ ธ.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 598794เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2015 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ธันวาคม 2015 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท