การเดินทางลงชายแดนใต้ในครั้งล่าสุดของผม


"แป๊ะลงไปเยี่ยมอินเทิร์น ๓ จังหวัดได้ไหม" อาจารย์กระแตโทรศัพท์เข้ามาหาในช่วงบ่ายแก่ๆวันหนึ่ง

ได้ยินมาตามสายเช่นนั้นก็พลันหลับตานึกภาพที่ต้องเจอ

ด่านทหารตลอดเส้นทาง

รั้วลวดหนามขึงกางบนถนนและข้างทาง

รถทหาร ทหาร

ถนนเป็นหลุม

ระเบิด

ฯลฯ

แต่ผมก็ตอบตกลงไป บ่นไป ทำไมต้องเป็นผม ผมต้องปิดร้านอีกแล้ว ยิ่งช่วงนี้คนไข้ยิ่งเยอะอยู่ วันนึงก็ตั้ง ๓-๔ คน ขาดรายได้ กะว่าจะรวยสักหน่อย

แต่อันที่จริง "ปอดแหก"

งานนี้พวกผมในฐานะอาจารย์แห่งโรงเรียนแพทย์ภาคใต้ ได้รับมอบหมายจากแพทยสภา ให้ลงมาประเมินโรงพยาบาลที่รับแพทย์อินเทิร์นมาปฏิบัติงาน ว่าแต่ละแห่งนั้นจัดการฝึกงานให้ลูกศิษย์เป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ ทีมของผมซึ่งนำโดยอาจารย์กันยิกา จึงต้องลงมาเยี่ยมโรงพยาบาลปัตตานี โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก

๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ เวลา ๘ โมงเช้า เราจึงเดินทางออกจากคณะแพทย์ฯ

ฤกษ์ไม่ดีตั้งแต่เช้า เพราะผมเกือบทำให้ทีมสาย เนื่องจากต้องขับรถไปส่งลูกสาวที่โรงเรียนก่อน แต่เนื่องจากวันนี้รองนายกรัฐมนตรีจะเดินทางมามอบนโยบายอะไรสักอย่างที่ศูนย์ประชุม ทำให้เขาปิดการจราจรที่ใช้สัญจรเป็นประจำ ไม่รู้ว่าเพื่อการรักษาความปลอดภัยหรืออย่างไร รถจึงต้องวิ่งบนถนนใหญ่ทุกคัน ติดกันวินาศสันตะโร คิดไปแล้วก็หงุดหงิดใจ น่าจะให้ท่านไปมอบนโยบายกันที่ยะลา คนที่มาส่งลูกที่โรงเรียนและคนที่สัญจรแถวนี้จะได้ไม่ต้องเดือดร้อน (ประหนึ่งว่าอยู่กรุงเทพ)

เรามาถึงโรงพยาบาลปัตตานีสายกว่ากำหนดไปราวครึ่งชั่วโมง เพราะว่ารถมาติดมากอีกครั้งก่อนเข้าจะนะ ทีแรกก็คิดว่าคงจะเป็นการรักษาความปลอดภัยให้รองนายกฯ แต่เอ๊ะ นี่มันเป็นขาลงนี่หว่า ไม่ได้เข้าหาดใหญ่สักหน่อย มาถึงบางอ้อก็ผ่านไปเกือบครึ่งชั่วโมง เขาซ่อมถนนอยู่นี่เอง

เข้าปัตตานีก็ราว ๑๐ โมงเช้า

ผมไม่ได้มีเรื่องราวหนหลังกับปัตตานีมากนัก ต่างจากเมีย ที่เมื่อพูดถึงปัตตานีทีไร เธอจะเคลิ้มไปถึงช่วงวัยรุ่น ครั้งที่มีเพื่อนฝูงอันเป็นที่รักมากมาย และโรงเรียนสมัยมัธยม แต่สำหรับผม ปัตตานีคือสถานที่ที่ผมเคยขับรถพาพ่อมาดูมัสยิดใหญ่ที่อยู่ในเมือง ตอนนั้นไม่ได้ขับเลยออกไปดูถึงกรือเซะหรอก จำไม่ได้ว่าเพราะอะไร เพราะนั่นมันเมื่อปี ๒๕๔๐ กระมัง

ถึงโรงพยาบาล ท่านรองผู้อำนวยการกรุณาลงมาต้อนรับและนำคณะเราเข้าห้องประชุม ต้องเดินผ่านแผนกผู้ป่วยนอกที่มีคนไข้รอตรวจอยู่อย่างล้นหลามตามสไตล์โรงพยาบาลประจำจังหวัด เราได้คุยกับคุณหมออินเทิร์น ๑๔ คน จบมาจาก ม.อ.จากโครงการแพทย์เพื่อชาวชนบทส่วนหนึ่ง โครงการแพทย์เพื่อ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ส่วนหนึ่ง และจบมาจากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ส่วนหนึ่ง จากนั้นก็คุยกับบรรดาแพทย์ผู้ต้องคอยดูแลหมอใหม่จากแผนกต่างๆ จบด้วยการเลี้ยงอาหารเที่ยงในห้องอาหารของโรงพยาบาล และการได้เจอเพื่อนสมัยเรียนหมอด้วยกัน เธอเป็นหมอดมยาอยู่ที่นั่น แค่นี้ก็ทำให้รู้สึกว่า การมาปัตตานีคราวนี้มีคุณค่าน่าจดจำ

เราออกจากโรงพยาบาลสายกว่ากำหนดการไปราวเกือบชั่วโมง จุดหมายต่อไปก็คือโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ครับ

เลี้ยวหัวรถกลับออกทางเดิม ได้มีโอกาสตั้งใจชมบ้านเรือนในเมืองปัตตานี โรงเรียนของเมือง ทั้งสายสามัญและสายอาชีพอยู่ติดถนนใหญ่ ได้เห็นป้ายร้านสะดวกซื้อขึ้นไปอยู่บนผนังโรงเรียนคู่กับป้ายชื่อโรงเรียน (มีคนในรถบอกว่า เขาคงเป็นสปอนเซอร์สร้างตึกหลังนั้นกระมัง) เห็นตึกแถวสีจัดจ้านบริเวณแถวหน้าโรงแรมซีเอส แล้วรถก็เลี้ยวขึ้นถนนใหญ่มุ่งสู่นราธิวาส

ผมเพลิดเพลินกับการมองข้างทาง ได้สังเกตเห็นว่าพื้นที่ชานเมืองปัตตานีมีดงต้นสาคูอยู่เป็นกลุ่มใหญ่อยู่ตามรายทาง ความเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำยังดีอยู่ ผมผ่านศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่อยู่คู่กับมัสยิดกรือเซะ เสียดายที่เวลามันบีบคั้น มิฉะนั้นจะลงไปชมเสียให้หายอยาก เคยอ่านแต่ในหนังสือ เคยดูแต่ภาพข่าว แต่นั่นไม่น่าจะสะใจเท่ากับการลงไปเดินลูบดิน ดมกลิ่นฝุ่น และไหว้ศาลเจ้า ผมคิดไว้อย่างนั้นครับ แล้ววันหนึ่งผมจะกลับมา

ผมพยายามถ่างตาครับ อยากจะดู ๒ ข้างทาง ที่ไม่ค่อยคุ้นตา สมัยก่อนเคยลงมาเที่ยว แต่ในฐานะคนขับรถ จึงไม่ค่อยได้ดูข้างทางมากนัก ตอนนี้เป็นคนนั่ง จึงอยากจะชมทิวทัศน์เสียบ้าง แต่มารู้สึกตัวตื่นอีกทีก็เมื่อเราเข้าสู่เขตเมืองนราธิวาสเรียบร้อย

พื้นที่เขตอำเภอเมืองดูสะอาดดีครับ รถราไม่ขวักไขว่มาก มีอาคารบางกลุ่มดูค่อนข้างโบราณ บางบ้านเป็นบ้านไม้มีลายฉลุบริเวณชายคาสวยงามตามแบบมลายู สวยจริงๆนะครับ นึกในใจว่า หากคืนนี้ได้นอนที่นี่ก็คงจะดี ตื่นเช้ามาจะได้กินอาหารแขก นึกแล้วก็น้ำลายไหล โรตีมะตะบะ ข้าวยำ อีกทั้งขนมที่คนเขานำมาโชว์ใน facebook ชาชัก กาแฟโบราณ คิดไปจนลืมไปว่า อันที่จริง คืนนี้เราต้องนอนที่สุไหงโก-ลกต่างหาก

เรามาถึงโรงพยาบาลนราธิวาสฯในเวลาเกือบ ๓ โมง ท่านผู้อำนวยการวิชัยได้มาต้อนรับในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะท่านติดภาระกิจต้องเดินทางไปต่างจังหวัด พี่หมอเจ๊ะและพี่หมออมรา เป็นหัวหน้าทีมในการต้อนรับและรับฟังการตรวจเยี่ยม ทั้ง ๒ ท่านนี้เป็นกำลังสำคัญในเรื่องการจัดระบบการเรียนการสอนของที่นี่

สถานการณ์ของโรงพยาบาลนราฯค่อนข้างวิกฤต มันวิกฤตตรงที่ไม่มีศัลยแพทย์ประจำ ขณะนี้ทางส่วนกลางได้ช่วยส่งหมอศัลย์ลงมาช่วยงาน ท่านมาจากโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า นับว่าน่าเห็นใจมาก เนื่องจากที่นี่เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด มีผู้ป่วยจำนวนมาก รับการส่งต่อมาจากโรงพยาบาลชุมชน การมีหมอศัลย์เพียงคนเดียวแบบนี้ถือว่ามีความเสี่ยง รุ่นน้องคนหนึ่งบอกผมว่า "หมอศัลย์ต้องหากินเป็นฝูง" หากมีเพียงคนเดียว เขาย่อมอยู่ไม่ได้ อยู่ไม่ไหว แต่เมื่อมีความขาดแคลน ก็มีเรื่องดีๆอื่นๆมาทดแทนได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นศัลยแพทย์กระดูกของที่นี่สามารถช่วยผ่าตัดในบางเรื่องได้ อันนี่ต้องนับถือจิตใจของท่านจริงๆ

คุณหมออินเทิร์นที่นี่ดูมีความสุข เพราะสวัสดิการของโรงพยาบาลจัดไว้ให้อย่างดี หมอแผนกต่างๆที่เหลือต่างก็ลงมาช่วยเหลือ กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะทีมสูตินรีแพทย์

ผมถามน้องๆออกไปว่า "ออกไปจากนราฯ เมื่อไปอยู่ที่โรงพยาบาลชุมชน พวกเธอทำงานในห้องคลอดกันได้ไหม"

"สบายมาก" พวกน้องๆตอบ และหากมีปัญหา พี่ๆสูติแพทย์ที่นี่สามารถรับปรึกษาและรับส่งต่อได้ทันที

อันนี้ผมจึงรู้สึกขอบคุณอย่างจริงใจ

ทีมของเราต้องออกจากโรงพยาบาลนราฯเวลา ๕ โมงเย็นเพื่อไปสุไหงโก-ลกกันต่อ

อากาศช่วงเย็น เย็นสบาย แสงแดดเริ่มอ่อนแรงลง คราวนี้ผมไม่หลับครับ เพราะ ๒ ข้างทางที่ออกจากนราฯนั้นสวยงามจริงๆ ในช่วงที่รถขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำบางนรานั้น ผมชำเลืองเห็นศาลาหลังคา ๖ หรือ ๘ เหลี่ยมขนาดเล็กหลังหนึ่งตั้งอยู่ริมน้ำ มันดูดีและโดดเด่น ท่ามกลางป่าโปร่ง และพื้นที่ชุ่มน้ำ "โอ้โห มันโคตรโรแมนติกเลย" ผมแอบอุทานในใจ

ผมรู้สึกว่าพื้นที่ชุ่มน้ำของนราฯยังมีอยู่มากและค่อนข้างสมบูรณ์ครับ มีป่าเสม็ดอยู่ข้างทางกินพื้นที่ยาวหลายกิโลเมตร สลับกับผืนนาเป็นช่วงๆ มีความชุ่มชื้นที่สัมผัสได้ มีสมาชิกในรถท่านหนึ่งเปรยออกมาว่า "นี่คงเป็นเพราะมีการก่อการร้ายกระมัง ที่มันทำให้พื้นที่ยังเขียวอยู่มาก ไม่มีสิ่งที่บ่งบอกถึงความเจริญ แต่ขัดสายตาถูกก่อสร้างขึ้นมา" ถึงตรงนี้ ไม่รู้จะดีใจ สุขใจ หรือว่าเศร้าใจดี

ถึงสุไหงโก-ลก เวลา ๖ โมงเย็นเศษๆ แวะเข้าไปเก็บของในโรงแรมเกนติ้ง และเข้าโรงพยาบาลต่อเลย

ท่านผู้อำนวยการไม่อยู่ครับ นั่นเพราะติดภาระกิจเดียวกันกับอีกทั้ง ๒ โรงพยาบาลที่ผ่านมาในวันนี้

ทางโรงพยาบาลจัดอาหารจากโรงแรมมารับรอง ปลากระพงทอดน้ำปลากินกับยำมะม่วง ส้มตำยอดมะพร้าว สลัดกุ้ง กุ้งทอดกระเทียมและพริกขี้หนู เป๋าฮื้อผัดผัก และข้าวผัด คือเมนูที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ อารามคงหิวกันถ้วนหน้า ทั้งอาจารย์และลูกศิษย์จึงจัดการกันจนอิ่มหนำ และตบปากอีกรอบด้วยโรตีจิ้มนมข้นหวาน

"พุงปลิ้น" ความหิวโหยได้ทำร้ายคนไปหลายคน

การทำงานที่ก็ดูลูกศิษย์มีความสุขดี ยิ่งการได้มาหมุนเวียนในแผนกอายุรกรรม ซึ่งมีพี่จบใหม่มาหมาดๆนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะคุณหมอทั้ง ๒ ท่านที่มาใหม่กำลังไฟแรงสุดๆ สอนมาก ให้ทำงานมาก และที่สำคัญคือ ไม่ทอดทิ้งกัน และอีกแผนกที่ได้คะแนนไปมากมายท่วมท้นก็คือ การลงมาทำงานในห้องฉุกเฉิน ที่มีคุณหมอจรุงวิทย์เป็นหมอเวชกรรมฉุกเฉินทำงานอยู่ น้องๆเล่าว่า "คิดอะไรไม่ออกให้บอกพี่จรุงวิทย์" ประโยคนี้คงทำให้เรามองภาพออกว่าคุณหมอคนนั้นเป็นเช่นไร

ไฮไลท์ของโรงพยาบาลแห่งนี้สำหรับผมคงหนีไม่พ้นการได้พบรุ่นพี่อันเป็นที่รักตั้ง ๓ คน พี่ชัยวัฒน์ หมอสูติฯผู้อยู่โดดเดี่ยวมานานกว่า ๘ ปี (เอาเวลามาบวกรวมกันครับ มิใช่ ๘ ปีย้าวยาว) พี่ชวน หมอเด็กคู่ชีวิตหมอคนแรกที่เอ่ยถึง และพี่พรประสิทธิ์ ศัลยแพทย์กระดูก ที่เมื่อครั้งที่ท่านมาเรียนอยู่ที่ม.อ.นั้น ผมเป็นลูกน้องติดหอยสร้อยตามอยู่ (เอ๊ะ ติด สอย ห้อย ตาม ต่างหากนิ) คนนี้เก่งจริงครับ สมัยเรียนเคยได้รางวัลระดับประเทศด้วย

งานประชุมเลิก ๓ ทุ่มครึ่ง แต่งานเสวนากลุ่มย่อยที่จบไม่ลงเพราะความคิดถึงนั้นลากเวลาเรายาวมาจนถึง ๔ ทุ่มเศษ จึงได้ฤกษ์ร่ำลากัน

เราจบการทำงานกันแบบลากยาวมาจนดึกเชียวครับ แต่ก็รู้สึกดี มีความสุข ที่ดีและสุขก็เพราะได้พบเพื่อนร่วมวิชาชีพที่ยังคงทำงานกันอย่างเอาเป็นเอาตาย จริงอยู่ ที่ความเหนื่อยล้านั้นจะทำร้ายและทำลายความมุ่งมั่นของพวกเขาลงไปมากบ้าง น้อยบ้าง แต่มาถึงตอนนี้ก็พออุ่นใจได้ว่า คนไข้ของพวกเขายังคงมีที่พึ่งยามเจ็บป่วยได้ตามอัตภาพ

ผมปิดทริปการเดินทางลงชายแดนครั้งนี้ด้วยการออกเดินตลาดยามเช้าข้างโรงแรม ผมได้ซื้อเห็ดโคนมาลองปรุงกินที่บ้านกำหนึ่ง หยิบมะนาวคางคกมา ๔ ลูก แม่ค้าเขาว่าให้เฉือนกินจิ้มเกลือเหมือนมะขามสด และผมยังได้ขมิ้นมาอีกกำนึง และเมื่อถึงเวลาเราก็ขึ้นรถไปกินมื้อเช้าที่ร้าน "อ้วนบะกุ๊ดเต๋"

ร้านนี้ไม่ธรรมดา เพราะเป็นต้นตำหรับของบะกุ๊ดเต๋ของที่นี่ เขาใส่เครื่องบะกุ๊ดเต๋มาในหม้อใบใหญ่ หมู หมู ๓ ชั้น หางหมู กีบตีนหมู ไส้ ไต เครื่องในหมู หอยเชล หน่อไม้ทะเล ผักกาดขาวและเห็ดหลากชนิดมันถูกพอกมาจนพูนหม้อ โดยมีเครื่องเคียงเป็นซุปไก่สกัด (ที่พวกเราไม่ยอมให้เขาผสมลงมา) ปาท่องโก๋ และข้าวสวย

มันเป็นสุดยอดของทริปนี้จริงๆ ขอบอก

ธนพันธ์ รักชายแดนด้วยความหวงและห่วงใย

บันทึกการเดินทาง ๒๑-๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 598758เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2015 19:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2015 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นสองวันที่"โคตรจะคุ้ม" เลยนะคะนี่ นับถือจริงๆ

ผมชอบนราธิวาส ปัตตานีและยะลา

เพิ่งลงไปช่วยที่ยะลา สะบ้าย้อยสงขลามาครับ

ชอบใจการทำงานของคุณหมอ เอาภาพที่ยะลามาอวดด้วย

น่าอยู่มากๆ

https://www.gotoknow.org/posts/594849

https://www.gotoknow.org/posts/594898

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท