จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๔๕: มิได้มีเพียงเราคนเดียวที่รักคนไข้


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๔๕: มิได้มีเพียงเราคนเดียวที่รักคนไข้

ปัญหาประการหนึ่งที่ค่อนข้างยากเวลาดูแลผู้ป่วยระยะท้ายคือความซับซ้อนของ ปัญหาหลายมิติที่เชื่อมโยงถึงกันและกันทั้งหมด เรื่องปัญหาทางกาย ใจ จิตสังคม และจิตวิญญาณ และกอปรกับการที่การแพทย์ตะวันตกนั้น เรา "จัดแบ่ง" การดูแลเป็นเชิงระบบแยกส่วน บางทีก็แยกกันจนเป็นท่อนๆ จนทำให้การนำมาประกอบกันใหม่นั้นไม่เนียน หรือพาลประกอบกลับไม่ได้ก็มี ทางออกประการหนึ่งคือ " การดูแลด้วยสหสาขาวิชาชีพ (multidisciplinary care)" ที่เป็นแบบบูรณาการ (integral care) บางคนก็อยากจะเรียกให้มันมีความหมายแตกต่างจากแค่ "มีหลายๆคนมาดู" ก็จะเรียกเป็น "inter-disciplinary care" ฟังดูทำให้แต่ละสาขาที่มาช่วยกันนั้น มีปฏิสัมพันธ์ถึงกันและกันบ้าง ไม่ใช่มาลูบคลำเฉพาะท่อนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญแต่เพียงอย่างเดียว

ในทางปฏิบัติก็เกิดปัญหาว่า เดี๋ยวนี้ศาสตร์ของการแพทย์เฉพาะทางมันลงลึกซึ้งมาก ซึ่งข่าวดีก็คือเราสามารถที่จะให้การดูแลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการ "รู้ลึก รู้จริง" นี้อย่างมากมาย แพทย์เฉพาะทางจึงเป็นที่นิยม ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดในวสันตฤดู ข่าวไม่ค่อยจะดีก็คือ ยิ่งรู้ลึกด้านหนึ่ง เรายิ่งขาดความมั่นใจในด้านอื่นๆ เพราะตามไม่ทัน มีการค้นพบยาใหม่ๆ การรักษาใหม่ๆ ของแต่ละสาขาเกิดขึ้นตลอดเวลา พอหมดความมั่นใจเข้า หมอๆก็หดไปอยู่ใน safe zone คือพื้นที่คุ้นชินที่เราเชี่ยวชาญ ไม่อยากจะออกไปไหนนอกพื้นที่

ผลกระทบคือ คนไข้ขาด "เจ้าของไข้" ที่จะดูทั้งตัว เพราะเราดันมีแต่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะท่อนไปเสียแล้ว

ทางแก้ที่ใช้ก้นอยู่ก็คือการมีเจ้าของไข้นั่นแหละ ที่ต้องเป็นคนรับผิดชอบดูทั้งตัว แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเป็นคนประสานงาน ประสานข้อมูล จากผู้เชี่ยวชาญหลายๆสาขาออกมาเป็น care plan ที่ดีที่สุด เรื่องนี้ต้องใช้ทักษะการสื่อสารที่ดีมากเพียงพอ

หลายปีก่อนได้มีโอกาสสนทนากับ Professor David Currow เป็นโปรแกรมไดเรคเตอร์ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบ palliative care ที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ถามแกว่าแกมีปัญหาอะไรเกี่ยวกัยการดึงเอาคนหลายๆ experts มาทำงานบ้างไหม และแก้ยังไง แกก็พูดสิ่งที่น่าสนใจมากขึ้นมา
"แน่นอน เราเจอปัญหาอย่างที่ทุกคนเจอนั้นแหละ"
"แล้วแก้ยังไงล่ะครับ"
"ตอนแรกเราก็ไม่พอใจมากเลยนะ ที่ทำมั้ย ทำไม พวกหมอเชี่ยวชาญเนี่ย ถึงได้ดูแต่ท่อนที่อยากจะดู ไม่ยอมไปดูครบทุกมิติ (อย่างฉัน)"
"มากๆเข้าเราพาลคิดสรุปไปว่าไอ้พวกนี้เป็นหมอที่ไม่เป็นองค์รวมเอาซะเลย (สู้ฉันไม่ได้)"
"จนกระทั่งเราได้มาตระหนักว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำนั้น ต้องมาจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารับรู้"
"จนกว่าเราเห็น/ได้ยิน รับรู้ทั้งหมด เราถึงจะทำอย่างที่เราทำ"
"เราเลยลองเปลี่ยนยุทธศาสตร์ ขอใช้วิธีการ "ซึม" เข้าไปในการประชุมศึกษากรณีผู้ป่วย ขอเสนอวิธีแบบของเรา ให้อยู่ในทางเลือก"
"จนบางทีเค้าก็ลองเลือกเอาวิธีของเราไปใช้ แล้วพบว่า เอ่อ.. มันก็ช่วยนะ เมื่อนั้นหมอเหล่านี้ก็จะซื้อ idea ของเรา และกลายเป็นพันธมิตรสำคัญของเราไปในที่สุด"
แกมองตาผมแล้วก็บอกประโยคสำคัญออกมา
"ในอดีต ปัญหาที่เราเครียดเพราะคนอื่นๆไม่ยอมทำอย่างที่เราทำ และคิดว่าพวกนั้นมีปัญหา ก็เพราะเราดันไปคิดว่า "คงมีแต่เรากระมังที่รักคนไข้ ถึงทำแบบที่เราทำ" แต่ผมพบว่าหมอทุกคนรักคนไข้ และเสนอสิ่งที่ตนเองคิดว่าดีที่สุดให้คนไข้เสมอ แต่ปัญหาอยู่ที่การ "เห็น" ต่างหาก ไม่ใช่อยู่ที่หมอเป็นคนอย่างไรที่เรามักจะตัดสิน สิ่งที่ผมทำในออสเตรเลียคือ "การทำให้เห็น" ไม่ใช่เฉพาะหมอเท่านั้น เราต้องทำให้คนไข้เห็นด้วยว่ามีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากสู้ให้ถึงที่สุดใน การดูแล"

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
Professor Currow ทำให้หมอผู้เชี่ยวชาญมากมาย ทั้งหมอมะเร็ง หมอ ICU หมอโรคปอด โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต กลายเป็นพันธมิตรที่ร่วมทำ palliative care ได้ และไม่เพียงเท่านั้น ยังสื่อไปยังสาธารณชน ประชาชน จนกระทั่งถึงขนาดทุกพรรคการเมืองในออสเตรเลีย ต้องใส่นโยบายการทำ palliative care เอาไว้ใน manifesto หรือนโยบายหลักของกฏหมายสุขภาพ มิฉะนั้นประชาชนจะไม่เลือกเข้าไปในสภา

หัวใจก็คือความศรัทธาในความรัก และความเมตตาในมนุษย์ทุกคน ที่กลายมาเป็นนโยบายผลักดันประเทศจนสำเร็จ ไม่ติด "มานะ" ที่คิดแต่เพียงว่ามีแต่เราคนเดียวที่รักคนไข้ คนอื่นๆที่ไม่ทำอย่างเรานั้น ช่างไม่มีเมตตา ไม่มีหัวใจเสียเลย แต่ที่จริงแล้วปัญหาทั้งหมดอยู่ที่เราไม่มีความเพียรเพียงพอ ไม่มีทักษะการสื่อสารเพียงพอ ที่จะทำให้เกิด "การเห็น" ร่วมกันว่าเป้าหมายที่ทุกคนต้องการนั้น คืออะไร

เราต้องปิดสวิทช์ "มานะ" หรือการติดดี (ของเรา) และมองคนอื่นที่คิดต่างจากเรานั้นเป็นคนพร่อง หรือชั่วร้ายไปเสียหมด ดั่งคำแม่ชีเทเรซาที่ว่า "Don't judge people, or you won't have time to love them." อย่ามัวแต่ด่วนตัดสินผู้คน เพราะเธอจะไม่เหลือเวลาไว้รักเขาเหล่านั้นเลย"

น.พ.สกล สิงหะ
เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันศุกร์ที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ เวลา ๘ นาฬิกา ๕๒ นาที
วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 598304เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2015 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2015 09:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท