การเข้าสู่ระบบแท่งของท้องถิ่น


การเข้าสู่ระบบแท่งของท้องถิ่น

3 ธันวาคม 2558 [1]

ปัญหาการเข้าสู่ระบบแท่งของพนักงานส่วนท้องถิ่น หรือ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ดูจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจของข้าราชการท้องถิ่นทุกคน แต่ความกระจ่างในเรื่องนี้ ยังไม่มีใครเข้าใจเท่าใดนัก แม้ว่าสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) จะได้ศึกษาการปรับปรุงระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทนของข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ระยะที่ 2) เสนอต่อ กระทรวงมหาดไทย (การเข้าสู่ระบบแท่งของข้าราชการส่วนท้องถิ่น) เสร็จเรียบร้อยนานแล้วตั้งแต่ปี 2552 [2] แต่การเผยแพร่และชี้แจงทำความเข้าใจต่อข้าราชการท้องถิ่นที่มีจำนวนมากถึงเกือบสี่แสนคน [3] กลับถือว่ายังไม่แพร่หลาย ข้าราชการท้องถิ่นหลาย ๆ คนมีความกังขา ไม่เข้าใจในผลดี ผลเสีย หรือประโยชน์ที่จะได้รับ

ระบบแท่งเงินเดือนคืออะไร

ระบบแท่งเงินเดือน ก็คือ ระบบจำแนกตำแหน่งตามความสามารถ (Competency-based Classification) หรือ Broad banding คือ การกำหนด ให้จำแนกตำแหน่งมีความกว้างมากขึ้น และ ยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งเหมาะกับระบบบริหารจัดการที่มีการแข่งขันสูง และคนเก่งๆ จะได้ไม่ต้องลาออกไปไหน เพราะ ถ้าเก่งมากก็จะได้ผลตอบแทนสูงตามความเก่งหรือความสามารถ และก็เติบโตใน กลุ่มของตนเอง [4]

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของระบบราชการพลเรือนไทยเริ่มมาแต่ปี พ.ศ. 2518 [5] โดยเปลี่ยนจาก “ระบบจำแนกตำแหน่งตามชั้นยศ” (Rank Classification) เป็น “ระบบจำแนกตำแหน่งตามหน้าที่ความรับผิดชอบ” ที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ระบบการจำแนกตำแหน่ง” (Position Classification หรือ P.C.) หรือ ระบบ "ซี" (แยกข้าราชการเป็น 11 ระดับ หรือ 11 ซี) ระบบนี้ยึดถือหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นเกณฑ์ในการกำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือน [6]

ต่อมาตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2551 ได้ยกเลิกระบบ "ซี" ข้าราชการพลเรือนหลังจากที่ใช้มานาน 33 ปีเป็นการยกเลิกระบบจำแนกตำแหน่งแบบมาตรฐานกลาง (Common Level) หรือ ซี 11 ระดับ มาเป็นระบบจำแนกตำแหน่งตามลักษณะงาน หรือระบบแท่ง (Broad banding) ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2551 ได้กำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนไว้ 4 ประเภท คือ [7]

1. ตำแหน่งประเภทบริหาร ได้แก่ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการและรองหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง กรม

2. ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ได้แก่ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่ต่ำกว่าระดับกรม

3. ตำแหน่งประเภทวิชาการ ได้แก่ ตำแหน่งที่จำเป็นต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา

4. ตำแหน่งประเภททั่วไป ได้แก่ตำแหน่งที่ไม่ใช่ตำแหน่งประเภทบริหาร ตำแหน่งประเภทอำนวยการ และตำแหน่งประเภทวิชาการ

ความเห็นต่อระบบแท่ง

ล่าสุดลองมาทบทวนเรื่องนี้กันจากการสัมมนาคณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด (กจ.,ก.ทจ.,ก.อบต) ระหว่างวันที่ 26 - 29 พฤศจิกายน 2558 ณ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น ศูนย์คลองหนึ่ง จังหวัดปทุมธานี จึงขอนำเสนอข้อคิดเห็นของผู้อภิปรายเกี่ยวกับเรื่องนี้รวม 3 คน โดยมีมุมมองที่น่าสนใจ ดังนี้

(1) นายดุษฎี สุวัฒวิตยากร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้พยายามทำในทุกวันนี้ ก็คือ

1. การหาคนเก่งให้เข้าสู่องค์กร โดยการสอบ การคัดเลือก การสรรหาคนเข้าสู่ตำแหน่ง โดยประเมินหรือคัดเลือกโดยความรู้ความสามารถ เพื่อให้ได้ คนมีความรู้ความสามารถ เข้าสู่ตำแหน่งนั้น เพื่อพัฒนางาน และแก้ไขปัญหาขององค์กร ตามระบบคุณธรรม (Merit System) [8]

2. การพัฒนาบุคคลากรให้เป็นคนดี เพราะเมื่อได้คนเก่งมาแล้ว องค์กรต้องพัฒนาคนในองค์กรให้เป็นคนดี โดยมีการกำหนดมาตรฐาน วินัย คุณธรรม กำกับการปฏิบัติงาน ให้ซื่อสัตย์ สุจริต โดยมีมาตรฐานกลาง และมาตรฐานทั่วไป

3. การพัฒนาบุคลากรที่อยู่ในองค์กรให้มีพอใจมีความสุข โดยมีค่าตอบแทนที่พอเพียงต่อการดำรงชีพ ตามตำแหน่งหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม และไม่น้อยกว่าหน่วยงานอื่นในระดับเดียวกัน

จากเหตุผล ดังกล่าว ประกอบกับกฎหมายกำหนดว่าข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น มีสิทธิ และสวัสดิการ ต้องไม่น้อยกว่าข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) [9] เพราะเมื่อข้าราชการท้องถิ่นที่เป็นระบบ “ซี” รับเงินเดือนค่าตอบแทนน้อยกว่าข้าราชการพลเรือน ในระบบแท่ง ข้าราชการท้องถิ่นจึงต้องเข้าสู่ระบบแท่ง เช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือน

มาตรฐานของระบบแท่งที่แตกต่างจากระบบซีที่ประชาชนจะได้รับก็คือ เน้นความพึงพอใจในการบริการ (Satisfaction of Services) กล่าวคือการบริการต้องเป็นเลิศ [10] มีตัวชี้วัด (Key Performance Index - KPI) [11] มีการประเมินผลงาน มีการปฏิบัติงานเป็นมาตรฐานแต่ละตำแหน่ง แต่ละสายงาน มีการกำหนดภารกิจ สมรรถนะการทำงาน เพื่อประชาชนจะได้รับประโยชน์ โดยข้าราชการผู้ปฏิบัติงานก็จะมีคู่มือในการปฏิบัติงานที่มีมาตรฐาน [12]

อนึ่งมีข้อสังเกตว่า ปัจจุบันท้องถิ่นมีภารกิจงานทำเกือบทุกเรื่อง แต่เป็นผลงานกลับเป็นผลงานของหน่วยงานหรือส่วนราชการอื่นทั้งหมด ฉะนั้น ท้องถิ่นต้องหาเอกลักษณ์ หางานของตนเองเพื่อโชว์ผลงาน หรืออ้างอิงผลงานของตนเองบ้าง

(2) นายปิยะ คังกัน นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เรียกว่า “พจนานุกรม” เพราะได้ลอกเลียนทุกอย่างมาจากระบบข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. แต่ท้องถิ่นฉลาดที่เลือกลอกได้ หากอันไหนไม่ดีก็ไม่เอาไม่ลอก อะไรที่เป็นปัญหา ก็นำมาแก้ไขให้เรียบร้อย ซึ่งหากจะนำมาใช้กับท้องถิ่นนั้น ตอนนี้ได้เตรียมการทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้ว ในการจัดคนเข้าสู่แท่ง เชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะแต่ละท้องถิ่นมีบุคคลากรของตนเอง หลายแห่งมีจำนวนพนักงานท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่เกิน 30 คน ดำเนินการวันเดียวก็เสร็จ ท้องถิ่นจังหวัดมีหน้าที่รวบรวม ตรวจสอบ แล้วส่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นแผ่นซีดีรอม เพียงจังหวัดละ 1 แผ่น และกรมฯ ก็ตรวจสอบความถูกต้องในขั้นตอนสุดท้าย เพียงแค่นี้ก็จบขั้นตอน ไม่จำเป็นต้องเลื่อนขยายระยะเวลาออกไป เพราะสามารถดำเนินการได้ในระยะเวลาที่สั้นและทันเวลา เนื่องจากข้อมูลทุกอย่างกรมฯ ได้เตรียมไว้หมดแล้ว เพราะได้เคยเลื่อนมาแล้ว 1 ปี [13] การจะเลื่อนเวลาไปอีก 6 เดือนจึงไม่จำเป็น แต่อย่างไรก็ตามอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) ที่จะพิจารณา

(3) นางเลื่อมใส ใจแจ้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารงานท้องถิ่น ใน ก.ถ. กล่าวว่า การเลื่อนขยายระยะเวลาการเข้าสู่ระบบแท่ง เปรียบเสมือนกับหญิงสาวที่มีสเป็กจะแต่งงาน ก็ต่อเมื่อมีชายมาขอ เช่น ต้องมีบ้านหลังละ 5 ล้าน มีรถยุโรปคันใหญ่ 1 คัน และชายคนนั้นต้องเป็นข้าราชการซี 9 มิเช่นนั้นก็จะไม่แต่งงานด้วย การบอกว่าให้รอให้พร้อมเสียก่อนคงจะรอไม่ได้ เช่นเดียวกับการเข้าสู่ระบบแท่งของท้องถิ่น เพราะได้มีการเตรียมการไว้แล้ว หากมีปัญหาก็ควรแก้ไขไป ไม่ใช่ว่าการใช้ระบบแท่งแล้วจะไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขอะไรเลย หากเจอปัญหาก็แก้ไขไป แทนที่จะรอ แล้วเมื่อไรก็บอกว่าไม่พร้อม เพราะหากรอไปยิ่งนานไปเท่าใดค่าตอบแทนก็จะไม่เท่าเทียมกับข้าราชการ ก.พ. ยิ่งขึ้น หากท้องถิ่นไทยไม่มีคนเก่งมีความสามารถ ท้องถิ่นไทยคงไม่เจริญและพัฒนาฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการมาจนถึงวันนี้ได้ ในประเทศที่พัฒนาและเจริญแล้ว การแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นจะสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ก็เพราะมีท้องถิ่นดำเนินการ ฉะนั้น หากท้องถิ่นยังไม่เรียบร้อยชาวบ้านมีปัญหาใดเกิดขึ้น ชาวบ้านเขาจะไปหาใครได้ ดังบทกลอนของสุนทรภู่ที่กล่าวไว้ว่า

“เหมือนบายศรีมีงานท่านถนอม

เจิมแป้งหอมน้ำมันจันทน์ให้หรรษา

พอเสร็จงานท่านโยนลงคงคา

ต้องลอยมาลอยไปเป็นใบตอง”

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลที่นำเสนอนี้คงจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจของข้าราชการส่วนท้องถิ่นในระยะเวลาอันสั้นนี้ได้ตามสมควร


 

[1] Ong-art saibutra & Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer & สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 12 วันศุกร์ที่ 4 – วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม 2558, หน้า 80, ‎เจาะประเด็นร้อน อปท. 

[2] สถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.), “ร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ (Draft Final Report)”, โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง การปรับปรุงระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทนของข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ระยะที่ 2) เสนอต่อ กระทรวงมหาดไทย, 17 ธันวาคม 2552, http://www.local.moi.go.th/2009/pdf/completed_draft_final_report.pdf 

[3] ข้อมูลกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กุมภาพันธ์ 2558 จำนวนบุคลากรของ อปท. ดังนี้ ผู้บริหาร และสมาชิกสภา 153,601 คน ข้าราชการ 173,547 คน ลูกจ้างประจำ 19,687 คน พนักงานจ้าง 211,279 คน รวมบุคลากรฝ่ายประจำ 404,513 คน (ข้อมูล ดร.จรัส สุวรรณมาลา, 2557, ข้าราชการท้องถิ่น จำนวน 392,945 คน) รวมบุคลากรทั้งหมด 558,114 คน

แต่ตามข้อมูลตามเวบไซต์ของสำนักงาน ก.ถ., สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2558 (ไม่ปัจจุบัน), จำนวนบุคลากรส่วนท้องถิ่นฝ่ายประจำ อปท. มีข้าราชการท้องถิ่น 73,108 คน ข้าราชการครูท้องถิ่น 27,100 คน ลูกจ้าง พนักงานจ้าง 62,108 คน รวม 162,316 คน, http://www.local.moi.go.th/local_sub5.htm

[4] ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงระบบ พีซี ของข้าราชการพลเรือน ต่อ ท้องถิ่น, www.local.moi.go.th/dola.doc 

[5] บุษยมาศ แสงเงิน, “วิวัฒนาการของข้าราชการพลเรือน”, 2552, https://www.gotoknow.org/posts/350710

& กฎหมายข้าราชการพลเรือน ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2518 ประกอบด้วย

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอน 26 ก ฉบับพิเศษ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 หน้า 1, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2518/A/026/1.PDF 

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2521 

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2521 

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2522

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2523

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2531

ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 35 
 

[6] ปรีชา วัชราภัย, เมื่อ “ซี” เปลี่ยนเป็น “แท่ง” การบริหารทรัพยากรบุคคล แบบ Multi Classification Scheme, สำนักงาน ก.พ., www.nakhonnayok.go.th/ppisnayok/km5.doc 

ระบบราชการไทย นำระบบ “พี.ซี.” มาใช้ตั้งแต่ปี 2518 ระบบจำแนกตำแหน่ง (Position Classification) หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า P.C. มุ่งเน้นจำแนกตำแหน่งตามหน้าที่ความรับผิดชอบ และความยากง่ายของงานภายใต้โครงสร้างมาตรฐานกลาง 11 ระดับ มีโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนเพียงบัญชีเดียวที่ใช้กับทุกตำแหน่งในราชการพลเรือน หากจะเปรียบเทียบกับระบบ “แท่ง” ที่จะนำมาใช้ ระบบ P.C. ก็เป็นระบบ “แท่ง” นั่นแหละ แต่เป็นระบบ “แท่งเดียว” หรือเรียกว่า ระบบ Single Classification Scheme ที่ครอบทุกตำแหน่งในราชการให้อยู่ในแท่งใหญ่ เพียงแท่งเดียว ส่วน “ซี” มาจากคำว่า Common Level เรียกตามภาษาราชการว่า ระดับมาตรฐานกลาง เพื่อกำหนดระดับตำแหน่งที่อยู่ใน “แท่ง” นั้น ระบบราชการไทยจึงใช้มาตรฐานกลาง 11 ระดับ หรือมี “ซี” 11 ระดับ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

[7] พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2551 และ บทเฉพาะกาลกำหนดให้แก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2551 สำนักงาน ก.พ. ได้แจ้งเวียนหนังสือเวียนที่ นร 1006/ว 6 เรื่องแนวทางปฏิบัติการกำหนดอัตรากำลังและแต่งตั้งข้าราชการในระหว่าง การปรับใช้ พ.ร.บ.ใหม่ เพื่อให้ข้าราชการคงกรอบอัตรากำลังเดิมไว้และชะลอการบรรจุแต่งตั้ง เมื่อตำแหน่งหยุด การเคลื่อนไหวในช่วงระยะเวลาหนึ่งจึงสามารถจัดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่ง ตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งใหม่อย่างถูกต้องและเหมาะสม ให้แล้วเสร็จในวันที่ 11 ธันวาคม 2551

[8] การบริหารงานบุคคล, 2556, http://website2556.moj.go.th/upload/main_tip/uploadfiles/184_4482.doc 

ระบบคุณธรรม (Merit System) เกิดจากความพยายามที่จะแก้ไขข้อบกพร่อง ของระบบอุปถัมภ์ โดยเป็นระบบการบริหารบุคคลที่อาศัยความรู้ ความสามารถของบุคคลเป็นหลัก ไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ส่วนตัว มีลักษณะสำคัญดังนี้ (1) หลักความสามารถ (Competence) (2) หลักความเสมอภาค (Equality Opportunity) (3) หลักความมั่นคงในตำแหน่งหน้าที่ (Security of Tenure) (4) หลักความเป็นกลางทางการเมือง (Political Neutrality) 

[9] ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นเรื่อง กำหนดมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2544, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 62 ง ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2544, http://www.local.moi.go.th/2009/home/lawedit58.pdf 

ข้อ 5 การกำหนดมาตรฐานของตำแหน่งและอัตราตำแหน่ง ให้จำแนกตำแหน่งเป็นประเภทและสายงานตามลักษณะงาน และจัดตำแหน่งในประเภทเดียวกันและสายงานเดียวกันที่คุณภาพของงานอยู่ในระดับเดียวกันโดยประมาณเป็นกลุ่มเดียวกันและระดับเดียวกัน โดยคำนึงถึงลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงาน ความก้าวหน้าในสายงานของพนักงานส่วนท้องถิ่นประกอบกับความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีขนาดแตกต่างกันด้วย โดยมาตรฐานดังกล่าวจะต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ ก.พ.กำหนด ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามมาตรฐานทั่วไปที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกำหนด 

[10] บรรจบ ปิยมาตย์, การบริการสู่ความเป็นเลิศ (Service to Excellence) หลักสูตร“บริการด้วยใจ สายใยสู่ความสำเร็จ”, มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, http://hcupersonnel.hcu.ac.th/seminar/Service%20to%20Excellence.ppt 

& พิษณุพร รุโจปการ, การให้บริการสู่ความเป็นเลิศ, นักวิชาการศึกษาชำนาญการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,

http://www.stou.ac.th/offices/rdec/chan/main/Doc/Article/2556/Art-25-11-56-1.pdf

& ศิริพร วิษณุมหิมาชัย, “การสร้างบริการเชิงรุก" (Proactive for Service Excellence), วารสารมหาวิทยาลัยพายัพ ปีที่ 21 ฉบับที่ 1 ประจำเดือน มกราคม - มิถุนายน 2551, http://mkpayap.payap.ac.th/siriporn/pdf/pyupdf3.pdf 

[11] ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก (Key Performance Indicator - KPI), http://www.dla.go.th/work/e_book/eb3/sp5_5.pdf ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก เป็นการวัดความก้าวหน้าของการบรรลุปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ หรือผลสัมฤทธิ์ขององค์กร โดยเทียบผลการปฏิบัติงานกับมาตรฐานหรือเป้าหมายที่ตกลงกันไว้

[12] คู่มือการปฏิบัติงาน (Work Manual), www.opdc.go.th/uploads/files/work_pmqa.ppt & มาตรฐานการปฏิบัติงาน(Performance Standard)คืออะไร, 20 เมษายน 2553, http://home.dsd.go.th/techno/trainingsystem/index.php?option=com_content&view=article&id=71:performance-standard&catid=16:cbt 

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (2529:53) ได้ให้ความหมายไว้ว่า มาตรฐานการปฏิบัติงาน (Performance Standard) เป็นผลการปฏิบัติงานในระดับใดระดับหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นเกณฑ์ที่น่าพอใจ หรืออยู่ในระดับที่ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ทำได้ การกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงาน จะเป็นลักษณะข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาในงานที่ต้องปฏิบัติ โดยจะมีกรอบในการพิจารณากำหนดมาตรฐานหลายๆ ด้านด้วยกัน อาทิ ด้านปริมาณ ด้านคุณภาพ ด้านระยะเวลา ด้านค่าใช้จ่าย หรือพฤติกรรมของผู้ปฏิบัติงาน เนื่องมาจากมาตรฐานของงานบางประเภทจะออกมาในรูปของปริมาณ ในขณะที่บางประเภทอาจออกมาในรูปแบบของคุณภาพองค์การจึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานให้เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะของงานประเภทนั้นๆ หลังจากกำหนด มาตรฐานการปฏิบัติงาน (Performance Standard) ต้องมีการระบุ เกณฑ์การประเมินการปฏิบัติงาน (Performance Criteria) ด้วย 

 

[13] มีการเลื่อนมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2556 ปัจจุบันมีกระแสข่าวว่า อาจจะมีการขยายเวลาการเข้าสู่ระบบแท่งออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน (จากวันที่ 1 มกราคม 2559 เป็น 1 เมษายน 2559) 

หมายเลขบันทึก: 598089เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2015 23:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2021 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านจบ..คิดถึง..แท่ง..ดินสอ...กับ...แท่ง..ทอง...กับทองแท่ง..อ้ะะ...

มีดอกไม้มาฝาก.เป็นกำลังใจ..ต่อข้อเขียนดีๆ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท