ถอดบทเรียน : ก้าวใหม่ของการจัดกระบวนการเรียนรู้ หน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้น ๔


ครูมีความเข้าใจทั้งเป้าหมายของแผนและวิธีการสอนอย่างลึกซึ้ง เพราะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดที่จะสอนตั้งแต่จุดเริ่มต้นของที่มาที่ไป ไปจนกระทั่งถึงเป้าหมายย่อยในแต่ละขั้นตอนของการวางแผนการจัดการเรียนรู้แต่ละครั้ง

งาน "ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๘ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๕๘ ที่อาคารประถมปลาย โรงเรียนเพลินพัฒนา มีรายการถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของครูผู้สอนหน่วยวิชาต่างๆ เพื่อนำเอาการปฏิบัติจริงมาสร้างความเข้าใจในเรื่องไตรยางศ์ของการศึกษา (OLE) เพื่อนำเสนอก้าวใหม่ของการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับคุณครู



คุณครูผู้สอนหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ในระดับชั้น ๔ คือคุณครูปุ๊ก - จินตนา กฤตยากรนุพงศ์ และ คุณครูอั๋น - กรวิทย์ ตรีศาสตร์ ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนออกมานำเสนอประสบการณ์ในการจัดปรับกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนที่เปลี่ยนไป

ในระดับชั้น ๔ หน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย เป็นหน่วยวิชาที่ผู้เรียนตอบมาในแบบสำรวจเจตคติว่า รู้สึกอยากเรียนที่สุด และมีความรู้สึกว่าเข้าใจมากที่สุด และเป็นหน่วยวิชาที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับสมรรถนะการเรียนรู้ด้านภาษา ที่ในปีนี้มีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของผลทดสอบ SAT ในด้านเหตุผล ด้านมิติสัมพันธ์ และด้านจำนวน


...................................................


คุณครูปุ๊ก และ คุณครูอั๋น พบว่าในปีการศึกษานี้ มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ ได้แก่

กระบวนการทำแผนการเรียนการสอนก่อนหน้าปีการศึกษานี้

  • ใช้แผนเดิมจากปีก่อนๆ ที่มีผู้เขียนไว้แล้ว มาดูเนื้อหาในด้านวรรณคดี หลักภาษาและชิ้นงาน
  • คู่วิชาปรึกษากันถึงผลลัพธ์ของแผนและผลงานของนักเรียนในปีก่อนว่าเป็นอย่างไร เพื่อหาข้อบกพร่องและวิธีแก้ไข
  • นำแผนเดิมมาอ่านทำความเข้าใจ แล้วตีความออกมาตามความคิด ความรู้สึกของตนเองว่าควรจะสอนเรื่องอะไรก่อนหลังบ้าง
  • ใช้โครงสร้างของแผนเดิมมาเป็นแนวทางและปรับเปลี่ยนขั้นตอนวิธีการสอนใหม่ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นและเข้ากับเนื้อหาที่นักเรียนต้องเรียน
  • สร้างแผนใหม่โดยคิดว่าจะทำอย่างไรให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนมากยิ่งขึ้น โดยพยายามหาสื่อการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเรื่องที่จะสอนในแต่ละคาบ ค้นหาความรู้ด้วยตนเองตามความเข้าใจ


ผลที่เกิดขึ้นจากการจัดการเรียนการสอน

ครูผู้สอนใช้เวลาใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ค่อยๆคิดแผนการสอนเพื่อให้ตรงกับจุดประสงค์ เนื้อหา ทักษะของนักเรียน ผลที่เกิดขึ้นคือ

๑.แผนการสอนบางแผนใช้เวลาในการคิดและทำไม่นาน รวมทั้งแผนราบรื่นไปด้วยดี

๒.แผนการสอนบางแผนก็บรรลุแค่จุดประสงค์เท่านั้น แต่เป็นไปด้วยความแข็งๆ ห้องเรียนดูไม่มีชีวิตชีวา

๓. แผนการสอนบางแผนจบเพียงในครั้งนั้น แต่ขาดการร้อยเรียงเชื่อมโยงเนื้อหาต่อยอดไปสู่แผนในครั้งต่อไป

๔.แผนการสอนบางแผน สื่อที่เตรียมไปยังไม่เข้มข้นพอที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาได้อย่างเต็มที่

๕.แผนการสอนบางแผนใช้เวลาในการคิดและทำนานมาก เพราะต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจและใช้จินตภาพในการเรียบเรียงแผนออกมาไม่ให้เป็นเพียงขั้นตอนการสอน แต่ต้องใส่ชีวิตชีวาลงไปด้วย


ผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน

๑.นักเรียนบางคนเข้าใจเพียงเนื้อหา แต่ไม่เห็นคุณค่าและความงามของสิ่งที่เรียนเท่าที่ควร และไม่รู้ว่าเรียนเรื่องนี้ไปเพื่ออะไร

๒.นักเรียนเรียนตามกระบวนการเรียนการสอนที่ครูเตรียมไว้ให้ แต่ยังขาดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และห้องเรียนยังดูไม่มีชีวิตชีวา

๓.นักเรียนได้รับความรู้เป็นท่อนๆ เป็นเรื่องๆ แล้วจบไป ทำให้นักเรียนเกิดความยากต่อการเชื่อมโยงและต่อยอดเนื้อหาความรู้

๔.การร่วมแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียนยังเป็นนักเรียนคนเดิมๆ ในการแลกเปลี่ยนเป็นส่วนใหญ่


การทำแผนการเรียนการสอนที่มีคุณครูใหม่ให้คำปรึกษา

๑.ครูนำโครงร่างของแผนในระดับชั้นที่วางไว้ทั้ง ๔ ภาคเรียนพร้อมกับแผนการสอนของปีที่แล้วมาทบทวนว่ามีความสอดคล้องเป็นลำดับหรือไม่ อย่างไร

๒.คำนึงถึงเนื้อหา ทักษะต่างๆ ที่นักเรียนชั้น ๔ จะต้องเรียนและนำไปใช้ต่อยอดในการทำงานแต่ละชิ้นได้

๓.คุณครูใหม่ให้คำปรึกษา แนะนำแนวทางสร้างจินตภาพให้กับครูเห็นได้อย่างชัดเจนขึ้นว่าแผนแต่ละแผนต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีลำดับขั้นตอนที่ค่อยเป็นค่อยไป และมีการร้อยเรียงตามลำดับ


คุณครูใหม่สร้างให้แผนมีชีวิตชีวาก่อนนำแผนนั้นลงสู่นักเรียนด้วยวิธีการดังนี้ คือ

  • สร้างให้ครูเกิดแรงบันดาลใจ เกิดความเข้าใจกับเนื้อหาที่จะสอนนักเรียน
  • ย่อยแผนการสอนเพื่อไต่ระดับไปทีละขั้นจากบันไดขั้นที่ ๑ แล้วสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ตามระดับความสามารถของนักเรียน
  • ต่อยอดเชื่อมโยงความรู้แผนการสอนแต่ละแผนให้ร้อยเรียงกัน


ผลที่เกิดขึ้นจากการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางใหม่

  • ครูมีแนวทางจัดการกับเนื้อหาและทักษะต่างๆ ของนักเรียน ทำให้เขียนแผนการสอนได้ง่ายขึ้น เพราะได้รับแนวทางความรู้มุมมองความคิดใหม่ ๆ ที่แตกต่างและหลากหลายจากคุณครูใหม่
  • ครูมีความเข้าใจทั้งเป้าหมายของแผนและวิธีการสอนอย่างลึกซึ้ง เพราะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดที่จะสอนตั้งแต่จุดเริ่มต้นของที่มาที่ไป ไปจนกระทั่งถึงเป้าหมายย่อยในแต่ละขั้นตอนของการวางแผนการจัดการเรียนรู้แต่ละครั้ง
  • ครูมีแนวทางในการสร้างแรงบันดาลใจลงสู่แผน ทำให้แผนการสอนมีชีวิตชีวาขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงขั้นตอนที่แข็งทื่อ
  • ครูนำความรู้ที่ได้มาใหม่มาคิดเชื่อมโยงต่อยอดกับความรู้เดิมที่มีอยู่ รวมถึงการสืบค้นข้อมูลความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้ได้แผนการสอนเรียงจากง่ายไปหายากตามลำดับ
  • เนื้อหาและทักษะมีความเชื่อมโยงกันระหว่างแผน โดยไม่ถูกแบ่งส่วนหรือตัดขาดจากกัน ทำให้แผนมีความต่อเนื่อง และง่ายต่อการทำความเข้าใจและเชื่อมโยงความรู้ของทั้งครูและนักเรียน
  • การจัดเตรียมสื่อการเรียนการสอนมีความสอดคล้องกับเนื้อหาและสื่อมีความดึงดูดใกล้เคียงกับนักเรียนและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
  • การคิดและทำแผนการสอนใช้เวลาไม่มากนัก เพราะเริ่มจากการพูดคุยกับคุณครูใหม่ แล้วมาถกกันกับคู่วิชา จนออกมาเป็นข้อสรุปที่เข้าใจตรงกันทั้งคู่ หรือเรียกได้ว่าการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับแผนก็ได้ ทำให้มีความมั่นใจในการถ่ายทอดสู่นักเรียนด้วยความเข้าใจและเป็นไปอย่างราบรื่น


ผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน

  • นักเรียนเห็นคุณค่าและความสำคัญของเนื้อหาและทักษะที่เรียน ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ เกิดความอยากเรียนรู้ในครั้งต่อๆ ไป
  • แรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นที่ครูสร้างส่งไปให้นักเรียนอย่างเต็มที่ รวมถึงแทรกระหว่างทางด้วย ทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดีกว่าการอัดเนื้อหาและทักษะตรงๆ ลงไปทีเดียว
  • นักเรียนเกิดความสนุกสนานกับกิจกรรมการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเนื้อหาที่ครูจัดเตรียมไว้ให้โดยไม่รู้ตัว เกิดการร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นและตอบคำถามอย่างทั่วถึง
  • นักเรียนเกิดความคิดเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาและทักษะในแต่ละครั้ง ทำให้ง่ายกับการทำความเข้าใจและสามารถต่อยอดความรู้ใหม่ได้ดีขึ้น
  • นักเรียนรู้สึกมีความสุขในการทำงาน เพราะสามารถเลือกการทำงานตามความสามารถของตนเองได้
  • นักเรียนสามารถนำทักษะการเรียนรู้ที่สะสมมาในแต่ละคาบเรียนไปสร้างสรรค์ให้เกิดผลงานชิ้นงานสุดท้ายได้


หมายเลขบันทึก: 597679เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2015 20:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2015 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอชื่นชมในความสำเร็จครับ

นอกจากสรุปเป็น bullet point แล้ว หากบันทึกเพิ่มเติม ยกตัวอย่างเรื่องราวของนักเรียนที่บรรลุผลดี ตามแต่ละ bullet point และบอกที่มาของความสำเร็จนั้น ผู้อ่านก็จะได้เรียนรู้มาก

วิจารณ์

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ


ขอบพระคุณค่ะอาจารย์

หนูจะชวนคุณครูปุ๊ก และคุณครูอั๋น ให้ลองยกตัวอย่าง และบอกที่มาของความสำเร็จเพิ่มเติมค่ะ นอกจากนี้หนูตั้งใจว่าจะนำบันทึกชุดนี้ไปรวบรวมเป็นต้นฉบับหนังสือ ๑๐ ปี งานจัดการความรู้ของโรงเรียนเพลินพัฒนา ในปี พ.ศ.๒๕๕๙ ด้วยค่ะ


ด้วยความเคารพ

ครูใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท