ภาษี งบประมาณ กับ การพัฒนาประเทศ (ตอนที่1)


ขออนุญาตทักทาย ชาว gotoknow หลังจากห่างหายไปนาน (3ปี)

เมื่อครั้งไปทำหน้าที่สำคัญร่วมปฎิรูปในรัฐบาล ตั้งใจจะสื่อสารเรื่องราวการปฎิรูป กับสารพัดภาคส่วนในสังคม ด้วยเห็นว่า มีแง่มุมหลากหลาย ควรชวนกันทำความเข้าใจ จะได้ร่วมแรงร่วมใจ แทนการวิพากษ์ แบ่งข้าง แต่ด้วยสารพัดปัจัยทำให้สื่อสารได้เพียงบางเรื่อง ผ่าน facebook

หลังพ้นหน้าที่เห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสเหมาะมาเล่าความคิดและสิ่งที่พบเห็น แบ่งปันกับผู้คนในสังคม ตั้งแต่ต้นเดือน พย บังเอิญให้ได้พบ อจ ขจิต ฝอยทอง ในงานประชุม คศน เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทราบว่า อจ มาเป็นคนช่วยดูแล blogger ทั้งหลาย ให้ขยันแบ่งปันเรื่องราว เลยต้องรีบขยับก่อนจะขี้เกียจไปมากกว่านี้

ประเด็นที่มีการพูดคุยในสังคมเกี่ยวกับ สสส และไทยพีบีเอส ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หากไม่มองเป็นวิวาทะ อย่างที่หลายฝ่ายใส่แว่น ใส่สี หรือตีความ ที่จริงเป็นโอกาสสำคัญ ทำความเข้าใจ และหาคำตอบร่วมกันเกี่ยวกับ การใช้เงินเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในบรรยากาศ ของการมองหา รูปธรรม เพื่อปฎิรูปประเทศ

คุณหมอ ดำรงค์ บุญยืน ผู้อำนวยการกองแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ที่คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก แต่คนรุ่นผมน่าจะจำได้ดี ด้วยท่านเป็นนักวางแผน ที่เป็นที่ยอมรับในภาคราชการ ตลอดถึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง สำหรับผมโชคดีที่ได้ทำงานและเรียนรู้จากพี่ดำรงค์ พี่สอนผมว่า เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้นโยบายใดๆเกิดผล มีอยู่อย่างน้อย 2 อย่าง คือ กฎหมาย และมาตรการทางการเงิน

คำว่ามาตรการทางการเงิน ก็มีความหมายหลากหลาย น้อยที่สุด คือแนวทางการใช้ งบประมาณของภาครัฐ (เช่น ถ้าอยากให้เกิดการคุมกำเนิด อย่างกว้างขวาง จะตั้งงบประมาณ ซื้อยาคุมกำเนิดแจกฟรี หรือปล่อยให้ชาวบ้านออกเงินเอง แล้วเอางบประมาณไปซื้อยา รักษาผู้มีรายได้น้อย หรือจะตั้งงบประมาณเพื่อการวิจัยแค่ไหน ผ่านกลไกแบบไหน เพื่อให้เกิดการวิจัยที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้ แทนที่จะเป็นเพียงการวิจัย ที่สร้างความก้าวหน้าให้นักวิจัยอย่างเดียว) ต่อมาคือ นโยบายที่เกี่ยวกับภาษี ที่จะมีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจ และพฤติกรรมของธุรกิจเอกชน และประชาชนทั่วไป เช่นจูงใจให้บริจาค ให้ลงทุนวิจัยด้วยการลดภาษี หรือ ลดการสูบบุหรี่ ดิ่มเหล้าด้วยการเพิ่มภาษี นี่ไม่นับนโยบายภาษี ที่นำมาสู่รายได้ของรัฐที่เอาไปใช้จ่ายตามแผน งบประมาณ

3 สิ่งนี้ คือ ภาษี งบระมาณ และการพัฒนาประเทศ จึงมีความเกี่ยวพันกัน อย่างใกล้ชิด เราจะมีนโยบายภาษี อย่างไร จะตั้งและใช้งบประมาณอย่างไร ย่อมมีผลต่อทิศทางการพัฒนาประเทศ เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทุกฝ่ายในสังคม ควรทำความเข้าใจร่วมกัน แม้อาจจะดูห่างตัว และสำหรับคนที่เกี่ยวข้อง อาจยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่เห็นตรงกันได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็จะเห็นคำถาม ที่จะค่อยๆช่วยกันหาคำตอบ ร่วมกันต่อไป

สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการทำงานด้านนโยบายและแผนมากว่า 30 ปี ที่ชัดเจนมากคือ การพัฒนาประเทศไม่ได้เกิดจากการเก็บภาษี เพื่อให้รัฐบาลมี งบประมาณเพียงพอที่จะนำมาทำแผนงบประมาณที่ใช้จ่ายโดยกระทรวงทบวงกรมต่างๆ เท่านั้น

จะขอใช้วิธีเล่าเรื่องที่มีโอกาสได้พบ ได้ฟัง พร้อมกับชวนพวกเรา ตั้งคำถาม คิด และเรียนรู้เพิ่มเติมไปพร้อมกัน ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 597186เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2015 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2015 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณ หมอ ที่กลับมา

คงมีอาหารสมองจากบันทึก มาสร้างปัญญาแก่ พนักงานเปล




พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท