สร้างสรรค์ “ปัญญา” เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน


งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เป็นงานวิจัยที่ชุมชนเป็นคนริเริ่มกระบวนการด้วยตนเอง สร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ด้วยหวังว่าการที่คนในชุมชนได้มาร่วมกันในกระบวนการวิจัย ตั้งแต่การเริ่มคิด การตั้งคำถาม การวางแผน และค้นหาคำตอบอย่างเป็นระบบ เป็นรูปธรรม โดยการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง จะทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ แก้ไขปัญหาของตนเองได้เก่งขึ้น และสามารถใช้กระบวนการทางปัญญานี้แก้ไขปัญหาอื่นๆในท้องถิ่น

 ถ้าแก้ปัญหาคนจนไม่ได้ ประเทศเจริญไม่ได้  

นพ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวเอาไว้

นั่นก็หมายความว่า ปัญหาความยากจน เป็นเงื่อนไขสำคัญในการพัฒนาประเทศ มีความพยายามหลากวิธีเพื่อขจัดความยากจน แต่ก็ดูเหมือนยิ่งแก้ไขปัญหา ยิ่งจนซ้ำซาก เป็นความตั้งใจของนักบริหารนโยบาย และนักการเมือง หรืออย่างไร  

หากพูดถึง ความยากจน หลายท่านคงนึกถึง ความยากจนในเชิงเศรษฐกิจ นั่นคือ พิจารณาที่ระดับรายได้  หรือสถานะทางเศรษฐกิจของบุคคล จริงๆแล้ว ความยากจน ยังครอบคลุมมิติต่างๆที่ไม่ใช่ตัวเงิน ดังนี้

 ความยากจน มิได้จำกัดแต่เพียงการมีรายได้น้อยและบริโภคน้อยเท่านั้น หากยังครอบคลุมถึงการขาดโอกาสด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และโอกาสอื่นในการพัฒนาคน การไร้ซึ่งอำนาจ การขาดสิทธิ ขาดเสียง ตลอดจนการตกลงไปอยู่ในความเสี่ยงและความหวาดกลัว

ปัญหาความยากจน เป็นปัญหาที่ซับซ้อน ยากเกินกว่าจะแก้ไขปัญหากันด้วยวิธีการแบบเดียว และใช้รูปแบบการพัฒนาที่สำเร็จรูป ใช้แก้ปัญหาทั่วประเทศ  เมื่อวิธีคิดเชิงนโยบายยังห่างไกลต่อการแก้ไขปัญหา  ชุมชนน่าจะมีทางเลือกอย่างไรต่อการแก้ไขปัญหานี้? 

ทางออก เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน 

เมื่อปัญหาความยากจนอยู่คู่กับท้องถิ่นชนบท ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนกว้างออกไปทุกที คนด้อยโอกาสยังคงด้อยโอกาสลงไปเรื่อยๆ ... จะพึ่งใคร...?  

คำตอบคือ พึ่งตนเอง 

พึ่งตนเอง น่าจะเป็นคำตอบที่ชุมชน ลุกขึ้นปฏิวัติกับความยากจน โดยไม่รีรอ ปัจจัยภายนอก แต่ได้ใช้ศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ให้มากที่สุด 

ถามต่อว่า ถ้าอย่างนี้แล้ว เราจะมีวิธีก้าวไปสู่การพึ่งตนเองได้อย่างไร ? 

คำถามนี้สำคัญ เพราะไม่ง่ายเลยที่จะพลิกวิธีคิดแบบพึ่งพาซึ่งเป็นความรู้สึกสามัญ ของชุมชนมานาน เพื่อที่จะคิดพึ่งตนเอง วิธีก้าวไปสู่การพึ่งตนเอง จึงเป็นกระบวนการที่ชุมชนต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง และต้องใช้ เวลา 

 ๒ ภาพบน : ผักงามๆปลอดสารพิษในสวนลำใยของลุงคำปัน ต. หนองช้างครืน ลำพูน
ภาพล่าง : ท้องร่องกลางสวนลำใยลุงคำปันที่เลี้ยงปลาและมีผักกระเฉดที่อวบอ้วน
...........................

สร้างปัญญาเพื่อปลดล็อคความยากจน 

ปัญญาสร้างยังไง? ปัญญาเป็นสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้และประสบการณ์ที่สั่งสม สังเคราะห์ออกมาเป็นองค์ความรู้ การสร้างปัญญา จึงต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับท้องถิ่น เปิดเวทีแห่งโอกาสให้คนได้มาร่วมคิด ร่วมวางแผน และร่วมรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้น ผลที่ได้หากดีก็สามารถนำไปขยายผลต่อ หากล้มเหลวก็ต้องถอดบทเรียนให้ได้ว่าทำไม เพื่อหาวิธีการใหม่ 

งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น กับการสร้างสรรค์ปัญญา แก้ไขปัญหาความยากจน 

งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เป็นงานวิจัยที่ชุมชนเป็นคนริเริ่มกระบวนการด้วยตนเอง สร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ด้วยหวังว่าการที่คนในชุมชนได้มาร่วมกันในกระบวนการวิจัย ตั้งแต่การเริ่มคิด การตั้งคำถาม การวางแผน และค้นหาคำตอบอย่างเป็นระบบ เป็นรูปธรรม โดยการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง จะทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ แก้ไขปัญหาของตนเองได้เก่งขึ้น และสามารถใช้กระบวนการทางปัญญานี้แก้ไขปัญหาอื่นๆในท้องถิ่น  

จะเป็นเส้นทางหนึ่งที่จะช่วยสร้าง ความเข้มแข็งให้กับชุมชน อันจะนำไปสู่ การพึ่งตนเอง  สู่ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาความยากจน ...เปลี่ยนแปลงวิธีคิดการพึ่งพาแบบเดิมไปสู่การริเริ่มแก้ไขปัญหา โดยการ  ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส  

และนั่นคือ  วิถีของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่ช่วยสร้างสรรค์ปัญญา เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน



ความเห็น (10)

ความจนมีหลายสาเหตุ และส่วนใหญ่เป็นมาจากหลายๆสาเหตุรวมกัน แต่ความจนที่น่ากลัวที่สุด สำหรับผมคือ จนเพราะ (ถูกทำให้) ไม่รู้จักตัวเอง อันนี้ จะจนดักดานไปอีกนาน เพราะถึงแก้จนได้ แต่ก็ชั่วคราว ตราบเท่าที่สมการชีวิตยังแปรไปตามการพึ่งพาผู้อื่นแบบไม่ลืมหูลืมตาอย่างเก่า

 งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น นอกจาก จะ "ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส" แล้วสิ่งที่สำคัญมากก็คือการทำให้ ชุมชนรู้จักตัวเอง กล้าที่จะฟังเสียงจากข้างในของตัวเอง และยินดีที่จะปอกเปลือกให้ผู้อื่นรับรู้ วิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ อันนี้เป็นความกล้าหาญพื้นฐานที่ยิ่งใหญ่มาก หลังจากที่ถูกรัฐและปัจจัยภายนอกปิดหู ปิดตา ปิดปาก มาชั่วเวลานานหลายสิบปี

ภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น เหล่านี้ครับ

ตรงนั้นหละครับ "จนเพราะถูกทำให้จน"

เป็นเงื่อนไขที่น่าเจ็บปวดเหลือเกินสำหรับคนจน ที่จนดักดาน จนซ้ำซาก

 ทางเลือกทางรอดก็คือ "การพึ่งตนเอง" ให้ได้

วิจัยเพื่อท้องถิ่น เป็นเครื่องมือ ในการช่วยให้ชุมชนรู้ตนเอง และสร้างสรรค์ปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

ผมก็ภูมิใจเช่นเดียวกันครับที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ในการขับเคลื่อนงานพัฒนา ยกระดับ และต่อยอดภูมิปัญญาของชุมชน

ขอบคุณพี่ยอดดอย  ครับ

 

  • เมื่ออ่านวิจัยเพื่อท้องถิ่นสร้างสรรค์ “ปัญญา” เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน แล้วในความรู้สึกของตนเองมันเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุดแล้ว.....แต่ทีนี้คนที่หนักที่สุดคือคนขับเคลื่อน...เพื่อให้เกิดคลื่นกระเพื่อมให้มากที่สุดและยาวนานที่สุด...อาจารย์จะต้องไม่ยอมให้คลื่นหยุดนิ่งนะ...ขอเป็นกำลังใจช่วยนะเจ้า.......

 

คุณ kead

สำหรับงาน "วิจัยเพื่อท้องถิ่น" แน่นอนว่า พี่เลี้ยงภานอก และ/หรือ นักพัฒนาอาจต้องทำงานหนักเมื่อคิดกระบวนการแรกเริ่ม การออกแบบกระบวนการให้เกิดการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ รวมเอาคนมี "ใจ" มาทำงานพัฒนาชุมชน

บางครั้ง คนข้างนอกมองงานแบบนี้ โรแมนติค เกินไป คิดว่าชุมชนต้องทำเองทั้งหมด นั่นคือ ชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้

ผมพบว่า ที่ผมทำงานชุมชน มีหลายๆหมู่บ้าน ต้องทำหน้าที่พี่เลี้ยงที่เข้มข้นพอสมควร อาจมีการชี้นำบ้างเล็กน้อย

งานวิจัยและพัฒนาน่าจะเป็นทางเลือกครับ...เป็นเวทีแห่งโอกาสที่จะช่วยสร้างสรรค์ ศักยภาพ ภูมิปัญญา และทบทวนวิธีคิด เพื่อการแก้ไขปัญหา

ในตอนนี้ผมเองก็เชื่อในสิ่งที่ที่ทำ และผลของงานที่เกิดขึ้น ครับ

ขอบคุณครับที่มาร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์ครับ

พืชผักงามจริงๆ อิจฉาคนอยู่กับธรรมชาติค่ะ

พืชผักเกษตรอินทรีย์เอื้ออาทรต่อธรรมชาติและผู้คน

ชีวิตชนบทสวยงามด้วยการเอื้อเฟื้อ

ขอบคุณอาจารย์หมอนนท์ครับผม

อาจารย์ค่ะ

ควมยากจนมีทุกหย่อมหญ้าของไทย..แต่คนไทยไม่ได้จนนำใจใช่ไหมค่ะอาจารย์

คุณ Chah 

เรื่อง น้ำใจ คนไทยไม่เคยขาด....

คนไทยไม่จน หากน้อมนำ เศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวง มาใช้ดำเนินชีวิต

พอเพียง เป็นคำตอบไปสู่ ความสุข

เป็นธรรมะง่ายๆด้วยครับ

 

เราอาจจะทำยอดgdpได้น้อยแต่นั้นก็ดี เราสามารถรักษาสภาพแวดล้อมของเราและมีวิถีที่มีสุข โดยให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ข้างใน...
ครับผมเห็นด้วยกับคุณ
P

พึ่งตนเอง น่าจะเป็นคำตอบที่ชุมชน ลุกขึ้นปฏิวัติกับความยากจน โดยไม่รีรอ ปัจจัยภายนอก แต่ได้ใช้ศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ให้มากที่สุด 

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท