โครงการนิสิต LA _ ๐๑ : ที่มาที่ไป ความตั้งใจ และความคาดหวัง


ขณะที่เขียนบันทึกนี้ "โครงการนิสิตผู้ช่วยอาจารย์" หรือ Lecturer Assistant ได้ดำเนินการมาเกือบจะครบภาคการศึกษาแล้ว มีทั้งเสียงสะท้อนทั้ง "ว่าดี" และทั้งที่บอกว่า "ต้องทำให้ดีขึ้น" จากอาจารย์ผู้สอน อย่างไรก็ดีสำนักศึกษาทั่วไปยังคงดำเนินโครงการนี้ต่อไปในภาคเรียนหน้า ขณะนี้ได้ประกาศรับ "นิสิต LA" สำหรับปีการศึกษา ๒/๒๕๕๘ แล้วอีก ๑๐๐ คน ด้วยความมุ่งมั่นภายใต้ข้อจำกัด และความตั้งใจที่พัฒนาคุณภาพของนิสิตและปรับปรุงระบบและกลไกในการบริการให้ดีขึ้น โดยเริ่มที่บันทึกนี้ ที่จะอธิบายถึง "ที่มา ที่ไป ความตั้งใจ และความคาดหวัง" ของโครงการ เพื่อให้อาจารย์ผู้อ่าน เข้าใจและเห็นใจมากขึ้น

ที่มาที่ไป

เหตุผล ๕ ประการ ที่ทำให้สมควรมี "ผู้ช่วยอาจารย์" ในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ

๑) รายวิชาศึกษาทั่วไปจัดกลุ่มเรียนขนาดใหญ่ ตั้งแต่ ๑๕๐ ถึงเกือบ ๔๐๐ คน ทำให้อาจารย์ต้องใช้เวลามากในการที่ต้องกรอกบันทึกคะแนน และตรวจเช็คชื่อการเข้าเรียนในแต่ละครั้ง เป็นการยากในการตรวจสอบการเข้าร่วมกิจกรรมหรือเข้าเรียน เช่น ขาด ลา มาสาย ฯลฯ .... นิสิต LA จะเข้ามาช่วยทำหน้าที่ตรวจเช็่คชื่อ เช็คลา มาสาย และแบ่งเบาภาระของอาจารย์ผู้สอนได้โดยนำเอางานที่อาจารย์ตรวจแล้วมากรอกคะแนนลงในไฟล์ Excel ซึ่งจะสามารถ Import เข้าไปในระบบระเบียนได้อย่างสะดวก

๒) ปัญหาการแก้เกรด ทั้งที่เป็นความผิดของนิสิตที่ส่งงานผิดที่ การตัดชื่อนิสิตออกในกรณีชำระค่าลงทะเบียนช้า แล้วปรากฎรายชื่อเข้ามาในระบบทะเบียนในภายหลัง ทำให้คะแนนเก็บบางส่วนหายไป หรือแม้แต่ความผิดพลาดจากการกรอกคะแนนของอาจารย์เอง ฯลฯ ... เราคาดว่าปัญหานี้จะหมดไป ถ้ามีการประกาศและกำชับให้นิสิตทุกคน ได้ตรวจสอบคะแนนเก็บและผลคะแนนสอบกลางภาคของตนเอง ก่อนจะมีการสอบปลายภาค ด้วยการทำเป็นประกาศและขั้นตอนปฏิบัติให้นิสิตทุกคนต้องปฏิบัติ โดยหมายเหตุว่า หากไม่ตรวจสอบหรือท้วงติงตามวันเวลาที่กำหนด ถือว่ายอมรับคะแนนเก็บนั้นๆ จะไม่สามารถเรียกร้องให้ตรวจสอบได้ภายหลัง ... ทั้งนี้ หน้าที่ของ "นิสิต LA" คือต้องประสานงานกับนิสิตทุกคน

๓) ปัญหาเรื่องการใช้สื่อโสตทัศนอุปกรณ์ ซึ่งหลายครั้งที่มักมีปัญหาให้อาจารย์ต้องโทรตามเจ้าหน้าที่บริการ (บร.) เพราะอุปกรณ์ในหลายชั้นเรียนยังเป็นระบบเก่าที่ค่อนข้างซับซ้อนสำหรับอาจารย์ที่ไม่สันทัดเรื่องเทคโนโลยี ... นิสิต LA จะไปเปิดอุปกรณ์เล่นสื่อหรือโสตทัศนอุปกรณ์ เตรียมพร้อมไว้ ก่อนจะอาจารย์จะเข้าสอน และช่วยแก้ปัญหาการใช้งาน ซึ่งนิสิต LA จะได้รับการฝึกอบรมมาก่อน

๔) ช่วยประหยัดไฟฟ้าและรายงานปัญหาห้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ บร. เช่น แอร์เสีย พัดลมไม่ทำงาน หรือระบบเสียงชำรุด ฯลฯ ... เนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่ บร. และแม่บ้าน มีจำนวนไม่มากพอจะเดินสำรวจตรวจดูทุกห้องเรียน ทำให้หลายครั้งมหาวิทยาลัยต้องสิ้นเปลืองพลังงานไปกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีใครปิด ... นิสิต LA จะช่วยตรวจตราและกำชับให้นิสิตปิดเครื่องใช้ไฟ้ฟ้าต่างๆ ก่อนจะออกจากห้อง โดยเฉพาะกรณีที่ไม่มีใครใช้ห้องเรียนนั้นแล้วในแต่ละวัน

๕) เป็นการส่งเสริมการหารายได้ระหว่างเรียน แม้ว่าค่าตอบแทนจะไม่มาก เพียง ๒๕ บาทต่อชั่วโมง แต่ถ้าหากใช้อย่างประหยัด และจัดการเวลาให้รับงานได้สัก ๔ กลุ่มเรียน ก็จะได้ค่าตอบแทนประมาณสัปดาห์ละ ๒๐๐ บาท ภาคการศึกษาละ ๓,๐๐๐ บาท ก็พอจะแบ่งเบาภาระผู้ปกครองพอสมควร .... นอกจากเรื่องค่าตอบแทน นิสิต LA ที่ได้รับการยอมรับจากอาจารย์ผู้สอนว่าทำงานดี มีความรับผิดชอบ จะได้รับประกาศนียบัตรรรับรองประสบการณ์อย่างเป็นทางการ และมีสิทธิ์ที่จะสมัครขอรับทุนนิสิตจิตอาสาของสำนักศึกษทั่วไป ... รายละเอียดจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ความตั้งใจ

ด้วยหลักการและเหตุผลข้างต้น สำนักศึกษาทั่วไป โดยฝ่ายพัฒนานิสิตและเครือข่ายวิชาการ จึงได้ดำเนินโครงการสร้าง "นิสิต LA" ขึ้น และทดลองนำร่องในภาคเรียนที่ ๓/๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ มีนิสิตได้รับใบประกาศบัตร จำนวน ๑๐ คน จึงได้ดำเนินการต่อในภาคการศึกษาต่อมา คือ ๑/๒๕๕๘ มีนิสิต LA ถึง ๙๘ คน ช่วยเหลืออาจารย์ทั้งหมด ๒๖๐ กลุ่มเรียน ผลสรุปจะอย่างไร จะได้รายงานให้ทราบต่อไป ...

ในเบื้องต้น เรากำหนดวัตถุประสงค์และบทบาทหน้าที่ของ "นิสิต LA" ไว้ ๕ ประการ ได้แก่

๑) ช่วย "เช็คชื่อ" คือ ตรวจสอบการเข้าเรียนหรือการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิต เพื่อปลูกวินัยและความรับผิดชอบของนิสิต และส่งเสริมทักษะชีวิตด้านคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ ระเบียบเครื่องแต่งกาย ฯลฯ โดยในเบื้องต้นนี้ ให้เป็นดุลพินิจของอาจารย์ผู้สอนว่าจะกำหนดเกณฑ์ในการประเมินอย่างไรในแต่ละด้าน

๒) ช่วยกรอกคะแนน คือ การนำเอาใบงาน การบ้าน หรือชิ้นงาน หรือผลงาน จากกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งอาจารย์ตรวจให้คะแนนแล้ว มากรอกคะแนนลงในใบรายชื่อ และบันทึกลงในไฟล์ Excel เพื่อให้สะดวกต่ออาจารย์ ในการ Import ลงในระบบทะเบียนของนิสิตต่อไป

๓) ประกาศคะแนน หรือประสานให้นิสิตเข้าตรวจสอบคะแนนเก็บ เป็นระยะ หรืออย่างน้อย ๑ ครั้งก่อนจะสอบปลายภาค เพื่อตรวจสอบความถูกต้องในการส่งงานและผู้ตรวจงาน ให้แน่ใจว่า ไม่มีงานที่ส่งแต่อาจารย์ไม่ได้ลงบันทึกคะแนน โดยกำหนดช่วงเวลาที่นิสิตสามารถมาแจ้งกับนิสิต LA ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมแจ้งให้อาจารย์ทราบ และ/หรือ ประสานไปยังนิสิตทุกคนให้เข้าดูคะแนนของตนในระบบเมื่ออาจารย์นำคะแนนลงในระบบแล้ว หากเลยช่วงเวลาดังกล่าว ให้ถือว่านิสิตยอมรับว่าคะแนนนั้นถูกต้อง ไม่มีสิทธิ์ร้องเรียนในภายหลัง .... การใช้สื่อสังคมออนไลน์เช่น facebook ทำให้การติดต่อประสานระหว่างนิสิต LA กับนิสิตผู้เรียนทุกคนสามารถทำได้

๔) ช่วยเปิดสื่ออุปกรณ์ เตรียมความพร้อมของห้องเรียน ก่อนอาจารย์จะเข้าสอน

๕) ช่วยปิดสื่อโสตทัศน์และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เมื่อแน่ใจว่า ไม่มีผู้ใช้ห้องเรียนต่อ

หน้าที่ ๕ ประการนี้ ถูกกำหนดขึ้นด้วยความตั้งใจ จะช่วยแบ่งเบาภาระงานของอาจารย์ผู้สอนกลุ่มใหญ่ เพื่อทำให้อาจารย์ได้มีเวลาในการเตรียมการสอน และออกแบบปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น และหวังจะเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการของสำนักศึกษาทั่วไป เอื้อให้อาจารย์ได้สอนในห้องเรียนที่พร้อมที่สุด และใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยอย่างคุ้มค่าที่สุด

ความคาดหวัง

ความคาดหวังสำคัญ ๓ ประการ จากโครงการนี้ คือ

๑) ได้ช่วยแบ่งเบาภาระของอาจารย์ผู้สอน ช่วยมหาวิทยาลัยประหยัดไฟ และช่วยให้สำนักศึกษาทั่วไปให้บริการอาจารย์ได้อย่างประทับใจที่สุด

๒) ได้ช่วยแบ่งเบาภาระด้านการเงินของนิสิต LA และเป็นเหมือนโครงการฝึกฝนทักษะการทำงานของนิสิต LA แต่ละคน โดยอาจารย์มีอาจารย์ผู้สอนทุกท่าน เป็นทั้งครูและเป็นทั้งผู้ใช้ว่าที่บัณฑิตในอนาคต ... นิสิต LA ที่ผ่าน การทำงานอย่างดี จะได้รับการรับรองจากทั้ง อาจารย์ผู้สอน และสำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหสารคาม ว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานเบื้องต้น

๓) ได้นิสิตต้นแบบหรือนิสิตแกนนำในการขับเคลื่อนคุณลักษณะของนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป โดยเฉพาะด้านความเป็นคนดี ซื่อสัตย์ ประหยัด ขยัน และความมีจิตอาสา

ขอจบบันทึกด้วยรูปของนิสิต LA รุ่นนำร่อง ความคืบหน้าจะเป็นอย่างไร จะมาบันทึกรายงานให้ท่านทราบเป็นระยะครับ











หมายเลขบันทึก: 596974เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2015 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2015 23:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เยาวชน คนหนุ่มสาว (กาพย์ยานี ๑๑)


....เยาวชน คนหนุ่มสาว............เธอจักก้าว สู่หนใด
โลก(นั่น)หนา อีกกว้างไกล........รอเธอให้ รักษ์ดูแล

....อธรรม บ่หยุดยั้ง................รอเธอพลั้ง สู่ข่ายแห
มัดผูก กายดวงแด..................มอมเมาแล้ แน่! แพ้มัน

....จริงแท้ แม้เยาว์น้อย.............หากค่อยคอย ร่วมทอฝัน
มุ่งมั่น! รักช่วยกัน...................โลกฉับพลัน สวยสดใส

....แสงธรรม ในใจเธอ...............พร้อมเสมอ สาดส่องไสว
เพียงเธอ มอบน้ำใจ..................ผู้ยากไร้ ถูกรุกราน

....เมตตา รักสรรพสิ่ง...............เธอทำจริง และสืบสาน
ฝากไว้ เป็นตำนาน..................โลกเบิกบาน ด้วยมือเธอ


ฝาก ดาวประจำรุ่งแห่งความหวัง ในมือพวกเธอ
ด้วยความเชื่อมั่น

เพิ่งเคยได้ยิน ค่ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท