บันทึกการเดินทางด้วยรอยเท้าตนเอง (47) ทวนคิดว่าด้วยเรื่องราวการเป็น "เด็กเลี้ยงวัว"


เช้าๆ ก่อนไปโรงเรียนและหลังกลับจากโรงเรียน ผมต้องขนขี้วัวใต้ถุนบ้านไปเทผสมน้ำเพื่อทำเป็นก๊าชชีวภาพ และนั่นยังหมายถึงการ “หาบคอน” ขี้วัวขี้ควายตามท้องถนน หรือไม่ก็ไม่ขอจากเพื่อนบ้าน


ผมมีความเชื่อเสมอมาว่า “สักวันหนึ่ง สายลมแห่งรักและคิดถึงจะพัดพาเรากลับบ้าน”

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน – หนึ่งในเหตุผลของการกลับบ้านก็เป็นไปในครรลองข้างต้น

ทว่าก็มีพิเศษมากกว่านั้น เนื่องเพราะการกลับบ้านครานี้ เป็นวันคล้ายวันเกิดของน้องแดน (เจ้าจุก : นักเลงลูกทุ่ง)


ผมไปถึงบ้านบ่ายคล้อย (๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๘)

บ้านไม่เงียบเหงาเท่าไหร่เลย มีหลานๆ เหลนๆ มาพบปะเที่ยงท่องกันหลายคน

พ่อปู่ (เรียกตามน้องแดน) ไม่อยู่- เดินทางไปต่างจังหวัด ๓ วัน เป็นปีแรกที่พ่อปู่จะไม่ได้อยู่ร่วมจัดงานวันเกิดให้กับเจ้าหลานรัก

การกลับบ้านครั้งนี้ ชวนให้ผมสุข สงบมากขึ้นกว่าครั้งเก่าก่อน

มีเวลาที่เนิบช้า ได้ทวนคิดถึงเรื่องราวเก่าก่อน ปัจจุบัน และอนาคตอย่างช้าๆ –ละมุนละม่อม

ผมใช้เวลาส่วนหนึ่งเพียงสั้นๆ ลงไปยังบ้านท้ายทุ่งที่ปลูกไว้เมื่อหลายปีก่อน

บ้านดูเหมือนรกครึ้มมากเป็นพิเศษ เจ้าไม้หลากพันธุ์ ทั้งไม้เลื้อย ไม้ยืนต้นดูเหมือนจะทำตัวเป็น “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” ได้อย่างน่ารัก ลอดเลื้อยโอบกอดบ้านหลังแห่งรักไว้อย่างน่าชื่นใจ

แน่นอนครับ ถึงแม้ผมและผู้คนของความรักจะไม่ค่อยได้มีเวลากลับไปใช้ชีวิตที่บ้านหลังนี้อย่ามากมายกระนั้นก็พร้อมที่จะยืนยันว่า บ้าน “รกครึ้ม –ไม่ใช่รกร้าง”



คล้อยค่ำ- ผมกลับขึ้นมายังบ้านพ่อ ผ่อนพักชีวิตด้วยการทวนคิดถึงเรื่องราวในวัยเยาว์ที่เคยวิ่งเล่นและเติบใหญ่ภายใต้ชายคาของบ้านหลังนี้ ซึ่งยอมรับว่าบ้านดูชราภาพไปมาก จนขบคิดหนักว่าได้เวลาที่จะต้องหาเงินทองมาปรับปรุงให้พ่ออีกครั้งแล้วกระมัง

และที่ไม่อาจละข้ามได้เลยคือการเดินไปทักทายแม่ผ่านรูปภาพที่ตั้งวางอยู่บนตู้ที่อัดแน่นด้วย “หมอน เสื่อ ผ้าห่ม” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นหยาดเหงื่อแห่งรักที่แม่ได้ลงแรงทำไว้ก่อนลาจากพวกเราไป

ใช่ครับ- ผมกำลังจะบอกว่า “คิดถึงแม่” เป็นที่สุด




ก่อนอาทิตย์ลับฟ้า-ผมพาเจ้าจุกทบทวนความทรงจำในวันเด็กของผมเองด้วยการสวมบทบาทของการเป็น “เด็กเลี้ยงวัว” ร่วมกัน

โดยส่วนตัวแล้ว ผมมีความทรงจำที่หนักแน่นกับการเป็นเด็กเลี้ยงวัวอย่างที่สุด ชีวิตผมเติบโตมาจากวิถีเช่นนี้จริงๆ

ผมคิดถึงกลางพรรษาที่ฝนตกหนักและตกต่อเนื่องหลายๆ วัน อันเป็นห้วงของพายุที่โถมถั่งเข้ามา


ห้วงนั้นเราต้อนวัวไปเลี้ยงที่ “โคก” และ “ริมเขื่อนลำปาว” ไม่ได้ ผมต้องกังวัวไว้ในคอก ซึ่งบางปีมีเป็นสิบๆ ตัว หรือกระทั่งบางทีมีไม่ถึงสิบตัว

ภารกิจอันสำคัญของผมก็คือการลุยทุ่งเกี่ยวหญ้าตามคันนามาให้วัวได้กิน และขนน้ำมาให้วัวได้ดื่ม ว่างจากนั้นก็ใช้ชีวิตสบายๆ บนเถียงนา –

หรือกระทั่งในบางวันถ้าจำเป็นก็ต้อนวัวออกไปเลี้ยงตามทุ่งกว้าง-ริมเขื่อนและโคกท้ายหมู่บ้าน

เป็นการเลี้ยงวัวท่ามกลางพายุฝน ฟ้าลั่นคำรามแต่ละครั้งทำเอาหัวใจหล่นไปอยู่พื้นดินเลยก็ว่าได้ หลายๆ ครั้งวัวมุ่งหน้าหลบฝนใต้ต้นไม้ ผมก็หวั่นกลัวว่าต้นไม้จะเป็นสายล่อฟ้า ----

ชีวิตและวันวัยเช่นนั้น มันบอกไม่ถูกเลยว่า “บันเทิงเริงปัญญา” ยังไง รู้แต่เพียงว่า “ผมรักบรรยากาศเช่นนั้นเป็นพิเศษ” และยิ่งวันนี้ในวัยครึ่งคนแล้ว ผมยิ่งรักและคิดถึงวันเวลาเช่นนั้นมาก และมากจริงๆ

แน่นอนครับวันนี้เรามีวัวเหลือแค่ ๓ ตัว— เราเลี้ยงมันด้วยเหตุผลง่ายๆ เหมือนที่พ่อและแม่เคยพร่ำพูดว่า “เลี้ยงไว้เพื่อให้ได้ปุ๋ยคอก”

ครับ-การเลี้ยงวัววันนี้ พอถึง “หน้านา” ที่ข้าวกำลังออกรวง เราไม่จำเป็นต้องไปเลี้ยงในสถานที่เดิมๆ อีกแล้ว เราสามารถเลี้ยงได้ตามบริเวณ “รั้วบ้าน” ของเราได้อย่างไม่ยากเย็น ถึงกระนั้นก็เถอะ ลึกๆ ผมก็ยังคิดถึงท้องทุ่งอยู่วันยังค่ำ เพราะอย่างน้อย “มูลวัว” ก็ยังเป็นปุ๋ยให้กับผืนแผ่นดินของท้องทุ่ง หรือกระทั่งสะสมปริมาณในคอกท้ายทุ่งเป็นระยะๆ เมื่อถึงเวลาก็ “ขนปุ๋ย” ลงสู่ “ทุ่งฝัน” ผ่อนปรนและแย้งย้อนต่อพันธะชีวิตจาก “ปุ๋ยเคมี” ได้อย่างยกใหญ่



เรื่องของเด็กเลี้ยงวัว ไม่แค่เท่านี้หรอกนะครับที่ผมคิดถึง แต่ยังหวนคำนึงถึงบรรยากาศของการต้องทำหน้าที่เก็บตักขี้วัวขี้ควายมาทำก๊าชชีวภาพ

ครับ-ผมรับหน้าที่นี้มาตั้งแต่ประถม ๕ ประถม ๖ ต่อยอดยาวยืดมาจนมัธยมต้น พอเข้ามาเรียน “ในเมือง” จึงว่างเว้นภารกิจเหล่านี้

เช้าๆ ก่อนไปโรงเรียนและหลังกลับจากโรงเรียน ผมต้องขนขี้วัวใต้ถุนบ้านไปเทผสมน้ำเพื่อทำเป็นก๊าชชีวภาพ และนั่นยังหมายถึงการ “หาบคอน” ขี้วัวขี้ควายตามท้องถนน หรือไม่ก็ไปขอจากเพื่อนบ้าน ---

บอกไม่ถูกว่า “เบื่อ –เหนื่อย-อาย” หรือไม่ แต่สารภาพตรงนี้เลยว่า ห้วงนั้นมีเขินๆ อายๆ (สาวๆ) อยู่ไม่ใช่ย่อย แต่หน้าที่คือหน้าที่ –หน้าที่คือสิ่งที่ต้องทำ พอข้ามพ้นมาได้นั่นแหละถึงได้รู้ว่าประสบการณ์จากวันวัยเช่นนั้น ทำให้ผมได้มี “ทุนชีวิต” ที่ดีงามหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่นทุกวันนี้ อาจารย์และชาวบ้านแถวสารคามเนื่องในโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนสงสัยว่าทำไมผมถึง “รู้เรื่องก๊าชชีวภาพ” ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนจบสายนี้มา—

ครับ- นี่คือผลพวงของการเป็น “เด็กเลี้ยงวัว” นี่คือผลพวงของการเป็น “เด็กบ้านนอก”



สรุป— ผมสุข สงบกับการได้กลับบ้านครั้งนี้มาก จะด้วยเหตุผลกลไดก็เถอะ ผมรู้สึกรักบ้านขึ้นมากมายกว่าวันที่ผ่านมา

และกล้าที่จะบอกกับลูกว่า “ผมเป็นเด็กเลี้ยงวัว” แต่ยังไม่เคยถามลูกว่า “สุขการกับได้เป็นเด็กเลี้ยงวัวเหมือนผมไหม”

นี่คือบันทึกเปลือยความสุขที่ผมไม่ได้เขียนในทำนองนี้มาเป็นปีๆ




...

๑๗-๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๘
บ้านเหล่าหลวง ต.ภูดิน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์






หมายเลขบันทึก: 596336เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2015 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2015 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เราสามารถเปลือยความสุขได้ทุกวันและเวลา ;)...

ครับ อ.วัส Wasawat Deemarn

เปลือยความสุขได้ทุกวัน
และก็ยากยิ่งต่อการบอกเล่าในทุกวัน

5555






ต้นไม้หน้าบ้านโตมากเลยค่ะ ร่มรื่นจัง

และท่าทางลูกไม้น่าจะหล่นใต้ต้นนะคะ

-สวัสดีครับ..

-อ่านเรื่องราว..รับรู้ถึงความสุข..

-ผมเพิ่งได้รับความสุขนี้..เมื่อวันหยุดที่ผ่านมา..เช่นกันครับ...

-ร่วมทำบุญประเพณีอันดีงาม...

-ตานก๋วยสลาก...ณ บ้านเกิดครับ..


วัวอ้วนมากๆ

บ้านร่มรื่นดีกว่าเก่านะครับ

เจ้าจุกต้องชอบวัวแน่ๆเลยครับ

แวะมาบอกว่า..เมื่อสาวๆตอนอยู่ในรั้วที่เรียกว่ามหาวิทยาลัย(เล็กๆตอนต้นๆแห่งนั้น)..ชอบคุยกับเพื่อนผู้ชายที่มาจาก(บ้านนอก)..มากกว่า..คนเมือง..เพราะเขามีเรื่องเล่าเยอะมากฟังเพลิน..ยิงนกตกปลาเลี้ยงควาย ขี่ควาย..อื้อฮือ..รู้สึกว่าเขาเนี่ยะ man ..มากๆเล้ย...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท