โดราเอมอน กับ การศึกษาพหุวัฒนธรรม



(ภาพประกอบจาก Dek dee.com)

วิเคราะห์ ภาพยนตร์เด็ก เรื่อง โดราเอมอน ในมุมมอง “การศึกษาพหุวัฒนธรรม”

ไม่ว่าผู้เขียนโดราเอมอนจะเผยตอนท้ายที่สุดว่า โนปิตะกำลังป่วยและกำลังจะเสียชีวิตก็ตาม เรื่องของโดราเอมอนเป็นภาพตัวแทน(representation) ของสังคมญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้วิเคราะห์ไว้ก่อนเกี่ยวกับระบบสังคมดังที่ นายภูมิ น้ำวล นักวิชาการและบรรณาธิการอิสระ ได้วิเคราะห์ระบบชนชั้นทางสังคม ในงานนี่จึงเป็นที่มาของงานเสวนาในหัวข้อ “Rereading Doraemon through the eyes of grown-ups" (ย้อนอ่านโดราเอมอนกันดูไหม?) จัดโดย ชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ และ ชมรมสนทนาภาษาสิงห์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดังต่อไปนี้ [1]

-โนบิตะ : เป็นร่างทรงของผู้เขียนทั้งสองคนเอง คือเป็น“คนชั้นกลางใหม่” มีพ่อทำงานบริษัท ส่วนแม่ลาออกมาเป็นแม่บ้านตามขนบญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชนชั้นที่ปะทะกับตัวละครอย่าง ซูเนโอะ และ ไจแอนท์

-ซูเนโอะ :เป็นตัวแทนของชนชั้นกลางเก่า หรือชนชั้น“นายทุน” ที่มีฐานะดี มีชีวิตที่สุขสบาย และสามารถชี้เป็นชี้ตายคนระดับต่ำกว่าได้ด้วยเงิน

-ไจแอนท์ :เป็นตัวแทนของชนชั้น“กรรมกร” โดยจะเห็นว่า ที่แม่ไจแอนท์เปิดร้านขายของ พ่อทำงานก่อสร้าง และไจแอนท์เองเป็นคนมีพละกำลังมาก แต่ไม่มีความรู้ เวลาโกรธทุกคนมักจะต้องกลัว

-ชิซุกะ :เป็นตัวละครแบบ“ชนชั้นสูง” หรือกลางค่อนข้างสูง เห็นได้จากการที่ชิซุกะเป็นคนเรียบร้อย พูดจาไพเราะแบบชาววัง นอกจากนี้ นามสกุล “มินาโมโตะ” ของชิซุกะยังพ้องกับสกุลของนักรบผู้สถาปนาระบอบโชกุนในญี่ปุ่นเมื่อปี 1735 อีกด้วย

-โดเรมอน :เป็นตัวแทนของระบบทุนนิยม กล่าวคือ การที่โนบิตะมีโดเรมอนเข้ามาช่วยเหลือทำให้สมหวังจนได้แต่งงานกับชิซุกะในอนาคตนั้นแฝงนัยยะของการกระตุ้นให้ชนชั้นกลางต้องพัฒนาตัวเองไปตามระบบทุนนิยมสมัยใหม่นั่นเอง เพียงแต่โดเรมอนไม่ใช่ทุนนิยมแบบกดขี่อย่างนายทุนแบบซูเนโอะ

...หากแต่เป็น “ทุนนิยมมีหัวใจ” คือ เป็นมิตรกับคน มีของวิเศษที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และทำให้การบริโภคดูเป็นสิ่งสวยงาม”

จากการวิเคราะห์ของภูมิ น้ำวล ได้แสดงความแตกต่างหลากหลายด้านเดียว คือ ด้านชนชั้น หรือ Class เมื่อวิเคราะห์ภาพการ์ตูน ที่เห็นชัด ๆ ก็คือเรื่องของบทบาทชายหญิงหรือ Gender ซึ่งภาพตัวแทนของหญิงนั่นคือ ซิซูกะ ไจโก๊ะ นอกจากนั้นเป็นบทบาทของพ่อแม่ของตัวละครแต่ละตัว ที่เป็นภาพตัวแทนของบทบาทชายหญิง ในฐานะของหญิงแท้ ชายแท้ ในยุคโมเดิร์น ในหนังสือไม่ได้แสดงถึงเพศที่สาม ผู้อพยพเข้าเมืองในประเทศญี่ปุ่น ชาติพันธ์ที่แสดงออกยังไม่ถูกแสดงออกมาเท่าไร แต่สิ่งที่แสดงออกมาถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน คือ ความล้มเหลวในการศึกษาเล่าเรียนในยุคโมเดิร์น ของ โนบิตะ ไม่ว่าจะวิเคราะห์ว่า โนปิตะ เป็นเด็กพิเศษหรือไม่ การที่โนบิตะประสบความล้มเหลวทางการเรียน อาจมาจากความหลากหลายด้านความถนัด และลีลาการเรียนรู้ ความแตกต่างหลากหลายที่ภาพตัวแทน(Representation)ทำให้ตาบอดสี มองเห็นว่าเด็กเหมือน ๆ กันหมด ความล้มเหลวของโนบิตะ เป็นเพราะคำอธิบายว่า ขี้เกียจ ฝันกลางวัน ไม่มีความอดทน แต่ในภาพความล้มเหลว ไม่ได้มองไปที่สถาบันการศึกษาที่บ้าการวัดประเมินผล จนทำให้โนบิตะพ่ายแพ้ทางด้านการศึกษา นอกจากนั้นการกลั่นแกล้งก้ันของตัวละคร เช่นซูเนโอ๊ะ ที่เป็นตัวแทนของชนชั้นที่ร่ำรวยได้พูดกล่าวร้ายหรือฟ้องครู ให้โนบิตะ ถูกทำโทษ นอกจากนั้นการติดสินใจใช้กำลังของไจแอนท สะท้อนความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

ในยุคโมเดิร์นได้แบ่งแยกความโง่ ฉลาด จากการวัดผลประเมินผล เช่นการวัด ไอคิว หรือการวัดอื่น ๆ และใช้ผลของตัวเลข เมื่อยุคโมเดิร์นตอนปลาย มีผู้นำเสนอความแตกต่างหลากหลายทางด้านสติปัญญา ซึ่งได้ถูกอธิบายโดยการ์ดเนอร์ ว่าคนเรามีสติปัญญาแตกต่างกันถึงแปดอย่าง ทั้งด้านตรรกภาษาวิทยาศาสตร์ ด้านศิลปะ ดนตรี การเข้าสังคม ด้านธรรมชาติ และความเข้าใจตนเอง ซึ่งลักษณะพหุปัญญานั้นเกิดการการอธิบายการทำงานของสมอง ซึ่งสมองส่วนที่ทำงานมากที่สุดก็จะเกิดเส้นใยสมองแน่นหนา ในกรณีของโนบิตะ ผุ้เขียนตีความว่า เขาใช้จินตนาการสมองซีกขวา เป็นหลัก มีลีลาการเรียนรู้ที่โรงเรียนไม่เข้าใจ และโนบิตะอาจเป็นเด็กพิเศษ ที่มีความแตกต่างหลากหลาย และในเรื่องโนบิตะนี้ผู้เขียนตีความว่านักเขียนที่เขียนการ์ตูน กำลังสะท้อนชีวิตจริงของผู้เขียนที่เป็นคนชายขอบด้านตรรกภาษาและคณิตศาสตร์แต่ผู้เขียนถนัดด้านศิลปะการใช้สมองซีกขวา ซึ่งตรงกันข้ามกับระบบการศึกษาหลักที่เน้นระบบตรรกะเพื่อนำประเทศไปสู่ระบบอุตสาหกรรม

ภาพตัวแทนของ “รัฐ” ในการ์ตูน ก็คงเป็นโรงเรียนที่โนปิตะที่เรียนอยู่ ซึ่งคงเป็นยุคหลังสงครามและกำลังสร้างรัฐสมัยใหม่ หรือ “รัฐชาติ” ตัวแทนรัฐ ผ่านโรงเรียน ในโรงเรียนไม่ได้นำเสนอครูคนอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์ผู้ชาย ไว้ผมสั้น แต่งตัวเรียบร้อย ใส่แว่นตา สิ่งที่โหดเหี้ยมของรัฐชาติ สำหรับเรื่องนี้ก็คือ การวัดประเมินผลแบบเดียว ที่ผลักเด็กออกไปให้กลายเป็น “คนอื่น” (The Otherness) ซึ่งก็นำเสนอตรงไปตรงมาเกี่ยวกับ การวัดการประเมินผลอันเป็นตัวแทนแห่งความเป็นกลาง อำนาจการรับรองของรัฐ ดังนั้นจึงไม่พบหัวใจของมนุษย์ในโรงเรียนแห่งนี้ นอกจากสร้างภาพโนบิตะ ให้เป็นคนโง่ ซึ่งก็มาจากเกณฑ์ชุดหนึ่งนั่นเอง แต่เมื่อโนบิตะ ได้พบ ครู แบบ “โดราเอมอน” ซึ่งมีลักษณะครูที่เป็นเหมือนกับเพื่อน และนำโลกการศึกษาปกติไปสู่ Informal Education ซึ่งมีความสนุก ท้าทาย มีการวางแผน การเผชิญสถานการณ์ของเด็ก ๆ เป็นตอน ๆ เมื่อมองแว่นตามหน้าที่ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การศึกษา หรือระบบการศึกษา แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่ดึงโนบิตะให้มีศักยภาพมากที่สุดก็คือ การศึกษาแบบ Informal Education ที่โนบิตะรู้สึกสนุก ท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นตอนเผชิญสิ่งแปลก ๆ เช่นไดโนเสาร์ ผ้าคลุมกาลเวลา ทำให้โนบิตะ กำหนดสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ในขณะที่อยุ่ในโรงเรียนก็จะถูกกำหนดจากอำนาจของโรงเรียน

ระบบการศึกษาหลากหลายที่ปรากฏในเรื่องนี้ โรงเรียนยุคโมเดิร์นของ “รัฐชาติ” เน้นการบ้าการแข่งขัน การประเมินผล แบบวิทยาศาสตร์ ความรู้สึกที่ไปโรงเรียนแบบ “แปลกแยก” ทำให้โนบิตะแพ้ในระบบนี้ ไร้คุณค่าและศักดิศรีอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับสถานศึกษาในยุคโมเดิร์นทั้งโลก ที่ให้อำนาจสถาบัน มากกว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ระบบการศึกษาแบบที่สอง คือ การศึกษานอกระบบ พบจากการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ ความคาดหวังในความก้าวหน้าของตระกูล ซึ่งได้ส่งหุ่นยนต์โดเรมอน มาโค้ช ให้โนบิตะ ส่วนใหญ่เพื่อเป้าหมายในอนาคตของตระกูลที่จะต้องไม่ได้แต่งงานกับไจโก๊ะ ซึ่งเป็นภาพต้วแทนของชนชั้นแรงงาน แต่ระบบการศึกษาที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ Informal Education ที่ใช้ร่วมกับของวิเศษทำให้เผชิญกับปัญหาและการแก้ไขปัญหา ในแต่ละตอนของการ์ตูนโดราเอมอน เป็นการผจญภัยที่น่าสนุก มีการคิด และการทำ จากการที่โนบิตะได้คิดเอง ทำเอง ตลอดจนคุณธรรมต่าง ๆ เช่น โนบิตะ อิจฉา เดคิสุงิ ซึ่งเป็นนักเรียนรูปหล่อ เรียนเก่ง และชอบไปติวให้ “ซิซูกะ” หลายครั้งที่โนบิตะ พยายามแกล้ง เดคิสุงิ แต่สุดท้ายก็ไม่ทำ เนื่องจากเห็นความดีของ เดคิสุงิ เป็นต้น

ความเป็นการศึกษาแบบพหุวัฒนธรรม ในการ์ตูนเรื่องโดราเอมอน นอกจากสะท้อนความแตกต่างหลากหลายของ ผู้คนที่เป็นภาพตัวแทน เศรษฐกิจสังคมการเมือง แล้ว ยังมีความแตกต่างหลากหลายของบทบาทชายหญิง สถานบทบาทชายหญิง ซึ่งความแตกต่างหลากหลายได้ถูกทำให้รู้สึกว่าเหลือแค่เด็กและนักเรียน ความแตกต่างหลากหลายระหว่าง ครู ซึ่งครูก็มีความแตกต่างหลากหลาย ในโรงเรียนของรัฐที่ปรากฏครูที่มีความเข้มงวดในการวัดประเมินผล ซึ่งทำให้โนบิตะแพ้ แต่ก็ยังมีครูที่หลากหลายที่โนบิตะได้เรียนรู้ เช่นพ่อ แม่ กลุ่มเพื่อน ครูฟาร์ แบบ โดราเอมอน หนังสือการตูน สื่อ โทรทัศน์ที่โนบิตะชอบดู การเล่นของเล่น ล้วนแต่เป็นครูของโนบิตะทั้งสิ้น ตลอดจนระบบการศึกษาที่แตกต่างหลากหลาย ที่แสดงการครอบงำแบบรัฐจากการแบ่งแยกงานกันทำในระบบทุนนิยม ในฐานะการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบจากการเรียนรุ้ในครอบครัว กลุ่มเพื่อน และการศึกษาที่โนบิตะนิยามและกำหนดขึ้นเอง ผ่านการเรียนรู้กับของวิเศษของโดราเอมอน หรือ Informal Education ในมิติพหุวัฒนธรรม ความแตกต่างหลากหลายแบบพหุลักษณ์ในการ์ตูนโดราเอมอนนี้ แม้ตัวละคร จะแสดงภาพตัวแทนในกลุ่มตัวละครเล็ก ๆ แต่ก็อธิบายพหุวัฒนธรรมได้เกือบทุกแง่มุมไม่ว่า เรื่องความแตกต่างหลากหลายของคนผู้เรียน ความแตกต่างหลากหลายของครู ความแตกต่างหลากหลายของระบบการศึกษา

----------------------------------------------------------------------------------------

[1] ฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ (2555) อ่าน ‘โดเรมอน’ ผ่านสายตาผู้ใหญ่ คิดไกลกว่าแค่การ์ตูน ใน http://www.isranews.org/site_content/56-isranews/

คำสำคัญ (Tags): #โดราเอมอน
หมายเลขบันทึก: 596333เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2015 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2015 12:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะ สำหรับบันทึกดีๆ แกล้มกาแฟยามเย็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท