โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้าน (ตอนที่ 2) เปรียบเทียบกับโครงการมิยาซาว่า


โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้าน (ตอนที่ 2) เปรียบเทียบกับโครงการมิยาซาว่า

8 ตุลาคม 2558

สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ความตอนที่แล้วได้แนะนำโครงการเป็นการเบื้องต้นแล้ว คราวนี้มีมุมมองในการดำเนินการตามโครงการ โดยการเปรียบเทียบกับโครงการมิยาซาว่า (Miyazawa Plan Project) ซึ่งเป็นโครงการที่ผู้เขียนเห็นว่ามีลักษณะที่คล้ายกัน

จากโครงการ “มิยาซาว่า” สู่โครงการตำบลละ 5 ล้าน

โครงการมิยาซาว่า เป็นคำเรียกขาน หมายถึง โครงการเงินกู้ยืมจากรัฐบาลญี่ปุ่น เรียกว่า “มิยาซาวาแพลน” สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย จำนวน 53,000 ล้านบาท (1,450 ล้านเหรียญสหรัฐ) เป้าหมายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา สร้างงาน และการกระจายรายได้สู่ชนบท โดยการใช้วัสดุภายในประเทศ มีการกระจายเม็ดเงินจำนวนนี้เข้าสู่ระบบโดยผ่านกระทรวงต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 เป็นโครงการระยะสั้น แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน [2]

โครงการมิยาซาว่าเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ กำหนดสัดส่วนการใช้แรงงานราษฎรร้อยละ 35 เปอร์เซ็นต์ และมีการจัดซื้อวัสดุ งบประมาณกระทรวงลงมาที่ อปท. มีการออกหลักเกณฑ์กำหนดแนวทาง เริ่มจากการประชุมประชาคมราษฎรในหมู่บ้านชุมชน เพื่อกำหนดโครงการ ให้ช่างโยธาประมาณการราคาวัสดุและการก่อสร้าง มีการจัดซื้อวัสดุสิ่งของมาเพื่อดำเนินการตามโครงการ มีการจ้างแรงงานราษฎร มีการตรวจรับพัสดุ และการตรวจรับการจ้างตามระเบียบพัสดุฯ

ผลสุดท้ายด้วยความร่วมมือของนายช่างโยธา อปท.ร่วมกับผู้แทนชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ต้อง ดำเนินการทำให้วัสดุที่ซื้อมาบวกกับการจ้างแรงงานราษฎรในพื้นที่ ให้ออกมาเป็นถนน เป็นร้านค้าชุมชน โดยประชาชนร่วมกันก่อสร้าง ให้แล้วเสร็จตามโครงการ เป็นเสมือนการเลียนแบบ “โครงการเงินผัน” ปี 2518 ในรัฐบาลท่านหม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมช [3]

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 และวันที่ 8 กันยายน 2558 เห็นชอบและเสนอหลักเกณฑ์ ขั้นตอนการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลและอนุมัติงบประมาณ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล หรือ “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้านบาท” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “โครงการตำบลละ 5 ล้าน” จำนวน 7,255 ตำบล วงเงินรวม 36,275 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเบิกจ่ายเงินตามโครงการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 [4]

พอมาปี 2558-2559 ก็มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตำบลละ 5 ล้าน อาจถือเป็นโครงการประชานิยมที่หลงยุค เพราะแม้ระยะเวลาจะล่วงมา 16 ปีแล้วก็ตาม หากพิจารณาถึงเนื้อหาและวิธีการของโครงการมิยาซาว่า และโครงการตำบลละ 5 ล้านแล้ว หลักเกณฑ์ฯ แทบไม่แตกต่างกัน เรียกได้ว่า “ลอกเลียนแบบกันมา” กล่าวคือ มีความเหมือนกันนั่นเอง ฉะนั้น ในความเหมือนกัน จึงไม่ได้เป็นความบังเอิญ แต่ถือเป็นจุดเด่นด้วยซ้ำ ที่จะได้เรียนรู้ถึงประสบการณ์ความบกพร่องจากอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะในการป้องกันการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง หรือการทุจริต


ความเหมือนที่แตกต่างในโครงการ

แม้ทั้งสองโครงการจะมีความเหมือนกัน แต่ในความเหมือนกันนั้น มีความแตกต่างกันบ้าง ดังนี้

(1) เป็น “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนกัน” เพื่อให้ประชาชนได้มีงานทำ ในประเภทการก่อสร้าง เหล็ก หินดินทราย ห้ามซื้อหม้อไห แจก และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายกระจายเม็ดเงินให้ถึงมือประชาชนโดยตรง ผ่านโครงการ เพื่อให้มีการจ้างงานประชาชน มีงานทำ โครงการมิยาซาว่าได้กำหนดสัดส่วนการใช้แรงงานราษฎรในพื้นที่ไว้ที่ร้อยละ 35 แต่โครงการตำบลละ 5 ล้าน มิได้กำหนดสัดส่วนการใช้แรงงานไว้แต่อย่างใด สัดส่วนมากน้อยแตกต่างกันไปตามนโยบายและสภาพพื้นที่

(2) เป็นโครงการที่ “เกิดมาในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเดียวกัน” มีการชะลอตัว เติบโตน้อย ขาดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และการบริโภคของประชาชนลดน้อยลง เป็น “เศรษฐกิจเงินฝืด” ฉะนั้น รัฐบาลจึงต้องการอัดฉีดเติมเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ โดยผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว โดยโครงการมิยาซาว่านั้นมีลักษณะโครงการที่หลากหลายกว่าโครงการตำบลละ 5 ล้าน และด้วยเม็ดเงินที่มากกว่า ซึ่งหากเทียบมูลเงินในสมัยนั้นก็อาจมากกว่ามูลค่าเงินในปัจจุบันถึงกว่าสองเท่า

(3) เป็นโครงการที่มี “จุดอ่อนในหลักธรรมมาธิบาล ความคุ้มค่าของโครงการฯ” จึงมักถูกโจมตีในเรื่องของความคุ้มค่า การรั่วไหลของงบประมาณ การไม่ได้ประโยชน์ สมัยนั้น โครงการมิยาซาก็ถูกถากถางค่อนแคะว่า “เป็นโครงการจ้างชาวบ้านมาถางหญ้า แต่หญ้าโตวัย ถางได้ก็ไม่ทัน” [5] เพราะการเอาเงิน 5 หมื่นล้านไปจ้างให้ชาวบ้าน ถางหญ้า ลอกผักตบชวา หมู่บ้านละ 1 แสนนั้นไม่คุ้มค่าเลย ครั้งนี้ก็เช่นกัน ลักษณะของโครงการตำบลละ 5 ล้าน เช่น การทำฝาย ซ่อมแซมฝาย คิดงบประมาณตามจำนวนหมู่บ้านในตำบลเป็นตัวหาร ก็จะเหลือเม็ดเงินเฉลี่ยต่อหมู่บ้านโครงการละ 200,000 - 500,000 บาทโดยประมาณ ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินที่มากกว่างบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ เทศบาล และ อบต. เล็กๆ ในปัจจุบัน ที่มีงบพัฒนาฯ อปท.ต่อปีเฉลี่ยประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น ฉะนั้น ในเรื่องความคุ้มค่า จึงเกิดเสียงครหาจากบรรดานักวิชาการทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยที่คละเคล้ากันไป

(4) มีปัญหาใน “สภาพการจ้างแรงงานราษฎรในพื้นที่” โดยเฉพาะแรงงานราษฎรไร้ฝีมือ (มิใช่ช่างฝีมือ หรือช่างผู้ชำนาญงาน) แม้จำนวนแรงงานในหมู่บ้านทั้งอดีตและปัจจุบันจะยังพอมีอยู่ แต่การจ้างแรงงานราษฎรในพื้นที่มักประสบปัญหา จึงอาจเกิดการจ้างแรงงานแบบ “แอบอ้างหรือการสมอ้างหรือรับสมอ้าง” ในการจ้างงานหรือการใช้แรงงาน เช่นโครงการมิยาซาว่าในอดีตที่เกิดขึ้นมาแล้ว ได้แก่การรับสมอ้าง นำบัตรประชาชนมาลงชื่อเบิกเงินค่าจ้างแรงงานแทนกัน ในกรณีตัวอย่างเช่น โครงการซ่อมฝาย หรือซ่อมเมรุ วงเงินค่าแรงงาน 3 แสนบาท ผู้คุมงานได้แก่ คณะกรรมการหมู่บ้านชุมชน ผู้ใหญ่บ้านฯ ย่อมไม่สามารถควบคุมการจ้างแรงงาน การวางแผน การก่อสร้าง การควบคุมแรงงานจ้างตามที่กำหนดปริมาณงานในแต่ละวัน เพื่อให้เป็นไปตามแบบแปลนในโครงการได้ เพราะโครงการมีผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมา) ตามสัญญาเป็นผู้รับผิดชอบในโครงการตามสัญญาจ้าง ด้วยปัญหาข้อบกพร่องในการกำกับควบคุมงานจ้างดังกล่าว อาจมีการตัดราคาจ้างงานกัน โดยให้ผู้รับเหมาเอาลูกน้องหรือลูกจ้างของผู้รับเหมามาทำงานโครงการ แต่เอกสารการเบิกจ่ายกลับเป็นเอกสารของราษฎรในพื้นที่ หรือ อาจมีการสวมรอยใช้เครื่องจักรเข้าทำงานแทนการใช้แรงงานราษฎร เช่น การขุดดิน การขุดลอก ฯ เป็นต้น โดยเฉพาะการดำเนินการในโครงการก่อสร้างที่อยู่ตามพื้นที่บ้านนอก ห่างไกล

ซึ่งถือเป็นการประนีประนอมสมยอมกันดำเนินการโครงการฯ ได้ผลดีแก่ผู้เกี่ยวข้องถ้วนหน้า ทั้งผู้รับจ้างได้ค่าจ้างงานตามสัญญา ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านชุมชน ก็ได้ผลงานแก่หมู่บ้าน การเหมาราคางานจ้างตามที่ (แอบ) ตกลงกันก็เป็นผลดีต่อชาวบ้านที่ไม่ต้องมาทำงานจ้าง เพียงแต่ลงชื่อในเอกสารรับเงินค่าแรงในส่วนต่างที่ไม่ครบจำนวน เพราะชาวบ้านไม่ได้จ้างงานครบวันจริง แต่คนทำงานจริงก็คือผู้รับเหมากับลูกน้อง ซึ่งมีเอกสารการจ้างงานราษฎรครบถ้วนตามจำนวนโครงการที่ตั้งไว้

ในข้อเท็จจริงนั้น บุคคลธรรมดาโดยทั่วไปไม่อาจดำเนินการตามโครงการก่อสร้างได้ หากไม่มีความรู้ในการบริหารจัดการ การใช้คน การใช้เครื่องจักรเครื่องมือ เพราะขาดความเชี่ยวชาญในอาชีพรับเหมาในงานนั้น แม้แต่ผู้รับเหมาเอง ยังมีโอกาสทิ้งงาน หรือขาดทุนได้ การเอาแรงงานชาวบ้านมาก่อสร้าง โดยให้คณะกรรมการหมู่บ้าน ชุมชน และผู้ใหญ่บ้าน มาบริหารจัดการโครงการเช่นนี้ ในทางปฏิบัติจึงเป็นไปได้ยาก ผลสุดท้ายที่เกิดขึ้นก็คือ ต่างฝ่ายต่างมีการสมยอมร่วมกันในผลประโยชน์บางอย่าง เพื่อให้งานตามโครงการแล้วเสร็จไป

(5) มีการใช้ “แรงงานต่างด้าว” โดยทั่วไป โดยเฉพาะการก่อสร้างที่ต้องใช้แรงงานในพื้นที่แถบชายแดน หรือในบางพื้นที่ในชนบท หรือแม้ในบางพื้นที่ที่ค่อนข้างเป็นเขตเมือง แม้โครงการมิยาซาว่าที่ผ่านมาก็มิอาจควบคุมการจ้างงานได้ มีการใช้แรงงานต่างด้าวมาสวมสิทธิคนงานไทยทำงานจ้างเนื่องจากผู้รับเหมาก่อสร้างมักจ้างแรงงงานต่างด้าวกันตามปกติ ทั้งในเขตปริมณฑล จังหวัดอยุธยา อ่างทอง ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และแถบจังหวัดชายแดน เช่น จังหวัดตาก กาญจนบุรี ระนอง สระแก้ว บุรีรัมย์ หนองคาย อุบลราชธานี เชียงราย ด้วยอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า และประชาชนคนไทยทั่วไปไม่นิยมทำงานประเภทงานหนัก งานยาก งานอันตราย [6] ราษฎรไทยที่ทำงานประเภทนี้ก็เฉพาะผู้ที่มีอาชีพรับเหมา หรือมีอาชีพเป็นแรงงานก่อสร้างเท่านั้น ซึ่งมีเป็นจำนวนที่น้อย หากเป็นเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา โดยทั่วไป ต่างก็เป็นผู้ประกอบการ มีการใช้เครื่องจักรในการทำงาน ฉะนั้นการใช้แรงงานจ้าง หรือการจ้างเหมาด้วยแรงงานคน จึงมีน้อย แทบจะหมดไปแล้วจากสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นในสังคมเมืองหรือในสังคมชนบทก็ตาม

นี่คือเทคนิคบางประการในการดำเนินการตามโครงการให้เป็นผลสำเร็จ แม้บางพื้นที่บางส่วนอาจมีโครงการตัวอย่าง โครงการสาธิต เพื่อการประชาสัมพันธ์ โชว์ผลงานของหน่วยงานก็ตาม แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น หากผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามโครงการฯ ไม่ยอมรับความจริงในข้อจำกัดบางประการที่มี การอวดอ้างศักยภาพว่า ตนเองสามารถทำโครงการฯ ได้อย่างไม่มีปัญหาอุปสรรคใด อาจเป็นคำคุยโตโอ้อวดเสียมากกว่าก็เป็นได้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อคิดเห็นเหล่านี้จะเป็นประโยชน์บ้างในการกำกับควบคุมการดำเนินการตามโครงการ 5 ล้านให้ดีมีประสิทธิภาพได้



[1] สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย

[2] การจัดสรรเงินกู้โครงการมิยาซาวาแพลน โดย สาวิตต์ โพธิวิหค รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ข่าวการเมือง RYT9, 25 มีนาคม 2542, http://www.ryt9.com/s/ryt9/191196 & เงินกู้มิยาซาวาจากประเทศญี่ปุ่นนำมาพัฒนาหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 300,000 บาท ให้ตำบลที่มีรายได้น้อยได้มีโอกาสส่งเสริมอาชีพ พัฒนาถนนและแหล่งน้ำ, http://dl.parliament.go.th/handle/lirt/46220

[3] ดู คึกฤทธิ์ ปราโมช (ภาคมนุษย์) ผู้รอบรู้ด้านการเมืองและสังคม, by sakon60, 17 พฤศจิกายน 2557, http://www.oknation.net/blog/sakon60/2014/11/17/entry-1 & ‘เงินผัน’-‘เงินช่วย’ ‘ประชานิยม’ ที่ต่างกัน, มติชนออนไลน์, , 3 ตุลาคม 2557, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1412303814 & โชคชัย อาษาสนา, ประชานิยม “นโยบายเงินผัน”, 13 สิงหาคม 2554, https://www.gotoknow.org/posts/453652

พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีคนที่ 13 (14 มีนาคม 2518 – 12 มกราคม 2519)

ได้ประกาศนโยบาย “ประชานิยม” ขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย โดยประกาศทุ่มเงินงบประมาณแผ่นดินจำนวน 2,500 ล้านบาท สำหรับพัฒนาชนบท ผ่านสภาตำบล เพื่อใช้จ้างชาวบ้านให้มาลงแรง ในการสร้างสาธารณประโยชน์ เช่น สร้างถนน ขุดลอกคูคลอง ทำสะพาน นโยบายนี้ถูกขนานนามว่า “นโยบายเงินผัน” โดยการขอรับเงินจากรัฐบาล หมู่บ้าน จะต้องมีการทำแผนเข้ามาว่า ต้องการใช้งบประมาณเท่าไร เอาไปทำอะไร และเบิกจ่ายตามความเหมาะสม ต่อมา “นโยบายเงินผัน” ของ รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้ถูกประยุกต์มาเป็น นโยบาย SML ใน รัฐบาลพรรคไทยรักไทย คือให้เงินหมู่บ้านต่างๆ นำไปพัฒนาตามขนาดของหมู่บ้าน ใหญ่-กลาง-เล็ก

[4] ดู มติ ครม. เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 เรื่อง มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ & มติ ครม. เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 เรื่อง การเสนอหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และคู่มือการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล

[5] ทำไมตอน ปชป. กู้เงินมิยาซาว่า 5 หมื่นล้านบาท เพื่อจ้างคนมาดายหญ้า ไม่เห็นคุณคณิตฯ ว่าขัดรัฐธรรมนูญ???,

6 กรกฎาคม 2556, http://pantip.com/topic/30688933 & จ่าเงิบ Addict (นามแฝง), 15 พฤศจิกายน 2557,

https://www.facebook.com/HumorousSergeant/posts/581064992021682

[6] ลักษณะนิสัยของคนไทยที่ไม่ชอบงาน 3D คือ งานจ้างที่ “สกปรก-ยาก-อันตราย” (Dirty-Difficult-Danger) หรืองานเสี่ยง งานหนัก งานสกปรก จึงต้องอาศัยแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวสามสัญชาติ เมียนมา ลาว และกัมพูชา

หมายเลขบันทึก: 595956เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2015 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2015 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท