ประชานิยม"นโยบายเงินผัน"


  พอพูดถึงคำว่า "ประชานิยม" เชื่อว่าคนชั้นกลางส่วนใหญ่ของประเทศไทย จะร้อง "ยี้" กันเป็นแถว และมองทันทีว่า เป็นเรื่องไม่ดี เป็นการเอาเงินแผ่นดิน มาแจกประชาชนอย่างไร้เหตุผล
     ในความเป็นจริงแล้ว "ประชานิยม" ก็คือ "หน้าที่" ของ รัฐบาล จะต้องทำเพื่อให้ประชาชน อยู่ดี กินดี มีความสุข แต่จะต้องไม่สร้างหนี้สินให้กับประเทศชาติ และไม่เป็นภาระกับงบประมาณ 
     ถ้ารัฐบาลไม่ดูแลประชาชน เข้ามาแค่บริหารงบประมาณ แจกเงินไปตามกระทรวงต่างๆ ให้ไปแบ่งเปอร์เซ็นต์กับ "พ่อค้า" แล้วจะมีรัฐบาลมาทำไม?
 ที่ผ่านมา สังคมไทย ถูก "นักวิชาการเลือกข้าง" ชักนำไปในทางที่ผิดหลายเรื่อง ทั้งที่บางเรื่อง "เป็นประโยชน์" แต่ด้วยความเกลียดชังกันเป็นส่วนตัว เลยทำให้เรื่องดีๆ ของสังคม ถูกมองเป็นเรื่องเลวร้ายไป
     เรื่อง "ประชานิยม" ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ทำขึ้นเป็นคนแรกในประเทศไทย
 คนที่ทำมาก่อน คือ พล.ต. ม.ร.ว. หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 13 ที่ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2518 – 12 มกราคม พ.ศ. 2519 
     เมื่อ 30 กว่าปีก่อน  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ที่มีเสียงเพียง 18 เสียง ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคเล็กพรรคน้อย 22 พรรค ให้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี ในครั้งนั้น ได้ประกาศนโยบาย "ประชานิยม" ขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย 
     โดยประกาศทุ่มเงินงบประมาณแผ่นดินจำนวน 2,500 ล้านบาท สำหรับพัฒนาชนบท ผ่านสภาตำบล เพื่อใช้จ้างชาวบ้านให้มาลงแรง ในการสร้างสาธารณประโยชน์ เช่น สร้างถนน ขุดลอกคูคลอง ทำสะพาน
     นโยบายนี้ถูกขนานนามว่า "นโยบายเงินผัน" โดยการขอรับเงินจากรัฐบาล หมู่บ้าน จะต้องมีการทำแผนเข้ามาว่า ต้องการใช้งบประมาณเท่าไร เอาไปทำอะไร และเบิกจ่ายตามความเหมาะสม  
     ต่อมา "นโยบายเงินผัน" ของ รัฐบาลม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้ถูกประยุกต์มาเป็น นโยบาย SML ใน รัฐบาลพรรคไทยรักไทย คือให้เงินหมู่บ้านต่างๆ นำไปพัฒนาตามขนาดของหมู่บ้าน ใหญ่-กลาง-เล็ก
     นอกจากนี้ รัฐบาลม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ยังมีนโยบายต่อต้าน และขจัดความยากจน โดยมุ่งเป้าหมายไปที่ ต้องการให้ประชาชนที่บรรลุนิติภาวะ ( 20 ปีขึ้นไป) ทุกคนมีงานทำ มีรายได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1,000 บาท  
     ทั้งนี้ เกิดจากแนวคิดที่ว่า หากกำลังสำคัญของชาติ มีงานที่มั่นคง มีเงินจับจ่ายใช้สอยอย่างพอเพียง จะส่งผลให้การออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นผลสำเร็จ
     ถ้าเทียบแล้ว ดีกว่าแจกเช็คหัวละ 2,000 บาท ในสมัย รัฐบาลอภิสิทธิ์ เพราะ รัฐบาลคึกฤทธ์ เน้นไปที่ "มีงานทำ" ไม่ได้ "แจกฟรี"
     สิ่งที่น่าสนใจคือ รัฐบาลม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ยังเห็นถึงความสำคัญของ "การกระจายรายได้" เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเน้นการลงทุนในต่างจังหวัดมากขึ้น รวมถึงการยกเว้นภาษีให้กับธุรกิจบางประเภทด้วย ซึ่งต่อมาก็คือ การยกเว้นภาษีให้กับธุรกิจ เพื่อจูงใจให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และในชนบท ได้แปลงร่างมากลายเป็น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI 
     ส่วนเรื่อง "รัฐสวัสดิการ" ก็ได้ทำมาก่อนรัฐบาลชุดใดในประเทศไทย เช่นเดียวกัน สมัยนั้นมี รถเมล์ฟรี รถเมล์นักเรียนฟรี คนไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 1,000 บาท รักษาพยาบาลฟรี
     ด้านการติดต่อกับ ต่างประเทศ รัฐบาลม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับ สาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ประกาศมาตลอดว่าไม่ชอบคอมมิวนิสต์ แต่ก็ยังแยกเรื่องส่วนตัวกับความอยู่รอดของบ้านเมือง โดยการเดินทางไปจับมือกับท่านประธานเหมา เจ๋อ ตุง 
     สมัยนั้นใครจะไปรู้ว่า อีก 30 ปีต่อมา "จีน" จะกลายเป็น "มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ" ของโลก แตกต่างจากรัฐบาลในสมัยปัจจุบัน แค่คุยกับประเทศเพื่อนบ้าน ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง!
     ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า รัฐบาลเมื่อ 30 กว่าปีก่อน จะมี "วิสัยทัศน์" ก้าวหน้า ไม่แพ้กับรัฐบาลในสมัยปัจจุบัน
     เรื่องที่น่าเสียดายมากที่สุดก็คือ เรื่อง "การกระจายรายได้" ที่ รัฐบาลคึกฤทธิ์ ได้วางแนวทางไว้เมื่อ 30 ปีก่อน ถ้ามีการสานต่ออย่างต่อเนื่อง กระจายความเจริญไปสู่ชนบทออกไปให้มากที่สุด ไม่ใช่โตแบบรวมศูนย์ที่ กทม. เหมือนในยุคปัจจุบัน 
     รับรองได้เลยว่า วันนี้ช่องว่างรายได้ระหว่าง คนรวย กับ คนจน จะไม่ถ่างกว้างมากมายขนาดนี้ และก็จะไม่มีปัญหา 2 มาตรฐาน ที่เป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย จนกลายเป็นความแตกแยกในแผ่นดิน เกิดคนเสื้อสีเหลือง สีแดง ออกมาตั้งหน้าตั้งตาเข่นฆ่ากันเอง ทั้งที่เป็นคนไทยด้วยกัน
     สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ คนที่เป็น "ผู้นำ" จะต้องมี "วิสัยทัศน์" ไม่ใช่แค่นำพาประเทศชาติอยู่รอดปลอดภัย แต่จะต้องวางรากฐาน เพื่อความมั่นคง และมั่งคั่งของประเทศชาติในระยะยาว ไว้ให้กับคนรุ่นหลังด้วย
     จะเห็นได้ว่า "นโยบายเงินผัน" มุ่งเน้นไปสร้าง "สาธารณูปโภคพื้นฐาน" ในชนบท แน่นอนว่า พอมีถนน ไฟฟ้า ประปา แหล่งน้ำ เข้าไปที่ไหน ตรงนั้นก็ต้องเกิดความเจริญงอกงามทางเศรษฐกิจตามมา
     อย่างว่าแหละ ไม่ว่าคนจะคิดดีทำดีแค่ไหน แต่ถ้า "ระบบ" และ "ระบอบ" ไม่เอื้ออำนวย นโยบายดีๆ  ก็จะไม่เป็นผล และอาจล้มเหลวไปในที่สุด
     อย่าลืมว่าในสมัยเมื่อ 30 กว่าปีก่อน โทรทัศน์ยังมีกันไม่ครบทุกบ้าน และส่วนใหญ่ยังดูทีวีขาวดำกันอยู่ การสื่อสารโทรคมนาคม ก็ไม่สะดวกสบาย เช็คข่าวคราวกันก็ไม่ง่ายเหมือนสมัยนี้ 
     การควบคุมกำกับดูแลหน่วยงานต่างๆ ก็เป็นไปได้ยาก ยิ่งในชนบทห่างไกล ไม่ต้องพูดถึงโทรศัพท์หรอก สมัยนั้นยังใช้ "โทรเลข" เคาะป๊อกแป๊กกันอยู่เลย
     ผลก็คือ รัฐบาลคึกฤทธิ์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย และจาก "เงินผัน" ก็กลายมาเป็น "เงินผลาญ" เพราะมีการรั่วไหลของเงินในระบบราชการ
     เนื้องานที่เกิดจากการจ้าง ก็ไม่มั่นคง ด้วยเหตุที่ทำขึ้นโดยไม่มีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน เช่น ถนนหนทาง ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่มีคุณภาพ ใช้การได้ไม่เท่าไร ก็ชำรุดทรุดโทรมในเวลาต่อมา
     แม้ว่าประเทศไทยจะ "โชคดี" ที่ได้ นายกรัฐมนตรี ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล แต่เมื่อสภาพแวดล้อม ไม่เอื้ออำนวยให้สานต่องานให้บรรลุผล  
     ประกอบกับ สถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลานั้น เต็มไปด้วยความขัดแย้ง การมีพรรคการเมืองผสมหลายพรรค ทำให้เกิดการแย่งชิงผลประโยชน์ เรียกร้องตำแหน่งสำคัญต่างๆ รวมทั้งความขัดแย้งภายในสังคม บีบให้ รัฐบาลม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ต้องยุบสภา เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2519  อยู่ในตำแหน่งได้เพียงแค่ 9 เดือน
     กลับมาดูการหาเสียงเลือกตั้งในสมัยปัจจุบัน ก็แทบจะไม่แตกต่างจาก สมัยรัฐบาลม.ร.ว.คึกฤทธิ์ แม้แต่น้อย นโยบายส่วนใหญ่ของพรรคการเมืองต่างๆ ก็จะเน้นให้ประชาชนกินดีอยู่ดี ลด แลก แจก แถม สร้างสาธารณูปโภค รักษาโรคฟรี เรียนฟรี
     ใครที่ว่า "ประชานิยม" เป็นเรื่องไม่ดี คิดผิดคิดใหม่ได้ แต่การจะทำประชานิยม จะต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของประเทศ โดยเฉพาะในเรื่อง "การหารายได้" เข้าประเทศ ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด
     เปรียบเหมือน พ่อบ้าน ถ้ามีรายได้เพิ่ม ก็สามารถแจกจ่ายให้กับลูกหลานได้มีโอาสศึกษามากขึ้น กินดีอยู่ดีมากขึ้น...
     ข้อสำคัญก็คือ ไม่ใช่แค่ "แจก" เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องสอนให้ลูกหลานรู้จักทำมาหากิน และยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้ด้วย
     ประชาชนแข็งแรง ประเทศชาติมั่นคง!

หมายเลขบันทึก: 453652เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2011 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท