เศรษฐกิจไทยกับบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ..ทางอยู่รอดที่มั่นคงยั่งยืน


ข้าพเจ้าในฐานะศิษย์เก่าผู้หนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานสัมมนาวิชาการประจำปี ๒๕๕๘ เป็นปีที่ ๑๖ ที่ได้ไปร่วมงานต่อเนื่องทุกปี เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๘ โดยในปีนี้เป็นการจัดขึ้นร่วมกันสองหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย คือสายนโยบายการเงิน และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อผลักดันงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ และส่งเสริมวงการวิชาการในประเทศไทย สำหรับในปีนี้เป็นการนำเสนอภายใต้หัวข้อ "เศรษฐกิจไทยกับบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ" (The Thai Economy under the New Normal) ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงการชะลอตัวลงของการค้าระหว่างประเทศ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ถดถอย และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการท้าทายที่เพิ่มขึ้นต่อการดำเนินนโยบายการเงินจากโลกาภิวัตน์ภาคการเงิน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดแรงงานไทย และโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุ ปรากฏการณ์เหล่านี้ เป็นสัญญาณที่อาจบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาวในแต่ละมิติ และกล่าวได้ว่าเป็นบรรทัดฐานใหม่ หรือ New Normal อันเป็นความท้าทายที่กระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคม

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวเปิดงาน อาจสรุปว่า ได้ชี้ให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงข้างต้นเชิงลึก (Deep Parameters)ในระบบเศรษฐกิจผ่านปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจ ได้แก่ แรงงาน ทุน และเทคโนโลยี่ หากมองในระดับโลก การค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างเห็นชัดเจน ส่วนหนึ่งสะท้อนการอิ่มตัวของการขยายฐานการผลิตผ่านห่วงโช่อุปทานโลก และบทบาทที่ลดลงของจีนในการผลักดันการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในเอเซีย

ในขณะที่การรวมตัวทางการเงินระหว่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้เสริมความเชื่อมโยงระหว่างภาคการเงินในแต่ละประเทศ ซึ่งในแง่หนึ่ง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและสภาพคล่องในตลาดการเงิน และเสริมช่องทางในการกระจายความเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกันเป็นช่องทางในการส่งผ่านแรงกระแทก หรือ shocks ต่างๆจากตลาดการเงินโลก ซึ่งเพิ่มความผันผวนในตลาดการเงินมากขึ้น

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเหล่านี้่ นโยบายภาครัฐมีบทบาทสำคัญ ทั้งผ่านมาตรการระยะสั้นและระยะปานกลาง ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และมาตรการเชิงรุก อันจะสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาว เช่น ในเรื่องการส่งออก โดยที่บทบาทของประเทศไทยในห่วงโช่อุปทานโลก เป็นปัจจัยที่จะส่งผลสำคัญต่อการส่งออก และจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ หากสามารถจัดการบริหารได้ดี ดังนั้น การเลือกเข้าไปร่วมในห่วงโช่อุปทานโลก ที่เพิ่ม value added เช่น กิจกรรมก่อนการผลิต ที่ต้องมีการวิจัยและพัฒนา หรือการออกแบบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่ใช้เทคโนโลยี่และทักษะแรงงานที่สูง เป็นต้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อศักยะภาพการส่งออกในระยะยาว

การทำงานของภาครัฐที่สมควรมีการปรับปรุงเป็นลำดับต้น คือประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ ที่มีขนาดใหญ่มาก และถือครองทรัพย์สินเชิงยุทธศาสตร์สำคัญๆของประเทศ เช่น ไฟฟ้า ระบบขนส่ง หรือคลื่นความถี่ ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับกิจการอื่นๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชน อีกทั้งรัฐวิสาหกิจยังถูกแทรกแซงจากการเมือง ปัญหาเชิงโครงสร้างขาดทุน และคุณภาพของสินค้าและบริการยังด้อยอยู่ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจึงเป็นเรื่องจำป็นเร่งด่วน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้

ในกรณีการเชื่อมโยงทางการเงินที่สูงขึ้น มาตรการที่รับมือ ได้แก่การประยุกต์ใช้เครื่องมือการดำเนินนโยบายการเงินต่างๆที่เหมาะสม เช่น การปรับอัตราดอกเบี้ย การบริหารจัดการความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้าย หรือการใช้มาตรการ macro prudential ส่วนมาตรการเชิงรุก ได้แก่การมีกรอบดำเนินนโยบายการเงิน และการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่มีความยืดหยุ่น เพื่อลดการส่งต่อความผันผวนจากระบบการเงินไปสู่ยังภาคเศรษฐกิจจริง และสามารถต้านทานภาวะวิกฤต

การเปลี่ยนแปลงย่อมนำมาซึ่งความรู้สึกของความหวาดระแวง และการต่อต้าน แต่ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่ทุกอย่างมีการพัฒนาเร็วมาก ทุกคนต้องวิ่งเพื่อความก้าวหน้า เราจึงควรรับรู้ ยอมรับ และอ้าแขนรับความเปลี่ยนแปลง

คุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "สู่บริบทใหม่ของประเทศด้วยธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย" อาจสรุปได้ว่า เรากำลังอยู่ในช่วงรอยต่อที่สำคัญทางการเมือง ซึ่งหลายคนอาจกำลังตั้งคำถามว่า เมื่อผ่านรอยต่อนี้ไปแล้ว บันทัดฐานใหม่ (New Normal) จะเป็นอย่างไร โดยส่วนตัวคงจะยังให้คำตอบไม่ได้ เพราะเท่าที่ผ่านมาในอดึต กระแสโลกาภิวัตน์ บริโภคนิยม ความฟุ้งเฟ้อ ความไม่ซื่อสัตย์สุจริต และการใช้จ่ายโดยไม่ประมาณตนเอง เป็นต้นเหตุของความล้มเหลวในการบริหารงานทั้งภาครัฐและเอกชน ฉะนั้นสมควรถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องจริงจังกับการปรับบทบาทและจิตสำนึกของเราเข้าสู่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะหลักคิดในเรื่อง การพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกัน บนเงื่อนไขของคุณธรรมควบคู่ความรู้ เพื่อช่วยให้เราสามารถเผชิญกับปัญหาและวิกฤตต่างๆ พร้อมกับสามารถหาคำตอบและทางออกให้กับปัญหาเหล่านี้ได้ จึงอยากขอถือโอกาสนี้เสนอองค์ประกอบสี่ประการ ที่จะขาดไม่ได้สำหรับบันทัดฐานใหม่ของเส้นทางการพัฒนาประเทศไทยที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและทรงพลัง

๑. บันทัดฐานใหม่ของประเทศไทยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึง โดยมุ่งเน้นมิติด้านคุณภาพ และแบ่งสรรผลประโยชน์และรายได้ให้ทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันที่แท้จริงผ่านกลไกตลาดที่มีคุณภาพ การพัฒนาฝีมือแรงงาน ยกระดับการศึกษาและวิจัย รัฐสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาของภาคเอกชน รัฐเป็นผู้กำกับดูแลในการป้องกันการผูกขาด และคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ประกอบกิจการแข่งขันกับเอกชน หรือไม่ออกกฏเกณท์ที่บั่นทอนกลไกตลาดซึ่งที่จริงแล้วมีหลักการสะท้อนอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ และพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ปี ๒๕๔๒ แต่การบังคับใช้กฏหมายไม่เคร่งครัด ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

๒. การเปลี่ยนแปลงต้องนำไปสู่สังคมที่เปิดและการมีส่วนร่วมของคนในสังคมในการกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศ และพร้อมที่จะตรวจสอบการทำงานของภาครัฐตลอดเวลา ทั้งนี้ สิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันนั้น มิได้หมายถึงแต่เพียงการที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเลือกตั้ง แต่รวมไปถึงการยอมรับและให้ความสำคัญต่อข้อคิดเห็นของประชาชนหรือข้อเรียกร้องโดยชอบธรรมของทุกฝ่าย มิใช่แต่เฉพาะส่วนที่ได้รับเลือกตั้งข้างมาก...ระบบการปกครองโดยเสียงข้างมาก ไม่ได้หมายถึงการปกครองลักษณะผู้ชนะกินรวบ (winners take all) นอกจากนี้ หากจะให้ประชาธิปไตยคงอยู่ได้ในระยะยาวและเกิดความสงบสุข ต้องมีขันติธรรม คือการยอมรับความหลากหลายในสังคม กลุ่มเสียงข้างน้อยต้องได้รับผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมจากกระบวนการเลือกตั้ง ฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้ง ต้องตระหนักว่าตนเป็นตัวแทนของของประชาชนทั้งประเทศ และมีหน้าที่รักษาและส่งเสริมฉันทามติที่สมดุลในสังคม ซึ่งเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง

๓. การทำให้สังคมปกครองโดยหลักนิติธรรม ไม่ใช่คำนึงถึงเฉพาะตัวบทกฏหมาย แต่พิจารณาถึงเจตนารมณ์แห่งกฏหมายและความเป็นธรรมด้วย กฏกติกาเหล่านั้นต้องบังคับใช้อย่างตรงไปตรงมากับทุกคนโดยไม่มีกรณียกเว้น กระบวนการร่างกฏหมายและบังคับใช้ต้องมีความโปร่งใส กระบวนการยุติธรรม ซึ่งรวมถึงกระบวนการตุลาการ ต้องมีอิสระ มีคุณภาพ ไม่ลำเอียง มีความเป็นเที่ยงธรรม ไม่ชักช้า ที่สำคัญ กฏหมายไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง

๔. การปรับสมดุลในโครงสร้างเชิงอำนาจระหว่างภาครัฐกับประชาชน กล่าวคือ รัฐบาลที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน เป็นผลลัพธ์ของการมีประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะช่วยเปิดพื้นที่ให้แก่กลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งเป็นวิธีที่ลดอิทธิพลของกลุ่มพลังทางการเมือง ทั้งนี้จำเป็นต้องปฏิรูปองค์กรท้องถิ่นให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ไม่ใช่ความต้องการจากส่วนกลาง ทั้งนี้ความสำเร็จของการกระจายอำนาจนั้น ขึ้นอยู่กับการมีกระบวนการกลั่นกรอง และนำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน และเป็นที่มาของบทบาทภาคประชาชนที่สำคัญยิ่ง

การมีภาคส่วนประชาคมที่เข้มแข็ง ย่อมต้องมีประชาชนที่มีการศึกษา ความรู้ และความรู้จักนึกคิด เราจึงต้องเร่งปฎิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อเสริมสร้างความสามารถของประชาชนในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่ดีของสังคม การศึกษาจะต้องเปลี่ยนจากการเน้นท่องจำ ไปสู่การคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการปรับตัว การสอนวิธีการเรียนรู้จะสำคัญกว่าการให้ความรู้ ศัตรูสำคัญของความสร้างสรรค์ คือการติเตียนความผิดพลาด

การพัฒนามนุษย์นั้น ไม่ได้เป็นไปตามเส้นตรง เราไม่ควรมองว่า ทุกคนควรจะเดินตามขั้นตอนเดียวกัน เพื่อไปสู่ความสำเร็จ กระบวนการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน การมีแผนแม่แบบเดียว ไม่สามารถนำไปสู่การให้เด็กแต่ละคนเข้าสู่สมรรถนะสูงสุดของตนได้ ระบบที่ดีไม่จำเป็นต้องพึ่งการกำหนดหลักสูตรส่วนกลาง หรือการสอบมาตรฐาน แต่ส่งเสริมการทดลองวิธีการสอนต่างๆ โดยให้อำนาจโรงเรียนในแต่ละท้องถิ่น เป็นผู้กำหนดแนวทางการสอนและส่งเสริมความถนัดของเด็กมากกว่าการจัดลำดับ หากการศึกษาสร้างเด็กให้มีทักษะการเรียนรู้ที่ดี เขาย่อมมีทักษะในการเรียนรู้บริบทของประเทศ รวมทั้งแก่นสารที่สำคัญในประเด็นต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้เขามีศักยภาพ ที่จะตัดสินใจบนพื้นฐานของเหตุและผล รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ของประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์

โปรดอ่านปาฐกถาฉบับเต็ม ที่ อานันท์.pdf.

ในงานนี้ ได้มีโอกาสพบและสนทนากับดร.วิรไท สันติประภพ ว่าที่ผู้ว่าการธนาคารห่งประเทศไทยคนใหม่ ผู้ซึ่งได้รับความมั่นใจจากคุณอานันท์ว่า "จะสามารถสานและต่อยอดจากพื้นฐานค่านิยมที่ดีของ ดร.ประสาร คือ "ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และติดดิน" โดยเฉพาะการยึดถือหลักการ ความซื่อสัตย์ และการมุ่งผลสัมฤทธิ์ในทางปฎิบัติ"...

............................................................................................................................................

หมายเลขบันทึก: 595030เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2015 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2015 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

"ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และติดดิน"

สุดยอดแล้วคืนสู่สามัญ ท่านผู้ว่าการเยี่ยมมากเลยครับคุณครู ^_^

"...การพัฒนามนุษย์นั้น ไม่ได้เป็นไปตามเส้นตรง เราไม่ควรมองว่า ทุกคนควรจะเดินตามขั้นตอนเดียวกัน เพื่อไปสู้ความสำเร็จ กระบวนการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน การมีแผนแม่แบบเดียว ไม่สามารถนำไปสู่การให้เด็กแต่ละคนเข้าสู่สมรรถนะสูงสุดของตนได้ ระบบที่ดีไม่จำเป็นต้องพึ่งการกำหนดหลักสูตรส่วนกลาง หรือการสอบมาตรฐาน แต่ส่งเสริมการทดลองวิธีการสอนต่างๆ..." this is worth remembering as a reminder for me (us). Man evolves to fit conditions in his environment. Environments evolve by man-activities and so economic systems should also evolve to fit realities. ;-)

ดิฉันชอบ 4 ข้อของคุณอานันท์ ปันยารชุนมากค่ะ

สุดท้ายท่ายก็เรียกร้องเรื่อง "คุณภาพ" ประชาชนอย่างมาก

คุณภาพประชนชนมาจากไหนไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ การศึกษา

ปฏิรูปการศึกษาเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยตลอดกาล

ดิฉันก็เฝ้ารอ เพราะคุณภาพของคนส่งผลต่อสุขภาพด้วยค่ะ เราต้องการเห็น คนไข้คุณภาพที่ไม่ติดการพึ่งพา แต่ลุกมารับผิดชอบตัวเองครึ่งหนึ่ง เราดูแลครึ่งหนึ่งค่ะ ไม่งั้นเราออกจากวงจร "โง่-จน-เจ็บ" ไม่ได้

ประเทืองปัญญาอย่างยิ่งค่ะ

ทุกคนตระหนักในความสำคัญของการศึกษา แต่มองไปที่ ศธ. ช่วงนี้ ก็ไม่มีความหวัง การเปลี่ยนผู้บริหารทุกครั้งทำให้สะดุด เปลี่ยนแล้ว นโยบาย แนวปฏิบัติที่สะท้อนจากปากผู้กุมบังเหียนยิ่งห่างไกลจากอุดมคติ ไม่แน่ใจว่าการปฏิรูปการศึกษาขณะนี้ ใตรตือผู้รับผิดชอบ และจะปฏิรูปอะไร เพื่ออะไร ทำอย่างไร ส่วนตัวรู้สึกว่า เรากำลังรอ และรออย่างไม่รู้จุดหมายปลายทาง

ในภาพเล็ก ๆ ในสถาบันการศึกษาบางแห่งที่สามารถเจาะหาข้อมูลได้ ก็น่ากังวล เปลี่ยนแปลงอย่างถดถอยจากปรัชญาและแนวปฏิบัติที่ดี หรืออย่างน้อยเปลี่ยนไปจากสิ่งที่ดีอยู่แล้ว โดยการเปลี่ยนแปลงมาจากอคติมากกว่าจากการประเมินรอบด้าน น่าเป็นห่วงค่ะ

  • อ.นุ
  • โอ๋-อโณ
  • sr
  • nui
  • ธนิตย์ สุวรรณเจริญ
  • เพชรน้ำหนึ่ง
  • ยายธี
  • คนใต้โดยภรรยา
  • GD
  • สวัสดีค่ะ ขอบคุณมากสำหรับกำลังใจมอบแก่งานสัมมนาวิชาการครั้งนี้
  • น้องอ.นุ...ยินดีมากค่ะที่เห็นคุณค่าของวลีดีๆสำหรับคุณลักษณะที่สำคัญของการเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยค่ะ
  • น้อง sr...ขอบคุณที่มาให้ข้อติดเห็นเพิ่มเติมค่ะ...ต่างคน ต่างใจ ต่างความเป็นอยู่ ผู้กำหนดนโยบายจึงต้องสร้างความมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนค่ะ
  • น้อง nui..ยินดีมากค่ะสำหรับข้อคิดเห็นเพิ่มเติม...สุขภาพที่ดีมีได้จากการเริ่มที่การใส่ใจ ตนเอง ก่อนจะไปพึีงหมอ..เป็นหนทางที่ดีในการป้องกันความเจ็บป่วยนะคะ.
  • น้อง GD...ขอบคุณมากค่ะที่เข้ามาสะท้อนความห่วงใยในปัญหาการศึกษาของชาติ ที่หัวใจสำตัญยังอยู่ที่การปรับเปลี่ยนทัศนะคติเดิมๆอันมีผลซ้ำเติมความอ่อนแอของระบบการศึกษามาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน
  • ..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/595030

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท