ขออยู่ไอซียูต่อ : ​พญ. ปรารถนา โกศลนาคร


เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีโอกาสร่วมดูแลครอบครัวๆ หนึ่งที่ไอซียู ผู้ป่วยเป็นชายวัยราวๆ 70 ปี เส้นเลือดสมองตีบเป็นบริเวณกว้าง สมองบวมมากจนมีโอกาสกดเบียดส่วนสำคัญอื่นๆ ขณะนั้นผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว และอยู่ได้โดยใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่อาการค่อนข้างคงที่มีแนวโน้มจะอยู่ใน vegetative state (มีชีวิตอยู่ได้ แต่ไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นรอบข้าง) ไปอีกระยะหนึ่ง

แพทย์เจ้าของไข้ต้องคุยเพื่อหาแนวทางการดูแลร่วมกับญาติ และขอย้ายผู้ป่วยออกไปอยู่หอผู้ป่วยสามัญ หลังคุยพบว่าในครอบครัวยังมีบางคนที่ทำใจยอมรับอาการของผู้ป่วยไม่ได้ และไม่ยอมให้ย้ายออกจากไอซียู จึงได้ส่งปรึกษาให้ทีมเข้าไปร่วมดูแล

เมื่อทีมไปถึง พบว่า ลูกสะใภ้ของผู้ป่วยเป็นพยาบาลประจำไอซียู จึงได้พูดคุยกับลูกสะใภ้ก่อน ทำให้ได้ข้อมูลเบื้องต้นว่า เดิมทีผู้ป่วยอยู่ที่จังหวัดหนึ่งทางภาคใต้กับภรรยาและลูกๆ ครั้งนี้ขึ้นมากทม.เพื่อมารักษาโดยเฉพาะ ในบรรดาลูก 7 คนรวมทั้งภรรยาของผู้ป่วยนั้นดูจะยอมรับได้ และพูดขอขมาผู้ป่วยหมดแล้ว เว้นแต่ลูกชายคนเล็ก..สามีของพยาบาล ซึ่งขึ้นมาอยู่กทม.นานแล้ว ที่ดูจะรับไม่ได้มากที่สุด และไม่ยอมปล่อยให้พ่อจากไป ต้องการให้ยาเต็มที่และขออยู่ไอซียูจนวาระสุดท้าย

เรื่องขออยู่ไอซียูนี้ ลูกสาวผู้ป่วยบางคนก็เห็นด้วย ทำให้ลูกสะใภ้ซึ่งเป็นพยาบาลอึดอัดใจมากในฐานะคนกลาง ทีมจึงได้แนะนำให้ทำ family conference (การประชุมครอบครัว) อีกครั้ง โดยให้พี่พยาบาลท่านนั้น กลับไปคุยกับสามีและพี่สาวสามี ถึงความกังวลและสิ่งที่อยู่ในใจ ว่าเหตุใด จึงไม่สามารถยอมรับการจากไปของพ่อได้ ทั้งที่ทุกคนพูดเกือบจะเหมือนกันว่า ดูพ่อทรมานมาก และไม่ต้องการผ่าตัดหรือทำอะไร ให้พ่อต้องเจ็บตัวอีก

วันรุ่งขึ้นซึ่งนัดทำ family conference ภรรยา ลูกทั้ง 7 คนและลูกสะใภ้มาครบ ดังนั้น..เพื่อเป็นการแสดงความเคารพในสิทธิผู้ป่วยและให้เกียรติผู้ป่วย ก่อนการประชุมครอบครัว แม้ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัว ทีมก็ได้พาญาติไปกระซิบขออนุญาตผู้ป่วยว่า ขอหมอคุยกับครอบครัวเพื่อวางแผนการดูแลร่วมกัน ขอให้ผู้ป่วยวางใจว่า ทุกฝ่ายจะหาข้อสรุปที่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ป่วยมากที่สุด และขอให้ผู้ป่วยส่งใจช่วยให้ลูกๆ สามารถตัดสินใจแทนได้อย่างตรงใจ ก่อนจะนำญาติๆ ไปนั่งในห้องประชุมและเริ่มการสนทนา

หลังจากแนะนำตัว ถามความเข้าใจต่อสถานการณ์และความคาดหวังของครอบครัวรายบุคคลแล้ว พบว่าทุกคนเห็นตรงกันว่า ขณะนี้พ่อทรมาน จึงไม่ต้องการทำอะไรให้พ่อเจ็บอีก และเมื่อไม่นานก่อนหน้านี้ ตอนเยี่ยมญาติที่ป่วยและโดนใส่ท่อช่วยหายใจ พ่อก็เคยสั่งไว้ว่า ไม่ต้องการให้ใส่ท่อช่วยหายใจ ทำให้ลูกๆ รู้สึกไม่ดีที่เหมือนว่ากำลังฝืนความต้องการของพ่ออยู่ แต่ก็คิดว่า จำเป็นต้องทำ พ่อคงเข้าใจ เพียงแต่ลูกๆ ก็จะไม่ยื้อไปมากกว่านี้ เมื่อถามมาถึงลูกชายคนเล็ก ซึ่งไม่สามารถยอมรับได้ในทีแรก และต้องการให้ยื้อเท่าที่ทำได้ ก็เห็นว่านิ่งไป สักพักใหญ่ๆ จึงตอบว่า ถ้าพ่อต้องการอย่างนั้น ตนก็คงต้องตามใจพ่อ

เมื่อทุกคนดูเข้าใจตรงกัน จึงได้สอบถามความหนักใจ/อึดอัดใจที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ลูกสาวคนหนึ่งจึงได้เผยว่า ก่อนหน้านี้เข้าใจว่า หากตัดสินใจจะไม่ยื้อ คิดว่าหมอจะหยุดเครื่องช่วยหายใจและปล่อยพ่อเสียชีวิต แต่ตอนนี้เข้าใจใหม่แล้ว จึงสบายใจขึ้น ลูกชายคนเล็กเองก็พยักหน้าแสดงว่าเห็นด้วย ทีมจึงได้เน้นว่า แม้จะเป็นผู้ป่วยระยะท้าย แม้จะไม่ได้รักษาโรคหลักแล้ว แต่บุคลากรก็จะยังให้การดูแลอาการและความสุขสบายอื่นๆ ของผู้ป่วยอย่างเต็มที่ ไม่ได้ทอดทิ้งหรือปล่อยให้เสียชีวิต ทำให้ครอบครัวดูมีสีหน้าดีขึ้น และดูมั่นใจว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง

หลังจากที่ได้วางแผนร่วมกันแล้ว ตอนแรกคิดว่าผู้ป่วยจะทรุด กลับยังคงมีชีวิตอยู่และกลับบ้านได้ ก็กลับไปดูแลต่อที่บ้าน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้สำเร็จ คือ สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวเป็นจุดแข็ง พอมีความเห็นตรงกัน เขาก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ช่วยกันเตรียมเพื่อรับผู้ป่วยกลับบ้าน โดยประสานกับทีมดูแลผู้ป่วยที่บ้านไปดูแลต่อให้

ดังนั้นหากจะสรุปปัจจัยเกื้อหนุนในการทำ family conference ในครอบครัวนี้ คิดว่าสามารถแบ่งได้เป็นประเด็นดังนี้

1. ครอบครัว-ในรายนี้ครอบครัวมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ไม่มีข้อขัดแย้งมาก่อน พร้อมช่วยเหลือกันในการดูแลผู้ป่วย ทำให้ทุกคนคิดและตัดสินใจเพื่อผู้ป่วยจริงๆ

2. ความสัมพันธ์ระหว่างทีมกับครอบครัว- ในครอบครัวนี้มีคนที่จะเป็นตัวเชื่อมความเข้าใจระหว่างทีมบุคลากรกับญาติผู้ป่วยจึงสามารถช่วยเป็นตัวประสานและไขข้อข้องใจแก่ญาติได้มาก

3. บุคลากร- ทีมมีโอกาสได้คุยและวางแผนให้ตรงกันก่อนเริ่มการสนทนา ทำให้พูดได้ชัดเจนและน่าเชื่อถือ

4. กระบวนการพูดคุย- สังเกตว่าการขออนุญาตผู้ป่วย (แม้ไม่รู้สึกตัว) เป็นการแสดงให้ญาติเห็นว่าทุกฝ่ายต้องเคารพสิทธิความเป็นเจ้าของชีวิตของผู้ป่วยทำให้ญาติมีแนวโน้มจะตัดสินใจเพื่อผู้ป่วยอย่างแท้จริง และไม่ว่าการพูดคุยนั้นๆจะได้เป้าหมายร่วมกันว่าอย่างไร ก็เน้นให้เห็นว่าครอบครัวตัดสินใจถูกต้องแล้ว และได้ทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดแล้วในสถานการณ์นั้นๆ

หมายเลขบันทึก: 594129เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2015 21:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2016 13:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่ทำให้มองเห็นขั้นตอนในการดูแลที่ดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท