ความจำเป็นที่จะต้องใช้สารสกัดอินทรีย์ ในการปลูกข้าว


ความจำเป็นที่จะต้องใช้สารสกัดอินทรีย์ ในการปลูกข้าว

-----------------------------------------------------------

ข้าว เป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญที่สุดชนิดหนึ่ง ทั้งในด้านการใช้บริโภคเป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวันและการเป็นรายได้หลักในการนำเงินตราเข้าสู่ประเทศจากการส่งข้าวเป็นสินค้าออก ดังนั้นพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ของประเทศจึงเป็นนาข้าว จากสภาพดังกล่าว การปลูกข้าวเพื่อที่จะให้ได้ผลผลิตสูง ข้าวมีคุณภาพดี และใช้ต้นทุนที่ต่ำที่สุดได้ เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวจึงจำเป็นที่จะต้องมีการให้ธาตุอาหารพืชชนิดต่าง ๆ หรือที่เราเรียกว่าปุ๋ยนั้น ให้แก่ข้าวได้อย่างเพียงพอและครบถ้วน ตามชนิดของธาตุอาหารพืชแต่ละชนิดต่อข้าวในแต่ละระยะการเจริญเติบโตและช่วงการให้ผลผลิตของข้าวได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมด้วย

แต่เดิมมาเกษตรกรนิยมให้ธาตุอาหารพืชทั้งหลายในรูปของปุ๋ยวิทยาศาสตร์ หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า ปุ๋ยเคมี ทั้งนี้เพราะมีความสะดวกในการซื้อขาย การนำมาหว่านใส่ลงในนาข้าว และการให้ธาตุอาหารพืชแก่ข้าวได้อย่างค่อนข้างรวดเร็ว ทันอกทันใจ อย่างไรก็ดี การให้ปุ๋ยเคมีแก่ข้าวอย่างต่อเนื่องตลอดไปนั้น ได้เกิดความเสียหายให้แก่นาข้าวมากมายหลายประการ อาทิเช่น ดินเกิดการสะสมความเป็นเคมีจากปุ๋ยเคมีที่ให้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนดินมีลักษณะเสื่อมสภาพทางกายภาพลงมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เกิดปรากฏการดินแน่นแข็ง เสียโครงสร้างการยึดเกาะและการแลกเปลี่ยนถ่ายประจุอิออน(ion)ของธาตุอาหารแต่ละชนิดจากดินสู่ต้นข้าว พืชเกิดความอ่อนแอต่อโรคและแมลงศัตรูข้าวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมล็ดข้าวมีคุณภาพลดลง เช่น ความเหนียวนุ่ม หุงขึ้นหม้อ กลิ่นหอม เป็นต้น

นอกจากนั้น การใส่แต่ปุ๋ยเคมีลงในนาข้าวเรื่อย ๆ เป็นประจำ ยังทำให้มีผลเสียต่อสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศวิทยา เพราะเกิดการสะสมเคมีในดิน ในน้ำ มากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง ผลเสียอื่น ๆ ก็จะเป็นทางด้านเศรษฐกิจด้วย เช่น การสูญเสียเงินตราออกต่างประเทศในการต้องซื้อปุ๋ยเคมีเหล่านี้จากต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่ในบ้านเรามีวัสดุสารอินทรีย์ทางการเกษตรมากมาย ที่สามารถจะนำมาใช้ประโยชน์ในการทำนาได้เป็นอย่างดียิ่ง

ดังนั้น ในปัจจุบันนี้ การทำนาข้าวจึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำสารสกัดอินทรีย์มาใช้ในการทำนาข้าว เพื่อลดข้อเสียและปัญหาต่าง ๆ จากการใช้ปุ๋ยเคมี และได้รับผลดีต่าง ๆ อีกมากมายจากการใช้สารสกัดอินทรีย์ในการทำนาข้าวด้วยดังกล่าว

ความหมายของสารสกัดอินทรีย์

หมายถึง สารที่ได้มาจากการสกัดจากสารอินทรีย์ธรรมชาติ ที่เกิดการทับถมอัดแน่นกันมาเป็นเวลานานนับล้านปี จนอยู่ในรูปที่ตกผลึกเป็นสารอินทรีย์ที่เข้มข้น


คุณสมบัติของสารสกัดอินทรีย์

สารสกัดอินทรีย์ ทำให้ธาตุอาหารในดิน มีการเคลื่อนย้ายไปสู่รากพืชได้ง่าย เร็ว และมากที่สุด ซึ่งเรียกคุณสมบัตินี้ว่า การและเปลี่ยนประจุ(ion)ธาตุอาหารพืช ทำให้เมื่อเราให้ปุ๋ยต่าง ๆ แก่พืชแล้ว พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีมากขึ้น ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ จึงทำให้พืชมีการเจริญเติบโตที่ดีและให้ผลผลิตมาก และผลผลิตมีคุณภาพที่ดีด้วย นอกจากนั้น ยังทำให้ดินมีสภาพดี สิ่งแวดล้อมไม่เป็นพิษ ลดความเสียหายอันเนื่องมาจากการใช้ปุ๋ยเคมีด้วย

การใช้สารสกัดอินทรีย์ดีกว่าการให้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างไร

ปุ๋ยอินทรีย์นั้น ได้มาจากการสกัดจากสารอินทรีย์ ที่เป็นพวกซากพืชซากสัตว์ ที่สลายตัวดีแล้ว มาใช้ประโยชน์ในการปลูกพืช ในรูปของปุ๋ยอินทรีย์ต่าง ๆ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เป็นต้น

หากเราใช้สารอินทรีย์ เช่นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักเหล่านั้น มาใส่ต้นพืช เราจำเป็นที่จะต้องใช้ในปริมาณที่มาก ประมาณกันว่า ในพื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่ จำเป็นที่จะต้องใส่สารอินทรีย์พวกปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักมากถึง 2 ตัน/ไร่ อันจะเป็นการสิ้นเปลืองทั้งแรงงาน เวลา ต้นทุนสารอินทรีย์เหล่านั้น

จึงได้มีการคิดค้นกรรมวิธี ที่สกัดเอาแต่เฉพาะสารอินทรีย์ที่จำเป็น และเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของพืชโดยตรง จากสารอินทรีย์เหล่านั้น มาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่าสารสกัดอินทรีย์ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันก็มีจำหน่ายในท้องตลาดเกษตรทั่วไป และเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย กว้างขวางเช่น สารวินนีก้า สุพรีมโกล เป็นต้น ทั้งนี้เพราะเป็นการสะดวกและประหยัดมากในด้านการขนส่ง แรงงานการขนใส่ต้นพืช และปริมาณธาตุอาหารที่จำเป็นและเพียงพอดังกล่าว

นั่นคือ การทำนาข้าวในปัจจุบันนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำสารสกัดอินทรีย์มาใช้ในการทำนาข้าว เพื่อลดข้อเสียและปัญหาต่าง ๆ จากการใช้ปุ๋ยเคมี และได้รับผลดีต่าง ๆ อีกมากมายจากการใช้สารสกัดอินทรีย์ในการทำนาข้าวด้วยดังกล่าว

---------

รองศาสตราจารย์ ชยพร แอคะรัจน์

สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร

มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

คำสำคัญ (Tags): #ชยพร#พืช
หมายเลขบันทึก: 593739เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2015 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2015 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท