จิตแม่ตื่นรู้ "จัดอารมณ์บวกลูกดี"


ขอบพระคุณน้องเล็ก (นักกิจกรรมบำบัดบทบาทคุณแม่เครือข่ายพลังกลุ่มกับน้องฝ้ายผู้พาชมรร.ธรรมชาติอิสระปัญญา และคุณแม่ผู้ตื่นรู้อีก 10 ท่านและผู้กำลังเรียนรู้ดูความดีงามของลูกวัย 2-3 ขวบ ผมใช้กิจกรรมสั่งจิตใต้สำนึก สุขภาพจิตศึกษา การเจริญสติ และการสื่อสารทางกิจกรรมบำบัด มาใช้ให้คุณแม่ลงมือฝึกรับรู้สัมผัสใจให้ เคลื่อนไหว และการจัดการอารมณ์บวก

เริ่มจากกิจกรรมแนะนำตัวพร้อมเล่าความรู้สึกในการเดินทางมาจากหลายหลากที่เพื่อเรียนรู้ในวันนี้ คุณแม่มาพร้อมลูกและคุณพ่อ...น่าปลื้มใจที่คุณพ่อพาลูกเล่นในรร.ธรรมชาติงดงามชื่อ "อิสระปัญญา" ส่วนคุณแม่มุ่งมั่นหยิบปากกามาจดบันทึกการเรียนรู้เพื่อนำไปสอนลูกที่หลายท่านบ่น "จะเดินหนี ลูกไม่เชื่อฟัง ลูกร้องหงุดหงิด ลูกเลี้ยงง่าย ลูกต่อต้าน ลูกเจ้าเล่ห์ พยายามทำอารมณ์ใจเย็น มีหลุดใจร้อน ฯลฯ" ส่วนใหญ่เกิดความสงสัยในประเด็น "การจัดการอารมณ์ของตัวคุณแม่ก่อนที่จะสอนลูกให้เป็นเด็กดีได้อย่างไรกันแน่"

ผมก็เกริ่นว่า "ตัวเองไม่มีลูก แต่เรียนรู้จากประสบการณ์จิตอาสากิจกรรมบำบัดที่บ้านกว่า 50 ครอบครัว จนเข้าถึงความหมายของคุณค่าทางจิตใจได้ลึกซึ้งภายหลังป่วยและฟื้นคืนสุขภาวะจากภาวะหลอดเลือดสมองตีบมาได้ 2 ปีแล้ว"

จากนั้นผมจึงฝึกกิจกรรมการเข้าถึงอารมณ์บวกด้วยตัวคุณแม่เอง ย้ำการทำงานสมองอารมณ์ที่กำลังเกิดภาวะสมดุลกับสมองใหม่ด้วยการกำหนด "การเปลี่ยนท่าทางใหม่ (กระตุ้นสมองใหม่) จากท่าทางเดิมขณะอารมณ์หงุดหงิด เช่น หงุดหงิดในท่านั่งก็ให้เปลี่ยนเป็นท่ายืน ต่อด้วยการฝึกอารมณ์ให้นิ่งขณะหายใจเข้าออกทางจมูก (รอบ 1) หายใจเข้าจมูกสู่ท้องออกทางปากเป่าลมยาวๆให้ได้ยิน (รอบ 2) และหายใจเข้าจมูกสู่ท้องออกทางปากด้วยการออกเสียง อา ดังๆยาวๆ (รอบ 3) จากนั้นทบทวนตัวเองว่า นิ่งมีสติขึ้นหรือยัง ถ้ายังทำแบบเดียวกับรอบ 3 ไปเรื่อยๆ จนรู้สึกนิ่งมีสติ (ส่วนใหญ่ทำสูงสุด 10 รอบก็จะดีขึ้น แต่ถ้าไม่ดีขึ้นก็ลองทำจนครบรอบอายุของคุณพ่อหรือคุณแม่) แต่ถ้ามีอารมณ์เศร้าร้องไห้ก็ให้ขยับเคลื่อนไหวร่างกายเร็วๆช้าๆ ตามที่อยากเดินไปยังเป้าหมายต่างๆ จนน้ำตาหยุดไหลก็ตามด้วยการทำให้นิ่งมีสติข้างต้น

ต่อด้วยการฝึกสัมผัสใจ เนื่องจากสมองต้องการใช้สติให้เกิดกระบวนการรับรู้หนึ่งความรู้สึก ให้หลับตาแล้วยื่นมือให้คุณแม่ท่านอื่นๆจับข้อมือแล้วบอกว่าชื่ออะไร แล้วลองท้าทายให้โจทย์คุณแม่ท่านใดจับแล้วระลึกจำแยกแยะสัมผัสให้ตรงกับชื่่อ (ไม่ใช้การจำ การคิดที่มาทิศทาง ฯลฯ เน้นการใช้ความรู้สึกสัมผัสด้วยจิตจดจ่อมีสมาธินิ่งแยกแยะสัมผัสอย่างละเอียดลุ่มลึก) ถ้าทำการฝึกตรงนี้ได้ ก็จะทำให้คุณแม่นิ่งและสัมผัสสื่อสารรับรู้ความรู้สึกของลูกได้ดียิ่งขึิน

ต่อด้วยการฝึกสัมผัสใจเช่นกันแต่จับคู่แล้วสื่อสารผ่านการสื่อสารด้วยการบีบมือซ้ายหรือขวากัน 3 ครั้ง แต่ละคู่คุณแม่พบว่า "สมองจะเริ่มมีความคิดเปรียบเทียบถึงจังหวะเร็วช้า ความหนักเบาแรงบีบมือ ตำแหน่งการจับมือ ฯลฯ ทำให้สัมผัสใจกับการสื่อสารดูไม่ค่อยเท่ากันตลอด 3 ครั้ง" เกิดการเรียนรู้ขึ้นว่า "ถ้าคุณแม่เห็นอารมณ์ลูกเป็นลบ เช่น ลูกดิ้นร้องไห้กับพื้น คุณแม่จะเคลื่อนไหวเข้าหาลูก มีการพูดว่า อย่า ห้าม ไม่ ... และเข้าไปกอดเพียง 1 ครั้ง ก็มิได้ช่วยให้เกิดการสื่อสารจัดการปรับอารมณ์ลูกเป็นบวกได้ เพราะสมองสับสนและเกิดสิ่งเร้าการรับรู้สึกมากกว่า 1 ด้าน ทำให้สมองอารมณ์ทำงานอัตโนมัติ จดจำอารมณ์ได้สั้นๆ และไม่เกิดการเรียนรู้ทำความเข้าใจด้วยคำพูดใดๆทั้งสิ้น

ดร.ป๊อปจึงขอสะท้อนความรู้สึกและความคิดบวกๆกับคุณแม่แต่ละท่านและตอบประเด็นคำถามที่น่าสนใจโดยสรุปดังนี้:-

  • การเลี้ยงลูกใน 6 เดือนแรก จะเน้นการกระตุ้นการพัฒนาเด็กผ่านการสัมผัสสื่อสาร
  • การเลี้ยงลูกใน 6-8 เดือนแรก จะเน้นการกระตุ้นการพัฒนาเด็กผ่านการมองเห็นสื่อสาร
  • การเลี้ยงลูกใน 8-12 เดือนแรก จะเน้นการกระตุ้นการพัฒนาเด็กผ่านการฟัง การเคลื่อนไหว และการทรงตัว
  • การเรียนรู้ร่วมกับลูกใน 1-2 ปี จะเน้นการเล่น การเลียบแบบท่าทางผ่านการสัมผัสและการใช้ตาและมือ และเน้นการเล่นซ้ำๆ 1-2 รอบ เพราะเด็กจะมีช่วงความสนใจที่จดจ่อมีสมาธิรับรู้สึกได้ 1-2 นาที
  • การเรียนรู้ร่วมกับลูกใน 2-3 ปี จะเน้นการเล่นกับการใช้เสียงเลียบแบบทั้งการใช้หู การพูดตรงกับใบหูที่นิ่ง แยกแยะระหว่างเสียงกับการทรงตัวเคลื่อนไหวร่างกายรวดเร็ว และเน้นการเล่นซ้ำๆ 2-3 รอบ เพราะเด็กจะมีช่วงความสนใจที่จดจ่อมีสมาธิรับรู้สึกได้ 2-3 นาที - ตรงนี้แทนที่คุณแม่จะพูดสั่งลูก ก็นิ่งยิ้มแล้วรอสัก 2-3 นาที ลองดูว่าลูกจะหยุดร้องหงุดหงิดแล้วมาหาแม่เองหรือไม่
  • การเรียนรู้ร่วมกับลูกใน 3-4 ปี จะเน้นการจัดการอารมณ์ทุกรูปแบบ การสร้างอารมณ์ขัน การเลียบแบบต้นแบบทางเพศเดียวกัน ทั้งการพูด การแสดงสีหน้าท่าทาง การคิดสร้างสรรค์ที่พอๆกับการคิดวิจารณ์ เน้นการพูดคุยซ้ำๆ 3-4 รอบ เพราะเด็กจะมีช่วงความสนใจที่จดจ่อมีสมาธิรับรู้สึกได้ 3-4 นาที - ตรงนี้แทนที่คุณแม่จะพูดสั่งลูก ก็นิ่งอารมณ์บวก ใช้เสียงเลียบแบบลูกถ้าเสียงนั้นเป็นบวก ใช้ความเงียบและชวนทำกิจกรรมสร้างสรรค์โดยเพิกเฉยอารมณ์ลบของลูก ลองพยายามใน 4 นาที ถ้าไม่ได้ก็ไปพักผ่อนไม่ต้องสนใจลูกที่กำลังร้องไห้ ให้ลูกได้เรียนรู้การจัดการอารมณ์และแก้ปัญหาด้วยตนเองบ้าง
  • การเรียนรู้ร่วมกับลูกใน 4-6 ปี จะเน้นการจัดการอารมณ์เชิงเปรียบเทียบและเลือกที่ได้ข้อมูลซ้ำๆ การริเริ่มทักษะเมตตาพร้อมๆกับทักษะทางสังคมนอกบ้าน การสังเกตเรียนรู้บทบาทต่างเพศ ทั้งการพูด การแสดงสีหน้าท่าทาง การคิดสร้างสรรค์ที่อาจไม่พอๆกับการคิดวิจารณ์ (ขึ้นอยู่กับการสื่อสารกับพ่อแม่) เน้นการพูดคุยซ้ำๆ 4-6 รอบ เพราะเด็กจะมีช่วงความสนใจที่จดจ่อมีสมาธิรับรู้สึกได้ 4-6 นาที หรือสูงสุด 10 นาทีต่อหนึ่งงาน/ประเด็น

ดังนั้น "อารมณ์ เท่ากับ อายตนะ + ลมหายใจ" ซึ่งอายตนะ 6 ผมเรียงตามลำดับการพัฒนาสมองผ่านกิจกรรม หรือ Brain Based Learning คือ สัมผัส ตา หู กาย (จมูก + ลิ้น ไปกับอารมณ์) และใจ (การรับรู้สึกข้างต้นแบบบูรณาการใน 6 ปีแรกสมบูรณ์สู่การรู้คิดซับซ้อนขึ้นตามบริบทการเรียนรู้) ที่มุ่งสติสัมปชัญญะชวนต่อเติมเพิ่มการมองใส่ใจในความดีงามของลูกมากกว่าการมองว่าลูกต่อต้านด้วยความคิดอารมณ์ลบของคุณแม่ร่ำไป

หมายเลขบันทึก: 593543เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2015 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 สิงหาคม 2015 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อ่านแล้วคิดตามแล้วรู้สึกว่าเป็นวิธีการที่เคยใช้กับสามหนุ่มโดยที่ไม่เคยรู้ทฤษฎีมาก่อนเลย เป็นธรรมชาติที่เราค่อยๆรับรู้จากการต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองและลูกนะคะ ขอยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้และมีประโยชน์จริงๆค่ะ

ขอบพระคุณมากครับพี่โอ๋...คุณแม่ Super Mom ต้นแบบผู้นำการเรียนรู้ของสามหนุ่มน้อยกับหนุ่มใหญ่อย่างผมคร้าบ รักและคิดถึงมากมายครับผม

ขอบพระคุณมากครับอ.ต้นและคุณมะเดื่อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท