​Patient Safety: มุมมองร่วมกันแบบสหวิชาชีพ (1)


การนำหลักสูตร Patient safety เข้ามาจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันหลายสาขาวิชาชีพ

ดิฉันได้เคยบันทึกไว้ว่าได้รู้จักหลักสูตร Patient Safety ของ WHO จากเวทีการประชุม National Health Professional Education Reform Forum เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 และมีความเห็นว่าหลักสูตรนี้น่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เกิดการจัดการศึกษาแบบสหสาขาวิชาชีพ (อ่านที่นี่)

ดิฉันได้ปรึกษาคุณหมอนุ้ย พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ได้ทราบว่าในปี 2557 สรพ. มีโครงการบูรณการ WHO Patient Safety Curriculum Guide ในการเรียนการสอนนักศึกษาในสาขาวิชาชีพต่างๆ และมีสถาบันการศึกษาจำนวนมากสมัครใจเข้าร่วมโครงการนี้ โดย สรพ.ได้ส่ง WHO Patient Safety Curriculum Guide ร่างฉบับภาษาไทยรวมถึงจัด workshop ร่วมกับ WHO ให้ด้วย แต่เราไม่ได้รับหนังสือเชิญชวนเข้าร่วมโครงการนี้จึงพลาดโอกาสดังกล่าว

ดิฉันได้แจ้งให้คุณหมอนุ้ยทราบว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความสนใจที่จะนำหลักสูตร Patient safety มาให้ความรู้แก่นักศึกษาหลายสาขาวิชาแบบสหสาขาวิชาชีพ เราพยายามจะจัดการศึกษาแบบ Inter-professional แต่พอไปยุ่งกับรายวิชาปกติของแต่ละหลักสูตรก็ทำได้ยาก จึงเห็นว่าการนำหลักสูตร Patient safety เข้ามาจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันหลายสาขาวิชาชีพ คุณหมอนุ้ยจึงได้ส่ง WHO Patient Safety Curriculum Guide ร่างฉบับภาษาไทยมาให้ รวมทั้งข้อมูลการดำเนินการของกลุ่มสถาบันการศึกษาพยาบาล

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เอาหลักสูตรนี้เป็นเครื่องมือให้เกิดการทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ ทีมที่รับผิดชอบการทำงานประกอบด้วยคณบดี/รองคณบดีหรือผู้แทนจาก 4 สำนักวิชาด้านวิทยาการสุขภาพคือสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ และสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ เราได้ศึกษา WHO Patient Safety Curriculum Guide และออกแบบกิจกรรมให้อาจารย์และนักศึกษาทั้ง 4 สำนักวิชาได้ทำงานร่วมกัน โดยกำหนดให้นักศึกษาที่จะร่วมกิจกรรมเป็นผู้ที่ผ่านประสบการณ์การฝึกปฏิบัติงานในคลินิกมาก่อนแล้ว

เราสำรวจวันที่อาจารย์และนักศึกษาทั้ง 4 สำนักวิชาสะดวกที่จะเข้าร่วมกิจกรรม กำหนดจำนวนนักศึกษาในแต่ละหลักสูตรให้เหมาะต่อการจัดการ ได้วันที่สะดวกคือวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2558 และจำนวนนักศึกษารวม 180 คน โดยครั้งนี้ไม่มีนักศึกษาแพทย์เข้าร่วมด้วยเนื่องจากติดการเรียน แต่อาจารย์แพทย์ นำโดย อาจารย์ นพ. ธีระพันธ์ สงนุ้ย รักษาการแทนรองคณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ อยู่ทำงานกับทีมตลอด

ก่อนวันจัดงานดิฉันได้รับแจ้งว่านักศึกษาหลายคนจะกลับบ้านเพราะเป็นช่วงปิดภาคการศึกษา เราจึงปรับเอานักศึกษาพยาบาลปี 2 มาร่วมกิจกรรมด้วย พอถึงวันงานจริงๆ ปรากฏว่านักศึกษาของสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์เข้าร่วมกิจกรรมได้น้อยกว่าที่คาดไว้มาก อย่างไรก็ตามทีมอาจารย์จาก 4 สำนักวิชายังมาช่วยงานกันครบถ้วน

กิจกรรมในช่วงเช้าของวันที่ 21 กรกฎาคม ประกอบด้วย

  • การบรรยายเรื่องแนวคิดและหลักการ Patient safety โดย ผศ.ดร. ฉัตรชัย วัฒนาภิรมย์สกุล รักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ อาจารย์ นพ.ธีระพันธ์ สงนุ้ย รักษาการแทนรองคณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ และ ผศ.ดร.วิภาวรรณ ชะอุ่ม เพ็ญสุขสันต์ รองคณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจว่า Patient safety are.....ไม่ใช่ Patient safety is.....(ตามที่คุณหมอนุ้ยบอกมา)
  • การเสวนาเรื่อง Patient safety : ความต้องการและความคาดหวัง วิทยากรคือ คุณณัฐรดา เลขาพันธ์ เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเราเอง วันนี้มาในนามของผู้ป่วย ภญ.นุชนาฏ ตัสโต รพ.ท่าศาลา และคุณคำรพ พรรณราย จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ขอบเขตเนื้อหาในหัวข้อนี้คือความต้องการและความคาดหวังของผู้ใช้บริการในเรื่องนี้มีอะไรบ้าง ผู้ให้บริการมีการเตรียมการอย่างไร ในระบบบริการปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด เรื่องใดบ้าง และมีการแก้ไขอย่างไร

ภาคบ่ายเป็นกิจกรรมกลุ่มย่อยเพื่อศึกษากรณีตัวอย่าง กลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มประกอบด้วยนักศึกษาคละสำนักวิชากัน มีกรณีศึกษาดังนี้

  • ผู้ป่วยเด็กที่เกิด L-asparaginase anaphylaxis จากการบริหารยาผิด route
  • Outbreaks of Clostridium difficile infection
  • ผู้ป่วยวัยรุ่นที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานแบบต่างคนต่างทำ
  • ความลับของคนไข้
  • กรณีผู้ป่วยเบาหวานและผลไม้

เรามีใบงานบอกโจทย์การทำงาน 5 ขั้นตอนคือ

  • ให้นักศึกษาอ่านสถานการณ์และวิเคราะห์ว่าผลเสียที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้ป่วยคืออะไร
  • ปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น และเกี่ยวข้องอย่างไร
  • มีใครบ้างที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้และช่วยอย่างไร
  • จะบอกญาติและ/หรือผู้ป่วยอย่างไรให้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
  • ถ้าจะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ทุกคนจะช่วยกันอย่างไรบ้าง

การดำเนินกิจกรรมกลุ่มย่อย นำรูปแบบมาจากมหกรรม KM เบาหวานปีที่ 4 ในฐาน “รู้ทันปัญหา รู้ทางแก้ไข” (อ่านที่นี่ 1, 2) ซึ่งดิฉันได้เล่าวิธีการให้ทีมงานฟังแล้ว แต่ยังนึกภาพกันได้ไม่ชัดเจน ภญ.นุชนาฏ ตัสโต ทีมทำงานหลักของเครือข่ายเบาหวานที่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ซึ่งมาเป็นวิทยากรตั้งแต่เช้า ช่วยชี้แนะทีมทำงานอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ส่วนส่งเสริมวิชาการทำป้ายสำหรับกลุ่มย่อยยกขอตัวช่วยอย่างสวยงาม พร้อมหาเงินแบงก์ปลอมมาให้ใช้


ป้ายขอตัวช่วยที่ทีมส่วนส่งเสริมวิชาการทำให้อย่างสวยงาม


ดิฉันมาร่วมกิจกรรมได้แค่ช่วงเช้าเท่านั้น เพราะมีภารกิจอื่นเรียงคิวตั้งแต่ 09.00 น. จนถึงเย็น ตอนเช้าได้แนะนำให้ ผศ.ดร.วิภาวรรณ ชะอุ่ม เพ็ญสุขสันต์ รองคณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ที่ได้ไปช่วยกันจัดกิจกรรมวง ลปรร.ของอาจารย์พยาบาล (อ่านที่นี่) มาแล้ว ให้เริ่มสร้างบรรยากาศด้วยกิจกรรม Chicken dance


เริ่มต้นกิจกรรมด้วย Chicken dance ยังเช้าอยู่ลูกไก่ทั้งหลายจึงยังไม่คึกคักมากนัก


ดิฉันได้คุยกับอาจารย์วิภาวรรณในคืนวันที่ 21 รวมทั้งได้คุยกับ ภญ.นุชนาฏเมื่อวันเสาร์ที่ 25 ได้ความว่าทั้งนักศึกษาและอาจารย์ต่างร่วมกิจกรรมกันอย่างเป็นกันเองและสนุกสนาน ภญ.นุชนาฏบอกว่าซักถามกันเยอะมากจนสไลด์ที่เตรียมไปนั้นได้ใช้เพียง 5 สไลด์เอง


วัลลา ตันตโยทัย

บันทึกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2558


หมายเลขบันทึก: 593021เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2015 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2015 11:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สอน chicken dance กับครูภาษาอังกฤษครับ

มีกิจกรรมหลากหลายมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท