ฐานเรียนรู้ที่4 "รู้ทันปัญหา รู้ทางแก้ไข" งานมหกรรม KM DM-HT ปีที่4 (๒)


ทุกการแก้ปัญหาของแต่ละกลุ่ม เราจะย้อนกลับไปถามที่ผู้ป่วยเสมอว่าถูกใจ เข้าใจ และปฏิบัติได้หรือไม่ รวมถึงอาหารที่ออกแบบให้ว่ากินได้จริงหรือเปล่า ซึ่งเสดงถึงว่าแต่ละกลุ่มสามารถใช้ทักษะการสื่อสารได้ดีและเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนที่แตกต่างกันได้ดีเพียงใด

ตอนที่๑ (คลิก)

      ช่วงที่สามของกิจกรรมใช้เวลาทั้งหมด 40 นาที เพื่อวิเคราะห์ปัญหา ตามใบงานที่แจกให้ ตามลำดับทั้งหมด 4 ขั้นตอน โดยสังเกตเวลาที่แต่ละกลุ่มใช้ส่วนใหญ่ 30 นาทีแรก หมดไปกับการพูดคุยกับผู้ป่วย และเรียนรู้ผล SMBG จากผู้ป่วยไปด้วยในตัว ดังนั้นช่วงแรก ตัวช่วยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จึงทำหน้าที่เพียงสังเกตกลุ่ม โดยไม่สามารถปริปากได้เลย เพราะเรากำหนดไว้แล้วจะพูดต่อเมื่อมีกายกป้ายเรียกหาผู้เชี่ยวชาญ และจ่ายเงิน 500 บาทเท่านั้น  ถึงอย่างไรก็ตามช่วงแรกก็มีบางกลุ่มที่เรียกหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (พญ.สิริเนตร กฤติยาวงศ์   อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ และพญ.ศรัณยา สุคันธไชยวงศ์ อายุรแพทย์ รพ.แพร่) และ educator ด้าน SMBG (คุณณัฎฐิยา สุธีพิเชฐภัณฑ์ และคุณชลสรวง ชุมแสง Educator จากบริษัทโรช)  เพื่อเรียนรู้เรื่อง SMBG  เพราะมีเสียงเปรยมาเป็นระยะจากทุกรอบว่า เพิ่งได้ยินครั้งแรกก็วันนี้แหละ   แต่เมื่อถึงเวลาใน 10 นาทีสุดท้าย กลับเป็นเวลาที่สนุกสนานและวุ่นวายมากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่แต่ละกลุ่มต้องสรุปใบงาน ที่ต้องมีผลการแก้ไขปัญหาให้ผู้ป่วย ทั้งเรื่องยาที่ต้องปรึกษาเภสัชกร (ภญ.ปราณี ลัคณาจันทโชติ และ ภญ. วนิชา ปิยะรัตนวัฒน์ รพ.สมุทรสาคร)  การออกกำลังกายที่ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ (.สิทธา พงษ์พิบูลย์ ผู้ช่วยคณบดี คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) โดยเฉพาะเรื่องอาหารถึงขนาดต้องแย่งตัวและตัดราคากันเลยทีเดียว เพราะเรากำหนดให้ออกแบบเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยให้เสร็จด้วยในช่วงนี้ ดังนั้นตัวช่วยที่เป็นนักโภชนาการจึงดูจะขายดีเป็นพิเศษในช่วงท้ายๆของเกมส์ (อ.ศัลยา  คงสมบูรณ์เวช  ที่ปรึกษาโภชนาการ รพ.เทพธารินทร์  และ อ.ธัญวรินทร์ ตั้งเสริมวงศ์ นักโภชนาการ โรงพยาบาลรามาธิบดี

   

 

       ช่วงที่สี่ของกิจกรรม เราให้เวลาที่ 15 นาที ในการที่แต่ละกลุ่มส่งตัวแทน 2 คน พร้อมกับผู้ป่วย เพื่อไปจ่ายตลาดที่จำลองมาไว้ในที่ประชุม  ซึ่งในสถานการณ์นี้เราพบการแก้ปัญหาของแต่ละกลุ่มได้อย่างสนุกสนาน เพราะต้องจ่ายตลาดให้ได้ของครบและมีพลังงานตามที่คำนวณไว้ ที่สำคัญคือผู้ป่วยต้องยินดีที่จะกินจริงด้วย ที่สำคัญตลาดที่เราจำลองไว้ให้กลับไม่มีของตามที่แต่ละกลุ่มคิดไว้ครบทุกอย่าง(เหมือนตลาดจริงที่มีทั้งเวลาของขาด ของลดราคา และช่วงเวลาตลาดวาย)  ดังนั้นการใช้หลักแลกเปลี่ยนหมวดหมู่อาหารจึงต้องทั้งรวดเร็วและถูกต้องด้วยในเวลาที่จำกัด  บางกลุ่มถึงขนาดไปออกแบบเมนูกันใหม่ตอนจ่ายตลาดเลยทีเดียว  ก่อนที่เสียงนกหวีดจะดังหมดเวลา และตลาดต้องปิดทำความสะอาดต่อไป (ข้าวของกระจุยกระจายได้บรรยากาศตลาดมากจริง)

       ช่วงที่ห้าของกิจกรรม ภายใน 10 นาทีที่เร่งด่วน เรามีสถานการณ์พิเศษให้สุ่มเลือกกลุ่มละเรื่อง และแต่ละกลุ่ม ต้องหาทางปรับวิธีการให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตเดิมของผู้ป่วยด้วย  สถานการณ์ ที่เรากำหนดไว้แตกต่างกัน เช่น เมื่อไม่สบาย เมื่อต้องออกกำลังกายเพิ่ม เมื่ออกกำลังกายวิธีใหม่  เมื่อต้องไปงานเลี้ยง  เมื่อต้องเดินทางไกล  เมื่อต้องไปปฏิบัติธรรม  เมื่อถึงฤดูถือศีลอด  และเมื่อถึงงานฉลองปีใหม่  ซึ่งเกมส์นี้พบว่าเรื่องที่ยากที่สุด คือการทำความเข้าใจเรื่องการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของชาวอิสลาม  ซึ่งเราก็จะได้รับคำอธิบายเสริมจากผู้เข้าร่วมประชุมที่มาจากทางใต้ และผู้ป่วยที่มาจากวังวิเศษ จังหวัดตรัง ในแต่ละรอบของเกมส์ได้อย่างชัดเจนรวมทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนเรื่องการกินอาหาร กินยาได้ลึกซึ้งน่าสนใจยิ่ง

       ช่วงสุดท้ายของกิจกรรม เราได้ใช้วิธีการสุ่มอย่างเป็นระบบ (ระบบตามใจตัวช่วย)  โดยเลือกกลุ่มที่น่าสนใจในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่สังเกตได้จากการทำโจทย์และเรียกใช้ตัวช่วยในช่วงแรกของกิจกรรม  โดยแต่ละกลุ่มที่ถูกเลือกจะต้องส่งตัวแทนมานำเสนอตามที่เขียนใน flip chart  นำเสนอเมนูอาหารที่จัดให้ใน 1 วัน พร้อมกับให้ผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่เป็น commentator ไปด้วยพร้อมๆกัน  ซึ่งช่วงนี้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างถึงกว้างขวาง ทั้งจากกลุ่มตนเองและกลุ่มอื่น นอกจากนี้ทุกการแก้ปัญหาของแต่ละกลุ่ม เราจะย้อนกลับไปถามที่ผู้ป่วยเสมอว่าถูกใจ เข้าใจ และปฏิบัติได้หรือไม่ รวมถึงอาหารที่ออกแบบให้ว่ากินได้จริงหรือเปล่า  ซึ่งเสดงถึงว่าแต่ละกลุ่มสามารถใช้ทักษะการสื่อสารได้ดีและเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนที่แตกต่างกันได้ดีเพียงใด ซึ่งจากการทำกิจกรรมกลุ่มที่ผ่านมา ปัญหาสำคัญที่พบมากที่สุดในระหว่างทำกิจกรรมก็คือ เรื่องการใช้ประโยชน์จาก SMBG  และเรื่องการดูพลังงานในอาหารด้วยการนับคาร์บ  ซึ่งเป็นข้อคำถามจากผู้เข้าร่วมประชุมว่าเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคยกันในการปฏิบัติงานปกติของแต่ละโรงพยาบาล และเป็นวิชาการที่ใหม่มาก ดังนั้นก่อนปิดเกมส์ จึงมีการสรุปเนื้อหาทั้งสองเรื่องอย่างคร่าวๆอีกครั้งจาก พญ.สิริเนตร และ อ.ศัลยา ในประมาณ 15 นาทีสุดท้ายของการทำกิจกรรมทั้งหมด

คำสำคัญ (Tags): #km dm-ht4#ฐานเรียนรู้
หมายเลขบันทึก: 424803เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2011 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท