​เคล็ดไม่ลับ ในการควบคุมประชากรหอยเชอรรี่ในนาของผม


เคล็ดไม่ลับ ในการควบคุมประชากรหอยเชอรรี่ในนาของผม

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

หอยเชอรรี่ : ที่มาและที่ไป (ที่ผมเรียนรู้และเกิดผลสำเร็จแล้วในนาผม)

**********************************

ตั้งแต่ปี 2548 ที่ผมเริ่มหัดทำนา แบบเด็กหัดใหม่

ปัญหาที่ผมเจอค่อนข้างรุนแรงมากๆ ก็คือ ประชากรหอยเชอรรี่ในนาของผม มากมายมหาศาล

ทั้งเจริญขยายพันธุ์ในนา และ แอบเข้ามาจากภายนอก ในจังหวะที่น้ำไหลเข้านา

เก็บเท่าไหร่ก็ไม่หมด

ระดับที่ว่า...ทำน้ำหมักปุ๋ยชีวภาพ มากกว่าสิบถัง 200 ลิตร ก็เต็มทุกถัง หมุนเวียนแทบไม่ทัน

ทั้งนี้เพราะ ผมใช้เปลือกผลไม้เป็นปุ๋ยในนาข้าว ที่หอยกิน แล้วโตเร็วมากๆ และยังไม่ทราบวิธีลดประชากรหอย ให้ทันเวลา

ทั้งๆที่ผมหาปลาจารเม็ดน้ำจืด มาควบคุมประชากรหอยเชอรรี่แล้ว ก็ยังไม่สำเร็จเท่าที่ควร

จนกระทั่ง ประมาณ 4 ปี ต่อมา ประมาณ 2552 ผมก็หันมาเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ

โดยจัดการทั้งประชากรปลาจารเม็ดน้ำจืดให้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูน้ำขัง แบบทันทีทันใด ไม่ปล่อยเวลาให้มีช่องว่างได้ กันไม่ให้มีการอพยพของหอย เข้ามา หรือออกจากนา

พยายามเก็บตัวโตๆ เท่าที่เห็น ไปทำปุ๋ยหมัก

ในขณะเดียวกัน ก็มีตัวช่วยเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ทีม คือ หนูนา ที่ทำรังในพื้นที่นาผม จะคอยคุ้ยกินหอยเชอรรี่ ในฤดูแล้ง ทำให้ประชากรสำรองของหอยเชอรรี่ลดลงมาก อย่างเห็นได้ชัด

ยิ่งกว่านั้น ในช่วงน้ำขัง หนูนายังว่ายน้ำไปเก็บหอยเชอรรี่ (เห็นแต่ถ่ายรูปไม่ทันสักที) มากินที่รังอีกเป็นกองๆ

ทำให้ประชากรหอยเชอรรี่ลดลงอย่างมาก

แต่ประชากรของหนูก็จะถูกควบคุมด้วย งู แมว และหมา ที่คอยกินปลา ในนา ทำให้ประชากรหนูไม่มากนัก พอคุมกันได้พอดีๆ

ในระยะประมาณ 2556 เป็นต้นมา จะมีตัวช่วยอีก 1 ทีม คือ นกกะปูด ประมาณ 4-5 ตัว เข้ามาร่วมกิจกรรมการกินหอยเชอรรี่ด้วยอีกทางหนึ่ง

ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมคาดไม่ถึงจริงๆ

โดย หนูนา จะว่ายน้ำไปเก็บหอยมาทิ้งให้ตาย (โดยวิธีใดไม่ชัดแจ้ง) บนคันนา แล้วจะตามกินทีหลัง ที่เป็นกิจกรรมการกินหอยเชอรรี่ของหนูนา และนกกระปูดร่วมกัน

ทำให้บนคันนาของผม จะมีเปลือกหอยที่ทั้งหนูนา และนกกระปูดกินทิ้งไว้เต็มไปหมด และมีให้เห็นใหม่ๆทุกวัน

นอกจากนี้ ในช่วงที่น้ำขังเจาะแจะ ก็จะมีนกกระยาง กับนกปากห่าง อย่างละฝูง ฝูงละประมาณ 10-20 ตัว มาเก็บหอยที่ฝังตัวในดินกินทุกชนิด

หลังจากนกบินไปแล้ว จะเห็นเปลือกหอยกระจัดกระจายเต็มไปหมด

น่าทึ่งจริงๆ

แต่หอยเชอรรี่ที่เหลือ จะเป็นพวก "ฉลาด" ในการปรากฏตัวมาก เพราะ จะไม่ลอยตัวที่ผิวน้ำ ที่เสี่ยงต่อการกินของหนูได้โดยง่าย

แต่ถ้าจมน้ำแบบนั้น ปลาจารเม็ดก็จะจัดการได้โดยง่าย

จึงเหลือเฉพาะ ตัวโตๆ เกินกว่าที่ปลาจะกินได้ ที่ผมก็จะใช้ตะกร้อสอยผลไม้ช้อนตักมาทำปุ๋ยหมักก่อนที่มันจะปล่อยตัวให้จมหนีไป

และบริเวณที่เทเปลือกผลไม้ ก็เทที่เดิมๆ หอยก็จะมารวมกันเป็นส่วนใหญ่ จึงดักตักได้โดยง่าย

ถ้าวันไหนผมไม่ไป บริเวณนั้น จะมีร่อยรอยหนูนาจัดการแทนผมไปแล้ว เป็นกองๆเลยครับ

ฉะนั้น ในปีนี้ (และประมาณปีที่แล้ว เป็นต้นมา) นับได้ว่า ประชากรหอยเชอรรี่ มีน้อย จนแทบหาไม่ค่อยเจอ และ ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการทำนาของผมอีกแล้ว เดินในนาก็ไม่ต้องระวังมากเหมือนแต่ก่อน

สบายๆ

แต่...ต้องขอบคุณ

1. ปลาจารเม็ดน้ำจืดสองฝูงใหญ่ๆ ทุกขนาด คอยกินหอยในน้ำ

2. หนูนา ประมาณ 2-4 ครอบครัว คอยกินหอยบนบก และผิวน้ำ

3. แมว หนึ่งครอบครัว คอยดูแลหนู ไม่ให้มีมากเกินไป

4. นกกระปูด หนึ่งครอบครัว คอยช่วยหนูกินหอย ที่หนูกินไม่ทัน

5. งูสิง งูเห่า อีกไม่ทราบจำนวน คอยดูแลหนูนาอีกทางหนึ่ง

6. นกกระยาง 1 ฝูง คอยกินหอย ตอนน้ำลด

7. นกปากห่าง 1 ฝูง มากินหอยตอนน้ำลด และ

8. หมาล่าหนูอีกสองสามตัว ที่มาช่วยดูแลให้ทุกอย่างลงตัวด้วยดี

ผมขอมอบปลาที่ท่านชอบเป็นรางวัล ตามแต่จะจับกินกันเอง เพราะผมก็ไม่ได้จับอยู่แล้ว มีแต่ปล่อยอย่างเดียว

55555555555555555555555555555555555

----------------------------------------------------------------

หอยเชอรรี่ ในนาของผม ก็มีที่มา และ ที่ไป ดั่งนี้ แลฯ...................

หมายเลขบันทึก: 593014เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2015 01:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2015 01:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เหมือนเกมเล่นหมากรุก เลยนะครับอาจารย์ เลิศล้ำในธรรมชาติจริงๆ

สุดยอดครับอาจารย์ ใช้ธรรมชาติคุมธรรมชาติ ไม่ต้องลงทุนใช้ยาฆ่าให้เกิดมลภาวะตกค้างด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท