ชีวิตที่พอเพียง : ๒๔๖๑. สังสรรค์เพื่อนศรียาภัย ๒๕๐๐



เพื่อนร่วมโรงเรียนศรียาภัยที่จังหวัดชุมพร รุ่นเรียน ม. ๖ ปีการศึกษา ๒๕๐๐ (จบ พ.ศ. ๒๕๐๑) นัดพบปะกินอาหารเที่ยง กันปีละ ๑ - ๒ ครั้งโดยมีเพื่อนคนใดคนหนึ่งรับเป็นเจ้ามือ แล้วให้เลขานุการรุ่นถาวร คือ บรรจง วิมลทรัพย์ (๗๖) เป็นผู้โทรศัพท์ ติดต่อเชิญ บรรจงบ่นว่าเพื่อนหลายตนตอบว่าไม่สบายมาไม่ได้

คราวนี้ วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๘ ผมอาสาเป็นเจ้ามือ นัดกับบรรจงล่วงหน้านานหลายเดือน แต่บรรจงรอ จนวันที่ ๑ มิถุนายน จึงโทรศัพท์มายืนยันกับผมว่านัดแน่นะ ทำให้ผมทราบว่าวัฒนธรรมการนัดของผมกับของเขาต่างกัน ของผมนัดแล้ว ยืนยันเลย ยกเว้นมีเหตุฉุกเฉินจึงจะโทรศัพท์ (หรืออีเมล์) ไปขอเลื่อน

ชวลิต พันธุมสุต (๗๕) ผู้ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจมากว่า ๑๐ ปี บอกว่า นาวา วารีวณิช ซึ่งอยู่บ้านใกล้กับเขาตาไม่ดี และสมองก็ไม่ดี นาวาไม่เคยมาร่วมสังสรรค์เลย ชวลิตบ่นกับผมว่า คราวที่แล้วไม่ได้มาเพราะบรรจงไม่ได้บอก (บรรจงหลงลืมอีกแล้ว) ผมเพิ่งทราบวันนี้ว่า บรรจงกับชวลิตเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ชวลิตแนะนำวิธีออกกำลังแขน โดยใช้รอกแขวนเพดานหรือข้างฝา ผูกเชือกกับตุ้มน้ำหนักข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งสำหรับใช้มือสองข้างออกแรงดึง ทำทุกวันกล้ามแขนเป็นมัด

วันนี้มีคนมา ๑๐ คน ได้แก่ (พล. อ.ท.) จำลอง เกษสยม, ชวลิต พันธุมสุต, บรรจง วิมลทรัพย์, ประชุม ใจสมคม, โปร่ง เภานิบล, พินิจ ศิลปศร, วิจารณ์ พานิช, วิชาญ ดุษิยามี, สมบูรณ์ ทองสกุล, และ สุมิตร ตยาคีพิสุทธิ์

ผมเอาหนังสืองานศพแม่, หนังสือ “แกะรอยความคิด พินิจความเรียง” ของศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช และข้าวกล้องอินทรีย์ไปเป็นของฝากเพื่อนทุกคน และฝากวิชาญไปให้ครูยุพิน ดุษิยามี พี่สาว ที่เคยไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน สภาราชินี ที่จังหวัดตรัง สร้างชื่อเสียงไว้มาก ครูยุพินสนิทกับแม่ผม ท่านเป็นคนปากน้ำชุมพร

ในหมู่เพื่อนที่มา สมบูรณ์ (๗๕) มีสุขภาพทรุดโทรมที่สุด ต้องใช้ไม้เท้า เพราะกระดูกสันหลังไม่ดี ต้องสวมเกราะหลัง และนั่งรถเข็น ตาก็ไม่ดี รวมทั้งเป็นเบาหวาน ผมบอกว่าเพื่อนนัดก็มาอย่างนี้ดีแล้ว เดินไม่ถนัดไม่เป็นไร ให้นั่งรถเข็น สุมิตรผู้มีอัธยาศัยดีอุตส่าห์ขับรถไปรับสมบูรณ์เพื่อมาด้วยกัน

มีการคุยถึงเพื่อนที่เสียชีวิตไปแล้ว คือจเร สดากร ที่เป็นคนพิถีพิถันความสะอาด แต่กลับตายก่อนเพื่อนๆ นายพลจำลองบอกว่า เป็นเพราะขาดภูมิคุ้มกัน ในรุ่นผมมีสดากร ๒ คน อีกคนหนึ่งคือสุขุม สดากร ผู้ก่อตั้ง ชุมพร คาบาน่า

ไฮไล้ท์เรื่องเล่าจากเพื่อน ในการพบปะครั้งนี้ สำหรับผม มาจาก พินิจ ศิลปศร ที่เล่าเรื่องลูกสาวของตน ที่เรียนจบ ปริญญาโท และมหาวิทยาลัยรับเป็นอาจารย์ และพ่อ (ผู้เป็นข้าราชการเก่า) ก็ยุให้เป็นอาจารย์ แต่ลูกสาวสายตายาวไกลกว่า ที่ตัดสินใจประกอบอาชีพค้าขาย ขายเสื้อผ้าที่ประตูน้ำ (ตามคำของพินิจ แต่ผมบอกว่าน่าจะเรียก ประกอบธุรกิจ) ซึ่งเมื่อซักต่อ ก็พบว่า เวลานี้เป็นเจ้าของร้านขายส่ง (ต่างประเทศ) ที่จริงๆ แล้วผมอยากเรียกว่า เป็นเจ้าของโรงงานผลิตและขายเสื้อผ้ามากกว่า

พินิจเล่าว่า ลูกสาวจะออกแบบเสื้อผ้า แล้วตัดผ้าตามแบบดังกล่าว ส่งให้หัวหน้ากลุ่มนำไปให้ชาวบ้านภาคอีสานเย็บ หัวหน้ากลุ่มจะคัดเสื้อผ้าที่ได้คุณภาพ นำมาส่งร้านลูกสาวที่กรุงเทพ หร้อมทั้งรับเงินและผ้าที่ตัดชุดใหม่กลับไป ลูกสาวจะส่ง จักรเย็บผ้าแบบโรงงานให้ชาวบ้านในเครือข่ายใช้ และหักค่าจักรแบบผ่อนส่งจากเงินค่าจ้างที่ได้ มีคนเย็บเป็นรายหมู่บ้านทีเดียว

เขาเล่าว่า ตอนสมเด็จย่าสิ้น ลูกสาวรวยจากการตัดเย็บกางเกงสีดำอย่างเดียว ตลาดมีความต้องการมากมาย ผลิตไม่ทัน เวลานี้ลูกสาวฐานะดีมาก นั่งรถเบ๊นซ์ ผมสังเกตว่า พ่อนั่งรถฮอนด้าซีวิค อายุกว่าสิบปี เพราะพ่อเกษียณอายุราชการ ที่ตำแหน่งสรรพากรจังหวัด ซี ๘ เขาพูดเสมอว่า ตำแหน่งขึ้นสูงไม่ได้เพราะไม่มีปริญญา ทั้งๆ ที่เป็นวิทยากรสอนคนทั้งกรม รวมทั้งคนที่ต่อมาเติบโตเป็นปลัดกระทรวงการคลังด้วย

ผมตีความว่า ลูกสาวของพินิจ มองการทำงานเป็นการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง สร้างงานให้แก่ตนเอง เพื่อสร้างฐานะ ไม่ใช่รอรับงานจากที่คนอื่นสั่ง น่าชื่นชมจริงๆ

คราวหน้านัดกันวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๘ โดยธำรงศักดิ์เชิญไปงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ที่รังสิตคลองสาม

ผมเคยเขียนบันทึกเรื่องเพื่อนโรงเรียนศรียาภัยไว้ที่ , ,



วิจารณ์ พานิช

๗ มิ.ย. ๕๘



หมายเลขบันทึก: 592884เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2015 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2015 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท