ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๘๓. เพื่อนนักเรียนชั้นมัธยมสอนใจ


 

เพื่อนนักเรียนชั้นมัธยม ที่โรงเรียน ชุมพร ศรียาภัยรุ่นเรียนชั้น ม. ๖ ปีการศึกษา ๒๕๐๐ นัดกินอาหารเที่ยง เพื่อสังสรรค์กันวันที่ ๒๑ ก.. ๕๖    ที่ภัตตาคาร เจด การ์เด้นท์ใกล้สะพานพระราม ๘    หลังจากไม่ได้พบกันหลายปี

คนนัดคือ บรรจง วิมลทรัพย์ เจ้าเก่า    และเจ้ามือคือเสี่ยประจำรุ่น รอ. อาลักษณ์ อนุมาศ เจ้าเก่าอีกเช่นกัน   ผมบอกบรรจงว่า คราวนี้ขอให้ผมเป็นคนออกเงิน เขาก็ไม่ยอม  

อาหารของภัตตาคาร เจด การ์เด้นท์ นี้ เป็นอาหารจีนที่อร่อยมาก    ตัวภัตตาคารกว้างขวาง มีห้องแยกมากมาย   เราได้ห้องสีเขียว    คุยเสียงดังกันได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องเกรงว่าจะรบกวนแขกกลุ่มอื่น  

ผมเอาชาเจียวกู้หลาน กับปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้า ซื้อจากร้านโครงการหลวงไปฝากเพื่อนๆ    บอกว่า เป็นชาที่ ดื่มแล้วแข็ง  แรงดี มีกำลังวังชา”    เพื่อนๆ ถามว่าหมดแล้วจะซื้อได้ที่ไหน    เพื่อน ๑๔ คน (รวมทั้งผม) นี้ มี ๒ คนที่ต้องถือไม้เท้าคือ ทวีป ศรีภินันท์ กับ สมบูรณ์ ทองสกุล (ชื่อเดิม สมบุญ แซ่แผ่)    ผมบอกเขาว่าให้ถือไม้เท้าอย่าอาย    ทวีปตอบว่าไม่ถือไม่ได้   เพราะอยู่ๆ เข่าเกิดอ่อนยืนไม่ได้ หากไม่มีไม้เท้าช่วยยัน จะล้ม    เกิดบ้างเป็นครั้งคราว 

ผมไปถึงภัตตาคารเวลา ๑๑.๔๐ น. พบเพื่อนมานั่งรออยู่แล้ว ๑ คน คือ ธำรงศักดิ์ ทินบาล ศศ.บ. (นิเทศศาสตร์) ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี ๒๕๓๖   ข้าราชการบำนาญ กรุงเทพมหานคร ปี ๒๕๔๒   ซึ่งหมายความว่าธำรงศักดิ์ อายุมากกว่าผม ๓ ปี    ผมถามถึงยอดชัย ทินบาล น้องชาย    จึงทราบว่าเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว    ยอดชัยเรียนชั้นเดียวกับพวกเราตั้งแต่ ม. ๑   ต่อมาธำรงศักดิ์ซ้ำชั้น จึงเรียนชั้นเดียวกันทั้งพี่และน้อง

พอเพื่อนๆ มากันเกือบพร้อมหน้า ธำรงศักดิ์ก็เอารูปถ่ายหมู่ตอนเรียนจบ ม. ๖ ของชั้น ม. ๖ ข. ใส่กรอบอย่างดี    เอามาอวด    รวมทั้งรูปหมู่ของชั้น ม. ๖ ก.   และรูปหมู่ลูกเสือ   ผมไม่ได้อยู่ในรูปเหล่านี้ เพราะผมลาออกมาเรียนต่อที่กรุงเทพ ในชั้น ม. ๖   ผมดูรูปเหล่านั้นแล้ว รู้สึกว่าตอนนั้นเรายังเด็กมาก    เพื่อนคนหนึ่งคือ ประชุม ใจสมคม ก็ไม่ได้อยู่ในรูปเหล่านั้น    เพราะเรียนซ้ำชั้นหลายครั้ง    คือจบ ม. ๖ หลังผมประมาณ ๓ ปี  

ประชุม เป็นหลานของปลัดสร้าง ใจสมคม (เป็นปลัดอำเภอ) ซึ่งชอบพอกับพ่อของผม   และเมื่อทำงาน ประชุมทำงานที่องค์การโทรศัพท์    ได้ช่วยติดโทรศัพท์ให้ที่บ้านบางขุนนนท์ราวๆ ปี ๒๕๑๒ ซึ่งตอนนั้นคิวติดตั้งโทรศัพท์ยาวมาก   คนทั่วไปต้องรอหลายปี   นั่นคือความประทับใจของผมเกี่ยวกับประชุม   แต่ที่ประชุมประทับใจคือ เขาได้มาพึ่งพาด้านความเจ็บป่วยสมัยผมทำงานเป็นอาจารย์แพทย์ที่ศิริราช อยู่บ่อยๆ    เพื่อนอีกคนหนึ่ง คือ ทวีป ศรีภินันท์ ก็บอกว่า เขาได้ไปใช้บริการของผมเช่นเดียวกัน   แต่ผมจำไม่ได้  

ที่จริงความประทับใจของผมเกี่ยวกับประชุมคือ ตอนเรียน เขาสอบตกบ่อยมาก    แต่ตอนทำงาน เป็นคนทำงานเก่งมาก    ใครๆ รัก   ผมเคยปรารภเรื่องนี้กับพ่อของผม ท่านก็บอกว่าเหมือนปลัดสร้าง    ตอนนี้ผมมีคำอธิบายแล้วว่า ประชุมเป็นคนที่มี EQ และ EFสูงมาก    จึงประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน    ผมเข้าใจว่าประชุมมีฐานะทางเศรษฐกิจดีมาก น่าจะดีกว่าผม  

ที่จริงเพื่อนกลุ่มนี้ที่เคยสอบตก และชีวิตประสบความสำเร็จทางธุรกิจสูงคือ ผู้กอง อารักษ์ อนุมาศ ที่เป็นเจ้ามือเลี้ยงพวกเรานั่นเอง 

คิดเรื่องสอบตกแล้ว จะเห็นว่าในกลุ่มเพื่อนของผม การสอบตก ไม่ใช่ความล้มเหลวใดๆ ของชีวิต   การที่กระทรวงศึกษาธิการห้ามโรงเรียนให้เด็กสอบตก จึงเป็นหายนะต่อคุณภาพการศึกษาอย่างที่เราเห็นกันอยู่  

แต่เมื่อพิจารณาเพื่อนๆ ที่สอบตก จึงเกิดความสงสัยในความแม่นยำของการสอบที่จัดโดยโรงเรียนเองในสมัยนั้น   ว่ามันได้จับเด็กที่ไม่ได้เรียนอ่อน ให้สอบตก หรือไม่    หรือว่าจริงๆ แล้วตอนนั้นเขาเรียนอ่อนจริงๆ เพราะไม่เอาใจใส่การเรียน    ทั้งๆ ที่เป็นเด็กสมองดี 

เพื่อนอีกคนหนึ่งคือ ดร. สุมิตร ตยาคีพิสุทธิ์ ไม่เคยเรียนกับผมเลย   และไม่ได้อยู่ในรูป   เพื่อนคนนี้เป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด แคร์แอนด์คลีน   

เพื่อนที่เด่นที่สุดในรุ่นคนหนึ่งคือ พลอากาศโท จำลอง เกษสยม   เพราะเก่งทั้งเรียนและกีฬา    เพื่อนๆ ล้อกันว่า ลูกศิษย์ (การบิน) ของจำลองเรียกเขาว่า จำลอง เกษสยอง เพราะเข้มงวดและดุ    จำลองมีลูกเล็กอายุ ๑๑ ขวบ    ตอนนี้เพื่อนๆ กล้าถามแล้ว ว่าเมียคนเล็กอายุเท่าไร   ได้คำตอบว่า ๕๐

เพื่อนที่คนรู้จักมากที่สุดน่าจะได้แก่ ชุมพร เทพพิทักษ์ ดาราภาพยนต์ (ไม่ได้มา)    ที่จริง ไอ้เดียร์” (เราเรียกเขาอย่างนั้น) เรียนรุ่นก่อนพวกเรา    แต่มาจบ ม. ๖ พร้อมพวกเรา    เมื่อพวกเรายังเป็นเด็กกะโปโลอยู่นั้น เดียร์เป็นหนุ่มหล่อ   แต่งตัวโก้ เป็นสารวัตรลูกเสือ    ตอนผมเรียน ม. ๑ เขาอยู่ ม. ๓ และเริ่มเป็นหนุ่มแล้ว    เขาเป็นนายหมู่ลูกเสือ และเคยเขกหัวผมเล่น

เพื่อนอีกคนหนึ่งพิเศษมาก คือ ไพฑูรย์ กิจเภาสงค์ มีลูกสาว ๕ คน จาก ๒ แม่   และเวลานี้ลูกสาวทั้ง ๕ คนแต่งงานแล้ว และอยู่ต่างประเทศทั้งหมด   เขาอวดผมว่า เขามีลูกเขย ๕ ชาติ   ไพฑูรย์เคยไปทำงานเป็นอาจารย์ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้วยความช่วยเหลือของผม   แล้วภายหลังย้ายไปอยู่มหาวิทยาลัยขอนแก่น   และเวลานี้ปักหลักอยู่ที่ขอนแก่น

เพื่อนที่ร่างกายอ่อนแอที่สุดในกลุ่มที่มาในวันนี้คือ สมบูรณ์ ทองสกุล  ที่กระดูกสันหลังไม่แข็งแรง   รวมทั้งเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบ   และสมองขาดเลือดเป็นจุดๆ    โดยที่สมัยเรียนหนังสือด้วยกัน สมบูรณ์ เป็นนักกีฬา เล่นฟุตบอลล์ เป็นประตู ที่เรายกย่องกันว่ามือเหนียวที่สุด

มงคล พรรณโชคดี ประกาศตัวเป็นสมาชิกกลุ่มเสื้อเหลืองเต็มตัว   เล่าว่าเคยเผชิญหน้ากับ โสภณ พัฒนอิ่ม (ไม่ได้มาในคราวนี้) ที่เป็นสมาชิกเสื้อแดง    เนื่องจากมงคลตัวโตแข็งแรง    แต่โสภณตัวเล็กนิดเดียว   พอเผชิญหน้า โสภณก็หลบ    มงคลเล่าว่า ตนรีบบอกโสภณว่า เพื่อนกันโว้ย กูไม่ทำมึงหรอก”   บรรจงรีบแก้ตัวให้โสภณว่า ถึงตัวจะเล็ก แต่ก็มีเสน่ห์ผูกใจสาว    โสภณเปลี่ยนเมียเกือบทุกปี แม้จนปัจจุบัน

ผมถามอาลักษณ์ว่าทำไมไม่ชวนฉลอง (อนุมาศ) มาด้วย    เพื่อนคนอื่นบอกว่า ถ้าฉลองมา พวกเราก็ต้องวิ่งหนีผี   เพราะฉลองเป็นมะเร็งเม็ดเลืดขาวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว    ฉลองเป็นน้องของอาลักษณ์    ตอนมีชีวิตอยู่ทำงานผสมพันธุ์ปลาสวยงามส่งออกต่างประเทศ ร่ำรวย    แต่ต่อมาธุรกิจไม่ดี และเมื่อป่วยครอบครัวก็ลำบาก  

คนที่มาแปลกคือ วิชาญ ดุษิยามี ซึ่งทำงานที่บริษัทน้ำมัน เชลล์    ทุกคนทักว่าผอมลง    โดยที่ร่างกายแข็งแรง    บ่นว่าไม่อยากกินอาหาร   วิชาญเป็นคนปากน้ำชุมพร และครอบครัวของเขาสนิทสนมกับครอบครัวของพ่อแม่ผม    วิชาญมีพี่สาวเป็นครู ๒ คน    คนหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากชื่อครูยุพิน เคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีที่จังหวัดตรัง  

พินิจ ศิลปศรทำงานสรรพากร เข้าใจว่าก่อนเกษียณ เป็นสรรพากรภาค   เป็นคนเงียบๆ แต่ทำงานเก่ง    เป็นคนเอาการเอางาน   เขาเล่าให้ฟังเรื่องการใช้อิทธิพลหลบเลี่ยงภาษีของนักการเมือง   

ชวลิต พันธุมสุต ทำงานกรมทางหลวง ก่อนเกษียณเป็นผู้อำนวยการส่วนเครื่องจักรกล    มีลูกสาว ๒ คน อยู่ที่เยอรมันทั้งคู่   คนหนึ่งเรียนจบแล้วแต่งงานกับหนุ่มเยอรมัน อีกคนหนึ่งไปเรียนต่อ    เขาเล่าให้ผมฟังเรื่องเพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน   แล้วเพื่อนมีตำแหน่งพนักงานขับรถทำถนน และเกเรเลี่ยงงาน   แล้วขอให้ชวลิตช่วยให้หลบงานโดยไม่ลา ๓ วัน   ชวลิตไม่ช่วย เพื่อนจึงบ่นว่าไม่มีน้ำใจ   เขาบอกว่าภายหลังพบลูกน้องที่ทำหน้าที่ขับรถแบบเดียวกัน   และทำงานสไตล์เกเรแบบเดียวกัน   เมื่อซักถามจึงทราบว่าเป็นลูกของเพื่อนคนนั้นนั่นเอง    ผมตีความว่า ในครอบครัวมีการอบรมบ่มนิสัยไม่ดี พ่อตีตรา EF ไม่ดีให้ลูก   หรือว่า เซลล์สมองชนิด mirror neurons ทำให้ลูกลอกพฤติกรรมไม่ดีมาจากพ่อ   ชวลิตมีบ้านใหญ่กว่าบ้านผมเสียอีก

หมอห้ามชวลิตขับรถ เพราะต้องใส่ pace maker มา ๑๔ ปีแล้ว    โดยติดครั้งแรกค่า pace maker ถึง ๘ แสนบาท เบิกจากราชการได้เพียงแสนเศษ    ใช้ได้ ๖ ปีก็ต้องเปลี่ยน ตอนนี้เป็นเครื่องที่ ๓   และราคาลดลงเรื่อยๆ เครื่องสุดท้ายไม่ต้องออกเงินส่วนของตนเองเลย   

ผมจึงได้โอกาสชวนชวลิตนั่งรถไปบ้านครูพ้องพรรณด้วยกัน   และขับไปส่งที่บ้านในซอยตรงข้ามห้างพันธ์ทิพย์ งามวงศ์วาน   ทำให้ได้รับรู้เรื่องราวของเพื่อนที่ไม่เคยรู้มาก่อน    เพราะเราไม่ได้พบกันเลยเป็นเวลากว่า ๕๐ ปี    แต่เมื่อพบกันก็สนิทสนมกันอย่างเดิม    ที่เขาซื้อที่ดินในราคาตารางวาละ ๑,๐๐๐ บาท เมื่อปี ๒๕๐๙   พื้นที่ ๑๓๐ ตารางวา    ตอนเป็นเด็ก ชวลิตเป็นนักกีฬาวิ่งเปี้ยวรุ่นเล็ก    เป็นแชมป์   เรียนหนังสือปานกลาง    แต่จะเห็นว่า เขาประสบตวามสำเร็จในชีวิตสูงมาก

ชวลิตเล่าว่า ตอนเป็นเด็กเขาช่วยแม่ทำงานมาก    กลางคืนเวลาสองทุ่มเขายังรุนรถรุนช่วยแม่ขนของ อยู่ในบริเวณตัวเมืองที่เราเรียกกันว่า ท่าตะเภา”    เขาเล่าว่า ครูอิ่ม ห้ามนักเรียนออกเที่ยวหลังสองทุ่ม    แต่เวลาสองทุ่มตนยังรุนรถช่วยแม่ขนของอยู่เป็นประจำ     และวันหนึ่งพบครูอิ่มเมาเดินโซเซอยู่    ถามครูว่า “ครูจะไปไหน”   ครูบอกว่า “จะกลับบ้านแต่กลับไม่ถูก”    ชวลิตรู้จักบ้านครู ซึ่งอยู่บนถนนปรมินทร์มรรคา ที่บางหมาก ห่างออกไปประมาณ ๒ ก.ม.   ชวลิตบอกครูว่า “ครูขึ้นรถครับ ผมจะไปส่ง”    ชวลิตไปส่งครูด้วยรถรุน    รถรุนนี้ในภาษากรุงเทพเรียกว่ารถเข็น   ที่มี ๒ ล้อ ใช้ล้อรถจักรยาน    ผมเขียนด้วยภาษาพื้นบ้าน

ผมคิดว่า คนที่สมองธรรมดาอย่างชวลิต    ประสบความสำเร็จสูงมากในการสร้างฐานะ เพราะเขาเป็นคนมีวินัยในตน    และมีบุคลิกแสดงความเป็นคนจริงใจ ซื่อสัตย์สุจริต    ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะได้มาจากการช่วยพ่อแม่ทำงาน    ผมนึกถึงเพื่อนอีกคนหนึ่งที่สมองดีมาก ดีกว่าผม   และดีกว่าชวลิตมาก สามารถสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้    แต่ชีวิตไม่ประสบความสำเร็จ    เพราะขาดวินัยในตน   

ชวลิตเอ่ยถึงวิเชียร พิมพิยุทธ ซึ่งเป็นคนสมองดีมาก    แต่เมื่อจบ ม. ๖ แล้วไม่ได้เรียนต่อ เพราะทางบ้านยากจน   ได้เข้าทำงานเป็นจ่าศาล    อยู่ในตำแหน่งนั้นจนเกษียณ    ร่างกายผอมน่าสงสาร”   สมัยเรียน ม. ๒ วิเชียรเป็นคู่แข่งด้านการเรียนกับผม    เขาเป็นคนความจำดีมาก และขยันเรียน   ผมสงสัยว่า คนขยันเช่นนั้น ทำไมจึงไม่ขวนขวายเรียนเองจากหนังสือ

ผมนึกถึงพ่อตาของผม พ.ต.ท. มนู เศวตวรรณ ที่สาวน้อยเล่าว่า เริ่มทำงานเป็นพลตำรวจ    แต่ขยันเรียนด้วยตนเอง ซื้อหนังสือวิชาการมาอ่านแล้วสมัครสอบ    ตำแหน่งราชการครั้งสุดท้ายก่อนเกษียณคือ รองผู้บัญชาการภาค    เป็นตำแหน่งที่สูงกว่าผู้กำกับการ    เทียบยศในขณะนี้น่าจะเป็น พลตำรวจตรี    จะเห็นว่า ความสำเร็จในชีวิตคน เกิดจากการขวนขวายเรียนรู้ หลังจบการศึกษาภาคทางการ เป็นส่วนใหญ่    

กินอาหารเสร็จ เราชวนกันไปเยี่ยมครูพ้องพรรณ บุญสมบัติ   ซึ่งอยู่ที่ซอยสง่า ถนนกรุงเทพ - นนทบุรี   โดยบรรจงนำทางไป   และเพื่อนๆ ขับรถตามไปเป็นขบวน    ปรากฎว่าบรรจงพาเราหลงทาง    แต่พวกที่ตามหลังมาและพลัดหลงกันไปถึงบ้านครูก่อน   ผมปลอบใจบรรจงว่า คนแก่หลงๆ ลืมๆ เป็นเรื่องปกติ

ครูพ้องพรรณสอนวิชาวิทยาศาสตร์    สมัยที่ผมเรียนชั้น ม. ๕   ทั้งโรงเรียนมีครูที่แต่งเครื่องแบบติดขีดใหญ่ ๒ ขีด (เป็นข้าราชการชั้นโท) เพียง ๒ คน คือ ครูใหญ่ คล่อง บุญเอี่ยม  กับครูพ้อง (เราเรียกสั้นๆ)   เวลานี้ท่านอายุ ๘๖ ปี เกิด พ.ศ. ๒๔๗๐ ปีเดียวกันกับในหลวง   พูดรู้เรื่อง แต่ความจำไม่ดี รู้ว่าลูกศิษย์ไปเยี่ยม แต่จำพวกเราแต่ละคนไม่ได้   ท่านบอกว่าดีใจ ที่พวกเราไปเยี่ยม

รูปหมู่ที่ธำรงศักดิ์เอามามีรูปเพื่อนๆ และครู   ทำให้เราได้ระลึกความหลังกัน   คนแก่ได้มีเครื่องมือให้คุยกันเรื่องความหลัง    ช่วยให้ได้ความสุขเป็นอย่างมาก   เราได้ทบทวนกันว่า พิรุณตายแล้ว  สมพงษ์ตายแล้ว   จารึกตายแล้ว ฯลฯ”   เป็นมรณานุสติที่ดี

ผมได้ชื่อว่า เป็นคนที่ยังทำงานทำประโยชน์ให้แก่สังคมอยู่ในปัจจุบัน   โดยเพื่อนๆ ดูจากโทรทัศน์    จึงถูกซักว่า นั่งทำงานที่ไหน   ซึ่งเป็นคำถามที่ผมถูกถามบ่อยมาก    ผมตอบเช่นเคยว่า นั่งทำงานบนรถ”    เพราะต้องเดินทางจากที่หนึ่ง ไปอีกที่หนึ่งเพื่อประชุม

ผมพบว่า งานที่ผมทำอยู่นี้ อธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจยากมาก ว่าผมทำงานอะไร    ผมบอกว่า ผมทำหน้าที่ กองเชียร์ให้คนรุ่นน้องหรือรุ่นลูกทำงานเกิดผลสำเร็จ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม    ก็เข้าใจยากอยู่ดี   งานในหน้าที่ กำกับดูแล” (governance) ไม่ใช่งานที่คนทั่วไปเข้าใจ

เพื่อนๆ เขายกย่อง ว่าผมเป็นคนเสียสละเพื่อส่วนรวม    คือเป็นหมอที่ไม่ทำคลินิกหาเงิน    และเขายกย่องความขยัน    จำลองบอกเพื่อนๆ ว่า วิจารณ์ก่อนนอนต้องอ่านหนังสือ ไม่ได้อ่านนอนไม่หลับ”    เป็นการยกย่องความขยันเรียน    ผมเกือบจะบอก (แต่ไม่ได้บอก) ว่าตอนเข้าส้วมก็ต้องมีหนังสืออ่าน   ไม่เช่นนั้นอึไม่ออก   

ที่จริงการอ่านหนังสือก่อนนอนของผม เป็นการเปลี่ยนคลื่นสมอง    คืออ่านต่วยตูน เพื่อให้สมองเปลี่ยนมาเป็นอารมณ์ขำขัน หรือเรื่องทั่วไป    หยุดคิดเรื่องงาน

ผมคิดว่า เพื่อนๆ ที่มาสังสรรค์กันนี้    มาเฉพาะคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต    คนที่ชีวิตยากลำบากจะไม่มีโอกาสมา    เรื่องที่ผมเล่า (เพื่อบันทึกไว้สอนใจคนและสอนใจตน) นี้ จึงไม่ใช่ภาพเฉลี่ยของเพื่อนร่วมโรงเรียนศรียาภัย ของผม  

(มีต่อ)

 

หมายเลขบันทึก: 546981เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2013 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2013 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณครับ เปิดกระโหลกด้านการเขียนบันทึกให้น่าอ่านเลยเชียวครับ

ผมอ่านแล้ว สงสัยว่า แค่เพียงช่วงเวลาแค่รับประทานอาหารเที่ยง ท่าน "ถาม" และ "ฟัง" อย่างไร ให้ได้ข้อมูลทั้งหมดนี้ได้อย่างไร.......

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท