“หนังสือรับรองการเกิดออนไลน์ เอกสารยืนยันสถานที่เกิดยุคไฮเทค”


 โดยจันทราภา จินดาทอง นักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลอุ้มผาง

เอกสารนำเสนอต่อ เวทีระดมความคิดเห็นเรื่อง การถอดบทเรียนแนวทางการบริหารจัดการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ณ วันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2556 ณ โรงแรมควีนพาเลส อ.แม่สอด จ.ตาก จัดโดย สาขาวิชาประขากรศึกษา ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่มเติมเพื่อเผยแพร่ใน GotoKnow เมื่อ 30 ส.ค.2556

 

           ในพื้นที่ชายขอบประเทศอย่างอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เด็ก ๆ ที่เกิดในโรงพยาบาลชุมชนเพียงแห่งเดียวซึ่งเปิดบริการเป็นโรงพยาบาล ๑๐ เตียงครั้งแรก เมื่อ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ จะได้รับหนังสือรับรองการเกิด ทร. ๑/๑ เพื่อนำไปให้สำนักทะเบียนอำเภอจัดทำสูติบัตรให้เด็ก

            การจัดเก็บสำเนา ทร.๑/๑ ของโรงพยาบาลอุ้มผางที่เป็นลายมือของพยาบาลผู้ทำคลอด เท่าที่ปรากฏมีเอกสารในปัจจุบันเริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๑(แต่ไม่ครบทุกคน) บางฉบับแม้จะมีสำเนาอยู่แต่ก็ลบเลือนไปตามกาลเวลา

            ผู้เขียนเริ่มทำงานในหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์ งานประกันสุขภาพ โรงพยาบาลอุ้มผาง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ด้วยความที่เป็นคนคลุกคลีกับงานสถานะบุคคลมาเป็นเวลานานพอสมควร จึงเห็นความสำคัญของ ทร.๑/๑ว่า บุคคลที่มีปัญหาสถานะ การมีเอกสารแสดงตนแม้จะเป็นเพียงหนังสือรับรองการเกิดแค่ชิ้นเดียวก็มีความหมายมากมายกับคนเหล่านี้เพราะมันเป็นเอกสารที่รับรองถึงจุดเกาะเกี่ยวระหว่างเด็กคนหนึ่งๆ กับสถานที่ที่เขาเกิด และสามารถนำไปสู่การพัฒนาสถานะบุคคลในอนาคต

 

            เมื่อทราบข่าวว่าองค์การยูนิเซฟร่วมกับสำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพและกระทรวงสาธารณสุข มี โครงการระบบการให้บริการหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ออนไลน์ ผู้เขียนรู้สึกสนใจและขออาสาร่วมเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลนำร่องของโครงการนี้

โรงพยาบาลอุ้มผางเริ่มใช้งานระบบให้บริการ ท.ร.๑/๑ ออนไลน์ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ โดยให้งานประกันสุขภาพเป็นผู้รับผิดชอบซึ่งน่าจะแตกต่างจากโรงพยาบาลอื่นที่กำหนดให้ฝ่ายการพยาบาลสูตินรีเวชกรรมมีหน้าที่ออก ท.ร.๑/๑

            ในช่วงแรกที่รับผิดชอบงานนี้ ผู้เขียนพบปัญหาอุปสรรคจากการที่ไม่มีความรู้ในเรื่องการตั้งครรภ์และการเกิดที่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลเกี่ยวกับว่า เด็กเป็นบุตรในครรภ์คนที่เท่าไหร่ มารดาผ่านการคลอดบุตรกี่ครั้ง เสียชีวิตกี่คน ยังมีชีวิตอยู่กี่คน ซึ่งใช้ตัวย่ออันเป็นที่ทราบกันเฉพาะกลุ่ม แต่ผู้เขียนได้รับความเอื้อเฟื้อจากพี่ๆ น้อง ๆ ฝ่ายการพยาบาลสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลอุ้มผางที่คอยแนะนำและแก้ไขความผิดพลาดจนสามารถใช้งานระบบได้

            หลังจากมารดาคลอดบุตรที่โรงพยาบาลและได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน ก็จะนำเอกสารท.ร.๑/๑ ไปทำการแจ้งเกิดเพื่อออกสูติบัตรที่สำนักทะเบียนเทศบาลตำบลอุ้มผาง ซึ่งเป็นท้องที่ที่ตั้งของโรงพยาบาล ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ทะเบียนต้องประสานงานกับโรงพยาบาลเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันหลายเรื่อง อาทิ การลงรายละเอียดสถานที่เกิดของเด็ก วันเดือนปีทางจันทรคติที่ต้องระบุ เมื่อได้สูติบัตรแล้ว ในกรณีของเด็กสัญชาติไทย บิดาหรือมารดาจะนำกลับมายังโรงพยาบาลเพื่อขึ้นทะเบียนบัตรประกันสุขภาพ(บัตรทอง)

            นอกจากนี้เมื่อผู้ปกครองของเด็กแจ้งเกิดจะทำให้เด็กมีเลขประจำตัว ๑๓ หลักตามข้อเท็จจริงของพ่อแม่ ระบบการให้บริการหนังสือรับรองการเกิดเอื้ออำนวยให้โรงพยาบาลสามารถตรวจสอบได้ว่า เด็กคนใดแจ้งเกิดแล้วและได้เลข ๑๓ หลักเป็นคนกลุ่มใด โดยข้อมูลเหล่านี้จะแสดงเป็นสถิติที่ทั้งทางโรงพยาบาลและสำนักทะเบียนเทศบาลตำบลอุ้มผางสามารถเรียกดูได้ จากข้อมูลรายงานจำนวนการออกหนังสือรับรองการเกิดและการจดทะเบียนเกิดปี ๒๕๕๔-๒๕๕๕[1] พบว่า โรงพยาบาลอุ้มผางออกหนังสือรับรองการเกิดไปทั้งสิ้น ๖๗๓ คน แจ้งเกิดแล้ว ๔๕๕ คน ยังไม่ได้แจ้งเกิด ๒๑๘ คน

            หลังใช้ระบบหนังสือรับรองการเกิด ทร.๑/๑ แบบออนไลน์ ยิ่งทำให้เกิดความสะดวกโดยเฉพาะในกรณีที่เป็นเด็กสัญชาติไทยทางโรงพยาบาลสามารถเช็คจากข้อมูลว่าเด็กมีเลจประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักเรียบร้อยแล้ว และจะติดตามตัวมาขึ้นทะเบียนได้สิทธิบัตรประกันสุขภาพ (บัตรทอง) เพื่อขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นตามความเป็นจริง

            นอกจากนี้กรณีที่เป็นเด็กที่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๗ เมื่อเช็คจากระบบคอมพิวเตอร์แล้ว ทางโรงพยาบาลจะแยกไปขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิประกันสุขภาพสำหรับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ ส่วนเด็กกลุ่มเลข ๐ ยังคงรอนโยบายการให้สิทธิประกันสุขภาพในอนาคต

            ในส่วนของเด็กที่พ่อแม่บุคคลที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวและมาคลอดที่โรงพยาบาล เมื่อได้เอกสารท.ร.๑/๑ จะนำไปแจ้งเกิดกับนายทะเบียนหรือปลัดอำเภอผู้ดูแลศูนย์เพื่อออกสูติบัตรตามสิทธิของเด็กต่อไปซึ่งขณะนี้ยังมีปัญหาว่าระบบการคีย์ข้อมูลการแจ้งเกิดของพื้นที่พักพิง ไม่ใช้วิธีดึงฐานข้อมูลจากระบบทะเบียนเกิดปกติ แต่ใช้วิธีคีย์ด้วยมือ ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบทะเบียนราษฎร   สถิติของเด็กที่ไม่ได้แจ้งเกิดของโรงพยาบาลอุ้มผางจำนวน เมื่อเช็คจากระบบฐานข้อมูลพบว่า  โดยมากเป็นบุตรของบุคคลในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพและบ้าน อุ้มเปี้ยม ซึ่งต้องหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป

 



[1]ข้อมูลจากโครงการพัฒนาระบบการจดทะเบียนเกิด ณ  ๓๑ มกราคม ๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 546980เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2013 09:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2013 09:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท