หมอ..ผมอยากตาย


“หมอครับ ผมอยากตาย หมอช่วยผมหน่อยได้มั้ย?”

เป็นคำพูดของคนไข้คนหนึ่งที่ผมเจอหน้าเป็นครั้งแรก แกมาหาผมด้วยอาการเจ็บป่วยทั่วๆไป ผมวินิจฉัย อธิบายเกี่ยวกับตัวโรค และสั่งยาเรียบร้อยแล้ว พอคุณณรงค์ (นามสมมติ) เดินไปถึงประตู ก็ตัดสินใจหันหลังกลับและเอ่ยถึงประเด็นนี้ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเขามากกว่า

(อาการเช่นนี้ที่ผู้ป่วยมืออยู่ตรงลูกบิดประตูแล้วถึงค่อยแย้มความในใจออกมาทางการแพทย์จะเรียกว่า door knob syndrome ครับ ซึ่งส่วนมากแล้ว สิ่งสุดท้ายนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้คนไข้วิตกกังวลมากที่สุด)

“ครับ...ถ้างั้นเชิญนั่งอีกทีนะครับ” ผมเชิญคุณณรงค์นั่งอีกครั้ง นึกในใจว่าดูจากภายนอกไม่ออกเลยว่าคนๆนี้มีความคิดอยากตาย

“ช่วยขยายที่ว่า “อยากตาย”หน่อยได้มั้ยครับว่าหมายถึงยังไงนะครับ?”

“ผมอยาก “เตรียมตัวตาย” ครับ หมอพอมีวิธีช่วยมั้ยที่ว่าพอถึงเวลาแล้วผมจะไม่เจ็บ ไม่ทรมานโดนทำนู่นนี่ก่อนตายน่ะครับ” พอคุณณรงค์พูดขยายความ ผมจึงเข้าใจว่าแกหมายถึงการวางแผนและเตรียมตัวสำหรับภาวะช่วงก่อนเสียชีวิต (advance care plan) ไม่ใช่เป็นความคิดอยากตาย (suicide) ได้ยินเช่นนั้นแล้วก็เลยแนะนำคนไข้ไปสองอย่าง

  1. เครือข่ายพุทธิกา
  2. โดยอธิบายถึงหลักการของเครือข่ายฯและกิจกรรมที่เครือข่ายเคยจัดคร่าวๆ ดูคุณณรงค์สนใจกว่าเดิม ผมเลยบอก website และ fanpage ใน facebook ไป

  3. Living Will (พินัยกรรมชีวิต)

“พินัยอะไรนะหมอ?” คุณณรงค์หน้างงๆเมื่อได้ยินคำนี้ ซึ่งไม่แปลกอะไร คุณณรงค์ไม่ใช่คนไข้คนแรกของผมที่มีปฏิกิริยาเช่นนี้

“พินัยกรรมชีวิตครับ ชื่อภาษาอังกฤษคือ living will จะเป็นเอกสารที่ระบุความต้องการของเราว่า ถ้าหากอาการป่วยไข้ของเราถึงที่สุดแล้ว เราอยากได้รับการดูแลยังไงบ้าง” เนื่องด้วยเวลามีจำกัด และมีคนไข้รอตรวจอีกหลายราย ผมเลยต้องอธิบายอย่างย่อ

“ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่อาการป่วยเรามาถึงที่สุดแล้ว คุณณรงค์ต้องการการใส่ท่อช่วยหายใจรึเปล่า รึหากหัวใจหยุดเต้น ต้องการปั๊มหัวใจหรือไม่ ประมาณนี้น่ะครับ รายละเอียดอื่นๆมีอีกค่อนข้างมาก ไงลองเข้าไปที่ website ที่ผมบอก แล้วถ้าสงสัยอะไรก็มาถามได้นะครับ”

ดูเหมือนว่า living will จะตอบโจทย์ความกังวลของคุณณรงค์ได้ เพราะเจ้าตัวเล่าต่อว่า

“นี่แหละคือที่ผมต้องการหมอ ผมทำงานรับใช้ชาติมาจนเกษียณ เรื่องานก็เรียบร้อยดี ลูกๆก็จบหมดแล้ว ไม่กังวลเรื่องคนอื่นอีกแล้ว กลัวแต่จะต้องโดนเหมือนแม่”

“ผมจำได้ ตอนที่แม่ผมเป็นมะเร็ง ช่วงที่อาการหนักมากๆ แม่โดนยัดท่อช่วยหายใจ โดนปั๊มหัวใจจนช้ำไปหมด แล้วก็ต้องนอนติดเตียง คาเครื่อง คาสาย จะอยู่ก็ไม่อยู่ จะเสียก็ไม่เสีย นอนดิ้นและร้องตลอด ผมไม่อยากให้ลูกจำผมในสภาพนั้น”

คราวนี้คุณณรงค์ลาผมอีกครั้ง ดูเหมือนเจ้าตัวจะคลายข้อสงสัยในใจแล้ว แต่เป็นผมเองที่สงสัยไม่หาย

“โทษนะครับ พอดีคุณณรงค์เป็นคนแรกเลยที่มาคุยกับผมด้วยว่าอยากเตรียมตัวตาย ผมถามหน่อยได้มั้ยครับว่าทำไมถึงคุยเรื่องนี้กับผม?”

“อ๋อ เมื่อกี้ผมนั่งรอหมอตรวจอยู่ ไม่มีอะไรทำ เลยเปิด google พิมพ์หาชื่อหมอ ก็ไปโผล่เรื่องที่หมอเขียน ผมอ่านๆดูแล้วเลยคิดว่าว่าน่าจะคุยเรื่องนี้กับหมอได้”

....ครับ


หมายเลขบันทึก: 592056เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2015 20:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2015 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คนไข้กล้าคุยกับหมอ นับว่าเป็นคุณหมอที่เยี่ยมยอดเลยค่ะ

ปกติคนไข้จะกลัว ไม่ค่อยกล้าถามค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท