ชุมนุมครูเพื่อศิษย์: เรียนรู้หัวใจนักบำบัด


ขอบพระคุณดร.ปกรณ์ สุปินานนท์ หรือคุณครูแก้วที่ช่วยจุดประกายห้องเรียนกลับทางและขอบพระคุณในความมีชีวิตชีวาของการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนการสอนของคณาจารย์นักกายภาพบำบัดและนักกิจกรรมบำบัด ม.มหิดล ด้วยกระบวนการสื่อสารละคร ขอบพระคุณทีมงานสสส.และน้องแนทกับน้องกั๊กที่ถ่ายทอดภาพได้อย่างงดงาม

ในวันที่ 2 ก.ค. 2558 ดร.ปกรณ์ สุปินานนท์ ได้ให้เกียรติรับเชิญเป็นวิทยากรกระบวนกรให้แก่คณาจารย์คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล สร้างแรงบันดาลใจในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนกลับทางและเพิ่มความมีชีวิตชีวาจากข้อมูลสารสนเทศ (ฟากฟ้า)

ชวนให้ผู้เรียนทำการบ้านให้ห้องเรียนแล้วสืบค้นความรู้ด้วยตนเองที่บ้าน มีความเป็นมิตรภาพและความต้องการ (ตามการทบทวนแต่ละรายบุคคล) เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มากขึ้นระหว่างผู้ฝึกสอนหรือโค้ชให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ลงมือปฏิบัติ และถ่ายทอดบทเรียนแก่ผู้อื่น

โดยเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ (Mental Model Building) ระหว่างผู้เรียน (รวมทั้งโค้ชก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆจากผู้เรียนเช่นกัน) ทำให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ด้วยแรงจูงใจและหัวใจเดียวกันอย่างสร้างสรรค์ (Internal Motivation)

รวมทั้งการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศที่สนุกสนาน (Teach Less, Learn More + Think Less, Laugh More) ในการตอบโจทย์แบบออนไลน์ที่ สะท้อนความคิดได้อย่างสนุกสนาน นับเป็นตัวอย่างเล็กๆในการเรียนรู้ที่แท้ในสภาพใกล้เคียงชีวิตจริง (Authentic Learning) เพื่อให้ทั้งโค้ชกับผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดนอกกรอบแล้วต่อยอดในการเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือสังคมตลอดชีวิต ขอบพระคุณคุณครูแก้วมากมายครับที่จุดประกายให้ผมอยากริเริ่ม PLC หรือ Professional Learning Community (ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ) สำหรับกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด

ในวันที่ 3 ก.ค. 2558 ผมได้เป็นกระบวนกรในหัวข้อ "กระบวนการละครเพื่อการสื่อสาร" ซึ่งได้ฝึกฝนกับพี่พฤหัสและทีมงานละครมะขามป้อมภายใต้การสนับสนุนการเรียนรู้ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงจากสสส.นาน 6 วัน แต่ก็ลองปรับมาเป็นเนื้อหาใน 5 ชม.เพื่อจุดประกายไอเดียใหม่ๆให้คณาจารย์ แต่ก็ได้ผลลัพธ์การเรียนรู้เกินคาดคือ คณาจารย์ดูสมองโล่ง ระลึกทักษะวัยเด็ก ท้าทายดึงทักษะชีวิตที่มีอยู่ในตัวตน และได้โอกาสการเรียนรู้ใหม่ พอสรุปร่วมกับบทเรียนข้างต้นพอสังเขปดังนี้

กระบวนการละครได้นำไปใช้ในการเรียนการสอนในนักศึกษาสหวิชาชีพทางการแพทย์มากมายในประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยมุ่งหวังให้เกิดการเรียนรู้ศาสตร์และศิลป์ของการให้บริการด้วยทักษะเมตตา (Empathy Skills) และความเข้าถึงหัวใจของความเป็นมนุษย์ ซึ่งสามารถนำกระบวนการและกิจกรรมไปปรับใช้ในบางรายวิชาที่มีวัตถุประสงค์การเรียนรู้ข้างต้น หรือ ในบางหัวข้อที่เกิดการเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการลงมือฝึกปฏิบัติต่างๆ เพราะทำให้เกิดการพัฒนาทักษะด้านพหุปัญญา (Multiple Intelligence) และการเรียนรู้ทักษะสังคม (Social Skills Learning) ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ด้วยความพอใจ (ฉันทะ) และโค้ชก็จะต่อยอดเป็นอิทธิบาท 4 ตัวอื่นๆ ได้แก่

ชุดกิจกรรมแรก: การปล่อยให้ร่างกายสื่อสารออกมาด้วยความรู้สึก เกิดความเข้าใจในกระบวนการทำงานของจิต (ปล่อยวางฐานคิดเล็กน้อย ใช้สัญชาตญาณ ใช้ความสบายใจ ใช้แรงบันดาลใจ และใช้ความรักตัวเองกับเพื่อนมนุษย์) แล้วสร้างการเรียนรู้แบบทบทวนความสามารถตามช่วงวัย ตามบทบาท ตามความเร่งรับในงานประจำ ตามบทบาทสมมติ - ก้อนหิน ต้นไม้ ทะเล ตามความรู้สึกเอาใจผู้ป่วย/ผู้พิการมาใส่ใจผู้เรียน และตามความช้าผ่อนคลายของร่างกาย

ชุดกิจกรรมสอง: การรับความรู้สึกของการแยกแยะเสียงของเพื่อน เกิดสติสัมปชัญญะ เกิดสมาธิ เกิดการจัดการอารมณ์ให้สงบ แล้วสร้างการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกภายในตัวตน ให้ดึงศักยภาพของการฟังอย่างลึกซึ้งของตัวเองออกมาให้มากที่สุด

การรับความรู้สึกของอารมณ์บวกลบผ่านการใช้ตา ภาษาท่าทาง และการสื่อสารใจ

การรับความรู้สึกของสัมผัสด้วยมิตรภาพแล้วช่วยดูแลกันและกันผ่านกระบวนกลุ่มด้วยการหลับตาแล้วสัมผัสค้นหาเพื่อน

ชุดกิจกรรมสาม: การออกแบบชุมชนจำลองตามภูมิภาคหลังจากมีการแสดง 3 ฉาก (กระดาษมีชีวิต ปะติมากรรมชีวิต การสื่อสารให้เพื่อนทายสัญลักษณ์ที่โดดเด่นในแต่ละภูมิภาค การปั้นดินเป็นตัวละคร การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประเด็นปัญหาและผลกระทบต่อตัวละครในชุมชนพร้อมสื่อสารให้เพื่อนทายประเด็น)

กิจกรรมสุดท้าย: การเรียนรู้บนฐานปัญหาผ่านการแสดงละคร (เน้น 5 ฉาก - เหตุ ปัญหา ผลกระทบ วิธีการแก้ปัญหา และภาพฝัน) เน้นการซักซ้อม 2 รอบหลังฟังการสะท้อนคิดกับความรู้สึกจากกัลยาณมิตร เพื่อเกิดความเข้าใจในการแสดงภาษาท่าทาง การถ่ายทอดสีหน้าอารมณ์ การบิดเบือนปัญหาทางสังคมด้วยวรรณกรรมที่โค้ชกำหนด การตีความวรรณกรรมให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง และการเรียนรู้ทำงานร่วมเป็นทีมกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์

ปิดท้ายด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกันทำให้เกิดความรู้สึกบวกว่า "รู้สึกสนุก สมองโล่ง ผ่อนคลาย มีสัมพันธภาพที่ดี" แต่ก็เกิดคำถามว่า "กระบวนการละครจะนำไปใช้ในห้องเรียนของนศ.กายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดได้อย่างไร" ผมขอบพระคุณพี่ประจวบ พี่นาว น้องแนท และน้องกั๊ก ที่ช่วยสื่อสารให้เห็นความสำเร็จของเครื่องมือละครที่เรียบง่ายแต่มีพลังชีวิต เพราะละครสามารถสื่อสารความรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงภายในของผู้เรียนได้เป็นรูปธรรม

ดังนั้นคำตอบคือ กระบวนการละครมีหลากหลายกิจกรรม โค้ชสามารถนำไปปรับใช้บางขั้นบางตอนด้วยจุดมุ่งหมายต่างๆกัน เช่น กิจกรรมเรียกสติผ่านการปรบมือจ้องตาเพื่อน กิจกรรมเรียกสมาธิผ่านการเคลื่อนไหวยืดกล้ามเนื้อและหลับตาทบทวนตัวเอง กิจกรรมเรียกจินตนาการผ่านการแสดงบทบาทสมมติ กิจกรรมเรียกความรู้สึกปล่อยวางความคิดผ่าน Let's Body Talk กิจกรรมการแก้ปัญหาผ่าน Theater Problem Based Learning กิจกรรมการทำงานเป็นทีมในการแสดงละครหนึ่งตอนผ่าน Theater Project Based Learning กิจกรรมเรียกความรู้สึกร่วมกับเพื่อนผู้เล่นละครผ่าน Dialogue & Drama Concept (I-You-We) ฯลฯ







หมายเลขบันทึก: 592054เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2015 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2017 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สุดยอดดดด active อาจารย์ ดร.ป๊อป -_^

ขอบพระคุณมากครับพี่ณัฐพัชร์ พี่ดร.จันทวรรณ พี่ดร.โอ๋ พี่ดร.พจนา คุณบุญญฤทธิ์ และคุณวินัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท