ธารินทร์ เพ็ญวรรณ : เพื่อน 1


“แม่...ความตายนี่เป็นยังไง?”

“แม่...ผมจะตายเมื่อไหร่?”

ความตาย เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการเปิดประเด็นคุย คงมีไม่กี่คนที่สามารถคุยเรื่องนี้ได้อย่างเปิดอก และยิ่งจะตอบได้ยากขึ้นเมื่อคำถามนั้นออกมาจากปากของลูกที่ป่วยเป็นมะเร็ง สิ่งที่คนเป็นแม่ทำได้เวลาต้องเผชิญกับคำถามเหล่านั้นคือหลั่งน้ำตา กอดลูกไว้แน่นแล้วให้ความหวังกับตัวเองไว้ว่า “ไม่เป็นไรนะ ลูกจะต้องหาย....”

ทีมผมได้รับการติดต่อให้มาร่วมดูแลผู้ป่วยรายใหม่ เป็นเด็กวัยรุ่นอายุ 15 ปี เมื่อผมเห็นชื่อและตึกที่เขาพักอยู่แล้วผมก็ถามพยาบาลในทีมทันที “พี่เป็ด...ที่น้องเค้าต้องไปนอน ward med (หอผู้ป่วยแผนกอายุรกรรม) นี่เพราะน้องเค้าอายุมากกว่า 15 ปีใช่มั้ยครับ?” 

พี่เป็ด พยาบาลในทีมพยักหน้าหนึ่งที

(ปกติแล้วเรามักจะใช้อายุ 15 ปีเป็นตัวแยกว่าคนไข้คนหนึ่งควรจะได้รับการดูแลจากแผนกกุมารฯหรืออายุรกรรม แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางครั้ง เช่นผู้ป่วยเด็กบางรายที่ดูแลกันมาตั้งแต่เล็กๆ หรือป่วยบางโรค เช่นมะเร็ง ถึงแม้ว่าจะอายุมากกว่า 15 ปี ก็มักจะติดตามดูแลต่อที่แผนกเด็ก เพราะความคุ้นเคย และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับตัวเด็กมากกว่า)

นัท เป็นเด็กที่เรียนดี เขาเป็นทั้งนักกีฬาฟุตบอลระดับเขตและหัวหน้าห้อง รักการเรียน โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษและประวัติศาสตร์ ทุกๆคนล้วนชอบและรักเขา ผมเห็นรูปถ่ายในตอนที่เขายังสบายดีอยู่ ดูแล้วเป็นเด็กหนุ่มที่เปล่งประกาย แววตาสดใสสมวัย

แต่มาวันนี้ วันที่พวกผมเจอเขาเป็นครั้งแรก เขามีดวงตาที่ว่างเปล่า ประกายแสงในตานั้นดับวูบไป ไม่เหลือแม้แต่เศษเสี้ยวของแสงสว่างและความหวัง เขานั่งอยู่บนเตียง น้ำตาไหลพรากตลอดเวลา ไม่สบตาใคร จ้องมองไปยังความว่างเปล่า นี่เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่าโชคดีที่เขาไม่สบตากับผม เพราะหากเขาทำเช่นนั้น ผมคงจะถูกดูดกลืนเข้าไปในความว่างเปล่านั้นเช่นกัน

นัทดูหอบเหนื่อยมากและนอนราบไม่ได้มาเกือบเดือนแล้ว ต้องเอาหมอนหนุนแล้วฟุบไปกับโต๊ะแต่ก็ยังนอนหลับได้แค่ 1-2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจนัก ฟิล์ม x-ray แสดงให้เห็นว่าก้อนของน้องเค้าใหญ่มาก ที่อกด้านขวามีท่อระบายของเหลวในช่องปอดต่ออยู่ใกล้ๆกับอุปกรณ์ระงับความปวดของวิสัญญีแพทย์ (หมอดมยา)

“ขอร้องล่ะครับ....ผมยอมทนเจ็บ..ทนเหนื่อย....ยอมทุกอย่างในชีวิต ได้โปรดเอาผมออกไปจากที่นี่ที....เรื่องเจ็บ เรื่องเหนื่อยผมทนได้ แต่ผมไม่อยากอยู่ที่นี่...”  นัทพูดเสียงสั่นเครือ น้ำตาไหลอาบแก้มมากกว่าเดิม สาเหตุที่เขาพูดเช่นนี้เนื่องด้วยว่าหลังจากที่ขึ้นมานอนในหอผู้ป่วยได้ไม่นาน คนไข้ที่อยู่เตียงตรงข้ามก็เสียชีวิต ผมไม่ทราบรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดในคืนนั้นแต่เข้าใจว่าน่าจะมีการช่วยกู้ชีพหลายๆอย่างทั้งการกระตุ้นหัวใจ ใส่ท่อช่วยหายใจหรืออื่นๆ ซึ่งกับผู้ใหญ่เองก็ยังเป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างสะเทือนจิตใจ แต่สำหรับเด็กอายุ 15 ปี ที่ต้องมาเจอเหตุการณ์นี้ต่อหน้า ผมนึกไม่ออกเลยว่าเขารู้สึกยังไง

หลังจากเกิดเหตุ นัทก็ไม่คุย ไม่สบตากับคนอื่น กรีดร้อง ร้องไห้ฟูมฟาย ร้องจนเหนื่อยแล้วก็พัก พอหายหอบก็ทั้งร้องทั้งกรี๊ดจนหอบเหนื่อยอีกรอบจนแพทย์เจ้าของไข้ต้องย้ายนัทไปอีกฝั่งของตึกและปิดม่านกั้นตลอดเวลาเพื่อไม่ให้นัทต้องเจอความวุ่นวายและความตายในหออายุรกรรม แต่ทว่าม่านกั้นก็ไม่ช่วยให้เขาหยุดกรีดร้องและครุ่นคิดถึงความตายที่อยู่รอบๆตัว ความทุกข์ของเขาแพร่ไปกับทุกคน ทั้งพ่อแม่ ญาติ แพทย์ผู้ดูแล พยาบาล หรือแม้กระทั่งตัวผมเอง

ความเจ็บปวดหลายของเขานั้นมีหลายอย่าง

เขาปวดและหอบเหนื่อยจากก้อนขนาดใหญ่ในอก

เขาเจ็บและตกใจจากเหตุการณ์ที่เห็นคนตายต่อหน้า

เขาทรมานเพราะชีวิตของเขาหายไป ชีวิตของวัยรุ่นคนหนึ่งที่โลกทั้งโลกหมุนรอบเพื่อน บ้าน และโรงเรียน วันนี้เขาต้องมานอนในโรงพยาบาล ไกลจากบ้าน จากเพื่อน และครอบครัว เขาพร่ำบอกแม่เสมอว่าอยากกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม อยากกลับบ้าน กลับไปหาเพื่อนๆ กลับไปเรียน หากทำไม่ได้ ก็ขอตายเสียดีกว่า

สิ่งที่เราสามารถทำให้เขาได้ในวันแรกนั้นมีแค่ไม่กี่อย่าง ทางทีมเริ่มปรับยาเพื่อลดอาการหอบเหนื่อยจากตัวโรค และติดต่อย้ายนัทไปยังแผนกเด็กทันที นับว่าโชคดีที่ทางฝั่งอายุรกรรมไม่ว่าอะไรและฝั่งกุมารแพทย์ก็ยินดีที่จะรับนัทไว้

ในเบื้องต้น ทีมเราช่วยเขาได้เท่านี้ แต่ว่าตัวตนและความหมายในชีวิตของเขาเล่า? มีหนทางใดบ้างที่จะช่วยเด็กคนนี้ได้?

ไม่มีหนทางเลย......

หากมีแค่ทีมเราและบุคลากรในโรงพยาบาล เราไม่มีทางปลดเปลื้องความเจ็บปวดทางจิตวิญญาณ (spiritual pain) ของเขาได้

เมื่อเห็นแล้วว่าเกินความสามารถของทีมเรา เราจึงติดต่อไปยังคนที่จะช่วยเขาได้ นั่นคือ ทางโรงเรียนและเพื่อนๆของนัท นั่นเอง

To be continued….

หมายเลขบันทึก: 576214เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2014 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2014 16:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท