เทคนิคและแนวทางสู่ความสำเร็จในการเขียนบทความวิจัยหรือบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับชาติ/นานาชาติ รวมทั้งการนำเสนอผลงานวิจัยในเวทีการประชุมระดับชาติ/นานาชาติ


  • ขั้นตอนการเตรียมบทความวิจัย (manuscript) /บทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ/นานาชาติ การนำเสนอวิจัยในเวทีการประชุมระดับชาติและนานาชาติ

1.วางแผนเตรียมการเรื่องตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วางแผนทำวิจัย และศึกษาข้อมูลวารสารที่สนใจ เป็นวารสารที่ได้รับการรับรองในระดับใด ตรงตามเกณฑ์ที่ต้องการหรือไม่ หัวข้อเรื่องที่ทำวิจัยและระเบียบวิธีวิจัยสอดคล้องกับแนวทางของวารสารที่ต้องการหรือไม่ การสมัครตีพิมพ์ในวารสารจะต้องใช้งบประมาณเท่าไร ค่าสมัครเป็นสมาชิกของวารสารเท่าไร เพื่อวางแผนของบประมาณไว้ล่วงหน้า

2.เมื่อดำเนินการวิจัยแล้วเสร็จควรเตรียมบทความเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ตามแนวทางที่วารสารที่ต้องการตีพิมพ์กำหนด ซึ่งควรปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัดเพราะมีผลต่อการพิจารณาตอบรับการตีพิมพ์

3.เขียนบทความวิจัยให้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งเรื่อง และเน้นสาระสำคัญที่โดดเด่นที่ต้องการเสนอให้ผู้อ่านทราบ โดยการเขียนบทความวิจัยหรือบทความวิชาการที่ถูกต้อง จะต้องครอบคลุมสาระตามกระบวนการวิจัย โดยเขียนให้กระชับ ครบถ้วน ชัดเจน และศึกษารูปแบบการเขียนตามที่แหล่งเผยแพร่กำหนด เช่น ใช้ตัวอักษร (Fonts) อะไร ขนาดเท่าใด (Point) ตั้งค่าขอบกระดาษอย่างไร ซึ่งต้นฉบับมักใช้เป็น Word (*.doc) รวมทั้งสิ้นไม่ควรเกิน 8 หน้ากระดาษ A4 ภาษาไทยใช้ตัวอักษร Angsana New ขนาด 16 Point ซึ่งการปฏิบัติตามข้อกำหนดเป็นสิ่งสำคัญและส่งผลต่อการรับพิจารณาบทความวิจัยหรือบทความวิชาการ จึงควรตรวจสอบรูปแบบรายละเอียดการเขียนของแต่ละวารสารจากหัวข้อ คำแนะนำในการเขียนบทความและการเตรียมต้นฉบับ“Guide for authors” ซึ่งส่วนประกอบของบทความวิจัยทั่วไป มีดังนี้

3.1 ชื่อเรื่อง ให้มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

3.2 ชื่อผู้วิจัย ให้ระบุชื่อเต็ม – นามสกุลเต็ม ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งระบุหลักสูตรสาขาวิชา หน่วยงานหรือสถาบันที่สังกัด หมายเลขโทรศัพท์/โทรสาร และE-mail address ที่สามารถติดต่อได้

3.3 บทคัดย่อ ให้มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ควรศึกษาว่าบทคัดย่อให้เขียนได้ทั้งหมดกี่คำ โดยทั่วไปความยาวไม่เกินอย่างละ 250 คำ หรือ 10 บรรทัด โดยมีเฉพาะสาระสำคัญ ครบถ้วน ตรงประเด็น สั้นแต่กระชับ บทคัดย่อควรประกอบด้วย

3.3.1 จุดประสงค์การวิจัย

3.3.2 ตัวแปร/ประชากร และกลุ่มตัวอย่าง

3.3.3 เครื่องมือการวิจัย

3.3.4 วิธีดำเนินการรวบรวมข้อมูล

3.3.5 วิธีการ/สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

3.3.6 ผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ (ควรแยกอีกหนึ่งย่อหน้า)

3.4 คำสำคัญ ให้ระบุคำสำคัญที่เหมาะสมสำหรับการนำไปใช้เป็นคำค้นในระบบฐานข้อมูลให้ระบุทั้งคำในภาษาไทยและภาษาอังกฤษใส่ไว้ท้ายบทคัดย่อของแต่ละภาษาอย่างละไม่เกิน 5 คำ

3.5 บทนำ(Introduction)อธิบายภูมิหลังที่มา ความสำคัญของปัญหาและเหตุผล(Background/ Significance and Rationale) ที่นำไปสู่การศึกษาวิจัย หรือการปรับปรุง พัฒนา ให้ดีขึ้นกว่าที่ เป็นอยู่จะก่อให้เกิดประโยชน์ อะไรบ้าง และผู้ได้รับประโยชน์คือใคร มีแนวคิดอย่างไร ในการแก้ปัญหา หรือพัฒนาปรับปรุงแก้ไข และแนวคิดดังกล่าวได้มาอย่างไร (อาจได้มาจากการศึกษาเอกสาร หรือจาก ประสบการณ์ตรงที่ได้จากการสังเกต การสัมภาษณ์ เป็นต้น) พร้อมระบุแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้

3.6 วัตถุประสงค์ของการวิจัย ระบุว่าต้องการทำอะไร กับใคร และจุดหมายปลายทางหรือผลลัพธ์สุดท้ายที่ผู้วิจัยต้องการคืออะไร

3.7 ขอบเขตของการวิจัย ให้ระบุทั้งขอบเขตด้านเนื้อหา และด้านประชากร/กลุ่มเป้าหมาย/ผู้ให้ข้อมูลหลัก/ตัวแปรที่ศึกษา (อย่างใดอย่างหนึ่ง)

3.8 กรอบแนวคิดในการวิจัย/สมมติฐานการวิจัย ให้เสนอกรอบแนวคิดการวิจัย หรือสมมติฐานการวิจัย

3.9 วิธีดำเนินการวิจัยและระเบียบวิธีวิจัย

3.9.1 บอกชนิดหรือประเภทการวิจัย

3.9.2 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง (รวมทั้งการได้มาของกลุ่มตัวอย่าง)

3.9.3 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย พร้อมวิธีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ

3.9.4 วิธีดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล

3.9.5 การวิเคราะห์ข้อมูล และสถิติที่ใช้ (สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณ)

3.10 ผลการวิจัย (Results) เสนอผลการวิจัยอย่างชัดเจน สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ถ้าเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่มีตัวเลขหรือตัวแปรจำนวนมาก ควรนำเสนอด้วยตารางหรือแผนภูมิ ทั้งนี้ไม่ควรเกิน 3 ตาราง โดยมีการแปลความหมายและวิเคราะห์ผลที่ค้นพบร่วมด้วย

3.11 การอภิปรายผล หรือการวิจารณ์และสรุป (Discussions) เป็นการชี้แจงผลการวิจัยว่าตรงกับวัตถุประสงค์ / สมมติฐานการวิจัย สอดคล้อง หรือขัดแย้งกับหลักทฤษฏี หรือผลการวิจัยของผู้อื่นที่มีอยู่ก่อนหรือไม่ การที่ผลการวิจัยออกมาเป็นเช่นนั้นเพราะเหตุใด

3.12 ข้อเสนอแนะ ให้ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์และให้แนวทางสำหรับการวิจัยต่อไป

3.13 บรรณานุกรม (References) ควรระบุรายการแหล่งข้อมูลในการอ้างอิงเนื้อหา (cite index) และการอ้างอิงท้ายเล่ม (reference) โดยเลือกแหล่งข้อมูลที่สำคัญซึ่งใช้อ้างอิงบ่อยจำนวน 5-10 รายการ ตามรูปแบบของแหล่งเผยแพร่นั้นๆ กำหนด

4. อ่านทบทวนตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา ระเบียบวิธีวิจัย การเขียนอ้างอิง และบรรณานุกรมตามระบบที่วารสารกำหนด หรือให้ผู้อื่นทั้งในและนอกสาขาอ่านเพื่อตรวจสอบเนื้อหาและภาษาที่ใช้ในงานวิจัยก่อนส่งรายงานการวิจัย

5. ส่งบทความไปตีพิมพ์เผยแพร่ และมีการติดตามผลจากบรรณาธิการของวารสารเป็นระยะๆ ถ้ามีการแก้ไข บรรณาธิการของวารสารจะส่งต้นฉบับกลับมา ผู้เขียนควรรีบดำเนินการแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ (reviewer) ของวารสาร และส่งตามเวลาที่วารสารกำหนด และติดตามผลการตอบกลับ ซึ่งอาจจะมีการส่งกลับมาให้แก้ไขอีกครั้ง ทั้งนี้ผู้เขียนจะต้องให้กำลังใจตนเองในการแก้ไขเพื่อให้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ได้รับการรับรอง แม้ว่าบทความจะถูกปฏิเสธ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับการตอบรับจากวารสารอื่นๆ เมื่อบทความได้รับการแก้ไขปรับปรุงแล้ว

6. วิธีการส่งบทความ ควรศึกษาวิธีการส่งบทความ เช่น ส่งข้อมูลเป็นไฟล์ทั้งหมดผ่านอีเมล์ หรือส่งในระบบออนไลน์ (Submit Online) และส่งไฟล์รูปผู้ทำวิจัย และภาพกิจกรรมจากการวิจัยพร้อมคำบรรยายใต้ภาพเป็นภาคผนวกเพิ่ม (ถ้ามี)

การเลือกแหล่งตีพิมพ์เผยแพร่

1. ควรเลือกวารสารในสาขาที่ตรงกับสาขาที่ดำเนินงานวิจัย และลองค้นหาบทความที่มีลักษณะใกล้เคียงกับบทความของนักวิจัยที่จะขอตีพิมพ์ เพื่อนำมาพิจารณาแนวทางเกี่ยวกับวิธีการเขียน รูปแบบการนำเสนอเนื้อหา รูป กราฟ ตาราง เพื่อสร้างความมั่นใจในการส่งผลงานตีพิมพ์และพิจารณาโอกาสการตอบรับของวารสาร

2. ควรเลือกวารสารที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติหรือนานาชาติ ซึ่งสามารถพิจารณาจากองค์กรหรือสถาบันที่เป็นผู้จัดทำวารสาร กรณีที่ต้องการนำบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติ สามารถศึกษารายชื่อวารสารวิชาการที่ได้รับการยอมรับจากฐานข้อมูล ICT ของ สกอ. ดังนี้

2.1 วารสารวิชาการระดับชาติ

1) การตรวจสอบรายชื่อวารสารวิชาการระดับชาติ ในฐานข้อมูล TCI สามารถค้นหาได้

จาก http://www.kmutt.ac.th/jif/public_html/search.html

2) การตรวจสอบค่า Impact Factor สามารถตรวจสอบได้ตามที่อยู่

เว็บไซต์ http://www.kmutt.ac.th/jif/Impact/impact_h.php การตรวจสอบ Ranking วารสารตามสาขาที่หน้าแรกของ TCI คลิก ที่ Thai-Journal Impact Factors

2.2 วารสารวิชาการระดับนานาชาติ

1) การตรวจสอบรายชื่อวารสารวิชาการระดับนานาชาติ

ก. การตรวจสอบชื่อวารสารวิชาการ (Journal) สายสังคมศาสตร์ (Social Science) จาก

ฐานข้อมูล SJR SCImago Journal & Country Rank เมื่อต้องการสืบค้นจากฐานข้อมูล SJR www.scimagojr.com ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฐานข้อมูล Scopus สามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์http://www.scimagojr.com/journalrank. php?area=3300 &category=3301&country=all&year=2012&order=sjr&min=0&min_type=cd

ข. การตรวจสอบวารสารวิชาการสายวิทยาศาสตร์ ในฐานข้อมูล SCOPUS

ฐานข้อมูล SCOPUS ส่วนใหญ่จะเป็นวารสารสายวิทยาศาสตร์ มีการจัดแบ่งหมวดวิชาออกเป็น 4 หมวด คือ Life Sciences, Physical Sciences, Health Sciences, and Social Sciences & Humanities ซึ่งแบ่งเป็นหมวดย่อยๆอีก 27 วิชาหลัก และมากกว่า 300 วิชารอง สำหรับสังคมศาสตร์ ตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ http://www.elsevier.com/subjects/social-sciences หน้าเว็บไซต์จะระบุหัวข้อ subject ที่มีหลายหมวดวิชา สามารถเลือกคลิกดูตามหมวดวิชาที่ต้องการได้ เช่น Arts and Humanities และ Social Science เข้าไปที่เว็บไซต์ http://www.elsevier.com/journals/subjects/social-sciences/ title/s เมื่อเข้าไปในหมวดวิชาแล้วจะพบรายชื่อหนังสือและวารสารวิชาการด้านสังคมศาสตร์ เรียงตามลำดับตัวอักษร A –Z

2) ควรเลือกวารสารที่มีค่า Impact Factor สูง

การพิจารณาคุณภาพของวารสาร สามารถพิจารณาได้จากดัชนีอ้างอิงของวารสารว่าอยู่ในฐานข้อมูลใด ซึ่งฐานข้อมูลซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ ฐานข้อมูลที่มีการคิดค่าดัชนีอ้างอิง (Impact Factor) หรือ Journal Impact Factor (JIF) ค่า Impact Factor คือ ดัชนีผลกระทบการอ้างอิงวารสาร วัดจากจำนวนครั้งโดยเฉลี่ยที่บทความของวารสารวิชาการนั้นได้รับการอ้างอิงในแต่ละปี ข้อมูลที่เป็นของคนไทยคือ ดัชนีอ้างอิง Thailand Citation Index (TCI) ซึ่งดูแลโดยศูนย์อ้างอิงดัชนีวารสารไทย สำหรับฐานข้อมูลของต่างประเทศ ได้แก่ ดัชนีอ้างอิง SCImago ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูล Scopus ของบริษัท Elsevier และต้นตำหรับคือดัชนีอ้างอิง ISI ซึ่งเป็นของบริษัทใหญ่ผู้ให้บริการด้านข้อมูล คือ Thomson Reuters การตรวจสอบค่า Impact Factor ของวารสารวิชาการระดับนานาชาติ สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ http://www.uk.sagepub.com/isiranking/default.sp

  • การเตรียมนำเสนอผลงานวิจัยด้วยปากเปล่า (Oral Presentation)การนำเสนอผลงานวิจัยด้วยโปสเตอร์(Poster Presentation) 1. วางแผนเตรียมการเรื่องการจัดทำโปสเตอร์ไว้ล่วงหน้า และศึกษาระเบียบค่าจัดทำโปสเตอร์ตั้งแต่วางแผนทำวิจัย เพื่อจัดเตรียมงบประมาณในการทำโปสเตอร์ไว้ล่วงหน้าก่อนเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับทุนสนับสนุนการวิจัย 2. ค้นหาเวทีการจัดประชุมวิชาการเช่นเดียวกับการนำเสนอแบบปากเปล่า 3. เมื่อได้รับการตอบรับแล้ว ควรศึกษารายละเอียดของโปสเตอร์เกี่ยวกับขนาดของโปสเตอร์ กว้าง x ยาว เท่าไร ติดตั้งในแนวตั้งหรือแนวนอน ใช้ติดตั้งบนพื้นที่แบบใด รวมทั้งชนิดของวัสดุในการติด เช่น เจาะมุมใส่ห่วง หรือติดด้วยเทปกาว หรืออุปกรณ์แขวน 4. ออกแบบโปสเตอร์ ให้ครอบคลุมเนื้อหาการวิจัยที่สำคัญ เหมาะสมกับขนาดของโปสเตอร์ เพื่อมิให้ตัวอักษรเล็กเกินไป เลือกใช้สีที่เหมาะสมดึงดูดความสนใจ อ่านได้ชัดเจนในระยะ 1 เมตร ใช้ภาษาที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย มีการนำเสนอด้วยรูปภาพ กราฟ หรือตาราง โดยเลือกเฉพาะข้อมูลที่สำคัญ และโดดเด่น 5. เลือกใช้วัสดุในการทำโปสเตอร์ที่เหมาะสม สวยงาม คงทน ไม่มันวาวหรือมีแสงสะท้อน สามารถพกพาในระหว่างการเดินทางได้สะดวกไม่ชำรุดเสียหายง่าย 6. วางแผนเรื่องการอธิบายให้เข้าใจง่ายเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะการนำเสนอในต่างประเทศควรเตรียมเรื่องภาษาที่ใช้ในการสื่อสารให้เข้าใจง่ายชัดเจน และเตรียมตอบคำถาม โดยทดลองให้ผู้อื่นช่วยอ่านและตั้งคำถามเพื่อเป็นการเตรียมหาคำตอบล่วงหน้า ลดอาการตื่นเต้น 7. ศึกษาเรื่องเวลา และสถานที่ ที่ผู้จัดการประชุมกำหนดให้ติดตั้งโปสเตอร์ล่วงหน้า

นักวิจัยที่มีผลงานวิจัยที่ทำแล้วเสร็จควรแสวงหาเวทีในการนำเสนอผลงานทั้งในระดับชาติและนานาชาติโดยมีขั้นตอนการเตรียมความพร้อม ดังนี้

1.1 ค้นหาเวทีการประชุมวิชาการที่จะนำเสนอผลงานวิจัยให้สอดคล้องกับเรื่องที่ทำวิจัย ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เช่น จากจดหมายประชาสัมพันธ์ การประชาสัมพันธ์ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์

1.2 สมัครลงทะเบียนไปนำเสนอผลงาน โดยระบุวิธีการนำเสนอด้วยปากเปล่า โดยศึกษาวิธีการลงทะเบียนให้ละเอียด เช่น ลงทะเบียนด้วยจดหมายราชการ โทรสาร ทาง e-mail การจ่ายค่าลงทะเบียน และต้องการให้ส่งเอกสารประกอบการสมัครอะไรบ้าง การนำเสนอระดับนานาชาติสามารถศึกษาข้อมูลได้จาก Call for Abstract โดยอ่านวิธีการและข้อกำหนดในการกรอกข้อมูลให้เข้าใจและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น การใช้คำขึ้นต้นด้วยอักษรตัวใหญ่ เป็นต้น เนื่องจากมีผลต่อการรับลงทะเบียน

1.3 ติดตามผลการตอบรับให้ไปนำเสนอจากผู้จัดประชุม ซึ่งส่วนใหญ่จะตอบกลับทางอีเมล์ ระหว่างรอผลการตอบรับควรเตรียมเนื้อหาการนำเสนอไปพร้อมกัน

1.4 เมื่อได้รับการตอบรับแล้ว ควรศึกษารายละเอียดของวิธีการนำเสนอให้เข้าใจ โดยผู้จัดจะแจ้งวันเวลา สถานที่ สื่อ และขั้นตอนการนำเสนอโดยทั่วไปจะกำหนดให้เรื่องละไม่เกิน 15 นาที ช่วงเวลาการนำสื่อลงเครื่องคอมพิวเตอร์ในเวลาที่กำหนด

1.5 ออกแบบและผลิตสื่อที่จะใช้ประกอบการนำเสนอ โดยกำหนดหัวข้อเรื่อง เนื้อหา รูปภาพ กราฟ หรือ ตาราง เฉพาะข้อมูลที่สำคัญ และพิจารณาความเหมาะสมในเรื่อง จำนวนสไลด์ ขนาดและสีตัวอักษร สีพื้นสไลด์ที่เหมาะสม ดึงดูดตามความสนใจ อ่านง่ายชัดเจน สบายตา มีใจความสำคัญที่ต้องการจะนำเสนอ โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับเวลาและกลุ่มเป้าหมาย

1.6 เตรียมตัวในการนำเสนอ โดยฝึกซ้อมการนำเสนอและใช้สื่อให้สอดคล้องกับกำหนดเวลา

1.7 ศึกษาสถานที่จัดประชุม และเส้นทางการเดินทางล่วงหน้า โดยเผื่อเวลาในการเตรียมตัวและลงข้อมูลในคอมพิวเตอร์ได้ทันกำหนดเวลา

หมายเลขบันทึก: 592013เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2015 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2015 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

เทคนิคและแนวทางสู่ความสำเร็จในการเขียนบทความวิจัยหรือบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับชาติ/นานาชาติ รวมทั้งการนำเสนอผลงานวิจัยในเวทีการประชุมระดับชาติ/นานาชาติ

  1. วางแผนการจัดทำวิจัยและการผลิตตำราของตนเองล่วงหน้าให้ได้ตามเป้าหมายของการวิจัยและการผลิตผลงานวิชาการ
  2. กำหนดหัวข้อหรือประเด็นในการทำวิจัยของตนเองให้สอดคล้องกับ นโยบาย สภาพปัญหาสังคม ปัญหา สุขภาพที่สำคัญ และความเชี่ยวชาญของตนเอง
  3. ศึกษาระบบและกลไกในการส่งเสริมการตีพิมพ์ เช่น วารสารที่จะตีพิมพ์ ผู้ช่วยประสานงานกับวารสารต่าง ๆ และจัดหาแหล่งเผยแพร่
  4. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำวิจัยหรือการผลิตผลงานวิชาการเป็นที่ปรึกษาแก่อาจารย์ผู้ที่สนใจที่ทีมวิจัยแต่งตั้ง หรือตามความสามารถของอาจารย์ในวิทยาลัย
  5. ปรึกษางานวิจัย หรือพี่เลี้ยง ที่เป็นกัลยาณมิตร เพื่อสร้างความมั่นใจในการทำวิจัย ผลิตผลงานวิชาการหรือตีพิมพ์เผยแพร่แก่ตนเอง
  6. เมื่อได้รับค่าตอบแทนหรือแรงจูงใจจากการตีพิมพ์นำไปซื้อของหรือสิ่งที่ตนเองอยากได้ หรือฉลองกับครอบครัวโดยบอกว่าเป็นที่ได้มาจากการตีพิมพ์ผลงานให้ครอบครัวได้ชื่นชมและภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุน
  7. เข้าร่วมโครงการวิชาการเพื่อฟื้นฟูศักยภาพของของตนเองในการทำวิจัย เช่น การออกแบบการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล การขอจริยธรรมการวิจัย หรือสถิติที่ใช้ในการวิจัย เพื่อให้ตนเองมีศักยภาพและความมั่นใจในการทำวิจัย
  8. เข้าร่วมโครงการที่เสริมสร้างศักยภาพในการตีพิมพ์เผยแพร่ เช่น เทคนิคการเขียนเพื่อให้ได้รับการตีพิมพ์ การเลือกวารสารในการตีพิมพ์ ตลอดจน การใช้โปรแกรมช่วยในการจัดการเอกสารอ้างอิง เช่น โปรแกรม endnote

เทคนิคในการเขียนบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับชาติ/นานาชาติสามารถแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนหลัก ๆคือ ขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนการเลือกวาสารเพื่อตีพิมพ์ และขั้นตอนที่ 2 การเตรียมต้นฉบับหรือการเขียนบทความนั่นเอง ซึ่งในที่นี้ขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในขั้นตอนการเลือกวารสารเพื่อการตีพิมพ์ โดยพิจารณาเลือกวารสารที่มีขอบข่ายและวัตถุประสงค์ที่ตรงกับบทความของเรา ซึ่งโดยปกติจะปรากกฎอยู่ด้านหน้าและหลังวารสารแต่ละฉบับ หรืออาจตรวจสอบได้จากเว็บไซด์ของวารสารฉบับดังกล่าว ส่วนคุณภาพของวารสารพิจารณาจากค่า impact factor ซึงเป็นตัวดัชนีที่วัดคุณภาพวารสาร ซึ่งถ้าเป็นนักวิจัยหน้าใหม่อาจพิจารณาวารสารที่มีคุณภาพรองลงมาหรือคุณภาพไม่สูงนักก่อนเนื่องจากวารสารที่มีคุณภาพสูงโอกาสในการตอบรับย่อมยากและใช้เวลายาวนานกว่า เมื่อเลือกวารสารได้แล้ว ให้หาข้อมูลเกี่ยวกับวารสารนั้น โดยดูจาก คำแนะนำสำหรับผู้เขียน ซึ่งจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับว่าจะเขียนบทความนั้นอย่างไรถ้าต้องการจะตีพิมพ์ในวารสารฉบับดังกล่าว เช่นรูปแบบการอ้างอิงใช้ระบบใดเป็นต้น ดังนั้นนักวิจัยหน้าใหม่ไม่ควรเสียใจเมื่อไม่ได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์เมื่อส่งบทความไปครั้งแรก

ถอดบทเรียน การนำเสนองานวิจัยแบบปากเปล่า (Oral presentation) และแบบโปสเตอร์ (Poster presentation)ถอดบทเรียนการนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการทั้งในและต่างประเทศ.doc

ถอดบทเรียน : การนำเสนองานวิจัยแบบปากเปล่า และแบบโปสเตอร์

ดร.พอเพ็ญ ไกรนรา ผู้ถอดบทเรียน*

การผลิตผลงานวิจัยในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการเผยแพร่และการนำไปใช้ประโยชน์เป็นสำคัญ การสร้างองค์ความรู้จากกระบวนการวิจัยและเผยแพร่ไปสู่การใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะโดยการตีพิมพ์เผยแพร่ การนำเสนอแบบปากเปล่า (Oral presentation) หรือ การนำเสนอแบบโปสเตอร์ (Poster presentation) จึงเป็นเหมือนการวัดความสำเร็จของการวิจัยในแต่ละเรื่อง

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการนำเสนองานวิจัย และจากประสบการณ์การนำเสนอการวิจัยในรูปแบบต่างๆ ทั้งภายในประเทศ โดยการนำเสนอแบบปากเปล่า และการนำเสนอแบบโปสเตอร์ในการประชุมนานาชาติ รวมทั้งการนำเสนอแบบปากเปล่าในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หลากหลายพอสมควร ประสบการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้หลากหลายแง่มุม รวมทั้งจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนคณาจารย์ รวมทั้งการชี้แนะของอาจารย์วิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการประชุมที่วิทยาลัยจัดเพื่อกระตุ้นให้อาจารย์เกิดความเข้าใจ และตื่นตัวต่อการเผยแพร่งานวิจัย ส่งผลให้ได้เรียนรู้มากขึ้น

ขั้นตอนการเผยแพร่งานวิจัย ไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้าย แต่ควรเริ่มตั้งแต่คิดหัวข้อวิจัยและนำเสนอโครงร่างการวิจัยเพื่อขอทุน ซึ่งควรมองหาเวทีเพื่อการนำเสนอทั้งการตีพิมพ์ลงในวารสาร หรือการประชุมวิชาการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ที่สอดคล้องกับประเด็นวิจัย (Theme) และวางแผนการดำเนินการวิจัยให้เสร็จสิ้นในเวลาที่สอดคล้องกับการประชุมซึ่งส่วนใหญ่จะประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าเป็นปี

เมื่อดำเนินการวิจัยเสร็จสิ้น อาจไม่จำเป็นต้องรอวิจัยฉบับสมบูรณ์ 5 บทแล้วเสร็จ ผู้วิจัยสามารถสกัดองค์ความรู้เขียนเป็นบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ไปได้พร้อมๆ กัน เนื่องจากขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาในการเขียนและการแปลรวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของภาษาเป็นเวลานานพอสมควร

การเลือกวารสาร หรือเวทีประชุมวิชาการเพื่อการเผยแพร่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาให้ชัดเจนว่างานวิจัยที่ส่งไปสอดคล้องกับหัวข้อที่การประชุมหรือวารสารนั้นๆ ต้องการ เพราะแม้ว่าจะเป็นวิจัยที่ดีเพียงใด ถ้าไม่ตรงกับหัวข้อการประชุมก็ไม่มีโอกาสได้รับการคัดเลือก

หลังได้รับการตอบรับจากผู้จัดประชุม อาจต้องมีการแก้ไขให้สมบูรณ์ และวางแผนการนำเสนอ ไม่ว่าจะนำเสนอด้วยปากเปล่า (Oral presentation) หรือ การนำเสนอแบบโปสเตอร์ (Poster presentation) สำหรับการนำเสนอด้วยปากเปล่า ผู้วิจัยจำเป็นต้องทราบระยะเวลาที่ได้รับจัดสรรให้นำเสนอ เช่น 12 นาที 15 นาที ซึ่งส่วนใหญ่การประชุมใหญ่ๆ ไม่ค่อยให้เวลามากนัก ดังนั้นการวางแผนการจัดทำสื่อ เช่น Power point ให้สอดคล้องกับเวลาที่กำหนด จึงต้องเคร่งครัดกับเรื่องเวลามาก นอกจากนั้นการออกแบบสื่อ ควรมีขนาดอักษร สีและพื้นหลังชัดเจน ใช้เฉพาะ Keyword หรือวลีที่สำคัญ ไม่ควรเขียนเป็นประโยคยาวๆ แต่ต้องครอบคลุมหัวข้อที่กำหนดให้

สำหรับการนำเสนอแบบโปสเตอร์ สิ่งที่จำเป็นต้องศึกษาให้ชัดเจนคือหัวข้อและขนาดของโปสเตอร์ที่ให้จัดเตรียม ต้องถูกต้อง จากประสบการณ์ของผู้วิจัยซึ่งเตรียมไปผิดขนาดเนื่องจากไม่ได้รับข้อมูลการประสานงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงขนาด ทำให้เกิดปัญหาความยุ่งยากมากในการติดตั้งเนื่องจากผู้จัดจะเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ตามที่แจ้งไว้เท่านั้น สำหรับเนื้อหาในโปสเตอร์และการเลือกร้านในการจัดทำก็มีความสำคัญ เนื่องจากประสบการณ์ ความเป็นมืออาชีพต่างกัน ความชัดเจน และการออกแบบจัดวางของร้านช่วยให้ผลงานของเราออกมาสวยงาม ดูดีได้มาก หลีกเลี่ยงการใส่ตัวอักษรมากเกินไป ควรสลับด้วยกราฟ หรือรูปภาพจะน่าสนใจกว่า และควรจัดวางเป็นบล็อกให้สวยงาม ไม่ควรเขียนเนื้อหายาวต่อเนื่องแบบเอกสารปกติ ซึ่งจากประสบการณ์การไปร่วมนำเสนอโปสเตอร์จะสังเกตได้ว่า ลักษณะโปสเตอร์ที่มีตัวอักษรมากๆ ไม่วางบล็อกให้เหมาะสม จะไม่น่าอ่าน และดูไม่เป็นมืออาชีพเท่าที่ควร การไปสังเกตโปสเตอร์ที่ร่วมนำเสนอในเวทีเดียวกันจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย ซึ่งจะทำให้เราได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทางอ้อมได้เป็นอย่างดี ช่วยให้การนำเสนอครั้งต่อไปของเราเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง

สำหรับรูปแบบการเผยแพร่บทความวิจัย การเผยแพร่ผลงานวิจัยตามสากลนิยมสามารถทำได้ 2 รูปแบบ ดังนี้คือ 1. การเผยแพร่ในที่ประชุมวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ (Conference) ซึ่งมักเป็นการนำผลงานวิจัยที่เพิ่งทำเสร็จมาเขียนเป็นบทความแล้วส่งให้บรรณาธิการของที่ประชุมวิชาการพิจารณา เพื่อการประเมินคุณค่าและความถูกต้อง เมื่ออนุมัติผ่านบทความก็จะได้รับการตีพิมพ์รวมเล่มในเอกสารประกอบการประชุมวิชาการ (Proceedings) ซึ่งในการประชุมผู้วิจัยจะต้องมีหน้าที่นำเสนอบทความของตนเอง โดยการนำเสนออาจจะอยู่ในรูปโปสเตอร์หรือแบบปากเปล่า ข้อดีของการเผยแพร่ในรูปแบบนี้คือ ผลงานวิจัยจะได้รับการเผยแพร่อย่างรวดเร็ว ที่ประชุมวิชาการเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิจัยท่านอื่น ในสาขาเดียวกัน 2. การเผยแพร่งานวารสารวิชาการ ช่องทางการเผยแพร่ในรูปแบบนี้จัดได้ว่าเป็นทางการและได้รับการยอมรับมากที่สุดในวงการวิชาการโดยทั่วไป ปัจจุบันวารสารส่วนใหญ่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเองและผู้เขียนสามารถลงทะเบียนเข้าเป็นผู้ใช้งานและทำการส่งเอกสารต้นฉบับเพื่อตีพิมพ์ รวมไปถึงการติดตามผลทางออนไลน์ได้เลย

เทคนิคการเขียนบทความวจัยเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่และการนำเสนอ

เนือหาของบทความวิจัยที่ส่งตีพิมพ์

1. เป็นชื่อเรื่องเดียวกับผลงานวิจัย

2. นําเสนอผลที่ได้จากการศึกษาตามวัตถุประสงค์ หรือสมมติฐาน

3. เนือหาเข้าใจง่ายและมีความชัดเจน

ขั้นตอนการเตรียมบทความวิจัย

1. วางแผนจะตีพิมพ์หรือนําเสนอแบบบรรยายระดับชาติ หรือนานาชาติในประเทศหรือต่างประเทศ ถ้าลงในวารสานต่างประเทศให้พิจารณาที่ impact factor Journal ก่อน

2. แสวงหาแหล่งข้อมูลของวารสาร หรือแหล่งข้อมูลของการประชุมนานาชาติ ว่าที่ใดมีการจัดประชุมวิชาการ หรือให้ส่งบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์

3. เมื่อได้กําหนดการแล้วตัดสินใจว่าจะส่งที่ใด ก็จัดทำตามเกณฑ์ที่หน่วยงานหรือวารสานนั้นกำหนด

4. ทบทวนเนือหาบทความวิจัยตรงกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่

5. สงบทความไปยังหน่วยงาน


การเผยแพร่งานวิจัยเป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่น เริ่มตั้งแต่การออกแบบการวิจัยควรมีวิธีการวิจัยที่เชื่อถือได้ ผ่านผู้ทรงที่มีความเชี่ยวชาญ มีการวิเคราะห์ที่ดี ควรเผยแพร่ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มได้นำไปใช้ได้ ในวิทยาลัยของเราควรมีการสกรีนว่าเรื่องใดออกแบบดีมีประโยชน์กว้างขวางก็ควรคัดไปเผยแพร่ในวารสารที่ดังๆ วิทยาลัยก็ได้แต้มสูงด้วย ควรส่งเสริมการพัฒนาให้อาจารย์ทำวิจัยที่ซับซ้อยหรือยากขึ้น ใช้สถิติหลากหลาย เพื่อให้เชี่ยวชาญด้านวิจัยมากขึ้นเรื่อยๆ

การเขียนบทความวิจัยและการน าเสนอผลการวิจัยระดับชาติหรือนานาชาติ* ศาสตราจารย์ ดร. ชุติมา สัจจานันท์**

การวิจัยเป็นกิจกรรมที่มีการลงทุนสูง ทั้งการใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ เวลาของบุคคล ตลอดจนทรัพยากรการบริหารต่างๆโดยเฉพาะงบประมาณ เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ เป้าหมายของการวิจัยคือการสร้างสรรค์สั่งสมความรู้และการน าไปใช้ประโยชน์การวิจัยจะบรรลุ วัตถุประสงค์และเป้าหมายอำนวยประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์จำเป็นต้องมีการเผยแพร่ผลการวิจัย อย่างเป็นระบบ เพื่อเชื่อมโยงและเกื้อกูลให้การวิจัยได้รับการนำไปใช้ประโยชน์ สนับสนุนการ พัฒนาบุคคล องค์กร วิชาชีพ และสังคม 1. รูปแบบการเผยแพร่งานวิจัย การเผยแพร่ผลการวิจัย เป็นข้อกำหนดสำคัญประการหนึ่งของแหล่งทุนหรือ สถาบันการศึกษา ในการขอรับการพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการทุกระดับ ทั้งระดับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์และศาสตราจารย์ ก.พ.อ. (2551) กำหนดให้นำเสนอ ผลงานวิจัยซึ่งมีคุณภาพดีและได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ตามเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. ทั ้งนี ้ไม่นับผลงานวิจัย ที่ทำเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญาหรือประกาศนียบัตร คำนิยาม รูปแบบและลักษณะการเผยแพร่งานวิจัยตามเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. (2551) กำหนดมีดังนี้
งานวิจัย หมายถึงผลงานทางวิชาการที่เป็นงานศึกษาหรือค้นคว้าอย่างมีระบบด้วย วิธีวิทยาการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้นๆ และมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเพื่อให้ ได้มาซึ่งข้อมูล คำตอบและข้อสรุปรวมที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการ หรือเอื้อ ต่อการนำวิชาการนั้นไประยุกต์ รูปแบบงานวิจัยอาจจัดได้เป็นสองรูปแบบ ดังนี้
1. รายงานวิจัย ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์และชัดเจนตลอดทั้งกระบวนการวิจัย (research process) อาทิการกำหนดประเด็นปัญหา วัตถุประสงค์ การทำ วรรณกรรมปริทัศน์ สมมติฐาน การเก็บรวบรวมข้อมูล การพิสูจน์สมมติฐาน การวิเคราะห์ข้อมูล การประมวลสรุปผลและให้ข้อเสนอแนะ การอ้างอิงและอื่นๆ
2. บทความวิจัย ที่ประมวลสรุปกระบวนการวิจัยในผลการวิจัยนั้น ให้มีความ กระชับและสั้น สำหรับการนำเสนอในการประชุมทางวิชาการ หรือในวารสาร ทางวิชาการ การเผยแพร่งานวิจัย เผยแพร่ในลักษณะใด ลักษณะหนึ่ง ดังนี้
- ตีพิมพ์เผยแพร่ในรูปของบทความวิจัยในวารสารทางวิชาการ
- ตีพิมพ์ในหนังสือรวมงานวิจัยระดับนานาชาติซึ่งเป็นงานที่ได้รับเชิญให้เขียน และ/หรือ มีกองบรรณาธิการตรวจสอบคุณภาพ
- นำเสนอในรูปเอกสารวิชาการต่อที่ประชุมทางวิชาการซึ่งเป็นที่ยอมรับของ นักวิชาการในสาขานั้นๆ โดยมีการนำไปรวมเล่มเผยแพร่ในรูปหนังสือรวม เอกสารวิชาการจากการประชุมครั้งนั้น (proceedings)
- ในกรณีที่งานวิจัยฉบับสมบูรณ์มีความยาวขนาดเล่มหนังสือ จะต้องผ่านการ ประเมินคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิก่อนนำไปเผยแพร่ยังสถาบันทางวิชาการใน สาขาที่เกี่ยวข้อง การเผยแพร่งานวิจัยสามารถทำได้ในลักษณะที่หลากหลาย แตกต่างกันไปตาม กลุ่มเป้าหมายและสื่อหรือช่องทางการสื่อสาร แต่ลักษณะการเผยแพร่ผลการวิจัยที่ได้รับความสำคัญและถือว่ามีผลกระทบในแวดวงวิชาการมากคือการเขียน ได้แก่ การเขียนบทความ วิจัย เอกสารทางวิชาการ การพูดโดยการนำเสนอต่อที่ประชุมในรูปแบบ การบรรยายอภิปราย

กำลังผลิตคะ คาดว่าจะสำเร็จในไม่ช้า

ในการทำงานวิจัยใด ๆ ก็ตามผู้วิจัยหรือนักวิจัยนับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เพราะงานวิจัยจะสำเร็จสมความมุ่งหมายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับนักวิจัยเป็นสำคัญ ดังนั้นนักวิจัยจึงต้องมีคุณลักษณะที่จำเป็นบางประการดังต่อไปนี้

1. มีความรู้พื้นฐานในสาขาวิชาที่ทำการวิจัยเป็นอย่างดี นับเป็นความจำเป็นมากที่นักวิจัยจะต้องมีความรู้เป็นอย่างดีในสาขาวิชาที่ตนทำการวิจัยอยู่เพื่อจะได้เลือกใช้เทคนิค วิธีการและเครื่องมือให้เหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะของงานวิจัยนั้น และสามารถค้นหาหรือเลือกใช้ความรู้จากงานวิจัยที่แล้วมาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้การที่นักวิจัยมีความรู้ดีก็จะสามารถสรุปผลของข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ฉะนั้นนักวิจัยจึงต้องค้นคว้าติดตามอ่านผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อจะได้ศึกษาความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคนิคใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
2. มีความรอบรู้ในสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่กำลังทำอยู่ นักวิจัยจ้ะองมีความรู้ในวิชาอื่นด้วย เพราะในการวิจัยนั้นอาจจะพาดพิงหรือเกี่ยวข้องกับวิชาต่าง ๆ อยู่บ้าง เนื่องจากขอบเขตของการวิจัยไม่สามารถจะแยกออกไปได้อย่างชัดเจนเหมือนวิชาเรียนในห้องเรียน เช่น การศึกษาเรื่องการคายน้ำของพืช ก็ต้องอาศัยความรู้ทางชีววิทยาและเคมี เป็นต้น ฉะนั้นนักวิจัยจึงต้องศึกษาและขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งอาจจะกลับไปทบทวนความรู้ที่เคยเรียนมาก่อนหรือไม่ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติม
3. มีความอยากรู้อยากเห็น นักวิจัยที่ดีต้องมีความกระตือรือร้นในการทำงานวิจัยเพื่อหาความรู้ใหม่ ๆ ตามที่ตนเองสนใจ แม้จะได้ผลวิจัยแล้วก็ไม่ยอมหยุดที่จะทำการวิจัยต่อไปเพื่อค้นหาให้ได้คำตอบใหม่ ๆ ออกมาอีก ในการวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบนั้นอาจจะพบปัญหาเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นการท้าทายนักวิจัยและนักวิจัยก็จะไม่ยอมหยุดยั้งที่จะค้นหาคำตอบของปัญหานั้น ๆ ให้ได้ การที่นักวิจัยมีความอยากรู้อยากเห็นอยากที่จะได้คำตอบของปัญหาต่าง ๆ นี้ ทำให้เกิดความก้าวหน้าในศาสตร์ด้านต่าง ๆ เป็นอันมาก เช่น ความอยากรู้ของเบนจามิน แฟรงคลิน ถึงสาเหตุของการเกิดฟ้าแลบฟ้าผ่า ก็ได้มีการค้นคว้าทดลองจนได้คำตอบในที่สุด
4. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ตามปกตินักวิจัยต้องใช้สมองในการคิดมากกว่าวิชาอื่น ๆ มาก เพราะในการวิจัยนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ความคิดของนักวิจัยอันจะก่อให้เกิดความรู้และเทคนิควิธีการใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ การดัดแปลงวิธีการที่มีผู้ใช้กันอยู่แล้วมาปรับปรุงใช้ก็ถือได้ว่ามีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการศึกษามาก แต่นักวิจัยจะทำได้มากหรือน้อยอย่างไรนั้นย่อมขึ้นอยู่กับภูมิหลัง ความสนใจ การอ่าน และการรวบรวมผลการวิจัยที่เคยมีคนทำมาก่อน ตลอดจนความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของแต่ละคนว่ามีมากน้อยเพียงใดด้วย
5. มีความอดทนเมื่อผจญกับอุปสรรคและความล้มเหลว นักวิจัยควรตระหนักเสมอว่าการทำงานวิจัยเป็นการผจญภัยอย่างหนึ่ง ซึ่งย่อมจะต้องมีปัญหาหรืออุปสรรคนานัปการ นักวิจัยจึงต้องมีความอดทนพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคนั้น ๆ อยู่ตลอดเวลา และหาทางแก้ไขเพื่อให้งานวิจัยนั้นดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ฉะนั้นนักวิจัยที่ดีจึงต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้ได้เสียก่อนว่าอุปสรรคในการวิจัยนั้นมีทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ ในกรณีที่การวิจัยนั้นไม่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว นักวิจัยก็ควรยอมรับเพราะการทำการวิจัยนั้นขึ้นอยู่กับส่วนประกอบหลายอย่าง ถ้าขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปก็อาจทำให้งานวิจัยหยุดชะงักหรือต้องล้มเลิกไปก็ได้ นักวิจัยก็ไม่ควรที่จะรู้สึกผิดหวังและหมดกำลังใจที่จะคิดทำการวิจัยต่อไป แต่ขอให้นึกเสมอว่าการประสบผลสำเร็จในการวิจัยนั้นขึ้นอยู่กับเวลาด้วยเหมือนกัน เพราะการวิจัยบางชนิดต้องลงทุนมากและใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล
6. มีความกล้าที่จะตัดสินใจ นักวิจัยที่ดีจะต้องมีความกล้าที่จะคิดและตัดสินใจในการทำงานวิจัยนั้น ๆ เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางของตนเองโดยมีความคิดเป็นอิสระ และมีความซื่อสัตย์ต่อหลักวิชาไม่ลำเอียงต่อผลการวิจัยที่ได้ พร้อมเสมอที่จะยอมรับฟังความคิดเห็นและคำวิพากษ์วิจารณืของคนอื่นในเรื่องที่ตัดสินใจเพื่องานวิจัยนั้น
7. มีความสามารถในการบังคับตนเอง เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าการวิจัยเป็นงานที่ต้องใช้ความวิริยะ อุตสาหะเป็นอย่างมากจึงจะสำเร็จได้ ดังนั้นนักวิจัยที่ดีจะต้องรู้จักควบคุมตนเองเพื่อให้งานการวิจัยนั้นดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและบรรจุผลในที่สุด ด้วยเหตุนี้นักวิจัยจึงควรมีความอดทน ไม่เบื่อง่าย รู้จักประมาณตน รู้กำลังและขอบเขตความสามารถของตนด้วย สิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้งานวิจัยประสบความสำเร็จได้

ต้องมีความเชี่ยวชาญในการทำวิจัย และมีที่ปรึกษาวิจัยที่เข้าใจ มีเวลาให้

ต้องมีเวลา และที่ปรึกษา จะได้ตรงประเด็น

ต้องมีความเข้าใจและเชี่ยวชาญในการวิจัย และลงมือปฏิบัติ โดยมีที่ปรึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลงาน

ต้องให้เวลากับงานวิจัยที่ผลิตขึ้นมากๆ เจ้าของผลงานต้องเข้าใจรายละเอียดงานวิจัยของตนเอง และมีจรรยาบรรณในการทำวิจัย จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผลงานของเรา และสามารถก้าวเข้าสู่เวทีระดับชาติและนานาชาติได้อย่างภาคภูมิใจครับ

การอ่านงานวิชาการบ่อยๆ และมีความเข้าใจในชิ้นงานของตัวเอง จะช่วยให้สามารถถ่ายทอดข้อมูลเพื่อการตีพิมพ์ให้ผู้อื่นสามารถอ่านง่าย อ่านเข้าใจ และจำเป็นต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิช่วยตรวจสอบให้ชิ้นงานมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

จากการอ่านบทความวิชาการ และเทคนิคการเขียนบทความวิชาการจากแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ พบว่า

เทคนิคการเขียนบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์นั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 ขั้นตอนหลักๆ คือ

1. ขั้นตอนการเลือกวารสาร

  • พิจารณาเลือกวารสารที่มีขอบข่าย และวัตถุประสงค์ที่ตรงกับบทความของเรา
  • พิจาณาคุณภาพของวารสารจากฐาน TCI
  • เมื่อเลือกวารสารได้แล้ว ให้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวารสารฉบับนั้น โดยดูจาก คำแนะสำหรับผู้เขียน ซึ่งจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเขียนบทความอย่างไรถ้าต้องการตีพิมพ์ในวารสารฉบับดังกล่าว

2. ขั้นตอนการเขียนต้นฉบับ

  • ชื่อเรืองมีความน่าสนใจ
  • เป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่มที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน
  • มีความถูกต้องแม่นยำ
  • มีการอ้างอิงที่ถูกต้องเหมาะสม
  • เริ่มเขียนบทความ หากเป็นบทความวิชาการ มี บทนำส่วนประกอบหลักๆ ดังนี้
    • ชื่อเรื่อง ผู้เขียนบทความ
    • บทคัดย่อ
    • บทนำ
    • หลักวิชาการเบื้องต้น
    • การประยุกต์หรือประโยชน์ใหม่ๆที่พบ
    • บทวิจารณ์และบทสรุป และ
    • เอกสารอ้างอิง
  • ส่วนบทความวิจัย มีส่วนประกอบหลัก ดังนี้
    • ชื่อเรื่อง ผู้เขียนบทความ
    • บทนำ ประกอบด้วยความเป็นมา วัตถุประสงค์ ขอบเขต บทความ
    • วัสดุอุปกรณ์ และวิธีดำเนินการ
    • ผลและการวิเคราะห์ผล
    • สรุปและข้อเสนอแนะ และ
    • เอกสารอ้างอิง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท