nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

​คอนเสิร์ตราชนารีสดุดี_ความไพเราะงดงามของเพลงสุนทราภรณ์


เพิ่งไปดู คอนเสิร์ต “ราชนารีสดุดี” ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จัดโดย มูลนิธิสุนทราภรณ์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และมูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท ในพระอุปถัมป์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสดุดี สิริโสภาพัณณวดี จัดเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษาสมเด็จพระเทพฯ

อิ่มใจทั้งจาก ๑๗ เพลงในช่วงครึ่งแรก ๒ ชั่วโมงเต็ม กับ ละครเพลง “ท้าวแสนปม” อีก ๑๔ เพลง ในช่วงหลัง ๑ ชั่วโมงครึ่ง สวยงามทั้งภาษาเพลงอันสละสลวย กับท่วงทำนองเพลงอันจับใจ วงดนตรีวงใหญ่ของสุนทราภรณ์และวงดนตรีไทยบรรเลงร่วมกัน

ทุกเพลงเป็นเพลงเก่าของวงสุนทราภรณ์ ยกเว้นสองเพลงแรกในช่วง “ราชนารีสดุดี” เป็นเพลงใหม่บรรเลงต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกเพื่อถวายเป็นราชสดุดีแด่สมเด็จพระเทพฯ

ครึ่งแรก ได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์จากทั้งจากล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ และในหลวงองค์ปัจจุบันมาหลายเพลง เป็นการบรรเลงแบบที่เรียกว่า “สังคีตสัมพันธ์” คือ การนำเครื่องดนตรีไทย และเครื่องดนตรีสากล มาบรรเลงร่วมกัน เป็นการผสมผสานที่ลงตัว ไพเราะ อ่อนหวาน สะท้อนวัฒนธรรมดนตรีไทยที่โดดเด่นมาก (ต้องได้ฟังกับหูจึงจะรู้ว่าไพเราะเช่นไร)

เพลงที่ไพเราะน่าประทับใจเพลงหนึ่งคือเพลง “รัก” คำร้องเป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพฯ เป็น กลอนสุภาพ ๓ บท เมื่อพระชันษาเพียง ๑๒ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงขอให้ในหลวงทรงพระราชนิพนธ์ทำนองให้ บรรเลงครั้งแรกเมื่อ ธันวาคม ๒๕๓๗ โดยวง อ.ส.วันศุกร์ จึงขออัญเชิญเนื้อเพลงมาให้เห็นพระอัจฉริยภาพทางภาษา

...............................

เพลง “รัก”

เนื้อร้อง : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

รักทะเล อันกว้าง ใหญ่ไพศาล

รักท้องฟ้า โอฬาร สีสดใส

รักท้องทุ่ง ท้องนา ดังดวงใจ

รักป่าเขา ลำเนาไพร แสนสุนทร

รักพฤกษา รุกขชาติ ที่ดาษป่า

รักปักษา ร้องกู่ บนสิงขร

รักอุทัย สว่าง กลางอัมพร

รักทั้งรัต- ติกร ในนภดล

รักดารา ส่องแสง สุกสว่าง

รักน้ำค้าง อย่างมณี มีโภคผล

รักทั้งหมด ทั้งสิ้น ที่ได้ยล

รักนวลนาง รักจน หมดสิ้นใจ.

...................

“น่าทึ่งมาก” ใน สองวรรคสุดท้ายที่ขมวดจบ

เชิญฟังเพลง “รัก” อันไพเราะและร้องตามได้ที่นี่ค่ะ


.............................

สุดท้ายของช่วงแรกชื่อ “อัจฉริยะ คีตศิลปินไทย” เป็นที่สุดของที่สุดแห่งความประทับใจเมื่อนักร้องรุ่นอาวุโสขึ้นเวทีร้องเพลงให้พวกเราฟัง

(จากซ้าย) ดร.สาวิตา ดิถียนต์ (ผู้เขียนบท/กำกับละคร) คุณศรวณี โพธิเทศ , คุณรวงทอง ทองลั่นทม, ท่านประธานเปิดงาน (รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมฯ) ,คุณวรนุช อารีย์ และ คุณสุปาณี พุกสมบุญ

คุณ สุปาณี พุกสมบุญ ท่านอายุ ๙๒ ปี สวมชุดราตรียาวสีม่วง มีคนจูงท่านออกมายืนหน้าเวที เสียงปรบมือยาวต้อนรับอย่างอบอุ่นและเคารพชื่นชม ท่านร้องเพลง ๒ เพลง เพลงแรก “สาลิกาชมเดือน” เสียงไพเราะ ร้องไม่มีหลุดคีย์ ไม่มีหลงไม่มีเพี้ยน เพลงแรกผู้ควบคุมวง (คุณพูลสุข สุริยพงษ์รังสี) มายืนใกล้ๆ เพื่อให้สัญญาณมือบอกจังหวะ แต่พอถึงเพลงที่สองซึ่งเป็นเพลงสนุกสนานชื่อ “ผู้ชายนะเออ” ผู้ควบคุมวงออกไปยืนไกลๆ ได้เลย แถมเพลงจบยังมีลูกเล่นกับคนดูประกาศว่า “จะร้องเพลงไปอีกนาน จนร้องไม่ไหว นี่ก็ร้องมา ๗๕ ปีแล้วนะ...” โอ๊ย...สุดยอด คุณทวด

คุณ วรนุช อารีย์ อายุ ๘๖ ปี ท่านเพิ่งผ่าตัดหัวใจเมื่อ ๓ ปีก่อน จึงไม่แข็งแรงนัก มีคนยกวอล์คเกอร์มาวางกลางเวที แล้วมีคนจูงท่านมายืนกลางวอล์คเกอร์เพื่อให้ท่านประคองตัว ร้องเพลง “นางครวญ” ได้ไพเราะน่าประทับใจเช่นกัน

ศิลปินอาวุโสรับเชิญอีก ๒ ท่าน คือคุณรวงทอง ทองลั่นทม กับ คุณศรวณี โพธิเทศ ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เหนือสิ่งอื่นใดคือ สิปิริตอันเปี่ยมล้น ของผู้อาวุโสทั้งสี่ท่านที่มาเป็นศิลปินรับเชิญให้ลูกหลานให้ชื่นชม

...............................

ช่วงสอง เป็นละครเพลงเรื่อง “ท้าวแสนปม” พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ครูเอื้อ (เอื้อ สุนทรสนาน ผู้ก่อตั้งวงสุนทราภรณ์) ได้อัญเชิญบางช่วงของพระราชนิพนธ์มาใส่ทำนองเพลง ตั้งแต่ปี ๒๕๐๐ และนำไปแสดงเป็นละครเพลงออกอากาศทางโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหมป็นละครเพลงออกอากาศทางี ๒๕๐๐ เมื่อปี ๒๕๐๑ (ละครสมัยเก่าเป็นการแสดงสดออกอากาศ – ฉันยังเด็กเกินกว่าจะได้ดูเรื่องนี้ แต่ได้ดูละครที่แสดงสดออกอากาศอยู่หลายๆ เรื่องทางช่องนี้)

คนเขียนบทและกำกับละครคือ ดร.สาวิตา ดิถียนต์ ท่านฉลาดในการเล่าเรื่องให้คนดูตามเรื่องได้ โดยให้นิสิตที่เป็นคนรุ่นใหม่มาเป็นตัวเชื่อมเรื่อง ตัวแสดงก็ใช้นักร้องรุ่นใหม่ของวงสุนทราภรณ์ เล่าเรื่องกระชับ สนุกสนาน ไพเราะด้วยเสียงเพลงกับดนตรี เพลิดเพลินสุขใจจนจบเรื่อง เอาเพลงเก่าครั้งกระโน้นมาทั้งหมด ไม่ได้แต่งเพิ่ม

ดนตรีวงใหญ่อยู่บนเวที (ต่างจากละครเวทีอื่นที่วงอยู่ข้างล่าง) ฉากและการแสดงอยู่ด้านหน้า เมื่อเริ่มเพลงและจบเพลงจะมีเสียงปรบมือกึกก้องชื่นชมจากข้างล่าง เชื่อว่าคนดูหลายๆ คนร้องคลอตามไปด้วย

เพลงสุดประทับใจของฉันคือ “สาส์นรัก” ที่พระธิดาอุษา (นางเอก) ร้อง “ตัดพ้อ” พระโอรสชินเสน (พระเอก) อยู่บนพระตำหนัก ขอยกมาไว้ในบันทึกนี้

เพลง "สาส์นรัก"

เนื้อร้อง : พระราชนิพนธ์ละครคำกลอนเรื่อง “ท้าวแสนปม”

ทำนอง : เอื้อ สุนทรสนาน

ในลักษณ์นี้ว่าน่าประหลาด

เป็นเชื้อชาตินักรบกลั่นกล้า

เหตุไฉนย้อท้อรอรา

หรือจะกล้าแต่เพียงวาที

เห็นแก้วแวววับที่จับจิต

ใยไม่คิดอาจเอื้อมให้เต็มที่

เมื่อไม่เอื้อม จะได้อย่างไรมี

อันมณี หรือจะโลดไปถึงมือ

*อันของสูง แม้ปอง ต้องจิต

ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้หรือ

มิใช่ของตลาดที่อาจซื้อ

หรือ แย่งยื้อถือได้โดยไม่ยอม

ไม่คิดสอยมัวคอยดอกไม้ร่วง

คงชวดดวงบุปผชาติสะอาดหอม

ดูแต่ภุมรินเที่ยวบินดอม

จึงได้ออมอบกลิ่นสุมาลี.

(* ร้องซ้ำอีกครั้ง จนจบ)

เพลงนี้มีนักร้องหลายท่านนำไปร้อง ฉันชอบที่คุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส่ มากที่สุด จึงขอนำมาให้ฟังและร้องตามที่นี่ค่ะ


บันทึกก่อนจบ

ดนตรี เป็นศิลปะ วัฒนธรรม และเป็นสมบัติประจำชาติ ดนตรีเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่สมควรรักษาเอาไว้ไม่ให้ขาดตอน ในหอประชุมใหญ่คนเต็ม แต่เป็นรุ่นเลยหกสิบ (ฉันกลายเป็นเด็กไปเลย) ทุกคนแต่งตัวสวยงาม ยิ้มแย้ม มีความสุข

อยากรู้จริงๆ ว่า ถ้าเด็กวัยรุ่นได้มานั่งดูคอนเสิร์ตนี้ พวกเขาจะคิดอย่างไร?? และกลับกัน ถ้าคนในหอประชุมแห่งนี้ไปนั่งดูคอนเสิร์ตสมัยนี้ จะคิดอย่างไร??

ฉันอยากให้คนไทยทุกคนได้มีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะได้ลิ้มรสดนตรีแสดงสดที่น่าตื่นตา ชอบ ไม่ชอบเป็นอีกเรื่อง ชอบแบบไหนเป็นอีกเรื่อง แต่ดนตรีเป็นอาหารใจ เป็นการผ่อนคลาย เป็นสุนทรียะ อีก ๒๐ ปีข้างหน้าแนวดนตรีอาจเปลี่ยนแปลงไปอีกแบบ แต่ผลงานของศิลปินทั้งหลายจะเป็นสมบัติของชาติที่ยืนยาวต่อไป

วันนี้ มีมหกรรมลิเก ศูนย์วัฒนธรรมตั้งเวทีให้ลิเกขึ้นแสดง มีคนนั่งดูไม่น้อย (เพราะลิเก กำลังจะสูญพันธุ์ ศูนย์วัฒนธรรมจึงต้องเอามาจัดแสดง??) หลายๆ ห้องที่ศูนย์ฯ มีเด็กๆ นุ่งโจงกระเบนสีแดงมาเรียนรำไทย ฯลฯ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยไม่เคยขาดกิจกรรมดีๆ

ทุกครั้งที่ไปดูโขน ละคร ดนตรี ที่ศูนย์ฯแห่งนี้ ฉันจะคิดเสมอว่า หากมีศูนย์แบบนี้ทุกจังหวัด ได้มีการแสดง มีกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับทุกวัยได้เข้าชมได้ในราคาไม่สูงนัก หรือชมฟรีบางโอกาส ไม่จำกัดว่าต้องเป็นดนตรีเก่าสำหรับคนแก่ แต่เด็กๆ ก็สามารถไปชมคอนเสิร์ตของพวกเขา ไปชมศิลปะ วัฒนธรรม ในท้องถิ่น ได้โดยง่าย ศิลปะ วัฒนธรรมไทย คงไม่ขาดตอน.

อาทิตย์ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 591745เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2015 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มิถุนายน 2015 12:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

เพลงที่ไพเราะ มากๆ ค่ะ ... ชอบเช่นกันค่ะ

ไปดูเหมือนกันค่ะ ไม่ได้รายละเอียดเยอะเท่านี้เลย แฮ่...

สืบสานวัฒนธรรม สดุดีพระผู้เป็นมิ่งขวัญของประชาไทย...ขอบคุณค่ะ

หวังอย่างยิ่งเช่นกันครับว่าศิลปะ วัฒนธรรมไทย จะไม่ขาดตอน......

ตามพี่ pooklook88 มาฟังเพลงและอันบันทีกพี่นุ้ยครับ ขอบคุณพี่ทั้งสองที่มีสิ่งดี ๆ มาฝากเสมอ ๆ ครับ

  • รีบอ่านเนื้อเพลงสาส์นรักแล้ว กระชุ่มกระชวยขึ้นมาพลัน(ฮา) คิดถึงแรกรักของหนุ่มสาวครับ กล้าๆกลัวๆ จะพูด จะทำ อะไรออกไป ก็กลัวเค้าไม่ชอบ กลัวเค้าไม่ถูกใจไปเสียหมด..
  • ถ้าไม่สังเกต ไม่คิด คงไม่ได้รายละเอียดต่างๆเท่านี้ ชื่นชมพี่Nuiครับ

ขอบคุณค่ะพี่ Dr. Ple เราเป็นคอเพลงรุ่นเดียวกันนะคะ

เสียดาย ไม่ได้เจอกันคะนะ คุณ pooklook88

ดิฉันห่วงแบบนั้นจริงๆ ค่ะ อ.โรจน์ rojfitness อยากให้สังคมไทยมีอะไรที่หลากหลาย

น้อง nobita เคยฟังเพลงสุนทราภรณ์มั๊ยคะ ลูกชายพี่ตอนเล็กๆ เปิดให้ฟังหัวเราะชอบใจถามว่า "เพลงอะไรของแม่" ฟังไปฟังมาบอกว่า "เพราะดี"

ว้าว...อาจารย์ ธนิตย์ สุวรรณเจริญ เข้าถึงเนื้อเพลงจริงๆ เชื่อได้เลย

พี่ชอบเพลงนี้มาตั้งแต่สาวๆ นะ

ชอบฟังเพลงสุนทราภรณ์ เพลงเพราะมากค่ะ

ขอบคุณนะคะ KRUDALA ที่แวะมาอ่าน

มีโอกาสไปดูการแสดงสดสิคะ ได้อีกบรรยากาศค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท