ค่ายศึกษาการพัฒนาหนองเลิงเปือย (๑) : จะทำอะไร?


วันที่ ๑๒ - ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๘ กำลังจะมีการจัดค่ายทุนพอเพียงที่หนองเลิงเปือย ผมตั้งชื่อเองว่า" ค่ายศึกษาการพัฒนาหนองเลิงเปือย" เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อพระราชทานของ "ศูนย์ศึกษาการพัฒนา" ซึ่งในหลวงทรวงทำเป็นตัวอย่างไว้ให้ปวงชนชาวไทยได้ไปเรียนรู้ทั้ง ๖ แห่งตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ (คลิกที่นี่) กลุ่มเป้าหมายของค่ายนี้คือนิสิตนักศึกษา "ทุนพอเพียง รุ่น ๓ - รุ่น ๔" กว่า ๓๕ คน ต้องมาเรียนรู้และอยู่ร่วมกันในพื้นที่รอบๆ หนองเลิงเปือย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ถึง ๕๓ หมู่บ้าน ๓ ตำบล ๒ อำเภอ เพื่อศึกษาปัญหาและการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย ซึ่งในหลวงทรงรับไว้ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๒

หากเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ผ่านอินเตอร์เน็ต) จะพบความหมายของคำว่า "เลิง" คือ "หนองน้ำ" เมื่อเอามาเปลี่ยนใส่ในชื่อ "หนองเลิงเปือย" จะกลายเป็น "หนองหนองเปือย" ผมตีความว่า คณะกรรมการราชบัณฑิตยสถานขณะนั้น ไม่มีคนอีสานสักคน เพราะให้ความหมายคำว่า "เลิง" เพราะผมเองเป็นคนอีสาน และรู้จักทั้ง "หนอง" และ "เลิง" ซึ่งแสดงลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน

คำว่า "เลิง" คือ คำที่คนอีสานใช้เรียกบริเวณ "ที่ลุ่ม" ที่ค่อยๆ ลาดเอียงลงจนกลายเป็นหนองน้ำหรือแอ่งน้ำซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือจะเรียกให้สั้นๆ คือ "เลิง" ก็คือบริเวณที่มีแอ่งน้ำนั่นเอง (เห็นด้วยกับความหมายในประวัติของเลิงนกทา อ่านที่นี่)

ส่วนคำว่า "เปือย" มาจากชื่อของ "ต้นเปือย" ในภาษาอีสาน ซึ่งก็คือต้นตะแบกเปลือกบาง (อ่านรายละเอียดของต้นไม้ที่นี่) ถือเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกไว้ใกล้บ้านเชื่อว่าจะช่วยแบกคานชีวิตผู้อยู่อาศัยไม่ให้ตกต่ำ บางครั้งคนโบราณเรียก "อินทนิล" บอกว่าเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องพระอินทร์ (อย่าเพิ่งเชื่อไว) ความจริงมีไม้หลายชนิดที่คล้ายกันทำให้มักเรียกสับสนปนไปมา เช่น ตะแบก เสลา อินทนิล อ่านความแตกต่างได้ที่เว็บนี้ครับ

เมื่อรวมสามคำเข้าด้วยกันจึงหมายถึง ชื่อหนองน้ำที่อยู่บริเวณที่ลุ่มซึ่งเคยมีต้นตะแบกเยอะ ชาวบ้านจึงเรียกเป็น "หนองเลิงเปือย" นั่นเอง .... (จริงแท้อย่างไร อย่าเพิ่งเชื่อไว ผมเขียนแบบสังเคราะห์เท่านั้น)

หนองเลิงเปือย

เดิมหนองเลิงเปือยเป็นหนองน้ำที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ อยู่ใกล้กับแม่น้ำลำปาว อยู่ระหว่างเขตพื้นที่อำเภอร่องคำและอำเภอกมลาไสย มีพื้นที่ ๘๘๗ ไร่ ความลึกเฉลี่ย ๓ เมตร กักเก็บน้ำได้ ๓.๕ ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ถึง ๕๓ หมู่บ้าน ๔ ตำบล ๒ อำเภอ กล่าวคือ ๑๕ หมู่บ้านของตำบลสามัคคี ๑๒ หมู่บ้านของตำบลเหล่าอ้อย ๑๓ หมู่บ้านของตำบลร่องคำ ตำบลทั้งหมดของอำเภอร่องคำ และอีก ๑๓ หมู่บ้าน ของตำบลโพนงาม ในเขตอำเภอกมลาไสย ดังรูป


พื้นทีส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ของหมู่ ๑ ตำบลโพนงาม อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ มีลักษณะเป็นที่ลุ่มมีน้ำขัง ๖ แห่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ได้แก่ หนองเลิงน้อย คอหนองเลิงน้อย หนองเลิงใหญ่ เลิงบ้านใต้ หนองปลาไหลเผือก และห้วยขี้นาค พื้นที่การเกษตรรอบหนองเลิงเปือย ประมาณ ๔๒,๙๕๘ ไร่ เป็นพื้นที่นา ๓๙,๔๐๖ ไร่ พื้นที่ทำไร่ ๒,๖๒๓ ไร่ ที่เหลือประมาณ ๙๒๙ ไร่ เพาะปลูกผัก ผลไม้ ทำประมงและปศุสัตว์

หนองเลิงเปือย มีพื้นที่รับน้ำฝน ๒๐๓ .๙๘ ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย ๑,๒๗๖ มิลลิเมตรต่อปี มีปริมาณน้ำไหลเข้าหนองเลิงเปือย ๕๗.๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จาก ๓ ทิศทาง ทิศเหนือไหลลงหนองเลิงน้อย ทิศตะวันออกไหลลงห้วยขี้นาค ส่วนทิศตะวันตกไหลหนองปลาไหลเผือก แล้วไหลลงสายเดียวตรงแม่น้ำลำปาว เมื่อฝายเก็บกักน้ำชำรุด และหนองเลิงเปือยเกิดการตื้นเขิน ถึงฤดูฝนก็จะเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตร ในตำบลโพนงาม อำเภอกมลาไสย และตำบลเหล่าอ้อย อำเภอร่องคำ เป็นประจำทุกปี



ยามถึงหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ทั้งการที่แหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ใกล้เคียงขาดการพัฒนา และพื้นที่การเกษตรบางส่วนอยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำรุนแรงขึ้น เมื่อไม่อาจทนความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นวนเวียนซ้ำซากมานานหลายปีโดยไม่เห็นหนทางคลี่คลายอื่นใดได้ จึงเป็นที่มาของการยื่นฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

แหล่งอ้างอิงในเรื่องนี้มีมากทางอินเตอร์เน็ตดังนี้ (หนังสือพิมพ์แนวหน้า, คมชัดลึก, สำนักข่าวอิศรา, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, สารคดีจากช่อง ๑๑ ฯลฯ) ผู้สนใจโปรดติดตามเถิด...

เป้าหมายของการจัดค่ายทุนพอเพียง

ก่อนจะสรุปเป้าหมายเป็นข้อๆ ว่าจะมาเข้าค่ายที่หนองเลิงเปือยทำไม จะบอกให้เข้าใจก่อนว่า ทำไม "นักเรียนทุนพอเพียง" ถึงต้องมาเข้าค่ายโครงการทุนเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งมั่นที่จะ “พัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดี และคนเก่งสู่เส้นทางความสำเร็จ ตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง“ โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑)สนับสนุนทุนเรียนปริญญาตรี ๒) บ่มเพาะปลูกฝังให้เป็นคนดีมีจิตอาสา ๓) ส่งเสริมให้กลับไปพัฒนาพื้นที่ภูมิลำเนาของตนเองเพื่อประโยชน์ของสังคมประเทศชาติ นักเรียนทุนทุกคนจะรู้จักตราสัญลักษณ์ของทุนเศรษฐกิจพอเพียงดี เพราะแต่ละองค์ประกอบมีความหมายลึกซึ้งที่บ่งบอกถึงคุณลักษณ์ที่พึงประสงค์ได้อย่างดี (คลิกอ่านที่นี่)



สรุปเป้าหมายของนักเรียนทุนพอเพียงคือสร้าง "บัณฑิตที่เป็นคนดีมีอุดมการณ์เพื่อบ้านเกิด" คำว่า "บัณฑิต" คือคนมีปัญญา มีทักษะความสามารถตามศาสตร์สาขาที่ตนเลือกเรียน คำว่า "คนดีมีจิตอาสา" คือผู้มีความสุขจากการให้และช่วยเหลือสังคม ชุมชนชาวบ้าน ส่วนคำว่าอุดมการณ์นั้นต้องเกิดจากจิตใจที่เสียสละที่เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ทั้ง ๓ ประการนี้จะเกิดมีในตัวนักเรียนทุน ก็ด้วยการปลูกฝัง บ่มเพาะ สร้างโอกาสให้พวกเขาได้ฝึกฝนปฏิบ้ติเรียนรู้ศาสตร์พระราชา แล้วได้ลงมือแก้ปัญหาช่วยเหลือชุมชนด้วยตนเอง

ตลอด ๔ ชั้นปีที่นักเรียนทุนอยู่ในระดับปริญาตรี มูลนิธิยุวสถิรคุณผู้ดูแลนักเรียนทุน จะจัดกิจกรรมค่ายนักเรียนทุนพอเพียง เพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่ถึงประสงค์ดังกล่าวข้างต้น โดยออกแบบกระบวนการผ่านการเรียนรู้หลักทรงงานหรือศาสตร์พระราชาในช่วงชั้นปี ๑-๓ ให้เข้าใจและเข้าถึง แล้วจึงนำมาทดลองปฏับิตพัฒนาปัญหาจริงในชุมชนเป้าหมายในปีสุดท้ายก่อนจะสำเร็จการศึกษา

เป้าหมายของค่ายที่ ๑ (ก่อนเข้าเรียนชั้นปี ๑) คือ การเตรียมความพร้อมก่อนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งนักเรียนต้องเตรียมทั้งภายในและภายนอก ภายในคือต้องสร้างภูมิคุ้มกันของสติ สมาธิ และความเห็นที่ถูกต้องของการดำเนินชีวิต รวมทั้งการสร้างค่านิยมร่วม (Shared value) ของนักเรียนทุน ภายนอกคือการวางแผนงานและแผนการจัดการชีวิตทั้งเรื่องเรียนเรื่องกิจกรรม และเรื่องจำเป็นที่นักเรียนทุนต้องทำ เช่น บัญชีรับ-จ่าย การเข้าร่วมค่าย หรือจดจำให้แม่น เช่น เงื่อนไขด้านการรักษาผลการเรียนของตนให้พ้น ๒.๕๐ เป็นอย่างน้อย

เป้าหมายของค่ายที่ ๒ (ปี ๑ จะขึ้นปี ๒) คือ ให้นักเรียนทุนได้เรียนรู้จากกรณีความสำเร็จของศาสตร์พระราชา โดยการศึกษากระบวนการแก้ปัญหาหรือหลักการทรงงานจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (คลิกที่นี่) และศึกษาจากความสำเร็จของชุมชนชาวบ้านที่ได้น้อมนำหลักปรัชญของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำรงชีวิต สรุปสั้นๆ คือ พานักเรียนทุนไปดูให้รู้กับตาว่าเมื่อน้อมนำมาใช้แล้วดีอย่างไรผู้คน หรือก็คือ "พาไปดูความสำเร็จ"

เป้าหมายของค่ายที่ ๓ (ปี ๒ จะขึ้นปี ๓) คือ ทำให้นักเรียนทุนได้เห็นสภาพปัญหาจริง ลงพื้นที่จริง ได้เรียนรู้ที่มาและสาเหตุของปัญหา โดยจะเลือกพื้นที่ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในที่นี้คือมูลนิธิปิดทองหลังพระ กำลังศึกษาและใช้ศาสตร์พระราชามาแก้ปัญหา กล่าวคือ นักเรียนทุนจะได้เห็นกระบวนการนำศาสตร์พระราชามาแก้ปัญหานั่นเอง

เป้าหมายของค่ายที่ ๔ (ปี ๓ จะขึ้นปี ๔) นักเรียนทุนจะถูกพาไปยังสถานที่ๆ กำลังเป็นปัญหา แล้วมอบภารกิจว่าให้ช่วยแก้ปัญหานั้นๆ ซึ่งนักเรียนทุนจะได้ทดลองใช้ศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ตนเองได้ฝึกฝน มาใช้แก้ปัญหาจริงๆ ด้วยตนเอง

ปกติจะจัดค่ายในช่วงหยุดภาคฤดูร้อนที่แต่ก่อนช่วงปิดเทอมตรงกับฤดูร้อนจริงๆ (มีนาคม - พฤษภาคม) แต่ตอนหลังตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ มีการปรับเปลี่ยนเวลามาเป็นฤดูฝน (พฤษภาคม - สิงหาคม) นี่คือเหตุผลว่าทำไมปีนี้กำหนดช่วงเวลาไว้ที่ ๑๐ - ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๘ โดยออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ณ ๒ สถานที่ คือ "หนองเลิงเปือย" (๑๒-๒๐ กรกฎาคม) และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน (อ่านที่นี่) (๒๑-๓๐ กรกฎาคม) โดยเริ่มรวมพลเตรียมพร้อมกันที่ว่าป่าเหล่ากกหุ่ง อ.มัญจาคีรีก่อน (๑๐่-๑๑)


วัตถุประสงค์ของค่ายศึกษาพัฒนาหนองเลิงเปือย

การจัดค่ายทุนพอเพียงรุ่น ๓-๔ เพื่อศึกษาการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญดังนี้

๑) เพื่อให้นักเรียนทุนพอเพียง ได้ศึกษาสภาพปัญหาและภูมิสังคมของชุมชนรอบบริเวณหนองเลิงเปือย

๒) เพื่อให้นักเรียนทุนพอเพียง ได้ศึกษากระบวนการน้อมนำศาสตร์พระราชามาแก้ปัญหาและพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย

๓) เพื่อให้นักเรียนทุนพอเพียง ได้ศึกษาผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

๔) เพื่อให้นักเรียนทุนพอเพียง ได้แสดงความสามารถในการสร้างสื่อหรือชิ้นงานเพื่อถ่ายทอดการนำศาสตร์พระราชามาพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย

๕) เพื่อปลูกฝังจิตอาสา และบ่มเพาะอุดมการณ์ในการเสียสละเพื่อส่วนรวม

เนื่องจากการจัดค่ายครั้งนี้ เป็นการจัดร่วมกันของกลุ่มเป้าหมายของค่ายที่ ๒ และค่ายที่ ๓ ตามที่เขียนไว้ข้างต้น การออกแบบกิจกรรมและกลุ่มคนที่จะมาเกี่ยวข้อง ต้องให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทั้ง ๕ ข้อนี้ด้วย ขอมากล่าวต่อในบันทึหน้าก็แล้วกันนะครับ

หมายเลขบันทึก: 591703เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2015 06:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มิถุนายน 2015 21:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ไปดูมาแล้ว ถือว่าเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะมีพื้นที่เก็บน้ำได้มาก...ไม่รู้จะถึงบ้านผมไหม ต.โคกสมบูรณ์ครับ

อาจจะขอเข้าร่วมเรียนรู้ กระบวนการในตอนเย็นๆ ค่ะ ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท