หลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๘) _ ๐๒ : ปฏิรูปรายวิชาศึกษาทั่วไป


กระบวนทัศน์

การปฏิรูปรายวิชาศึกษาทั่วไปด้วยหลักสูตรใหม่ ปี ๒๕๕๘ ไม่ใช่การกำหนด "ผลการเรียนรู้" ของหมวดรายวิชาศึกษาทั่วไปขึ้นใหม่ (ตามนิยามของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป) เพราะผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของหลักสูตรใหม่ ไม่ได้แตกต่างไปจากของหลักสูตรเก่ามากนัก แต่เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างรายวิชาใหม่ เพื่อเอื้อให้สามารถทำกิจกรรมหรือ "กระบวนการ" ที่จะนำมาสู่การปฏิรูปที่แท้จริงได้ นั่นก็คือ "การปรับวิธีเรียน ด้วยการเปลี่ยนวิธีสอน" ภายใต้ "กระบวนทัศน์ใหม่" ของอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ๓ ประการ ได้แก่ ๑) มุ่งนิสิตตัวตั้ง ๒) เรียนรู้อย่างมีพลัง ๓) ปลูกฝังอุดมการณ์ ดังสังเขป คือ...

  • มุ่งเอานิสิตเป็นตัวตั้ง คือ มุ่งเอาผลสัมฤทธิ์การเรียน (Learning Outcome) ที่เกิดขึ้นกับนิสิตเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด อาจารย์ผู้สอนทุกคนต้องเข้าใจตรงกันว่า การจัดการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไปนั้นมุ่ง "สอนคน" ให้เป็นคนที่สมบูรณ์ เป็นคนดี (สอนนิสัย) มีความรู้กว้างขวาง (สอนความรู้) และสามารถดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างดี (สอนทักษะชีวิต) .... วิธีการดำเนินการในข้อนี้คือต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการประเมิน จากการประเมินแบบ "ตัดสินได้-ตก" มาเป็น "การประเมินเพื่อมอบอำนาจ"
  • เรียนอย่างมีพลัง คือ ทั้งนิสิตและอาจารย์ควรต้อง "เรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกที่ได้เรียน" .... วิธีการคือสร้างสิ่งแวดล้อมและกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้เกิดการเรียนรู้แบบตื่นตัว (Active Learning) ซึ่งอาจารย์ต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนหรือนำรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับธรรมชาติของรายวิชา มาพัฒนาการสอนของตนเองอย่างจริงจัง เช่น
    • สำหรับวิชาที่มุ่งเน้นให้นิสิตมีความรู้รอบ รู้กว้างขวาง รู้เชื่อมโยง ควรต้องเชิญอาจารย์ที่ทั้ง "รู้รอบ" "รอบรู้" และเป็นผู้ที่สามารถถ่ายทอดได้โดยพิสิดาร ให้นิสิตเห็นการเชื่อมโยงของศาสตร์หลายแขนง เข้าใจถึง "องค์รวม" ของสรรพสิ่งที่ถูกแบ่งแยกส่วนสาขาวิชาในปัจจุบัน
    • สำหรับรายวิชาที่เน้นพัฒนา "ทักษะการคิด" อาจารย์เปลี่ยนมาเน้น "ตั้งคำถาม" และสร้างสถานการณ์ให้อภิปราย มากกว่าการ "บรรยาย บอก ให้ลอกส่ง" และจัดให้มีการ "สะท้อนการเรียนรู้" (Learning Reflection) หรือทบทวนหลังเรียน (After Learning Review) หรือ ถอดบทเรียน (Lesson Review) นั่นคือ "ถามเพื่อสอน สะท้อนเพื่อเรียน"
    • สำหรับวิชาทักษะการสื่อสาร เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ฯลฯ ต้องสร้างห้องเรียนที่ นิสิตทุกคนได้ "ฝึก" เนื่องเพราะ "ทักษะเกิดจากการฝึกบ่อยๆ ซ้ำๆ ย้ำๆ ทวนๆ" เช่น วิชาภาษาอังกฤษต้องการให้พูดสื่อสารได้ ต้องทำให้นิสิตทุกคนได้ "ฝึกพูด" วิชาภาษาไทยต้องการให้เขียนได้ ก็ต้องให้ได้ "ฝึกเขียน" และเรียนจากการ "เขียนผิด" เป็นต้น
    • สำหรับวิชาที่เน้นการปลูกฝัง "อุดมการณ์" และ "ทักษะการทำงาน" เช่น วิชาภาวะผู้นำ หรือ วิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ควรเน้นให้นิสิตทุกคนได้ฝึกฝนจิตใจและนิสัยของตนเองผ่าน กิจกรรมต่างๆ ทั้งบำเพ็ญประโยชน์ จิตอาสา ซึ่งในส่วนนี้จำเป็นต้องพัฒนาให้เกิดการ "ระเบิดจากภายใน"
  • ปลูกฝังอุดมการณ์ หมายถึง การสร้างสถานการณ์ โอกาส หรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อบ่มเพาะ ปลูกฝัง ให้นิสิตเกิดจิตสำนึกต่อส่วนรวม ตามปรัชญาของมหาวิทยาลัย "ผู้มีปัญญา พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน"

กระบวนการที่ทั่วถึง

หลักของการจัดการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไป ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนดไว้นั้น มหาวิทยาลัยจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรก็ได้ แต่ต้องให้นิสิตได้เรียนรู้ครอบคลุมทุกกลุ่มวิชา ได้แก่ กลุ่มวิชาภาษา กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กลุ่มวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ และรวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า ๓๐ หน่วยกิต

การ "เอานิสิตตัวตั้ง" คือมุ่งเอา "ผลกาเรียนรู้ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป" เป็นเป้าหมาย จำนวนรายวิชาที่มากเกินไปในแต่ละกลุ่มวิชาเรียน ซึ่งนิสิตไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนทุกรายวิชา จึงเกิดปัญหาความไม่ครอบคลุมสอดคล้องระหว่างผลสัมฤทธิ์ของการเรียนจากรายวิชาที่นิสิตลงทะเบียนกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวังทั้งหมด

แนวทางในการปรับโครงสร้าง จึงมุ่งสร้างรายวิชาบูรณาการ แล้วจัดแผนการเรียนแบบวิชาบังคับเลือกให้นิสิตทุกคนต้องลงทะเบียนเรียน นิสิตทุกคนจะได้เรียนองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นคล้ายคลึงกัน วิธีนี้มีข้อดีหลายประการ ได้แก่

  • นิสิตทุกคนได้เรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปคล้ายคลึงกัน
  • จัดตารางเรียนตารางสอนง่ายขึ้น
  • ขับเคลื่อนการพัฒนาการจัดการเรียนรู้และสื่อนวัตกรรมการเรียนการสอนได้ง่ายขึ้น
  • เอื่อให้เกิดเครือข่ายวิชการเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมมากขึ้น
  • ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ จำนวนรายวิชาในหลักสูตรใหม่จึงน้อยกว่าในหลักสูตรเก่ามาก จากเดิม ๑๑๔ รายวิชา กลายมาเป็นเพียง ๓๑ รายวิชาเท่านั้น



กระบวนการ "บูรณาการคน"

การปรับปรุงหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไปครั้งนี้ มีรายวิชาที่มุ่งผลการเรียนรู้ในแต่ละด้านชัดเจน เห็นความเชื่อมโยงสอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ดังภาพ (ตัวอักษรสีน้ำเงินคือรายวิชาเลือกเพิ่ม)



โจทย์สำคัญ คือ จะทำอย่างไร ให้การจัดการเรียนการสอนแต่ละรายวิชาบรรลุตามเป้าหมาย สังเกตว่าแต่ละวิชาเป็นวิชาบูรณาการที่รวมศาสตร์สาขาต่างๆ ไว้ด้วยกัน (สหวิทยาการ ; multidisciplinary) ดังนั้นหัวใจอยู่ที่ "การบูรณาการคน" ในที่นี้คือครูอาจารย์ ทำอย่างไรอาจารย์จะเข้าใจและสามัคคีร่วมกันทำสิ่งนี้เพื่อนิสิต จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกท่านต้องเปิดใจ สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน (shared vision) แบ่งปันคุณค่า (shared value) และสร้างชุมชนเรียนรู้สำหรับอาจารย์ผู้สอนรายวิชานั้นๆ เพื่อค่อยๆ พัฒนาไปสู่ "การบรูณาการ" ร่วมกัน


ขอจบฮ้วนๆ เท่านี้นะครับ

บันทึกหน้า มาว่ากันถึง ๕ รายวิชากับการพัฒนาจากภายในสู่ศตวรรษใหม่ของการเรียนรู้ครับ

หมายเลขบันทึก: 591473เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2015 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2015 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท