​ประเมินเพื่อมอบอำนาจ : ๑๐. AAR ประเมินเพื่อมอบอำนาจการเรียนให้แก่นักเรียน


          บันทึกชุด “ประเมินเพื่อมอบอำนาจ” (การเรียนรู้) ๑๐ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Embedded Formative Assessment เขียนโดย Dylan Wiliam เพื่อเสนอใช้การทดสอบหรือการประเมินในทางบวก ต่อการเรียนรู้ โดยใช้แบบเนียนไปการกระบวนการเรียนรู้ของศิษย์ และเนียนไปกับการโค้ชศิษย์ เพื่อใช้ “การประเมินเพื่อพัฒนา” (formative assessment) ยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน ด้วยความเชื่อว่า การใช้ “การประเมินเพื่อพัฒนา” ที่ดำเนินการโดยครูในชั้นเรียน และดำเนินการอย่างถูกต้อง เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ต่อการยกระดับผลสัมฤทธิ์ของการเรียน (learning outcomes)0

          บันทึกตอนที่ ๑๐ ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายนี้ เป็นการสะท้อนความคิด (reflection / AAR) ของผม เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ และเขียนบันทึกที่ผ่านมา ๘ ตอนจบ

          ผมอยากเห็นการวิจัยการศึกษาตามโจทย์ในทำนองเดียวกันกับที่ Dylan Wiliam นำมาใช้ในการเดินเรื่อง หนังสือเล่มนี้ งานวิจัยเหล่านี้ส่วนหนึ่งไม่ใช่งานใหญ่ แต่จุดแข็งอยู่ที่การตั้งคำถาม และออกแบบวิธีหาคำตอบ เบื้องหลังคือความไม่เชื่อทฤษฎีที่มีผู้สอนหรือเขียนไว้

          เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ ผมบอกตัวเองว่า การประเมินเพื่อพัฒนาที่เนียนอยู่ในกระบวนการ สอนของครู และเนียนอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน เป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิผลที่สุด ในการยกระดับ ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของนักเรียน ไม่มีเครื่องมือหรือวิธีการใดที่ดีกว่านี้อีกแล้ว

         ดังนั้นหัวข้อ Embedded Formative Assessment (EFA) จึงควรเป็นหัวข้อของการพัฒนาครู ที่ควรจัด workshop ฝึกอบรมครูให้ใช้ EFA เป็น และใช้แบบเนียนอยู่ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ โดยมีความสามารถใช้เทคนิคต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ ๕ ข้อ ตามที่กล่าวในบันทึกตอนที่ ๔ - ๘

          นอกจากนั้น หัวข้อหนึ่งของการรวมกลุ่มกันเรียนรู้ของครู ที่เรียกว่า PLC ควรมีกลุ่มที่เลือกหัวข้อ EFA เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ

          ควรมีการประชุมวิชาการประจำปี เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การใช้ EFL แบบที่เนียน อยู่ในกิจกรรมประจำวัน หรือแบบที่ใช้นาทีต่อนาทีในชั้นเรียน การประชุมนี้อาจเรียกว่า ตลาดนัดความรู้ เรื่องการประเมินเพื่อมอบอำนาจ ผมฝันให้ สพฐ. ใช้เงินปีละ ๑๐ - ๒๐ ล้านบาท commission ให้มูลนิธิสดศรีฯ รับจัดตลาดนัดนี้ โดยมีการทำงานขับเคลื่อนไปด้วยในตัว ตลอดปี

          เพื่อขับเคลื่อน EFA แบบเนียนในเนื้องาน ผมฝันให้มีการลงทุนวิจัยพัฒนาวิธีการวัด “ผลการเพิ่มความรู้และทักษะ” (Learning Net Gain) ของนักเรียนใน ๑ ปีการศึกษา ที่วัดได้เป็นรายคน นำมาใช้วัดเปรียบเทียบระหว่างชั้นเรียนที่ใช้ EFA แบบเนียนในเนื้องาน กับชั้นเรียนที่ไม่ใช้

          ผมเชื่อว่า หากจัดการประยุกต์ใช้ EFA เป็นมาตรการระดับชาติ จะยกระดับผลสัมฤทธิ์ ของการเรียนรู้ของนักเรียนไทยได้จริง เห็นผลภายใน ๕ ปี

          เพราะมาตรการ EFA เป็นมาตรการกระจายอำนาจทางการศึกษาที่แท้จริง นั่นคือกระจายแบบ เอื้ออำนาจ (empwer) ไปให้แก่จุดสัมผัสระหว่างครูกับนักเรียน และในที่สุดเข้าไปในตัวนักเรียนเอง คือนักเรียนใช้ EFA เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง และช่วยเหลือกันเองในหมู่เพื่อนนักเรียนด้วยกัน โดยครูคอยช่วยสร้างบรรยากาศที่เอื้อ

          ทั้งหมดนี้ เพื่อให้นักเรียนฝึกฝนตนเอง เป็นผู้ที่กำกับการเรียนรู้ของตนเองได้ (self-directed learner) เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีทักษะการเรียนรู้ ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบไม่แน่นอนและผันผวน ที่ความรู้ไม่ใช่คำตอบของชีวิต แต่ทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือคำตอบ

          นักเรียนเหล่านี้ จะเติบโตไปเป็นพลเมืองที่มีวิจารณญาณ ไม่ถูกหลอกง่ายๆ ด้วยนโยบายประชานิยม

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ม.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 572071เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2014 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2014 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ลองให้ผู้เรียนทำ reflection ใน classstart.org

ได้นำมาวางไว้ท้ายบันทึกนี้ครับ

http://www.gotoknow.org/posts/571236

http://www.gotoknow.org/posts/572222

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท