ตำแหน่งกับความอยาก


 

    2 เดือนแล้วที่ไม่ได้บันทึกเรื่องราวภายในที่ทำงาน ตั้งแต่ทำบุญบริษัทเสร้จ ดูเรื่องราวจะสงบลงหรืออย่างไรก้ไม่ใช่ แต่หากมีเรื่องราวที่เปลี่ยนแปลงมากมาย เป็นที่มาให้ต้องปรับตัวปรับใจต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น

   ซึ่งหากจิตไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอกนั้น ก็มีเหตุให้กังวล ให้เกิดอุปทาน เกิดความอยากเป็น ไม่อยากเป็น น้อยอก น้อยใจ พาลไปโทษเอากับวาสนาบารมี ทั้งๆที่มองไม่เห็นด้วยตามเปล่าเหล่านั้น

...............

   ผู้ช่วยผู้จัดการได้ปรับเปลี่ยนในตำแหน่งใหญ่โตขึ้น

  เพื่อนหัวหน้ารุ่นน้องได้ขยับขึ้นแทน

   ตัวเรา อยู่กับที่ เป็นหัวหน้าอาวุโส พร้อมมีคำชี้แจงจาก ผู้จัดการให้ช่วยสนับสนุนน้องคนที่จะขึ้น

   นิ่งอึ้งในคำประกาศ ที่หลายคนมีการเปลี่ยนแปลง ที่ดีขึ้น ขยับสุงขึ้น

   ขณะที่ตัวเรา อยู่กับที่

   และไม่มีรายชื่อ ในการประกาศนั้น

   นิ่งเงียบ น้องๆหลายคนมองตาเรา ขณะที่เราหลบสายตา เหลือบมองที่พื้น

   รู้สึกละอายใจตัวเอง ที่เหมือนล้มเหลวในอาชีพ

...............

   "คุณ... ผู้จัดการถามผมว่าทำไมถึงไม่เลือกพี่ ผมบอกว่า เพราะพี่ป่วยไม่สบาย คงจะสู้กับแรงกดดันโดยตรงไม่ได้" ผู้ช่วยฯแจ้งหลังที่เอ๋ยถามในเย็นวันหนึ่ง

   เป็นความสมเหตุสมผลอยู่พอสมควร แต่ใจก็คิดเข้าข้างตัวเองว่า เราก็หายป่วยแล้วนี่ และทุกๆวันนี้เราก็สู้กับแรงกดดันอยู่แล้ว ทำไมไม่ให้โอกาสเราบ้าง หรือเราในสายตาของผู้บริหารเป็นเพียง หัวหน้าแก่ๆคนหนึ่งเท่านั้น

   "อย่าไปเอาเลยตำแหน่งพ่อ ดูอย่างที่ออฟฟิสนี่สิ บางคนพอได้ตำแหน่งก็ดีใจ พอทำงานไปก็อยากลง เพราะเครียด ไม่มีความสุข แต่ก็ลงไม่ได้"คนข้างกายปลอบในวันหนึ่ง

   "อยู่ในตำแหน่งเดิมก็มีความสุขดีอยู่ไม่ใช่หรือ อีกไม่กี่ปีก็จะเกษียณแล้ว "

   "พี่ยังยึดติดในตำแหน่งอีกเหรอ ผมปล่อยมานานแล้ว ให้เด็กๆรุ่นใหม่ มันทำไปเถอะ เราคอยสนับสนุนก็ดีแล้วนี่"

    เพื่อนๆหลายคนให้คำปรึกษา ต่างๆนานา

   ซึ่งทำให้จิตที่กิเลสแห่งความอยากเกาะอยู่ ลดลง เบาบางลง

   ทำให้เห็นความอยากอันหยาบกระด้าง ที่บันทอนจิตใจให้อ่อนแอ จนหลงลืมควบคุมตัวเองไม่ได้ในบางความรู้สึกแห่งอารมณ์ที่แวดล้อมด้วยสังคมแห่งนี้

..............

   ในห้วงแห่งความนึกคิด ทำให้นึกถึงคำสัมภาษณ์ของท่าน ว. ในบันทึกนี้ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี พระธรรมดา..ที่ “ไม่” ธรรมดา เรื่องโดย อุษาวดี สินธเสน ที่ว่า

"...ถ้าเราไปรับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะพระสังฆาธิการแล้ว เราก็จะมีเจ้านาย พอมีเจ้านาย จะเทศน์ จะสอน จะทำอะไรก็ต้องระวัง กลัวนายไม่ปลื้ม พอนายไม่ปลื้มก็แป้ก แต่เป็นพระลูกวัดอย่างนี้ อาตมามีความสุขมาก สามารถเทศน์ได้ สอนได้เต็มกำลังสติปัญญา ไม่ต้องเกรงใจหน้าอินทร์หน้าพรหม..."

  การที่อยู่อย่างปัจจุบันนี้ ก็ดีเช่นกัน ได้มีเวลานึกคิดขีดเขียน

  ถ้าตำแหน่งใหญ่โตขึ้น คงจะเหมือนหลายๆคนที่เดินตามเจ้านาย ทั้งแก่งแย่งแข่งขัน คอยแต่ต้อนรับแขกอยู่ทั้งวี่ทั้งวันอย่างที่เห็นอยู่แน่ๆ

............

9 กรกฏาคม 2557

พ.แจ่มจำรัส  

หมายเลขบันทึก: 572065เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2014 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2014 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มีมากมายหลายคนที่ถามคุณมะเดื่อว่า  "  ทำไม   เพราะอะไร   เหตุใด....เหตุไฉน...คุณมะเดื่อจึงไม่เลื่อนตำเหน่งตัวเอง ไปเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียนซะที...."  ทั้ง ๆ ที่ ทั้งความรู้  ความสามารถ ก็เกินจะพอแล้ว  ทำไมจึงยังเป็นครูผู้สอนอยู่.....คำตอบก็คือ....ทะเลาะกับเด็ก  ดีกว่า ทะเลาะกับผู้ใหญ่ (ครู) อยู่แบบนี้  อยู่ที่เดิม (แต่เงินเดือนขึ้นทุกปี )  ดีที่สุดแล้วจ้าาาา  .....  ( อันนี้ความเห็นส่วนตั๊ว  ส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับใครนะจ๊ะ....)

มองโลกในแง่ดี ดีเหมือนกันนะคะจะได้ไม่เครียดมาก

ขอบคุณทุกท่านครับ

ความภูมิใจที่เป็นตัวช่วย(suport)หรือคือลับลวงพราง หรือคือกิเลส...

โปรดติดตามตอนต่อไป....

ตำแหน่งไหนไม่สำคัญเท่า ตำแหน่งที่เราทำแล้วมีความสุขใจค่ะ

ติดตามอ่านบันทึกคุณพ. แจ่มจำรัสค่ะ

วิถีที่เราเป็น ... สุข  สงบ  สบายใจนะคะ

เห็นด้วยกับข้อคิด+กำลังใจจากเพื่อนๆทุกท่านเช่นกัน

อีกทั้งขอชื่นชมอ. พ.แจ่มจำรัส ที่รู้เท่าทันจิตที่ปรุงแต่งด้วยครับ

การทำงานที่เรารักไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งใด  เราก็มีความสุข เพราะเรารู้ว่างานของเรามีคุณค่าในตัวของมันเอง  ให้กำลังใจนะคะคุณพิชัย

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท