ความซับซ้อนของระบบอาชีวศึกษา


เมื่อฟังการ ประชุมไปเรื่อยๆ ผมก็มีข้อสรุปว่า เยาวชนเข้าเรียนอาชีวศึกษาด้วยเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ ประการคือ (๑) เพื่อออกไปทำงานในโรงงาน หรือสถานประกอบการ เป็นลูกจ้าง (๒) เพื่อออกไปทำงานอิสระ เป็นผู้ ประกอบการรายย่อย และ (๓) ไม่มีเป้าหมายใดๆ เข้าเรียนก็ชีวิตเพราะไหลมาเรื่อยๆ

ความซับซ้อนของระบบอาชีวศึกษา

วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ ผมไปร่วมประชุมโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยระบบการศึกษาที่ ทีดีอาร์ไอ คราวนี้มีการนำเสนอผลการวิจัยเรื่อง การปฏิรูประบบอาชีวศึกษาเพื่อสร้างทักษะแก่ผู้เรียน ซึ่งเมื่อฟังการ ประชุมไปเรื่อยๆ ผมก็มีข้อสรุปว่า เยาวชนเข้าเรียนอาชีวศึกษาด้วยเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ ประการคือ (๑) เพื่อออกไปทำงานในโรงงาน หรือสถานประกอบการ เป็นลูกจ้าง (๒) เพื่อออกไปทำงานอิสระ เป็นผู้ ประกอบการรายย่อย และ (๓) ไม่มีเป้าหมายใดๆ เข้าเรียนก็ชีวิตเพราะไหลมาเรื่อยๆ

ทำให้ผมตั้งสมมติฐานกับตนเองว่า การปฏิรูปอาชีวศึกษาต้องปฏิรูปให้ตอบสนองเป้าหมายทั้งข้อ (๑) และ (๒) ซึ่งวิธีการจัดการฝึกฝนและเล่าเรียนน่าจะแตกต่างกันมาก

หากเราฟังตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรม เราจะหลงเชื่อว่า อาชีวศึกษามีไว้เพื่อออกไปเป็นลูกจ้างของ โรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ตัวเลขต่างๆ ที่คุณณัฐสิฏ รักเกียรติวงศ์ นักวิจัยของ ทีดีอาร์ไอ เสนอ มันฟ้องว่า ผู้เข้าเรียนอาชีวศึกษาส่วนใหญ่เข้าเรียนสาขาช่างยนต์ และช่างไฟฟ้า ซึ่งนายจ้างภาคอุตสาหกรรมไม่ต้องการ ภาคอุตสาหกรรมต้องการช่างสาขา ช่างกลโรงงาน และช่างเชื่อม แต่คนนิยมเข้าเรียนน้อย เพราะงานหนัก และสภาพการทำงานในโรงงานไม่น่าพึงใจ

ผมเพิ่งเข้าใจว่า สาขาช่างยนต์นั้น ชื่อว่าช่าง แต่ลักษณะงานเป็นสาขาธุรกิจบริการ คือซ่อมรถยนต์หรือ จักรยานยนต์ ซึ่งเป็นงานถอดเปลี่ยนอะไหล่เป็นหลัก ไม่ใช่ผลิตเครื่องยนต์ ฟังแล้วผมฉุกใจว่า ผู้เข้าเรียนน่าจะ จงใจเข้าเรียนเพื่ออกไปเปิดธุรกิจซ่อมของตนเอง

การอภิปรายเน้นไปที่การผลิตผู้จบอาชีวศึกษาเพื่อไปทำงานเป็นลูกจ้าง ซึ่งมีปัญหาคือ ผู้จบการศึกษา มีทักษะไม่ตรงความต้องการของนายจ้าง เพราะ ๓ สาเหตุคือ (๑) การเรียนการสอนไม่สอดคล้องกับงาน (๒) ขาดทรัพยากร ซึ่งปัจจัยสำคัญคือครูช่าง ที่ไม่มีประสบการณ์ในโรงงาน และจำนวนก็ไม่เพียงพอ (๓) การประกัน คุณภาพบกพร่อง คือไม่ทำให้เกิดคุณภาพ กลับเป็นตัวถ่วง เพราะดึงครูออกมาจากศิษย์

ทีมวิจัยเสนอให้แก้ปัญหาแบบ “ผ่าตัดใหญ่” คือ (๑) ให้ภาครัฐจัดการศึกษาเฉพาะ ปวช. ทุ่มทรัพยากร ที่ระดับนี้ (๒) ยกเลิก ปวส. ทดแทนด้วยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ดำเนินการโดยภาคเอกชน และมีกองทุน สนับสนุน โดยรัฐร่วมลงทุน เข้ากองทุนเท่ากับที่ภาคเอกชนลงทุน 1% ของเงินเดือนลูกจ้าง (๓) จัดตั้งสถาบัน วิชาชีพครูอาชีวศึกษา ซึ่งผมเห็นว่า เป็นข้อเสนอสำหรับอาชีวศึกษาเพื่อป้อนคนเข้าทำงานโรงงาน ยังไม่ได้คิดถึงอาชีวศึกษาเพื่อสร้างผู้ประกอบการรายย่อย

ผมได้เข้าใจว่า เรายังไม่มีระบบผลิตครูอาชีวศึกษา หรือจริงๆ แล้วเคยมี (แบบไม่เป็นระบบ) แต่ถูกทำลายไปในนามของการยกระดับคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจริงๆ แล้วครูช่างต้องเป็นลูกผสม วิศวกร - ครู - ช่าง ทำให้มองมุมไหนก็ไม่เข้าเกณฑ์คุณภาพ จึงไม่มีการผลิตครูช่างหลังการยกระดับมาตรฐาน ของสภาวิศวกร หลังจากเหตุการณ์ตึกถล่มที่โคราช ในปี ๒๕๓๖

ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่ภาคเอกชนต้องออกเงิน 1% ของค่าจ้างคนงาน อุดหนุนภาครัฐในการผลิตคนด้านอาชีวะ ซึ่งผมบอกว่า เราอาจมองกลับทางก็ได้ ว่าเป็นการที่รัฐออกเงิน อุดหนุนภาคเอกชน

มีรายละเอียดมากมาย และมีโจทย์วิจัยที่ต้องทำเพิ่มอีกมากมาย เพื่อให้มีทั้งอาชีวศึกษาสนองความ ต้องการของนายจ้าง และอาชีวศึกษาที่สนองความต้องการของผู้เรียนที่ไม่ต้องการออกไปเป็นลูกจ้าง

วิจารณ์ พานิช

๑๐ มิ.ย. ๕๘

หมายเลขบันทึก: 591431เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2015 18:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2015 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บันทึกนี้ อาจารย์เกริ่นไว้ถึง 3 เป้าหมายที่คนเลือกเรียนอาชีวะศึกษา แต่ยังไม่ได้พูดถึง เป้าหมายที่ 3 คือเพราะชีวิตไหลมาเรื่อยๆ อยากให้อาจารย์ช่วยเขียนถึงประเด็นดังกล่าว จะเป็นประโยชน์มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท