ชีวิตที่พอเพียง : ๒๔๐๘. เรียนรู้จากการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์



การประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ครั้งที่ ๑๙๒ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ ให้ความรู้แก่ผมมากตามเคย ผมเคยบันทึกเรื่องการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์เมื่อ ๒ ปีก่อน ที่นี่

ปีนี้แปลกมากที่แม้เศรษฐกิจไม่ดี แต่ธนาคารไทยพาณิชย์ก็ยังได้กำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ ๕ ติดต่อกัน คือปีนี้ได้กำไร ๕๓,๓๐๐ ล้านบาทเป็นธนาคารไทยที่มีกำไรสูงสุดและจัดเงินปันผลหุ้นละ ๖ บาท รายละเอียดต่างๆ อ่านได้จากรายงานทั้ง ๒ เล่ม ที่ , และธนาคารลงข่าวการประชุมนี้ในเว็บไซต์ที่นี่

บันทึกของปีนี้ผมขอเน้นส่วนที่เป็นการถามตอบในที่ประชุม โดยที่ในการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย จะจัดผู้แทนเข้าร่วมและตั้งคำถามเพื่อสร้างความระมัดระวังในการกำกับดูแลบริษัทมหาชน ในปีนี้เขาประสานงานเข้ามาล่วงหน้าว่า ผู้ถือหุ้นที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ จะไม่โหวตให้แก่กรรมการที่เป็นกรรมการมาแล้วเกิน ๓ วาระ และมีอีก ๒ เงื่อนไขที่ผมลืมจดไว้ ทั้ง ๓ เงื่อนไข ไม่เป็นปัญหาของธนาคารไทยพาณิชย์เลย เพราะมีการถือปฏิบัติอย่างจริงจัง

ในช่วงของการประชุม มีผู้ชายท่าทางและความรู้ดี ตั้งคำถามที่ดีด้านบรรษัทภิบาล ทำให้ผมเดาว่า ท่านนี้น่าจะเป็น ตัวแทนของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย โดยตั้งข้อสังเกตว่า ธนาคารฯ ไม่มีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงในระดับ กรรมการย่อยของคณะกรรมการธนาคาร มีแต่คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงในระดับของฝ่ายจัดการ ทำให้ไม่มีระบบบริหาร ความเสี่ยงที่เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากฝ่ายจัดการ เป็นข้อสังเกตที่แหลมคมมาก เรื่องนี้ฝ่ายจัดการของธนาคารตอบว่า คณะกรรมการตรวจสอบของคณะกรรมการธนาคาร ทำหน้าที่ดูแลความเสี่ยงในทุกๆ ด้าน

ผู้ชายท่านนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า เงินรางวัลกรรมการ ไม่ควรผูกโยงกับผลประกอบการ เพราะจะกระตุ้นให้กรรมการ ร่วมมือกับฝ่ายจัดการ หาทางทำให้ผลประกอบการดี โดยขาดความระมัดระวัง ซึ่งทางกรรมการธนาคารอธิบายว่า กำหนดให้เงินรางวัลกรรมการผูกกับเงินปันผล คือไม่เกินร้อยละ ๐.๕ โดยหวังว่าจะมีผลให้ผู้ถือหุ้นกับคณะกรรมการ มีผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นการระมัดระวังไม่ให้มีกรณีผลกำไรไม่ไปถึงผู้ถือหุ้น

เรื่องรางวัลกรรมการนี้ ท่านนายกกรรมการอธิบายว่า สิ่งที่ไม่ควรทำคือให้รางวัลแก่กรรมการเป็นหุ้น เพราะจะทำให้กรรมการและฝ่ายจัดการช่วยกันกระตุ้นกำไร ละเลยความระมัดระวัง ผมนึกในใจว่า เสี่ยงต่อการร่วมกันปั่นหุ้นด้วย

อีกท่านหนึ่งเป็นผู้หญิง ชื่อทิพาพร แนะนำตัวเองว่าเป็นอาสาพิทักษ์สิทธิ์ผู้ถือหุ้น ตั้งคำถาม ๓ ข้อ ข้อหนึ่งถามเรื่อง การดำเนินการขยายเป้าหมายต่อต้านการทุจริตไปยังลูกค้าของธนาคาร ผมคิดว่า ในวงการธุรกิจมีกลไกเชิงบวก ที่ภาคประชาสังคม ดำเนินการกันเอง เพื่อสร้างบรรษัทภิบาลที่เข้มแข็ง ผมอยากให้มีกลไกเช่นนี้บ้างในวงการอุดมศึกษา

ผู้ถือหุ้นท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า จำนวนกรรมการของบริษัทมหาชนส่วนใหญ่กำหนดให้ไม่เกิน ๑๒ คน แต่ของธนาคารไทยพาณิชย์ ๑๕ คน และตามที่เสนอใหม่จะเป็น ๑๖ คน มากเกินไปหรือไม่ คำตอบคือ ของธนาคารไทยพาณิชย์มีข้อจำกัดในเรื่องนี้ เพราะต้องมีตัวแทนของผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีฝ่ายบริหารด้วย แล้วต้องมีกรรมการอิสระจำนวนมากกว่า จำนวนรวมจึงมาก

แน่นอนว่า เรื่องยอดฮิตที่ถูกถาม คือเรื่องไฟไหม้ และกรณี สจล. ซึ่งนอกจากถามแล้ว ผู้ถือหุ้นบางท่านก็แสดงความไม่เห็นด้วยที่ธนาคารยอมจ่ายเงิน ๑,๕๐๐ ล้านบาทให้แก่ สจล. ซึ่งผมรู้สึกว่า คำอธิบายยังไม่ค่อยชัดเจน ผมได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ ที่นี่คือธนาคารมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเงินของลูกค้าเป็นอย่างดี หากเกิดความเสียหายและพบว่าทางธนาคารมีข้อบกพร่อง ธนาคารต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด แม้ฝ่ายผู้ฝากจะมีข้อผิดพลาดด้วยหากยึดถือหลักนี้ ผู้ฝากเงินก็จะมีความมั่นใจต่อธนาคาร

ขอสรุปว่า ข้อเสนอเพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ได้รับการลงคะแนนเห็นชอบเกินร้อยละ ๙๘ ทุกรายการ และส่วนใหญ่คะแนนเกินร้อยละ ๙๙ มีอยู่ ๒ วาระ ผู้เข้าประชุมลงมติด้วยเสียง ๑๐๐%


วิจารณ์ พานิช

๒ เม.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 589905เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2015 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2015 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท