๑๓๗. การวัดและประเมินผล ๒๑ : แบบทดสอบปรนัย


บันทึกที่ ๑๓๗ การวัดและประเมินผล ๒๑ : แบบทดสอบปรนัย

แบบทดสอบปรนัย เป็นข้อสอบที่มีคำถามเฉพาะเจาะจง ตรวจให้คะแนนได้ตรงกันมีคำสั่ง วิธีการปฏิบัติและวิธีการตรวจให้คะแนนที่ชัดเจน แบบทดสอบปรนัยที่นิยมใช้กัน คือแบบถูก-ผิด (true-false) แบบจับคู่ (matching) และแบบเลือกตอบ (multiple choices)ซึ่งแต่ละประเภทมีรายละเอียด ดังนี้

๑. ข้อสอบแบบถูกผิด เป็นข้อคำถามที่กำหนดข้อความให้ผู้เรียนพิจารณาเลือกตอบสองทางเลือก เช่น ถูก-ผิด ใช่-ไม่ใช่ จริง-ไม่จริง เหมือนกัน-ต่างกัน ฯลฯ โดยใช้ความรู้ตามหลักวิชาเป็นเกณฑ์พิจารณา ตัวคำถามมักจะเขียนในรูปประโยคบอกเล่าธรรมดา หรืออาจจะเป็นประโยคคำถาม โดยมีข้อความถูกบ้างผิดบ้างคละเคล้ากันไป

หลักการเขียนข้อสอบแบบถูกผิด

๑) ข้อความจะต้องมีความหมายชัดเจน ไม่กำกวม และไม่ควรใช้คำที่แสดงคุณภาพ เช่น มาก น้อย บ่อย ๆ บางครั้ง ส่วนมาก ส่วนน้อย ไม่ค่อยจะ เป็นต้น ควรเลือกคำที่แสดงปริมาณจะมีความหมายชัดเจน

๒) ข้อความที่กำหนดให้ต้องตัดสินได้ว่าถูกจริงหรือผิดจริงและเป็นสากล

๓) แต่ละข้อคำถาม ควรถามจุดสำคัญเพียงเรื่องเดียว

๔) ไม่ควรสร้างข้อคำถามเชิงปฏิเสธหรือปฏิเสธซ้อน เพราะจะทำให้ผู้สอบเข้าใจผิด

๕) ควรหลีกเลี่ยงการลอกข้อความจากหนังสือหรือตำราเรียนโดยตรง เพราะจะ

ส่งเสริมการเรียนแบบท่องจำ

๖) ให้ข้อสอบแต่ละข้อเป็นอิสระแก่กัน

๗) ข้อความแต่ละข้อควรมีความยาวใกล้เคียงกัน

๘) ข้อสอบควรเรียงลำดับตามเนื้อหา

๙) ควรให้มีจำนวนข้อถูกและข้อผิดใกล้เคียงกัน และอยู่กระจายคละกัน


๒. ข้อสอบแบบจับคู่ เป็นข้อคำถามที่กำหนดข้อความที่สัมพันธ์กันให้๒ รายการ รายการทางด้านซ้ายเรียกว่าตัวยืนหรือคำถาม รายการทางด้านขวาเรียกว่าตัวเลือกหรือคำตอบ ให้ผู้ตอบพิจารณาความสัมพันธ์ของรายการทั้งสองด้าน รายการที่นำมาออกข้อสอบแบบจับคู่ได้แก่ คำศัพท์กับความหมาย เหตุการณ์กับเวลา เวลากับสถานที่ ชื่อบุคคลกับผลงาน ชื่อกระบวนการกับการผลิต กฎกับการใช้เหตุกับผล เครื่องมือกับประโยชน์ใช้สอย เป็นต้น

หลักการเขียนข้อสอบแบบจับคู่

๑) เขียนคำชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะให้จับคู่ได้เพียงตัวเลือกเดียว หรืออาจจับคู่ได้หลายตัวเลือก

๒) เนื้อหาวิชาที่นำมาออกข้อสอบจะต้องเป็นเรื่องหรือเนื้อหาเดียวกัน

๓) ควรให้คำตอบมีมากกว่าคำถาม ๓-๔ ตัว

๔) ข้อสอบแบบจับคู่ชุดหนึ่งไม่ควรมีมากข้อเกินไป ควรอยู่ระหว่าง ๕-๑๒ คู่และควรให้อยู่ในหน้าเดียวกันทั้งหมด

๕) คำหรือข้อความที่เป็นคู่กันไม่ควรจัดให้อยู่ตรงกัน


๓.ข้อสอบแบบเลือกตอบ เป็นข้อสอบที่ประกอบด้วยคำถามและคำตอบ

ให้เลือกหลาย ๆ คำตอบ ข้อสอบประเภทนี้มี ๒ ส่วน คือ

๑) ตัวนำหรือตัวคำถาม (stem) เป็นข้อความที่เป็นตัวเร้าให้ผู้สอบคิด

๒) ตัวเลือก (choices) เป็นคำตอบหลาย ๆ คำตอบ เพื่อให้ผู้สอบเลือกตอบอย่างใดอย่างหนึ่ง มีทั้งตัวถูก (key) และตัวลวง (distracters)

หลักการเขียนข้อสอบแบบเลือกตอบ

ด้านตัวคำถาม

๑) เขียนคำถามให้เป็นประโยคคำถามที่สมบูรณ์

๒) เขียนคำถามให้กะทัดรัด ชัดเจน ตรงจุด ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย

๓) ใช้ภาษาให้เหมาะสมกับระดับผู้สอบ

๔) คำถามควรเร้าให้ผู้สอบได้ใช้ความคิด

๕) หลีกเลี่ยงการใช้คำถามปฏิเสธซ้อน

๖) ไม่ควรถามในสิ่งที่เด็กท่องจำจนคล่องปาก

๗) คำถามแต่ละข้อควรเป็นอิสระขาดจากกัน

๘) อาจใช้รูปภาพช่วยเพื่อลดความเครียดของผู้สอบ หรือทำให้เข้าใจคำถามดีขึ้น
ด้านตัวเลือก

๑) คำถามข้อหนึ่ง ๆ ต้องมีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงตัวเลือกเดียวเท่านั้น

๒) เขียนให้ทั้งตัวถูกและตัวผิด ถูกผิดตามหลักวิชา

๓) เขียนให้ตัวเลือกเป็นอิสระจากกัน

๔) เขียนตัวเลือกให้กะทัดรัด ไม่ยืดยาว หรือเพิ่มคำที่ไม่จำเป็น

๕) ตัวเลือกต้องเป็นเอกพันธ์

๖) ตัวเลือกที่ถูกไม่ควรยาวเกินไป

๗) จัดตัวเลือกให้เป็นระบบ เช่น เรียงตาม พ.ศ. เรียงจากน้อยไปมาก เป็นต้น

๘) หลีกเลี่ยงการเขียนตัวถูกให้พ้องเสียง หรือมีคำ/ข้อความที่ซ้ำกับตัวคำถาม

๙) ตำแหน่งของตัวถูกควรกระจายในลักษณะสุ่ม

๑๐) ตัวลวงต้องมีโอกาสเป็นไปได้

๑๑) ไม่ควรมีตัวเลือกประเภท "ถูกหมดทุกข้อ" หรือ "ไม่มีข้อใดถูก"


ขอขอบคุณข้อมูลจาก...

สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. ชุดฝึกอบรมการวัดและประเมินผลการเรียนรู้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศึกราช ๒๕๕๑.กรุงเทพฯ : สพฐ.

หมายเลขบันทึก: 589899เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2015 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2015 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ข้อสอบแบบจับคู่.... เป็นอะไรที่ตอนเป็นนักเรียน... ไม่ชอบมากๆๆค่ะ ... 555

ข้อสอบจับคู่ตอนเป็นเด็กไม่ค่อยชอบเหมือนกันค่ะ

ตอนนี้ เด็กๆบอกว่าชอบ

ขอบคุณค่ะ คุณหมอ Dr.Ple

ที่แสดงความคิดเห็น ให้ข้อคิด และกำลังใจมาตลอดค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท