หลวงโยนะการพิจิตร..พ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมภ์พระเจดีย์ สร้างพระและอุปถัมภ์วัด(ตามรอย11..ในราชกิจจานุเบกษา)


ราชกิจจานุเบกษา(Royal Thai Government Gazette)เป็นหนังสือที่ออกเป็นรายสัปดาห์โดยสำนักงานราชกิจจานุเบกษา เพื่อรวบรวมกฏหมาย กฏ ระเบียบ ข้อบังคับ รวมทั้ง ประกาศของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ประกาศเกี่ยวกับการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท ราชกิจจานุเบกษาเริ่มจัดพิมพ์เป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2401(157 ปี มาแล้ว) เป็นเอกสารหลักในการแจ้งกฏหมาย ประกาศ คำสั่ง และเรื่องราวสำคัญของทางราชการให้แก่ประชาชนได้ทราบอย่างเป็นทางการ

การตามรอยหลวงโยนะการพิจิตร หรือมองปันโยหรือพระยาตะก่า ข้อมูลส่วนหนึ่งได้จากการค้นคว้าจากประกาศราชกิจจานุเบกษาทีจัดพิมพ์ในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 เท่าที่สามารถหาได้ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ทราบว่าหลวงโยฯมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมล้านนาอย่างไร ยังทำให้ทราบถึงประวัติศาสตร์บางหน้าของการสร้างสังคมล้านนาและเชียงใหม่ในยุคนั้นของรัฐบาลและท้องถิ่นล้านนาและเชียงใหม่ หลวงโยนะการพิจิตรได้ร่วมในการทำบุญทำทานและสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์ไว้หลายอย่างนอกเหนือจากการกระทำโดยศรัทธาส่วนตัวที่ไม่ได้มีการบันทึกโดยทางการ

รูปที่ 1 ปกครุฑ( http://www.oknation.net/blog/kritwat/2012/03/04/en...)

พ.ศ.2438 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๓ หน้า ๗๘( รศ.114 หรือพ.ศ. 2438 ) มองปันโยร่วมบริจาคเงินสร้างสะพานข้ามแม่น้ำวัง หน้าเมืองนครลำปาง ทำถนนด้วยดินแดงระหว่างเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูน มีผู้บริจาค ๓๕ คนรวมเป็นเงิน ๕๐๐๐ รูปี โดยมองปันโย(หลวงโยฯ)บริจาค ๒๕๐ รูปี

สะพาน แห่งนี้ได้รับการสร้างขึ้นใหม่ ปัจจุบันชื่อว่าสะพานรัษฎาภิเศก ชาวลำปางเรียกกันสั้นๆ ว่าขัวขาว (ขัว=สะพาน) เป็นสะพาน คสล.ข้ามแม่น้ำวังที่เก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือถือว่าเป็นสัญญลักษณ์ของจังหวัดอย่างหนึ่ง

รูปที่2 สะพานรัษฎาภิเศก ตั้งอยู่ที่ถนนรัษฎา เป็นสะพานข้ามแม่น้ำวัง ตั้งอยู่ใน ต.หัวเวียง อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง(สภาพปัจจุบัน)

สะพานรัษฎาภิเศก เดิมเป็นสะพานโครงสร้างไม้ ที่ทางเจ้าผู้ครองนครลำปาง และชาวจังหวัดลำปางได้จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวาระที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 ในโอกาสที่พระองค์ครองราชย์ครบ 25 ปี หลังจากนั้นได้มีการก่อสร้างใหม่เมื่อเดือนมีนาคม 2460 เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก บริเวณสะพานมีเครื่องหมายไก่ขาว และครุฑหลวงประดับไว้ตรงหัวสะพาน )

พ.ศ.2440 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๕ หน้า ๑๒ ลว. ๒๘ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๑๖(พ.ศ. 2440) ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชศรัทธาบริจาคพระราชทรัพย์ปฎิสังขรณ์ พระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามและวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม เจ้าผู้ครองนครแลพ่อค้าไม้ในมณฑลลาวเฉียงโดยเสด็จพระราชกุศลส่งไม้ขอนสักมาถวายช่วยในการพระราชกุศลปฎิสังขรณ์ทั้งสองพระอาราม มองปันโยฯ(หลวงโยฯ)ถวาย ๑๐ ต้น

( มณฑลลาวเฉียง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลพายัพ ประกอบด้วยเมืองนครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน นครแพร่ เถิน (เถินต่อมายุบเป็นอำเภอรวมกับจังหวัดลำปาง) ที่ตั้งบัญชาการมณฑลคือ เมืองนครเชียงใหม่ ข้าหลวงใหญ่ปกครอง ได้แก่ เจ้าพระยาพลเทพ (พุ่ม ศรีไชยันต์))

ภาพที่3-4 รูปโบสถ์วัดสุทัศน์เทพวราราม และวัดอรุณราชวราราม

พ.ศ.2447 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๑ หน้า ๓๕๐ ลว.๒๘ ส.ค. ร.ศ.๑๒๓( พ.ศ. 2447) เมื่อวันที่ ๔มิ.ย.ร.ศ.๑๒๓ เจ้าเชียงใหม่ได้ประชุมเจ้านายและข้าราชการมีมติเรี่ยรายเงินเพื่อซื้อสิ่งของเพื่อเป็นรางวัลและแจกประกาศนียบัตรแก่นักเรียนที่สอบไล่ได้ ๖๓ นาย พญาตะก่าหรือมองปันโย(หลวงโยฯ) บริจาค ๖๐ บาท

พ.ศ. 2449 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๓ หน้า ๑๐๒๘ ลว.๓๐ ธ.ค.ร.ศ.๑๒๕ ( พ.ศ. 2449) หม่องปันโยร่วมบริจาคเงินสร้างโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ๓๐ บาท

ภาพที่ 5 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เชียงใหม่

โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย (อักษรย่อ: ย.ว., Y.R.C.) เป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของภาคเหนือ และโรงเรียนสหศึกษาของรัฐบาลประจำจังหวัดเชียงใหม่ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โรงเรียนก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2432 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระยาสุรสีห์ วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร)ขึ้นมารับราชการตำแหน่ง ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ พระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์พยายามดำเนินการทุกวิถีทางในอันที่จะใช้ "การศึกษาแผนใหม่" เป็นเครื่องช่วยในการปฏิรูป มณฑลพายัพ โดยเริ่มจากการสร้างโรงเรียน ท่านได้มอบหมายให้ขุนอุปกรณ์ศิลปศาสตร์ ข้าหลวงธรรมการมณฑลพายัพ เป็นหัวหน้าบอกบุญเรี่ยรายเงิน จากเจ้านายฝ่ายเหนือและข้าราชการมณฑล ได้เงินจำนวนมาก การก่อสร้างโรงเรียนที่ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงค์ได้ก่อสร้างค้างไวจึงได้เริ่มดำเนินการต่อ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2448 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ครั้งยังดำรงพระอิสริยศเป็นสมเด็จพระบรม โอรสาธิราช สยามมงกุฏราชกุมาร ได้เสด็จประพาสมณฑลพายัพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเยี่ยมโรงเรียนเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2448 ในการเสด็จประพาสมณฑลพายัพครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรด พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 500 บาท สมทบการสร้างโรงเรียน และได้พระราชทานนามโรงเรียน ที่ก่อสร้างใหม่ว่า โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

พ.ศ. 2451 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๕ หน้า ๑๐๖๒ ลว.๑๓ ธ.๕.ร.ศ.๑๒๗ ( พ.ศ. 2451) หลวงโยนะการพิจิตร ร่วมบริจาคเงินซ่อมแซมวิหารวัดพระสิงห์และซื้อสิ่งของบำรุงโรงเรียนวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ ๕ รูเปีย

พ.ศ. 2452 ราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๒๖ หน้า ๑๒๐๕ ๒๙ ส.ค.ร.ศ.๑๒๘ ( พ.ศ. 2452 ) หลวงโยนะการพิจิตรร่วมบริจาคเงินซ่อมแปลงเสาวิหารวัดเจดีย์หลวง

พ.ศ. 2453 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๗ หน้า ๑๗๔ ลว .๘ พ.ค. ร.ศ.๑๒๙ ( พ.ศ. 2453) ข้าราชการและพ่อค้าราษฎรในเมืองนครเชียงใหม่ได้บริจาคทรัพย์และออกแรงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ลำเหมือง ในระหว่างถนนสายอำเภอเชียงใหม่ไปอำเภอแม่ออน ๔ แห่ง หลวงโยนะการพิจิตรสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโฮมตามรูปแบบของข้าหลวงโยธาด้วยไม้กระยาเลย กว้าง ๓ วา ๓ ศอก ยาว ๘ วา ๒ ศอก มีลูกกรงสองข้าง สิ้นเงิน ๑๘๐๐ รูเปีย เปิดให้เป็นสาธารณประโยชน์

พ.ศ2453 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๗ หน้า ๒๑๐ ลว.๑๕ พ.ค.ร.ศ.๑๒๙( พ.ศ. 2453) มีใบบอกจากเค้าสนามหลวง เชียงใหม่ ว่าหลวงโยนะการพิจิตร ได้ออกทรัพย์ส่วนตัวเป็นเงิน ๒๕๐๐ รูปีซ่อมแซมถนนเจริญประเทศในท้องที่อำเภอเชียงใหม่ ยาว ๕๐ เส้นกว้าง ๔ วา ซึ่งรัฐบาลได้สร้างไว้แต่เดิมชำรุดทรุดโทรมเป็นการแล้วเสร็จ สาธารณะชนสัญจรไปมาโดยสะดวกแล้ว หลวงโยนะการพิจิตรขอถวายเป็นพระราชกุศล

ภาพที่ 6 ปลายถนนในภาพคือบริเวณโรงแรมเพชรงาม (ปัจจุบัน) หรือบ้านหลวงโยฯในอดีต


ภาพที่ 7 ภาพถนนเจริญประเทศ (ปัจจุบัน) ถ่ายจากหน้าโรงแรมเพชรงาม สุดปลายถนนในภาพคือต้นถนนเจริญประเทศบริเวณหัวถนน ด้านซ้ายมือจะเป็นพุทธสถาน ด้านขวามือจะเป็นสวนสาธารณะและจวนผู้ว่าราชการจังหวัด

พ.ศ.2460 ราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๔ หน้า ๒๙๑๖ ลว.๖ม.ค ๒๔๖๐ มีการสร้างศาลาที่ป่าช้านอกประตูหายยาจังหวัดเชียงใหม่ หลวงโยนะการพิจิตรร่วมบริจาคสมทบ ๒๐ รูเปีย

พ.ศ.2460 ราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๓๔ หน้า ๑๑๐๖ ลว.๘ ก.ค.๒๔๖๐ พระครูสฺรภังค์ เจ้าคณะแขวงจังหวัดเชียงใหม่จัดสร้างโรงเรียนที่วัดนันตาราม เชียงใหม่ สิ้นเงิน ๒๕๐ บาท สิบสตางค์ ได้ทำบุญฉลอง หลวงโยฯร่วมบริจาค ๑๙ บาท ๓๒ สตางค์

พ.ศ.2460 ราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๓๔ หน้า ๓๕๗๗ ลว.๓ .ค.๒๔๖๐ในประกาศเรื่องให้สิ่งของบำรุงโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เชียงใหม่ พระราชชายาเจ้าดารารัศมีประทานผ้านวม ๖๐ ผืน ......รองอำมาตย์เอกหลวงโยนะการพิจิตร(หม่องปันโย อุปะโยคิน) กรมการพิเศษจังหวัดเชียงใหม่ ได้ช่วยพิมพ์ระเบียบการกรีฑาของโรงเรียนโดยไม่คิดค่าจ้าง ให้แก่โรงเรียน ๓๐๐ เล่ม คิดเป็นเงิน ๗๕ บาท


ภาพที่8 นักเรียนคณะเด็กเล็กโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ถ่ายภาพร่วมกับพระวิเศษศุภวัตร (เทศสนุนทร กาญจนศัพท์ ต่อมาเป็นพระยาวิเศษศุภวัตร)

(จดหมายเหตุวชิราวุธ (๑๒) : ระเบียบการวชิราวุธวิทยาลัย

www.vajiravudh.ac.th)


ภาพถ่ายประกาศราชกิจจานุเบกษา

1.มองปันโยหรือพระยาตะก่าปันโหย่หรือหลวงโยนะการพิจิตรในเวลาต่อมาร่วมบริจาคเงิน ๒๕๐ รูปีเพื่อสร้างสะพานข้ามลำน้ำแม่วัง ผ่านเมืองลำปางและทำถนนด้วยดินแดงระหว่างเมืองนครลำปาง เมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำพูน

2.มองปันโยฯหรือหลวงโยนะการพิจิตรในเวลาต่อมาส่งไม้ขอนสักสิบต้นเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ บูรณะปฏิสังขรณ์ พระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามและวัดสุทัศน์เทพวราราม

3. การเรี่ยรายเงินสร้างร.ร.ยุพราช วิทยาลัย เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่บริจาคที่ดิน รายชื่อผู้บริจาคเงินสร้างโรงเรียนยุพราช วิทยาลัย

4.สมเด็จพระบรมโอรสธิราชสยามมกุฏราชกุมาร( พระยศของรัชกาลที่ 6 ขณะนั้น) พระราชทาน 500 บาท หม่องปันโย หรือหลวงโยนะการพิจิตร ร่วมบริจาคเงินสร้างโรงเรียนยุพราช ๓๐ บาท


5.การเรี่ยรายเงินซ่อมวิหารวัดพระสิงห์และซื้อของบำรุงโรงเรียน และรายชื่อผู้บริจาคเงินซ่อมวิหารวัดพระสิงห์และซื้อของบำรุงโรงเรียนหลวงโยนะการพิจิตรบริจาค ๕ รูเปีย

6.หลวงรายชื่อเจ้านายฝ่ายเหนือและข้าราชการร่วมบริจาคเงินซ่อมแปลงเสาวิหารวัดเจดีย์หลวง หลวงโยนะการพิจิตรร่วมบริจาคสูงสุด ๖๐ บาท (มี 3 ราย)


7 ราชกิจจานุเบกษา เรื่องข้าาชการ พ่อค้า ราษฎรในเชียงใหม่ บริจาคทรัพย์และออกแรงสร้างสพานข้ามลำน้ำลำเหมืองในระหว่างถนนสายอำเภอเชียงใหม่ไปอำเภอแม่ออน ระบุว่า หลวงโยนะการพิจิตรสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโฮม (ในสันกำแพง)คิดเป็นเงิน ๑๘๐๐ รูเปีย

8.ราชกิจจาประกาศ หลวงโยนะการพิจิตรออกทรัพย์ส่วนตัว ๒๕๐๐ รูเปียซ่อมถนนเจริญประเทศ ยาว ๕๐ เส้น กว้าง ๔ วา

9.ราชกิจจานุเบกษา เรื่องสร้างศาลาที่ป่าช้าประตูหายยาถวายเป็นพระราชกุศล

หลวงโยนะการพิจิตรร่วมบริจาคเงิน ๒๐ รูเปีย


10. ราชกิจจานุเบกษษ เรื่องการสร้างโรงเรียนวัดนันตาราม เชียงใหม่ หลวงโยนะการพิจิตรร่วมบริจาค 19 บาท 32 สตางค์

11. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศเรื่องให้สิ่งของบำรุงโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เชียงใหม่ หลวงโยฯจัดพิมพ์หนังสือระเบียบการกรีฑาให้ก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ๓๐๐ เล่มคิดเป็นเงิน ๗๕ บาท


ผู้ค้นคว้าราชกิจจานุเบกษา นายสมรรถพงค์ เตชะเสน เหลนของหลวงโยนะการพิจิตร

ผู้นำเสนอ นางศรีสุดา ธรรมพงษา และ ผศ.ดร. กัลยา ธรรมพงษา



ความเห็น (4)

ทึ่งอาจารย์ค้นข้อมูลออกมาละเอียดมากๆ

ขอบคุณมากๆครับ

Salute!

I wonder if there is a public structure "named" in his honour?

If not why not? Should his descendants be looking for such memorial?

Should we look at setting a visual sign/icon to signify his contribution in each and every place he was involved in development?

This could be come a historical route (of waypoints and chronological references) for studying history and arts of his time.

Good remarks. my sincere thank for your valuable comment. This gives me an idea to make a strong recommendation to various organizations both at the provincial and governmental levels to do something to signify contributions given by our historic men. I mean it.

Not only Luang Yonakahnpijit, but all people like him deserve some kinds of public honour.



Hi again GD : I am glad to hear that! I mean it too.

I did not mention 'income generating side of historical recognition (books [like a collection of your posts; in vaious forms], postcards, "props" [for tourists to take pictures with historical icons/structures in background];... even a festival to celebrate/conmemorate such history). These 'business can provide funding for start-up and maintenance of such campaign.

But you would know better what goes and what does not in Thailand ;-) Good luck!

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท