เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง : ๕. การเรียนการสอนแบบสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน



บันทึกชุด "เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง" ๒๖ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Transformative Learning in Practice : Insight from Community, Workplace, and Higher Education เขียนโดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor and Associates ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2009

ตอนที่ ๕ นี้ ได้จากการตีความบทที่ 4 Constructive Teaching and Learning : Collaboration in a Sociology Classroom เขียนโดย Debra Langan (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาสังคมวิทยา และสมาชิกของ Centre for the Support of Teaching มหาวิทยาลัย ยอร์ค โตรอนโต แคนาดา), Ron Sheese (รองศาสตราจารย์ สาขาจิตวิทยา และสมาชิกของ Centre for Academic Writing และ Centre for the Support of Teaching มหาวิทยาลัย ยอร์ค โตรอนโต แคนาดา), Deborah Davidson (สอนที่ ภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย ยอร์ค โตรอนโต แคนาดา)

สรุปได้ว่าการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (โลกทัศน์) ต้องเรียนโดยนักศึกษาเรียนเป็นทีมหรือกลุ่มย่อย มองห้องเรียนเป็นพื้นที่ทางสังคมระหว่างนักศึกษากันเอง และกับอาจารย์ มีการเปิดใจแลกเปลี่ยนความรู้สึก ความเข้าใจ การตีความ ระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ผู้คนในสังคมมีความเห็น ความเชื่อ หรือให้คุณค่าแตกต่างกัน

อ่านต้นสังกัดของผู้เขียนแล้ว ผมเห็นตัวอย่างของวิธีจัดองค์กร ให้มีศูนย์สนับสนุนการทำหน้าที่ ของอาจารย์อย่างมีคุณภาพ ดังกรณี Centre for the Support of Teaching และ Centre for Academic Writing และให้อาจารย์ที่สนใจ/เชี่ยวชาญ/ต้องการเรียนรู้ เรื่องนั้นๆ จริงจัง เข้าเป็นผู้ทำงาน/สมาชิก นอกเหนือจากหน้าที่อาจารย์ตามปกติ ผมอยากเห็นมหาวิทยาลัยไทยมีศูนย์อย่างนี้บ้าง เช่นศูนย์พัฒนาการเรียนการสอน ศูนย์เชื่อมโยงชุมชน (Community Engagement Center) เป็นต้น มีผู้อำนวยการศูนย์ นักวิชาการประจำ และอาจารย์ที่ทำงานเพียงบางเวลา ทำหน้าที่ตามข้อตกลง

การเปลี่ยนแปลงในนักศึกษาที่อยู่ในความสนใจของบทนี้คือ ให้นักศึกษารู้จักท้าทายคติหรือความเชื่อ ในสังคม ที่เป็นบ่อเกิดของความไม่เท่าเทียมกัน

มหาวิทยาลัย ยอร์ค มีความเหมาะสมที่จะเอาใจใส่การเรียนรู้ในมิตินี้ เพราะเป็นมหาวิทยาลัยใหญ่ อยู่ชานเมืองโตรอนโต ที่เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดา ที่ร้อยละ ๔๓ ของคนในเมืองเป็น "ชนกลุ่มน้อย" มีจำนวนนักศึกษา ๖ หมื่นคน ที่ร้อยละ ๖๘ ของนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ต้องทำงานหาเงินไปพร้อมกับเรียน มหาวิทยาลัย โดยร้อยละ ๘๔ ของนักศึกษาปี ๑ "เดินเรียน" และร้อยละ ๖๔ พักอาศัยที่บ้าน เป็นสภาพที่นักศึกษาอยู่ในสภาพตัวใครตัวมัน กล่าวได้ว่า ขาดความเป็นชุมชนในหมู่นักศึกษา และยากต่อการสร้าง student engagement

ผู้เขียนเล่าเรื่องของการใช้การเรียนการสอนรายวิชาสังคมวิทยา เป็นเวลา ๒ ปี (ค.ศ. ๒๐๐๔ - ๒๐๐๕) เพื่อบรรลุการเปลี่ยนแปลง คือความเป็นชุมชนในหมู่นักศึกษา โดยคณะผู้เขียนมองกิจกรรมการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่เป็นรายวิชา แต่มองเป็นพื้นที่ของการทำกิจกรรมร่วมกันของอาจารย์, TA, และนักศึกษา เพื่อทำความเข้าใจ และยกระดับบรรยากาศการเรียนรู้ มีนักศึกษาเข้าร่วม ๓๒๕ คน (๑๗๕ ในชั้นปีที่ ๑ ค.ศ. ๒๐๐๔ และ ๑๕๐ ในชั้นปีที่ ๒ ค.ศ. ๒๐๐๕) ในการเรียนรู้นี้นักศึกษาเข้าฟังการบรรยายสัปดาห์ละครั้ง (๒ ชั่วโมง) และเข้าห้องติวกลุ่มย่อย ๒๐ - ๒๕ คน สัปดาห์ละครั้ง (๑ ชั่วโมง)

มี TA จำนวน ๗ คน เข้าฟังการบรรยายด้วยทุกครั้ง และทำหน้าที่อำนวยการเรียนรู้ในห้องติวกลุ่มย่อย โดยที่ TA เหล่านี้ผ่านการฝึกวิธีทำหน้าที่ TA ใน 3-day workshop ที่จัดโดยอาจารย์ผู้เขียนบทความนี้

หลักสูตรนี้ยังดำเนินต่อมาจนถึงปีที่เขียนหนังสือ มีนักศึกษา ๑,๒๐๐ คน และ TA ๓๓ คน


กรอบทฤษฎี

เป้าหมายอย่างหนึ่งของการเรียนรู้ คือการพัฒนาโลกทัศน์ของตนเอง ในรายวิชานี้ ผู้เขียนต้องการให้นักศึกษาเกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม ที่ฝังแฝงอยู่ในปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน ในสถาบัน และในโลก และแสดงความไม่ยอมรับความไม่เท่าเทียมนั้น เป็นการเรียนรู้ผ่านการสนทนาภายใต้นิยามใหม่ ความหมายใหม่ และเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์ (interaction-based learning) ไปสู่การมีโลกทัศน์ที่ยอมรับความแตกต่าง (inclusive worldview)

ในนิยามของ Mezirow การเปลี่ยนโลกทัศน์ (perspective transformation) หมายถึง กระบวนการสู่ความตระหนักรู้ ว่าสมมติฐานความเชื่อของตนเองเป็นอุปสรรคต่อการรับรู้ ทำความเข้าใจ และรู้สึก เกี่ยวกับโลก นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความเคยชินเหล่านี้ ไปสู่มุมมองที่ยอมรับความแตกแต่าง (inclusive) แยกแยะ (discriminative) และบูรณาการ (integrative) ยิ่งขึ้น และในที่สุด มีการตัดสินใจเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง

ผู้เขียนใช้ทฤษฎีของ Babara Thyer Bacon (1999, 2003) ที่เสนอว่าต้องนิยาม การคิดอย่างมีวิจารณญาณ เสียใหม่ ว่าหมายถึงการคิดเลยเหตุผล (logic) ไปสู่ปัญญาญาณ (intuition) จินตนาการ (imagination) และความรู้สึกเชิงอารมณ์ (emotional feelings) และเสนอคำ "constructive thinking" เพื่ออธิบายการสร้างความรู้ ด้วยกระบวนการทางสังคมร่วมกับผู้อื่น โดยมีความเอื้ออาทร (caring) เป็นปัจจัยสำคัญ เป็นที่มาของชื่อ "Constructive Teaching and Learning" ของบทนี้ และผมใช้คำว่า "การเรียนการสอนแบบสร้างความรู้ร่วมกัน"

เขาอธิบายว่า ในการเรียนรู้แบบสร้างความรู้ร่วมกันนี้ บรรยากาศของการฟังกัน ที่เขาเรียกว่า "เล่นเกมเชื่อ" (believing game) แทนที่ "เล่นเกมไม่เชื่อ" (doubting game) หรือเกมโต้แย้งเอาชนะ ในการคิดอย่างมีวิจารณญาณตามปกติ

ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจให้ชัด ว่าไม่ใช่ปฏิเสธเหตุผล แต่เลยเหตุผล ไปสู่ ปัญญาญาณ จินตนาการ และอารมณ์ คือใช้วิธีคิดแบบ both … and … ไม่ใช่ either … or … คือมองความรู้ และการเรียนรู้ ในชีวิตจริง ว่ามีความซับซ้อน เลยความรู้และการเรียนรู้แบบใช้เหตุผลเพียงอย่างเดียว ความรู้ไม่ได้มีเพียงความรู้สากล เท่านั้น แต่ยังมีความรู้ภาคท้องถิ่น (local) และความรู้จำเพาะบริบท (contextual) ด้วย การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ต้องเน้นการยอมรับ และทำความเข้าใจมุมมองที่หลากหลาย (inclusive) ผู้เรียนต้องเข้าใจว่า การเรียนรู้ เป็นเรื่องของ สัมพัทธภาพระหว่างสิ่งที่ตนต้องการเรียนรู้ กับตนเอง ความรู้ไม่ใช่สิ่งที่ลอยอยู่เหนือตัวตน ของผู้เรียน ความรู้ไม่แยกตัวจากผู้เรียนรู้ นี่คือการประยุกต์ทฤษฎี ควอนตัม ทางฟิสิกส์ เข้ากับธรรมชาติของการเรียนรู้ และธรรมชาติของความรู้


Transformative Learning ในบรรยากาศทางสังคม

หัวใจคือ การมองรายวิชาเป็นสภาพแวดล้อมด้านการเรียนรู้ หรือพื้นที่ทางสังคม เพื่อการเรียนรู้ ร่วมกันในหมู่นักศึกษา ร่วมกับทีมอาจารย์ มองว่า เพื่อการเรียนรู้ นักศึกษาต้องเคลื่อนไหวไปในพื้นที่ของ การเรียนรู้ ทั้งด้วยกระบวนการทางปัญญา และกระบวนการทางอารมณ์ เพื่อพัฒนาการของตนเอง

การจัดการเรียนรู้โดยทีมอาจารย์ จึงเป็นการจัดการพื้นที่ทางสังคม เพื่อบรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ ตามที่กำหนดไว้ และเพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์

จะเห็นว่า เพื่อบรรลุเป้าหมาย "การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง" (Transformative Learning) ต้องมีการนิยามสิ่งที่เรียกว่า "การเรียนรู้" เสียใหม่ ที่ผู้เขียนเรียกว่า Constructive Teaching and Learning โดยชี้นำด้วยคุณค่า ๕ ประการ

  • ๑.ความร่วมมือ (collaboration) โดยมองการเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสังคม เปรียบเทียบกับการรู้ของผู้อื่น ไม่เอาตนเป็นที่ตั้งเพียงฝ่ายเดียว
  • ๒.เรียนอย่างลึก (deep learning) ทำความเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างส่วนต่างๆ ในเนื้อหารายวิชา
  • ๓.ไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection) เพื่อเชื่อมโยงความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิม และประสบการณ์ชีวิต
  • ๔.ความผูกพัน (engagement) เรียนรู้ผ่านสานเสวนา หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • ๕.เอื้ออาทร (caring) รับฟังและทำความเข้าใจผู้อื่น เพื่อเรียนรู้ความเหมือนและความต่าง ของการเรียนรู้


ปฏิบัติการการเรียนโดยร่วมมือ

ผู้เขียนบทนี้เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงส่วนบุคคล (personal transformation) เกิดขึ้นได้ เมื่อตัวนักศึกษา ผู้นั้นไม่ได้เพียงผูกพันอยู่กับวิชา แต่ผูกพันกับเพื่อนนักศึกษาด้วย จึงออกแบบชั้นเรียน ให้นักศึกษาร่วมมือกัน เกิดปฏิสัมพันธ์กันในกลุ่มนักศึกษา TA และอาจารย์ ผ่านกิจกรรมกลุ่มย่อยใน ห้องติวกลุ่มย่อย และในห้อง บรรยายแบบมีปฏิสัมพันธ์ โดยระบุวิธีเรียนนี้ไว้ในเอกสารรายวิชา (course syllabus) อย่างชัดเจน ว่าเป็นกิจกรรมเพื่อร่วมกันสร้างความรู้ โดยในห้องติวกลุ่มย่อย TA จัดให้มีทีมนักศึกษาทีมละ ๓ - ๕ คน เป็นทีมที่ทำงานร่วมกันตลอดเทอม ยกเว้นเกิดปัญหาการทำงานร่วมกันในทีม TA หรืออาจารย์ จะเข้าไปช่วยจัดทีมใหม่ และในห้องบรรยายก็มีการจัดทีมนักศึกษาเช่นเดียวกัน แต่สมาชิกของทีม ต่างจากทีมในห้องติว เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนต่างคน

มีการจัดกิจกรรม เพื่อให้เกิดทักษะการทำงานเป็นทีม และเกิดความใกล้ชิดสนิทสนมกัน ให้ติดต่อสื่อสารช่วยเหลือกันได้ตลอดเวลา

ทั้งในชั้นบรรยาย และชั้นติว ทีมนักศึกษามีงานที่ต้องทำร่วมกันตลอดเวลา ในชั้นติว ทีมนักศึกษาได้รับโจทย์ให้ทำร่วมกัน แล้วติวเตอร์ (TA) เลือกบางทีมให้นำเสนอผลงานต่อชั้น ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection) ร่วมกัน ในห้องเรียนแบบบรรยาย เมื่ออาจารย์บรรยาย ไประยะหนึ่ง ก็จะมีประเด็นให้ทีมนักศึกษาร่วมกันคิด แล้วอาจารย์ชี้ให้บางกลุ่มนำเสนอต่อชั้น ตามด้วยการสะท้อนคิดในชั้น ในชั้นบรรยายมีการบรรยายสลับกับกิจกรรมกลุ่มของนักศึกษา สลับไปสลับมา อ่านถึงตรงนี้ ผมคิดว่า สามารถนำเอา เทคนิค กลับทางห้องเรียนมาใช้ได้

ผู้เขียนบอกว่า อุปสรรคสำคัญของการเรียนการสอนแบบนี้ ในช่วงแรก คือนักศึกษาไม่ชอบ เพราะไม่ตรงกับความคาดหวังว่าการมาเรียนคือมาฟังอาจารย์สอนแบบถ่ายทอดความรู้ ไม่ใช่มาเรียนแบบ ทำงานกลุ่ม แต่เข้าใจว่าในที่สุดนักศึกษาก็ตระหนักในคุณค่าของการเรียนแบบนี้ รายวิชานี้จึงอยู่ยงและ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนเพิ่มขึ้นเกือบสิบเท่า

จึงต้องมีวิธีเอาชนะความเคยชินเดิมๆ ของนักศึกษา ด้วยเครื่องมือต่อไปนี้


เสวนาประชาธิปไตย

สิ่งที่พบในการจัดกลุ่มเรียนรู้ดังกล่าว คือมีนักศึกษา (และ TA) บางคนไม่สามารถเข้ากลุ่มได้ อาจารย์ก็ต้องเข้าไปช่วย และในที่สุดก็พบเครื่องมือสำคัญ คือ ตัวป่วน

ใช้ "ตัวป่วน" (disruption) ในการสร้างความปั่นป่วนทางความคิดและความเชื่อเดิมๆ เขายกตัวอย่างตัวป่วนเป็นการบรรยาย หรือภาพยนตร์ เช่นเชิญแม่ที่เป็นเลสเบี้ยนมาเล่าเรื่องการที่ แม่เลสเบี้ยนเลี้ยงลูก เชิญผู้ให้บริการทางเพศมาพูดเรื่องการทำให้บริการทางเพศเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ตัวป่วนเหล่านี้คือเครื่องมือ ให้นักศึกษาตีแผ่โลกทัศน์ของตนออกมา เพื่อการทบทวนไตร่ตรองร่วมกัน

แน่นอนว่า ตัวป่วนจะช่วยเปลี่ยนห้องเรียนให้เต็มไปด้วยความเห็นที่ขัดแย้ง การเผชิญหน้ากัน และการแสดงอารมณ์ใส่กัน ทั้งจากนักศึกษา และจากอาจารย์ ซึ่งเป็นโอกาสให้อาจารย์ใช้เวลาช่วงบรรยาย ชวนนักศึกษาวิเคราะห์ (เขาใช้คำ deconstruct) ว่าสาระจากตัวป่วน กระทบอารมณ์และความรู้สึกนึกคิด ของเขาอย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น จะได้ข้อคิดเห็นที่ประเทืองปัญญายิ่ง

แต่เวลาในห้องเรียนไม่พอที่จะให้นักศึกษาทุกคนแสดงความรู้สึก ผู้เขียนจึงจัดให้นักศึกษาทุกคนเขียน "รายงานหนึ่งนาที" ตอนท้ายชั่วโมง หรือให้ตอบแบบสอบถาม แล้วอาจารย์นำมาสังเคราะห์หรือ สะท้อนคิดต่อ นำกลับไปกระตุ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชั้นเรียนต่อไป


ตระหนักถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม

ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและโลกทัศน์ของนักศึกษาอาจเป็นอุปสรรคใหญ่ของการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง คือนักศึกษาอาจยอมรับสาระในรายวิชาไม่ได้ และในช่วงการเสวนาใคร่ครวญไตร่ตรองร่วมกัน ที่นักศึกษาต้องเผยใจตนออกมาแลกเปลี่ยน อาจรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัว

อาจารย์ต้องจัดกิจกรรมนี้โดยตระหนักถึงเป้าหมายของการเรียนรู้ ที่ท้าทายแนวคิดกระแสหลัก ของการศึกษาตะวันตก ที่เน้นความสอดคล้อง การปฏิบัติตามผู้มีอำนาจ และการควบคุม

ด้วยเหตุนี้เอง จึงต้องจัดการเรียนรู้แบบที่รับฟังความเห็นของคนกลุ่มน้อย และรับฟังซึ่งกันและกัน


อุปสรรคเชิงโครงสร้าง

อุปสรรคสำคัญที่สุดคือขาดนโยบายสนับสนุนบรรยากาศการเรียนรู้แบบร่วมมือกัน เริ่มตั้งแต่สภาพแวดล้อมเชิงกายภาพ ที่การจัดห้องเรียนที่ยืดหยุ่น ย้ายโต๊ะเก้าอี้สิ่งของ เพื่อจัดพื้นที่โล่งเป็นพื้นที่จัดกจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน หรือการเรียนกลุ่มย่อย

วัฒนธรรมการเรียน ที่เชื่อว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่ใช่กิจกรรมเชิงสังคมระหว่างนักศึกษา ที่ยึดถือต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน เป็นอุปสรรคต่อการยอมรับวิธีเรียนรู้ตามที่เล่าในบันทึกตอนนี้


ไตร่ตรองสะท้อนคิด

หัวใจสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ คือการที่อาจารย์ตระหนักว่า ในขณะที่ตนทำหน้าที่อำนวยการเรียนรู้ แก่ศิษย์ อาจารย์เองก็เรียนไปด้วย และเกิดการเปลี่ยนแปลงไปด้วย

และเพื่อให้อาจารย์เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลัง อาจารย์เองก็ต้องทำงานแบบร่วมมือกันเป็นทีม เกิดความเป็นชุมชนในสถาบันการศึกษา การบริหารสถาบันอุดมศึกษาจึงเป็นการสร้างความเป็นชุมชน ขึ้นในสถาบัน คือสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และไมตรี ระหว่างกัน ร่วมกันเปลี่ยนการศึกษาจากเป็นกิจกรรม ที่ทำโดยอาจารย์ ไปเป็นกิจกรรมที่อาจารย์ทำร่วมกับนักศึกษา เน้นการให้นักศึกษาเป็นผู้ลงมือทำ เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเอง



วิจารณ์ พานิช

๓๐ ธ.ค. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 588989เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2015 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2015 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท