ชีวิตที่พอเพียง ๒๓๘๔. สี่สหายกินอาหารบราซิล



วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ คณะสี่สหายนัดไปกินอาหาร สแกนดิเนเวียนอีกครั้งหนึ่ง เพราะติดใจอาหารที่เคยไปกินครั้งหนึ่งแล้ว ดัง บันทึกนี้

ผมรถติดอยู่แถวถนนรัชดาฯ ก่อนถึงแยกเพชรบุรี จึงไปถึงทีหลังคนอื่นๆ และพบว่าร้านอาหารเปลี่ยนชื่อเป็น Brasil Churrascoกลายเป็นอาหารบราซิล ไม่ใช่อาหารสแกนดิเนเวียน

เมื่อเป็นอาหารบราซิล ก็ต้องกินสเต๊ก เรากินสเต๊กเนื้อ หมู และปลา อร่อยทั้งสามอย่าง แกล้ม wheat beer เหมือนตอนไปกินปลายปี ๕๖

เวลาผ่านไปปีเศษ เจ้าของร้านจำพวกเราได้ และแนะ ดร. วิชัย ที่ไปถึงเป็นคนแรก ว่าคราวที่แล้วเรานั่งโต๊ะนี้ ตกลงเรานั่งโต๊ะเดิม เจ้าของเดิม เบียร์ยี่ห้อเดิม แต่อาหารเปลี่ยนเป็นบราซิลเลี่ยน ที่สำคัญ ดร. วิสุทธิ์จำชายหนุ่มเจ้าของร้านได้ โดยที่ผมจำไม่ได้เลย

ดร. วิสุทธิ์ความจำดีจริงๆ ผมคุยให้ฟังเรื่องยุค Genomics ที่นำไปสู่ยุค Epigenomics ที่ความเข้าใจเรื่องกลไกควบคุมพันธุกรรมย้ายจุดเน้นจาก "ยีนโครงสร้าง" สู่สวิตช์ยีน โดยที่เดิมเข้าใจผิด ว่า ดีเอ็นเอ ส่วนที่ไม่ใช่ยีนโครงสร้างเป็น "ขยะ" (junk DNA) ดร. วิสุทธิ์ท้าวความหลังตอนไปประชุมด้วยกันกับผม ที่ U Berkeley เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ว่า Dr. Chu เสนอว่า ดีเอ็นเอส่วนใหญ่ที่ไม่เป็นยีนโครงสร้างทำหน้าที่เป็น buffer ป้องกันยีนโครงสร้างจากการถูก บอมบาร์ด ด้วยรังสีที่สร้างรอยแผลให้แก่ ดีเอ็นเอ

เราใช้เวลาส่วนใหญ่คุยกันเรื่องวางแผนการพบปะครั้งต่อๆ ไป และตกลงกันว่าคราวต่อๆ ไปจะกินอาหารแกล้มชมพิพิธภัณฑ์ โดยคราวหน้าจะไปหาอาหารกินแถวๆ เสาชิงช้า แล้วชมพิพิธภัณฑ์นิทรรศน์รัตนโกสินทร์

นอกจากนั้น เราคุยกันเรื่องอาจารย์ฉัตรทิพย์ เพราะว่าในโอกาสที่จุฬาจะมีอายุครบ ๑๐๐ ปี จะมีการเขียนเรื่องราวของศิษย์เก่าที่เป็น "เสาหลัก" ด้านวิชาการของแผ่นดิน และเขาเลือกอาจารย์ฉัตรทิพย์เป็นคนหนึ่งในนั้น โดยผู้เขียนคือแม่ชีวิมุตติยา (ดร. สุภาพรรณ ณ บางช้าง) แม่ชีท่านต้องการคุยกับคนที่รู้จักอาจารย์ฉัตรทิพย์ดีสามสี่คน อาจารย์ฉัตรทิพย์แนะนำชื่อผมด้วย เราจึงคุยกัน ว่าผมจะไปให้ความเห็นอย่างไร

ออกจากคณะสี่สหาย ผมตรงไปจุฬา ไปที่คณะเศรษฐศาสตร์ตามที่นัดหมายเวลา ๑๔.๓๐ น. ผมไปฟังมากกว่าพูด และพบว่า คนที่ไปให้ความเห็นเรื่องอาจารย์ฉัตรทิพย์เห็นความเป็นคนพิเศษด้านวิชาการของท่านตรงกับที่ผมรู้สึก แต่มีรายละเอียดมากกว่าที่ผมทราบมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเขียนที่ท่านเคยเขียนที่แสดงความเป็น "ซ้าย" (Marxist) ของท่าน แต่ท่านไม่ถูกระแวงว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของบ้านเมืองเลย เพราะท่านเขียนแบบนักวิชาการ และเขียนอย่างสุภาพ

ผมได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้ว ศ. ดร. ฉัตรทิพย์เป็นคนที่ทำงานวิชาการคร่อมศาสตร์ คือคร่อมสังคมศาสตร์ (เศรษฐศาสตร์) กับมนุษยศาตร์ (ประวัติศาสตร์) แถมด้านเศรษฐศาสตร์ท่านยังอยู่ตรงชายขอบเสียอีก คือเน้นเศรษฐศาสตร์การเมือง คนที่จะทำงานวิชาการแบบนี้ต้องแข็งและมุ่งมั่นจริงๆ แต่ ดร. ฉัตรทิพย์มีมากกว่านั้น คือมีความสุภาพอ่อนน้อม เคารพเห็นคุณค่าคนอื่น และดำรงความมุ่งมั่นอยู่เฉพาะงานวิชาการ ไม่ทำงานเคลื่อนไหว ทำให้ท่านไม่ถูกระแวงหรือเพ่งเล็ง

ผมได้เรียนรู้ว่า นักประวัติศาสตร์เขาทำงานวิชาการแบบไม่มีกรอบ แต่นักสังคมศาสตร์ใช้กรอบความคิดในการตีความ ปรากฏการณ์ทางสังคม ดร. ฉัตรทิพย์ เอากรอบไปใส่งานทางประวัติศาสตร์ของท่าน นักประวัติศาสตร์จึงยอมรับยาก



วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.พ. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 588541เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2015 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2015 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เคยอ่านงานของ ศ.ดร.ฉัตรทิพย์เรื่อง ทฤษฎีบ้านเมือง ศาตราจารย์คำจอง กับการศึกษาชนชาติไท ละเอียดและชัดเจนมากครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท