นิสัย ใน ระบอบทุนนิยม


นิสัยคือ สิ่งที่ปฎิบัติเคยชินจนเป็นปกติ เช่นการที่จะเข้ามาบวชในศาสนาพุทธ พระอุปัชฌาย์ จะได้ให้ นิสัย 4 คือ เครื่องอาศัยของนักบวช ปฏิบัติเพื่อการยังชีพ ประกอบด้วย นิสัยแห่งการบิณฑบาตร นิสัยแห่งการห่มผ้าบังสกุล นิสัยแห่งการอยู่โคนไม้และเรือนว่าง นิสัยที่ต้องกินยาดองน้ำมูตร(ปัสสาวะ) การให้นิสัยนี้หมายความว่านักบวชทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีทรัพย์สินอันใด จะต้องดำรงตนแบบง่าย และเนื่องด้วยผู้อื่น นิสัยที่จำเป็นก็สัมพันธ์กับการใช้ปัจจัย 4

นิสัย จึง เป็นการกระทำให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและอุดมคติ เช่นพุทธศาสนาเป็นจิตนิยม ไม่ใช่ วัตถุนิยม จึงต้องใช้สอย
วัตถุอย่างระมัดระวัง ไม่ให้เป็นทาสวัตถุ ทุกอย่างจึงสอดคล้องกันไม่ว่าจะศีล ศีลสิบก็บอกว่าห้ามใช้เงินทองรูปียะ จึงสอดคล้องกับนิสัยสี่ อย่างชัดเจน แม้แต่ระดับวินัยก็มีความเสี่ยงถึงขั้นต้องออกจากความเป็นพระทันที ถ้าเอาเงินหรือสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้เทียบได้ห้ามาสก ต้องปราชิกทันที นี่สอดคล้องกับนิสัย 4 ถึงจะได้รับเงินก็ตามต้องสละออกที่เรียกว่า นิสสัคีย์ปาจิตตีย์ ก็สอดคล้องกับนิสัยสี่
คือเป็นจิตนิยม

ต่อมา โลกได้เป็นใหญ่ขึ้น มีพัฒนาการมากขึ้น โลกแห่งจิตนิยมกลับล้าหลัง ไม่ว่าใครก็ถือวัตถุนิยมเป็นใหญ่ เน้นถือการครอบครองทรัพย์สินจำนวนมาก การบริโภคอย่างไม่ยั้ง ทั้งการบริโภคทั้งปกติ และการบริโภคเชิงสัญญะ วิถีชีวิตคนจึงเปลี่ยนไปเพื่อแย่งชิงโภคยทรัพย์ สะสมโภคยทรัพย์ ซึ่งเป็นยุคของระบบทุนนิยม ที่มีเป้าหมายคือกำไรสูงสุด นับถือตัวเลขมากที่สุด

อะไรคือ นิสัยประจำยุคทุนนิยม ที่สอดคล้องมากที่สุด นิสัยแรกก็คือ นิสัยโลภมากไม่รู้จักพอ มีความปรารถนาในโภคยทรัพย์ ถ้าไม่มีกิเลส หรือนิสัยความเคยชินตัวนี้ระบบทุนนิยมอยู่ไม่ได้ เมื่อมีความต้องการ ก็มีการตอบสนองความต้องการ ตามหลักการ demand supply ต้องกระตุ้นให้เกิดความต้องการเพื่อบริโภคให้มาก ๆ นิสัยที่สองคือ นิสัยแห่งการทำลายล้าง เมื่อคนปราถนาในโภคยทรัพย์ใด ๆ ต้องหาหรือแย่งชิงเอามา ไม่ว่าจะเล่ห์ หรือ กล ยิ่งจำนวนเงินมหาศาลซึ่งเป็นทรัพย์ที่อยู่จำกัด จึงแย่งชิงทรัพยากร ขจัดบุคคลที่ขัดขวาง นิสัยที่สาม ไวต่อการกระตุ้นด้วยสื่อ นิสัยนี้เป็นนิสัยพิเศษ เมื่อได้เห็นสื่อก็จะรีบบริโภคทันทีทันได ทำให้วงจรของระบบทุนนิยม หมุนไปอย่างรวดเร็ว นิสัยที่สี่คือ เน้นกำไร และการแลกเปลี่ยน จึงเห็นผู้คนเป็นแค่ลูกค้า เป็นแค่การตลาด เพื่อหากำไรในระบบเท่านั้น นิสัยที่ห้า คือ เน้นวัตถุรูปลักษณ์ รูปแบบอลังการ รูปแห่งบุคลิกภาพ ที่เป็นสินค้าชนิดหนึ่งมากกว่าเนื้อหาที่แท้จริง

วัตถุนิยม กับ จิตนิยม ล้วนแต่ไปคนละทิศ เหมือนน้ำกันน้ำมัน เข้าด้วยกันไม่ได้ เมื่อคนหมดนิสัยแห่งความโลภแล้ว ระบบทุนนิยมก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ปัจจุบันความเชื่อแบบทุนนิยมแบบนี้ มีในทุกที่ทุกตารางเมตร มีในเกือบทุกศาสนาเกือบทุกความเชื่อ จะว่าไปจะเรียกว่าศาสนาเงินแบบบูรณาการ ที่คนเคารพนับถือกันแบบเป็นทางการทั้งโลก การที่คนใดคนหนึ่งบอกว่าลัทธิโน้น ลัทธินี้ เป็นทุนนิยม ให้คิดใหม่ว่ามันเป็นไปทั้งโลกและประเทศไทยทุกตารางนิ้ว เป็นไปโดยผ่าน นิสัย แห่ง ระบบทุนนิยมอันเป็นสรณัง คัจฉามิ ไปแล้ว





หมายเลขบันทึก: 588536เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2015 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2015 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ศาสนาพุทธปัจจุบันที่ผมพบเจอทุกเมื่อเชื่อวันเป็นพุทธแบบ วัตถุนิยม ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อของผม พอผมไม่เชื่อเหมือนเขา ผมก็เลยกลายเป็นพวกนอกรีดนั่นเอง ผมกลายเป็นคนชั่ว คนเลว สามารถทำชั่วได้โดยไม่มีความกลัวบาป
พุทธไทยปัจจุบันเน้นวัตถุ สร้างโบสถ์ สร้างวัดให้ยิ่งใหญ่
พระมัวแต่หาเงินสร้างวัตถุ หาเงินจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ไม่มีเวลาศึกษาธรรม นับวันจิตใจพระยิ่งจมลงในวังวนแห่งวัตถุ
พระมัวแต่ รับแขก แจกของ สร้างภาพ เพื่อยศถาบรรดาศักดิ์ ที่เรียกกันว่า พัตรยศ
ได้มาก็เฉลิมฉลองใหญ่โต ไม่รู้ว่าฉลองไปเพื่ออะไร
พระวนเวียนอยู่กับวัตถุ คิดแต่หาเงินสร้างโบสถ์ วัด โดยหวังจะได้กุศลสูงส่ง หลอกลวงผู้คนให้หลงเชื่อว่าสร้างนู่นนี่นั่นได้จะได้บุญนู่นนี่นั่น เกิดมาชาติหน้าจะได้มีบ้านรถเงินทอง

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท