ระบบถ่ายถอดอักษรอินเดียด้วยอักษรโรมัน


เป็นที่ทราบกันดีว่าในประเทศอินเดียนั้นมีหลากหลายภาษา อีกทั้งยังมีอักษรสำหรับเขียนหลากหลายชนิดด้วย. อักษรชนิดหนึ่งอาจเขียนได้หลายภาษา เพราะมีระบบเสียงที่คล้ายกัน แต่ก็ไม่สามารถใช้แทนกันได้ทั้งหมด ดังนั้นหากเราต้องเรียนรู้หรืออ่านภาษาต่างๆ ของอินเดีย จึงต้องเรียนรู้อักษรชนิดนั้นๆ ด้วย

อักษรที่ใช้กันมากก็เช่น อักษรเทวนาครี อักษรเบงกาลี อักษรคุชราตี ฯลฯ สำหรับภาษาฮินดี และสันสกฤต มักใช้อักษรเทวนาครีเป็นหลัก แต่ใช้อักษรอื่นก็ได้ ทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นจากอักษรพราหมีในสมัยโบราณ อักษรกลุ่มนี้ของอินเดียยังสามารถเทียบได้กับอักษรไทย ขอม มอญ พม่า ชวา ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้เพื่ออ่านอักษรเหล่านี้ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะไม่ได้มีเพียงตัวอักษรเปล่าๆ แต่ยังมีสระ และวิธีการวางสระที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ยังมีอักษรเชื่อม ชนิดที่ไม่มีสระติดอยู่ การเริ่มอ่านเขียนอักษรใหม่ๆ จึงนับว่าไม่ง่าย กระทั่งหลายคนท้อแท้ เลิกไปเลยก็มี

ด้วยเหตุนี้และเพื่อความสะดวกในการพิมพ์หรือบันทึก จึงเกิดระบบอักษรโรมันเพื่อที่ใช้ถ่ายถอดอักษรอินเดียขึ้น เช่น ระบบ IAST ระบบ Harvard-Kyoto ระบบ ITRANS ระบบ Velthuis ระบบ SLP1 เป็นต้น

ระบบที่นิยมใช้ทั่วไป

ระบบที่น่าจะเป็นที่รู้จักกันดีก็คือ IAST (International Alphabet of Sanskrit Transliteration) แม้ชื่อจะระบุภาษาสันสกฤต แต่สามารถใช้ถ่ายถอดภาษาอื่นได้เช่นเดียวกันหากมีอักษรตรงกัน ระบบนี้ใช้จุดและขีดเพื่อเพิ่มเสียง เช่น รามายณ จะถ่ายถอดเป็น "rāmāyaṇa" (มีการใช้ขีดเหนือสระ a และมีจุดใต้ตัว n) ระบบนี้ไม่มีความแตกต่างระหว่างอักษรพิมพ์ใหญ่และอักษรพิมพ์เล็ก แต่ใช้เครื่องหมายซึ่งทำให้เขียนได้กะทัดรัด สวยงาม แต่ยุ่งยาก

สำหรับระบบ ITRANS นั้นเน้นความสะดวกในการพิมพ์ จึงไม่ใช่เครื่องหมายพิเศษ ทำให้สามารถพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดหรือโปรแกรมพิมพ์ทั่วไป เช่น รามายณะ จะถ่ายถอดเป็น "raamaayaNa" ระบบนี้มีความแตกต่างระหว่างอักษรพิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ ใช้สระคู่เพื่อบอกเสียงยาว ใช้อักษรพิมพ์ใหญ่สำหรับพยัญชนะบางตัว

อีกระบบหนึ่งที่น่าจะเริ่มคุ้นเคยกันก็คือระบบ Harvard-Kyoto หรือ HK ระบบนี้ไม่ใช้เครื่องหมายพิเศษ และใช้อักษรพิมพ์เล็กใหญ่เช่นเดียวกัน ITRANS แต่พยายามลดจำนวนอักษรลง ทำให้เขียนได้กะทัดรัดมากขึ้น เช่น รามายณะ จะถ่ายถอดเป็น "rAmAyaNa"

สำหรับระบบอื่นๆ ท่านที่สามารถสามารถค้นหาอ่านได้จากเว็บไซต์ทั่วไป หรือค้นได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Devanagari_transliteration


*เผยแพร่ครั้งแรกในเฟสบุ๊กของชมรมภาษาและวัฒนธรรมอินเดีย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หมายเลขบันทึก: 588506เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2015 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2015 18:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากครับอาจารย์ ;)...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท