ข้อเสนอแนะแก้ไขกฎหมายการป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารสูง


ข้อเสนอแนะแก้ไขกฎหมายการป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารสูง

โดย ร้อยตำรวจตรีสัณฐิติ ธรรมใจ

(บทความนี้ได้ต่อยอดเป็นบทความ เรื่อง การพัฒนากฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อส่งเสริมบทบาทนายอำเภอในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตสารเทศาภิบาล ปีที่ ๑๐๙ ฉบับที่ ๗ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ หน้า ๒๓ - ๒๘)

ในปัจจุบันมีการก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารหรือดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้ รับอนุญาต หรือมีการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยควบคุมอาคารเป็นจำนวนมากพบทั้งต่างจังหวัด และในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครมีอาคารที่เสี่ยงต่อการเกิด สาธารณภัยถึง ๑๒,๐๐๐ แห่ง ซึ่งนำสู่การเกิดภัยต่างๆ โดยเฉพาะอัคคีภัย ซึ่งจากสถิติของ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร พบว่ามีเหตุอัคคีภัยในปี ๒๕๕๔ สูงถึง ๑,๕๒๔ ครั้ง ในปี ๒๕๕๕ พบว่าในเขตกรุงเทพมหานครได้เกิดอัคคีภัยจำนวน ๑,๑๔๕ ครั้ง มีผู้เสียชีวิต ๑๗ ราย ได้รับบาดเจ็บ ๑๓๗ ราย และในปี ๒๕๕๖ พบว่าในเขตกรุงเทพมหานครเกิดอัคคีภัย ๑,๑๙๙ ครั้ง มีผู้เสียชีวิต ๗ ราย ได้รับบาดเจ็บ ๑๔๒ ราย ถ้ารวมกับความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งประเทศแล้วจะเป็นตัวเลขที่สูงมาก เป็นความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ที่มิอาจประเมินค่าได้ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นการเสียทุนมนุษย์ (Human Capital) ชี้ให้เห็นว่าภาครัฐจำเป็น อย่างยิ่งต้องหามาตรการเพื่อป้องกันสาธารณภัยดังกล่าวโดยเร็ว

จากสภาพปัญหาอาคารสูงและอาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นเกิดเหตุสาธารณภัยบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเหตุเพลิงไหม้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก ทั้งที่มีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ บังคับใช้อยู่ ซึ่งกำหนดมาตรการทางปกครองให้มีการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคารโดยให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นระงับการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารที่ผิดกฎหมายและกำหนดโทษอาญากรณีฝ่าฝืนคำสั่งนี้ไว้ด้วย แต่ดูเหมือนว่ากฎหมายดังกล่าวไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ที่มิได้มีการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารอย่างเคร่งครัด มีการขออนุญาตใช้อาคารตามกฎหมายเพื่อวัตถุประสงค์การใช้อย่างหนึ่ง เมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ใช้อาคารตามวัตถุประสงค์นั้นแล้วกลับมีการนำอาคารไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ตรงกับการได้รับอนุญาตไว้แต่เดิม ทั้งยังมีการลักลอบดัดแปลงอาคารที่ได้รับอนุญาตไว้แต่เดิมในภายหลังที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่อาจรู้ได้ ขาดการควบคุมการใช้อาคารให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างเคร่งครัดโดยเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นโดยที่เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางไม่มีอำนาจอย่างเต็มที่ในการเข้าไปกำกับดูแลและช่วยในการอุดช่องว่างการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว การขาดเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐมีความรู้ไม่เพียงพอในการบังคับใช้กฎหมาย ไม่มีการประชาสัมพันธ์กฎหมาย ขั้นตอน บทลงโทษ วิธีการปฏิบัติที่ชัดเจน ทำให้การใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาการเกิดสาธารณภัยโดยเฉพาะอัคคีภัยขึ้น

การศึกษาฉบับนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีข้อจำกัดในการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ทั้งในส่วนอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่มีข้อจำกัด การบริหารจัดการ รวมถึงจำนวนบุคลากรและการขาดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีนี้กระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นราชการส่วนกลางไม่มีอำนาจบังคับบัญชาให้คุณให้โทษราชการส่วนท้องถิ่นโดยตรง แต่มีอำนาจในฐานะผู้กำกับดูแลกรุงเทพมหานคร และในฐานะผู้บังคับบัญชาผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยา ได้มีความพยายามในการป้องกันสาธารณภัยที่อาจจะเกิดกับอาคารสูงและอาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น โดยได้มีหนังสือสั่งการในการกำกับดูแลและขอตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความโปร่งใสในการออกคำสั่งทางปกครองในการอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลงและใช้อาคารบางประเภท ซึ่งเป็นกระบวนการภายหลังจากที่กระบวนการใช้อำนาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายได้เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ กรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมิได้ใส่ใจและถือปฏิบัติตามหนังสือสั่งการดังกล่าวแต่อย่างใด โดยเพิกเฉยไม่ยินยอมรายงานการใช้อำนาจทางปกครองในการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามข้อสั่งการแต่อย่างใด จึงถือเป็นกรณีที่การใช้อำนาจทางการบริหารแก้ไขปัญหาไม่ได้ผล โดยที่พระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดวิธีการป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ประกอบกับมีงานวิจัยบางฉบับและสถิติของอาคารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งระบุชัดว่าปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น การมีเจ้าหน้าที่กำกับดูแล ตรวจสอบอาคารขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นไม่เพียงพออาจเป็นสาเหตุของปัญหาดังกล่าว

รายงานการศึกษาวิจัยฉบับนี้ได้มีการศึกษาระเบียบกฎหมายและทฤษฎีการจัดการป้องกันและระงับสาธารณภัยในอาคารสูงและอาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นของประเทศไทยและต่างประเทศอย่างแนวคิดการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศแคนาดา และประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งได้ศึกษาผลการใช้บังคับ ข้อดี ข้อเสียของระเบียบ กฎหมาย และทฤษฎีดังกล่าวรวมทั้งได้ศึกษารูปแบบการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชนอีกด้วย จากการศึกษาวิจัยนี้ทำให้ได้แนวทางการปรับปรุงระเบียบกฎหมายการจัดการป้องกันและระงับสาธารณภัยในอาคารสูงและอาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นของประเทศไทยให้ใช้ได้ผลอย่างจริงจังต่อไป หรือโดยอีกนัยหนึ่งการศึกษาวิจัยครั้งนี้สามารถตอบคำถามการวิจัยได้อย่างชัดเจนว่าสามารถนำแนวคิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี การตรวจสอบถ่วงดุลหรือแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นตัวอย่างกฎหมายที่พยายามแก้ไขปัญหาจุดอ่อนของการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่รัฐส่วนท้องถิ่นมาช่วยเสริมประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ ซึ่งจะทำให้การควบคุมอาคารได้ด้วยวิธีการแก้ไขกฎหมายให้หน่วยงานอื่นมีอำนาจตรวจสอบอาคารได้นอกจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายควบคุมอาคาร โดยมีแนวทางในการปรับแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ในการควบคุมและตรวจสอบอาคารเพื่อป้องกันและระงับสาธารณภัยในอาคารสูงหรืออาคารที่มีผู้อาศัยหนาแน่นต่อไป

การรวมตัวกันอยู่ในสังคมทุกสังคมโดยเฉพาะสังคมอารยะที่มีการจัดรูปแบบเป็นรัฐแล้วนั้น ทุกคนจะได้มีสิทธิพื้นฐานสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นสิทธิที่สำคัญมาก นั่นคือสิทธิการมีชีวิตอยู่ (Right to Life) ในสังคมที่มีความเจริญทางด้านวัตถุ และมีผู้คนอยู่หนาแน่นย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่มีการก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารที่มีไว้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันของคนหมู่มาก อาคารที่ใช้รองรับการทำกิจกรรมหรืออยู่อาศัยของผู้คนเหล่านี้จึงต้องมั่นคงแข็งแรงรองรับการทำกิจกรรมของคนเหล่านี้ได้อย่างปลอดภัย แม้ความรับผิดชอบในการจัดให้มีอาคารที่มั่นคงแข็งแรงจะตกอยู่กับผู้ก่อสร้าง ผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน เจ้าของ ผู้ครอบครองหรือผู้ใช้อาคารเป็นหลัก เมื่ออาคารถล่มหรือเกิดเพลิงไหม้บุคคลเหล่านี้ก็อาจต้องรับผิดตามกฎหมายควบคุมอาคาร แต่เมื่อมองในมุมของประชาชนผู้เข้าไปใช้อาคารเหล่านั้นกลับเป็นคนที่ไม่มีส่วนรู้เห็นกับผู้ก่อสร้างหรือผู้ใช้อาคารสูงหรืออาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นที่ก่อสร้างผิดแบบหรือผิดกฎหมายเหล่านั้น แต่พวกเขากลับต้องมาเสี่ยงต่อสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากการที่เข้าไปใช้อาคารที่ไม่มั่นคงแข็งแรงนั้น ซึ่งเป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้เข้าไปใช้อาคารดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนและเป็นการไม่ได้คุ้มครองสิทธิการมีชีวิตอยู่ของผู้คนที่เข้าไปอยู่หรือเข้าไปใช้อาคารอย่างรุนแรง ซึ่งรัฐต้องตระหนักถึงการมีอยู่ของสิทธิการที่บุคคลจะมีชีวิตอยู่นี้ให้มาก บุคคลในรัฐย่อม มีสิทธิที่จะอยู่หรืออาศัยหรือร่วมกิจกรรมใดๆ ในอาคารหรือสถานที่ที่มีความมั่นคงปลอดภัยปราศจากความเสี่ยงต่อการเกิดภัยต่างๆ อันเนื่องมาจากอาคาร เช่น อาคารถล่ม ไฟไหม้ เป็นต้น การที่รัฐจะออกกฎหมายใดๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิพื้นฐานที่สำคัญนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง ในการนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ได้บัญญัติให้รัฐต้องคุ้มครองสิทธิการมีชีวิตอยู่ของประชาชนไว้หลายมาตราด้วยกัน โดยเฉพาะมาตรา ๓๒ ที่ระบุถึงการมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล และมาตรา ๓๓ ที่บัญญัติให้รัฐยอมรับการมีเสรีภาพของบุคคลที่จะอยู่ในเคหสถานอย่างปกติสุข กรณีเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าการจัดให้มีการคุ้มครองชีวิตคนให้ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเป็นแนวนโยบายของรัฐที่จำต้องดำเนินการ ทั้งยังมีบทบัญญัติมาตรา ๓/๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ และมาตรา ๖ แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ ที่กำหนดให้รัฐต้องการบริหารราชการจะต้องมีเป้าหมายก่อให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีการปรับปรุงภารกิจของ ส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งบทบัญญัตินี้ย่อมใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อผลให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชนในอันที่จะห่างไกลจากสาธารณภัยในอาคารสูงหรืออาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นได้ เป็นอย่างดี

ปัจจุบันมีกฎหมายที่กำหนดเป็นกติกาควบคุมการก่อสร้างและการใช้อาคารสูงหรืออาคารที่มี ผู้อยู่อาศัยหนาแน่นเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดสาธารณภัยมีเพียงพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่มุ่งควบคุมเรื่องการก่อสร้างอาคาร ส่วนพระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่มุ่งควบคุมป้องกันและระงับอัคคีภัยให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปตรวจสอบอาคารเพื่อป้องกันอัคคีภัยได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งในขณะยกร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. ๒๕๔๒ ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้เหตุผลของการยกเลิกในทำนองว่ามีหน่วยงานที่ไปตรวจสอบอาคารหลายหน่วยงานทั้งที่เป็นหน่วยงานตามกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านโยธา และหน่วยงานตามกฎหมายป้องกันและระงับอัคคีภัยซึ่งเป็นหน่วยงานด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไปตรวจสอบ ซึ่งอาจเป็นการซ้ำซ้อนทางภารกิจและเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนเกินสมควร

การยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่งผลให้มีหน่วยงานที่ใช้อำนาจทางปกครองในการควบคุมและตรวจสอบการก่อสร้างและการใช้อาคารเพียงแค่หน่วยงานทางโยธาของท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว (ยกเว้นโรงมหรสพที่ให้อำนาจส่วนกลาง คือกรมโยธาธิการและ ผังเมืองโดยอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้ใช้อำนาจ) ซึ่งตามกฎหมายควบคุมอาคารระบุไว้ว่าอำนาจในการอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารเป็นอำนาจของ เจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งหมายถึงผู้บริหารท้องถิ่น เช่น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น และให้มีนายตรวจ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นที่มักจะเป็นงานด้านโยธา ไปทำการตรวจสอบการก่อสร้างและการใช้อาคาร ด้วยความที่มีเพียงหน่วยงานเดียวที่ใช้อำนาจในทางปกครอง ทำให้ขาดการตรวจสอบจากหน่วยงานอื่นๆ ทั้งก่อน ขณะ และหลังการก่อสร้างอาคาร อาจเป็นเหตุให้ผู้ใช้อำนาจทางปกครองในด้านการอนุญาตให้ก่อสร้างและให้ใช้อาคารขาดความรอบคอบและระมัดระวังในการใช้อำนาจ และมีแนวโน้มในการปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจในการตรวจสอบอาคารหลังการก่อสร้างและระหว่างการใช้อาคาร นอกจากจะไม่เป็นการดำเนินการตามหลักการบริการกิจการบ้านเมืองที่ดีที่มิได้มุ่งให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนโดยทั่วไปแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการบางรายที่ ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ทำการดัดแปลงอาคารโดยผิดกฎหมายนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดสาธารณภัย เช่น การดัดแปลงอาคารที่อยู่อาศัยไปทำเป็นสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตและจัดการเรื่อง ทางหนีไฟและการระบายอากาศไม่เป็นไปตามกฎหมาย นำส่วนของที่จอดรถในอาคารทุบทำเป็น โถงจัดเลี้ยง เป็นต้น

หากเกิดไฟไหม้ในอาคารที่ไม่จัดให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวอาจเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของคนที่เข้าไปอาศัยอยู่ในอาคารดังกล่าว โดยที่ปรากฏข่าวสารอยู่บ่อยครั้งที่มีเหตุเพลิงไหม้ในอาคารสูงหรืออาคารโรงแรมทำให้คนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บดังที่ได้นำเสนอมาแล้วในบทที่ ๒ กรณีนี้สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่ใช้อำนาจทางปกครองในการอนุญาตก่อสร้างและควบคุมการใช้อาคารมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการตรวจตราอาคารซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากจากสถิติของกรุงเทพมหานครที่พบว่าเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร มีอาคารที่เสี่ยงต่อการเกิดสาธารณภัยถึง ๑๒,๐๐๐ แห่ง ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากและยากที่เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นเพียงลำพังจะทำการตรวจตราควบคุมได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งการศึกษาวิจัยบางพบว่าเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นจำนวนมากไม่มีความรู้ความเข้าใจในการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ได้มีการศึกษากฎหมายที่ใช้บังคับเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ของต่างประเทศแล้วพบว่าประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศแคนาดาซึ่งเป็นอารยประเทศนอกจากจะมีกฎหมายอาคาร กฎหมายป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนแล้ว ก็ยังมีกฎหมายจัดการอัคคีภัยซึ่งเป็นกฎหมายหลักอีกฉบับหนึ่งที่ใช้ในการป้องกันเหตุอัคคีภัยในอาคาร มิได้ถูกยกเลิกไปเหมือนในประเทศไทยแต่อย่างใดและบัญญัติให้มีนายตรวจไปตรวจอาคารได้ โดยที่ไม่ได้ยกเลิกเหมือนกฎหมายป้องกันและระงับอัคคีภัยในประเทศไทยแต่อย่างใด โดยที่ประเทศนิวซีแลนด์นั้นมี Fire Service Act 1975 ใช้บังคับ หรือถ้าเทียบแล้วกฎหมายนี้ประเทศนิวซีแลนด์ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายใช้บังคับมานานแล้วก็ตามแต่ประเทศนิวซีแลนด์ยังเห็นความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ในการช่วยให้การป้องกันอัคคีภัยในอาคารมีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งสำคัญในพระราชบัญญัตินี้คือ การบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๕ ให้มีหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐนอกจากกฎหมายอาคาร มีอำนาจเข้าไปในอาคารเพื่อทำการตรวจสอบอาคารว่าได้มีการดำเนินการตามแผนอพยพด้านอัคคีภัยหรือไม่ โดยกำหนดขั้นตอนและวิธีการตรวจของเจ้าหน้าที่ที่เรียกว่านายตรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งตามตัวบทของกฎหมายนี้ใช้คำว่า National Commander หมายถึงผู้เชี่ยวชาญทางด้านการป้องกันและระงับอัคคีภัยและได้รับการแต่งตั้งจากผู้อำนวยการ (Chief executive) ให้ปฏิบัติงานด้านป้องกันและระงับอัคคีภัย ไปทำการตรวจ แสดงให้เห็นได้อย่างแจ้งชัดว่าการป้องกัน ลดความเสี่ยงและลดผลกระทบจากสาธารณภัยในอาคารของประเทศนิวซีแลนด์นั้นให้มีเจ้าหน้าที่รัฐจากหลายหน่วยงานตามกฎหมายหลายฉบับเข้าไปตรวจสอบอาคารเดียวกันได้ เป็นการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจตรวจสอบอาคารซึ่งกันและกันของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆเพื่อผลในการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกัน ลดความเสี่ยงและลดผลกระทบจาก สาธารณภัยในอาคาร

ในขณะที่ประเทศแคนาดาได้มีพระราชบัญญัติจัดการอัคคีภัย ค.ศ. ๑๙๙๖ (Fire Services Act 1996) ซึ่งมีบทบัญญัติที่ระบุถึงการป้องกันการเกิดอัคคีภัยในอาคาร รวมถึงการถ่วงดุลการ ใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยบัญญัติให้เจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานหรือหลายตำแหน่งใช้อำนาจในเรื่องเดียวกัน กล่าวคือ ในเรื่องการป้องกันการเกิดอัคคีภัยในอาคารนั้น มาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว บัญญัติให้ คณะกรรมการอัคคีภัย (Fire commissioner) ซึ่งผู้ว่าการรัฐแต่งตั้ง และผู้ตรวจสอบของคณะกรรมการอัคคีภัย (commissioner's inspectors) มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบอาคารและสิ่งปลูกสร้าง (premises) ทุกแห่ง เพื่อตรวจสอบว่าอาคารและสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอัคคีภัยหรือไม่ นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวให้อำนาจเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบอาคาร (building) ซึ่งเป็นอาคารประเภทที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นหรือมีประชาชนเข้าไปร่วมกิจกรรมต่างๆเป็นจำนวนมาก เช่น โรงแรม โรงเรียน โบสถ์ โรงภาพยนตร์ โรงพยาบาล ศูนย์ประชุม และอาคารสาธารณะต่างๆ เป็นต้น ได้ตลอดเวลา เพื่อตรวจสอบว่าเจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองได้ดำเนินการตามมาตรการเพื่อความปลอดภัยด้านอัคคีภัยที่กฎหมายหรือเจ้าหน้าที่ได้กำหนดให้ดำเนินการหรือไม่ ซึ่งเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจซึ่งกันและกันของเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน ลดความเสี่ยง และลดผลกระทบจากสาธารณภัยในอาคาร

ด้านประเทศญี่ปุ่นนั้นมีพระราชบัญญัติการจัดการอัคคีภัย ค.ศ. ๑๙๔๘ (Fire Service Act 1948) กฎหมายดังกล่าวได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันอัคคีภัยในอาคารสูงและอาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นเป็นอย่างมาก โดยถึงขั้นบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเพื่อป้องกันอัคคีภัยในอาคารประเภทเหล่านี้ไว้เป็นการเฉพาะอีกนอกเหนือไปจากที่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายอาคาร กำหนดให้หัวหน้าสำนักการดับเพลิง (fire chief) หรือหัวหน้าสถานีดับเพลิง (fire station chief) มีอำนาจสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง (person concerned) ซึ่งหมายถึง เจ้าของ ผู้จัดการ หรือ ผู้ครอบครองทรัพย์สิน เสนอวัสดุสารสนเทศหรือเสนอรายงานต่อตน นอกจากนี้ หัวหน้าสำนัก การดับเพลิง หรือหัวหน้าสถานีดับเพลิง ยังมีอำนาจสั่งให้บุคลากรด้านการระงับอัคคีภัยเข้าไปในสถานที่ทำงาน โรงงาน สาธารณสถาน หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องอื่นใด เพื่อตรวจตราตำแหน่งที่ตั้ง โครงสร้างของอุปกรณ์ หรือสถานการณ์จัดการทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้มาตรการระงับอัคคีภัย หรือเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้องได้

จากการศึกษาวิเคราะห์พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ พบว่ากฎหมายดังกล่าวมีข้อจำกัดในการบังคับใช้ในหลายประการ กล่าวคือ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจการดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมอาคารไม่ว่าจะเป็นการออกใบอนุญาตหรือการตรวจสอบบังคับใช้กฎหมายนี้เป็นอำนาจของราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจ แต่การกระจายอำนาจในลักษณะดังกล่าวขาดการตรวจสอบถ่วงดุลและกำกับดูแลโดยหน่วยงานส่วนกลาง รวมถึงการขาดเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ทำให้การใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่เจ้าพนักงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ มีอำนาจเพียงแจ้งการพบเห็นไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นทราบเพื่อตรวจสอบเท่านั้น ซึ่งอาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติกับท้องถิ่นบางแห่งที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นไม่ดำเนินการตามที่แจ้งทำการปล่อยปละละเลย อาจเป็นเพราะการมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับเจ้าของอาคารหรือการขาดความรู้ความสามารถ รวมทั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายแห่งยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ขาดอัตรากำลังตามงานวิจัยที่ระบุหัวข้อ ๒.๒ ของบทที่ ๒ ที่กล่าวมาแล้วอีกด้วย ซึ่งกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นด้านการป้องกันและลดผลกระทบจากสาธารณภัยโดยเฉพาะในอาคารสูงหรืออาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยส่วนรวมนั้น ยังเข้าไม่ถึง จึงไม่อาจก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการสาธารณภัยดังกล่าวในขั้นตอนของการป้องกันและลดผลกระทบได้ ซึ่งในประเด็นนี้ขอเน้นย้ำว่าการเข้าไปตรวจสอบถ่วงดุลเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นในกรณีนี้มิใช่การขัดแย้งต่อหลักการกระจายอำนาจแต่อย่างใด เพราะการการกระจายอำนาจนั้นคงอยู่ในชั้นของการให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดให้มีคำสั่งทางปกครองด้านการอนุญาตเกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยไม่มีการแทรกแซงแต่อย่างใด เช่น การอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร ดัดแปลง การใช้อาคาร เป็นต้น แต่การตรวจสอบถ่วงดุลกรณีนี้เป็นขั้นตอนภายหลังการใช้อำนาจทางปกครองด้านการอนุญาตของเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นแล้ว นั่นคือการเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นได้เข้าไปมีโอกาสในการตรวจสอบอาคารเพื่อการป้องกันและลดผลกระทบจากสาธารณภัย นอกจะเป็นการช่วยในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นที่ออกคำสั่งอนุญาตให้ก่อสร้างและใช้อาคารมาแล้ว ยังเป็นการปรามในทางอ้อมให้เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นระมัดระวังในการใช้อำนาจอนุญาตทางปกครองเกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้เป็นไปตามกฎหมายอีกทางหนึ่งอันเป็นเชิงป้องกันในอนาคตอีกด้วย

จากปัญหาช่องว่างทางกฎหมายข้างต้น ในประเทศไทยมีกฎหมายฉบับหนึ่งที่ถือเป็น Best Practice ในการอุดช่องว่างการละเลยหรือความด้อยประสิทธิภาพในการจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่นบางแห่งโดยมาตรการทางกฎหมายได้ นั่นคือพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นกฎหมายที่พยายามแก้ไขปัญหาจุดอ่อนของการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่รัฐส่วนท้องถิ่นมาช่วยเสริมประสิทธิภาพของการบริหารจัดการปัญหา โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินการของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษ ในกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ดำเนินการ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจดำเนินการแทนโดยแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทราบ กรณีนี้จะสามารถอุดช่องว่างได้ว่าหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดไม่ใส่ใจจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษ หรือเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการเพื่อการควบคุมมลพิษโดยเฉพาะ มีอำนาจในการใช้อำนาจตามกฎหมาย ว่าด้วยโรงงาน ในกรณีที่ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานให้ใช้อำนาจตามกฎหมายโรงงานปฏิบัติเพื่อลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมหรือแจ้งให้ออกคำสั่งปรับแล้วเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานไม่ดำเนินการในระยะเวลาอันสมควร เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษมีอำนาจดำเนินการได้หรือมีอำนาจออกคำสั่งปรับเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษที่เป็นโรงงานได้

จากการศึกษาวิเคราะห์ของผู้ศึกษายังพบปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น การมีเจ้าหน้าที่กำกับดูแล ตรวจสอบอาคารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เพียงพอ และการขาดการตรวจสอบการใช้อำนาจการอนุญาตก่อสร้างและควบคุมการใช้อาคารของเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น ทั้ง ๓ ประการนี้ ถือว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการกระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคารจำนวนมาก ทำให้อาคารมีความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้และสาธารณภัยอื่นๆ ส่งผลโดยตรงให้ประสิทธิภาพในการป้องกันและลดผลกระทบจากการเกิดสาธารณภัยในอาคารโดยเฉพาะอาคารสูงและอาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นด้วยการใช้มาตรการทางกฎหมายอยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในภารกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ไม่ได้มีอำนาจในการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม การที่จะเป็นผู้ริเริ่มในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวนี้จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่การคุ้มครองชีวิตของประชาชนตามสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การที่จะคุ้มครองประชาชนมิให้ ถูกไฟครอกเสียชีวิตจากการเข้าไปเที่ยวสถานบริการหรือเข้าพักอาศัยในโรงแรมที่ดัดแปลงผิดกฎหมายควบคุมอาคารโดยที่เขาไม่ได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่มิอาจรอได้ ดังนั้น จึงเห็นควรหาแนวทางแก้ไขกฎหมายที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยถืออยู่ นั่นคือพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้มีผลบังคับในเชิงให้อำนาจเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบและดำเนินคดี จากความผิดในการใช้อาคารหลังจากที่เจ้าพนักงานส่วนท้องถิ่นอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร เพื่อเป็นการป้องกัน ลดความเสี่ยงและลดผลกระทบจากการเกิด สาธารณภัยในอาคารได้ โดยเน้นที่การตรวจสอบอาคารสูงและอาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น เช่น สถานบริการ โรงภาพยนตร์ อาคารแสดงสินค้า เป็นต้น เพราะอาคารเหล่านี้มักจะมีประชาชนที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอาคารเข้าไปใช้บริการหรืออยู่อาศัยจำนวนมาก หากเกิดเหตุสาธารณภัยในอาคารดังกล่าวจะทำให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมากกว่าอาคารประเภทอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นการจำกัดอำนาจเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางที่ให้มีอำนาจดำเนินการตรวจสอบเฉพาะอาคารที่จำเป็นในการคุ้มครองชีวิตของประชาชนโดยทั่วไปเท่านั้น มิได้ประสงค์จะก้าวล่วงเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นทั้งหมดจนเกิดคำถาม ต่อหลักความเป็นอิสระของท้องถิ่นแต่อย่างใด

สำหรับประเด็นที่เคยมีการกล่าวในชั้นการพิจารณากฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ว่า การมีเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบอาคารอันเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนเกินสมควรนั้น เห็นว่ายังเป็นการให้ความเห็นที่ไม่รอบด้าน และสอดคล้องกับสถานการณ์ กล่าวคือ จริงอยู่ที่การตรวจอาคารหลายครั้งโดยหลายหน่วยงานจะทำให้เจ้าของอาคารมีความยุ่งยากบ้าง แต่เมื่อเทียบความยุ่งยากดังกล่าวของเจ้าของหรือผู้ใช้อาคารโดยเฉพาะอาคารสถานบริการ อาคารโรงแรม อาคารศูนย์ประชุม กับความสูญเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมากที่เข้าไปอยู่ในอาคารดังกล่าว เนื่องจากเพลิงไหม้หรืออาคารถล่มอันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายด้านการควบคุมอาคารและป้องกันอัคคีภัยและสาธารณภัยประเภทอื่นนั้นเทียบกันไม่ได้เลย เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของคน หมู่มากในสังคม เจ้าของหรือผู้ใช้อาคารประเภทดังกล่าวอาจต้องเสียสละความสุขสบายและถูกกระทบสิทธิบ้างในกรณีที่มีผู้ตรวจสอบจากหลายหน่วยงานไปตรวจสอบอาคารของตนหลายครั้งดังที่คณะกรรมการกฤษฎีกาห่วงใย แต่เพื่อผลประโยชน์หลักของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม นั่นคือก่อให้เกิดความผาสุกและเกิดความสงบเรียบร้อยและปลอดภัยของคนในสังคมซึ่งเป็นผู้ใช้หรือเอาชีวิตไปอาศัยในอาคารของตนจำนวนมาก ซึ่งเป็นไปตามหลักการแห่งแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ที่มองว่ากฎหมายต่างๆ ย่อมจะถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด (Greatest Happiness for the Greatest Number)

ดังนั้น การที่มีกฎหมายหลายฉบับให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจสอบอาคารเพื่อป้องกัน ลดความเสี่ยง และลดผลกระทบจากสาธารณภัยที่จะเกิดกับประชาชนส่วนใหญ่ จึงมิใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใดหากกฎหมายเหล่านั้นจะช่วยก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน อีกทั้งการมีผู้ตรวจสอบอาคารจากหน่วยงานอื่นนอกเหนือจากเจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วยังถือเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่รัฐ มิให้ใช้อำนาจไปในทางอำเภอใจที่ผิดกฎหมาย และคอยตรวจสอบมิให้มีการรับผลประโยชน์ที่มิชอบเพื่อแลกกับการปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและลดผลกระทบจากสาธารณภัยในอาคาร อันเป็นสาเหตุหลักของการเกิดความสูญเสียจากสาธารณภัย จะทำให้ผู้ใช้อำนาจมีความรอบคอบ ระมัดระวังการใช้อำนาจมากขึ้น จะทำให้อัตราการกระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและลดผลกระทบจากสาธารภัยในอาคารลดลง เป็นไปตามหลักการของแนวคิดการตรวจสอบถ่วงดุล (Check and Balance) ที่เชื่อว่าการใช้อำนาจรัฐที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลจะทำให้การใช้อำนาจมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อชาติและประชาชนมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดที่ว่าการปฏิบัติหน้าที่ไม่ว่าหน้าที่ใดต้องสามารถตรวจสอบได้ (Accountability) เสมอเพราะการเปิดโอกาสให้ตรวจสอบเป็นการช่วยลดความผิดพลาดในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะเพื่อพบความผิดพลาด เช่น พบว่าการตรวจอาคารยังมีข้อบกพร่องของเจ้าพนักงานส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะด้วยความเผอเรอหรือจงใจ เมื่อเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นพบความผิดพลาดซึ่งอาจเป็นความผิดพลาดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดสาธารณภัยสูงก็สามารถสั่งให้แก้ไขให้ถูกต้องก่อนที่จะเกิดสาธารณภัยขึ้นได้ อย่างไรก็ตามหลักการตรวจสอบถ่วงดุลและหลักสามารถตรวจสอบได้กล่าวมาแล้วนั้น มิได้ขัดหรือแย้งกับหลักการกระจายอำนาจแต่อย่างใด ซึ่งหมายความว่า "การกระจายอำนาจที่ดี ย่อมกระจายไปพร้อมกับการเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบได้" ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้มีการใช้อำนาจโดยเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานได้เพื่อเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจและเป็นการเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจได้ ดังนั้นอำนาจรัฐในการตรวจสอบและดำเนินคดีกับเจ้าของ หรือผู้ครอบครอง หรือผู้ใช้อาคารสูงและอาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นเพื่อผลในการป้องกัน ลดความเสี่ยงและลดผลกระทบจากสาธารณภัยในอาคารนั้น โดยหน่วยงานของรัฐหลายๆ หน่วยงานย่อมสามารถที่จะกระทำได้

อย่างไรก็ตาม กรณีศึกษาแนวทางป้องกันและระงับอัคคีภัยในประเทศนิวซีแลนด์ ยังพบว่านอกจากมีกฎหมายอาคารคอยควบคุมแล้วยังมีกฎหมายจัดการอัคคีภัยใช้บังคับอีกด้วยและกำหนดให้มีนายตรวจหรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายจัดการอัคคีภัยมีหน้าที่ตรวจสอบอาคารอีกหน่วยงานหนึ่งและให้มีอำนาจในการเสนอต่อศาลเพื่อสั่งปิดอาคารที่ไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขการป้องกันและระงับอัคคีภัยอีก หรือจะเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดการอัคคีภัยของประเทศแคนาดา (Fire Services Act 1996) ที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นนอกจากท้องถิ่นมีอำนาจเข้าไปตรวจอาคารเพื่อการป้องกันสาธารณภัยประเภทอัคคีภัยได้อีกด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นการตอกย้ำแนวคิดในการเสนอให้หน่วยงานอื่นๆ นอกจากเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นเข้าไปมีอำนาจในการตรวจสอบอาคารเพื่อป้องกัน ลดความเสี่ยงและลดผลกระทบจากสาธารณภัยในอาคาร เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้นจริงโดยเร็วเพื่อผลในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนไทยโดยทั่วกันโดยการใช้มาตรการในการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยเน้นไปที่อาคารสูงและอาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น ซึ่งหมายถึง อาคารชุมนุมคนตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และอาคารทุกขนาดและทุกประเภท ที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้อาคารหรือส่วนใดของอาคารที่บุคคลอาจเข้าไปภายในเพื่อใช้ประโยชน์ในการใช้เป็น โรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม สถานบริการ และโรงมหรสพ เพราะอาคารเหล่านี้มีผู้คนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร การจัดการความปลอดภัยของอาคารเข้าไปอยู่อาศัยจำนวนมาก ซึ่งอาคารเหล่านี้กฎหมายว่าด้วยการจัดการอัคคีภัยของญี่ปุ่น (Fire Service Act 1948) ได้มีบทบัญญัติให้มีการปฏิบัติและจัดการในการเน้นย้ำเรื่องการป้องกัน สาธารณภัยประเภทอัคคีภัยเป็นพิเศษโดยเฉพาะอีกด้วย

โดยสรุป สิทธิการมีชีวิตอยู่ของประชาชนย่อมได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ซึ่งทำได้ด้วยวิธีการทางกฎหมายในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจการอนุญาตก่อสร้างและควบคุมการใช้อาคารของเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นโดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางโดยเข้าไปมีอำนาจในการตรวจสอบอาคารเพื่อป้องกัน ลดความเสี่ยงและลดผลกระทบจากสาธารณภัยด้วยการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติให้เจ้าหน้าที่จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัยหรือเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจอาคารสูงหรืออาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นได้โดยอาศัยแนวทางตามพระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. ๒๕๔๒ และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๓๕ จะเป็นการช่วยตรวจสอบถ่วงดุล (Check and Balance) อำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่น เป็นไปตามหลักทฤษฎีที่หน่วยงานสามารถถูกตรวจสอบได้ (Accountability) เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนจำนวนมากที่สุดตามแนวทางของหลักอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ได้ นอกจากนี้กรณีศึกษาแนวทางการป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารของประเทศนิวซีแลนด์ที่ให้อำนาจนายตรวจหรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายจัดการอัคคีภัย (Fire Service Act 1975) ประเทศแคนาดาและประเทศญี่ปุ่น สามารถตรวจอาคารได้อีกนอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอาคาร เป็นการยืนยันแนวคิดการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่โดยหน่วยงานอื่นว่าสามารถนำมาใช้กับการใช้อำนาจทางปกครองอย่างเดียวกันได้ ดังเช่น อำนาจการตรวจสอบอาคาร เป็นต้น

ข้อเสนอแนะแนวทางในการกำกับดูแลและตรวจสอบอาคารเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากสาธารณภัยในอาคารสูงและอาคารที่มีผู้อาศัยหนาแน่น

จากการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี กฎหมายต่างประเทศ กฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องดังที่กล่าวมาแล้วในบทที่ ๓ จึงเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้เกิดผลสำเร็จในประสิทธิภาพของการป้องกัน ลดความเสี่ยงและลดผลกระทบจาก สาธารณภัยในอาคารสูงหรืออาคารที่มีผู้อาศัยหนาแน่นนั้น ควรมีการแก้ไขโดยนำแนวทางตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งมีการยกเลิกไปแล้ว โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ของนายตรวจตามมาตรา ๘ ของพระราชบัญญัติดังกล่าวและพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังที่ได้เสนอมาแล้วมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยมีรายละเอียดข้อควรปรับปรุงแก้ไข ดังนี้

๑ ควรกำหนดประเภทอาคารเฉพาะที่ประสงค์จะให้เจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบได้ นั่นคืออาคารสูงและอาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นตามคำนิยามที่กำหนดในบทที่ ๑ เท่านั้น เพราะอาคารเหล่านี้ควรเป็นอาคารหรือสถานที่อันดับต้นๆ ที่ภาครัฐควรให้ความใส่ใจในความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยมิให้มีความเสี่ยงในการเกิดสาธารณภัยเพราะเป็นอาคารที่มีประชาชนโดยทั่วไปเข้าไปใช้อาคารและเข้าไปอยู่อาศัยจำนวนมาก หากเกิดสาธารณภัยขึ้นแล้วจะก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก ซึ่งความสูญเสียโดยเฉพาะชีวิตของประชาชนที่บริสุทธิ์และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและการจัดสภาพแวดล้อมอาคารหรือสถานที่ที่มีความเสี่ยงแต่อย่างใดนั้นมิอาจชดใช้ได้โดยประการอื่นแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับแนวทางตามมาตรา ๘-๒ (๑) และมาตรา ๘-๒-๔ แห่งพระราชบัญญัติการจัดการอัคคีภัย ค.ศ. ๑๙๔๘ (Fire Service Act 1948) ของประเทศญี่ปุ่นที่กำหนดบัญญัติให้ความสำคัญกับการป้องกันอัคคีภัยในอาคารสูงเป็นการเฉพาะโดยบัญญัติให้เจ้าของอาคารสูง (อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ ๓๑ เมตรขึ้นไป) หรือทรัพย์สินอื่นที่อยู่ภายใต้มาตรการป้องกันอัคคีภัยตามคำสั่งของคณะรัฐมนตรี หรือห้างสรรพสินค้าใต้ดิน ต้องมีแผนการระงับอัคคีภัย และระบุสาระสำคัญของการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อการป้องกันอัคคีภัย และบัญญัติให้เจ้าของโรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน สถานที่ทำงาน สิ่งอำนวยความสะดวกด้านความบันเทิง ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้าใต้ดิน ทรัพย์สินอเนกประสงค์ที่อยู่ภายใต้มาตรการป้องกันอัคคีภัย หรือทรัพย์สินอื่นใดที่อยู่ภายใต้มาตรการระงับอัคคีภัยตามคำสั่งคณะรัฐมนตรี ต้องจัดให้มีทางเดิน บันได ทางออก และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นที่จำเป็นสำหรับการอพยพผู้คนภายในทรัพย์สินดังกล่าว ภายใต้มาตรการป้องกันอัคคีภัย และหลีกเลี่ยงการวางวัตถุใด ๆ ที่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ รวมถึงต้องจัดให้มีประตูหนีไฟภายในทรัพย์สินดังกล่าว และหลีกเลี่ยงการวางวัตถุใด ๆ ที่น่าจะกีดขวางต่อประตูหนีไฟอีกด้วย ดังนั้นการใช้มาตรการทางกฎหมายดังกล่าวนี้จึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดแนวทางหนึ่งในการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินอันเป็นสิทธิพื้นฐานอย่างหนึ่งของประชาชนไทย

เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดข้างต้น จึงควรบัญญัติเพิ่มเติมนิยามคำว่าอาคารสูงและอาคารที่มี ผู้อยู่อาศัยหนาแน่นที่จำเป็นต้องป้องกันและลดผลกระทบจากสาธารณภัยเป็นพิเศษในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยเพิ่มข้อความเป็นดังนี้

"อาคารสูง" หมายความว่า อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

"อาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น" หมายความว่า อาคารชุมนุมคน อาคารอยู่อาศัยรวม โรงมหรสพ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ และอาคารหรือสถานที่อื่นใดที่จะกำหนดเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง

๒ ควรบัญญัติเพิ่มเติมเป็นมาตรา ๔๐/๑ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้มีเนื้อความ ดังนี้

"มาตรา ๔๐/๑ เพื่อเป็นการป้องกัน ลดความเสี่ยงและลดผลกระทบจากสาธารณภัยในอาคารสูงหรืออาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น ให้เจ้าพนักงานที่ผู้อำนวยการกลางแต่งตั้งและมอบหมายหน้าที่ มีอำนาจเข้าไปในอาคารดังกล่าวในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก หรือระหว่างเวลาทำการของอาคารแห่งนั้น เพื่อตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ตรวจสภาพที่อาจก่อให้เกิด สาธารณภัยได้โดยง่าย หรือมีวัสดุหรือสิ่งของใดในอาคารที่อาจก่อให้เกิดสาธารณภัย ตลอดจนตรวจสอบมาตรการในการป้องกัน ลดความเสี่ยงและลดผลกระทบจากสาธารณภัย

หลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางการตรวจอาคารตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีที่เจ้าพนักงานตามวรรคหนึ่งพบเห็นว่าอาคารสูงหรืออาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นแห่งใดมีสภาพที่อาจก่อให้เกิดสาธารณภัยได้โดยง่ายหรือมีวัสดุหรือสิ่งของใดในอาคารหรือสถานที่ใดที่อาจก่อให้เกิดสาธารณภัย ให้เจ้าพนักงานตามวรรคหนึ่งมีอำนาจสั่งให้เจ้าของ ผู้ครอบครองหรือผู้ใช้อาคารแก้ไขอาคารหรือสถานที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารกำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด หากเจ้าของผู้ครอบครองหรือผู้ใช้อาคารไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้เจ้าพนักงานตามวรรคหนึ่งเสนอให้ผู้อำนวยการกลางสั่งปิดหรือห้ามใช้อาคารจนกว่าจะได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้อง โดยจะกำหนดให้ชำระค่าปรับทางปกครองวันละไม่เกินสองหมื่นบาทจนกว่าจะมีการแก้ไขให้ถูกต้องด้วยก็ได้ และแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป"

โดยที่สาเหตุที่เสนอให้เพิ่มเติมมาตรา ๔๐/๑ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้างต้น เป็นการบัญญัติวิธีการคุ้มครองชีวิตประชาชนที่ใช้ประโยชน์และอาศัยอยู่ในอาคารสูงและอาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นไว้เป็นการเฉพาะแยกออกมาจากการเฝ้าระวังอาคารโดยทั่วไปตามมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน การที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานที่ผู้อำนวยการกลางแต่งตั้งขึ้นเป็นบุคคลที่มีอำนาจเข้าไปในอาคารอาคารสูงหรืออาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น เพื่อเป็นการป้องกัน ลดความเสี่ยงและลดผลกระทบจากสาธารณภัยในอาคารในระยะเวลาก่อนเกิดภัย ทำการตรวจสภาพที่อาจก่อให้เกิดสาธารณภัยได้โดยง่ายหรือมีวัสดุหรือสิ่งของใดในอาคารหรือสถานที่ใดที่อาจก่อให้เกิดสาธารณภัยได้ตลอดจนตรวจสอบมาตรการอื่นใดในการป้องกัน ลดความเสี่ยงและลดผลกระทบจากสาธารณภัยได้นั้น นอกจากจะเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจากส่วนกลางหรือผู้ที่มีส่วนได้เสียในท้องถิ่นน้อย เข้าไปมีอำนาจตรวจอาคารหรือสถานที่ได้นอกเหนือจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและนายตรวจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้อีกนั้น นอกจากจะเป็นการช่วยกันทำงานช่วยกันอุดช่องโหว่ อุดรอยรั่วในการใช้บังคับกฎหมายของเจ้าพนักงานส่วนท้องถิ่นที่อาจดูแลพื้นที่ที่ไม่ทั่วถึงหรือเปรียบเป็นการทำความสะอาดพื้นที่ที่ไม้กวาดของเจ้าพนักงานส่วนท้องถิ่นกวาดไม่ถึง เป็นการช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการคุ้มครองชีวิตประชาชนของรัฐแล้วยังถือเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นโดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นเพื่อผลในการยังประโยชน์สูงสุดต่อหมู่คนจำนวนมากที่สุดตามทฤษฎีอรรถประโยชน์นิยม นั่นก็คือความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในสังคมนั่นเอง กรณีนี้ยังเป็นการดำเนินการตามแนวทางตามมาตรา ๒๑เอฟ แห่งพระราชบัญญัติจัดการอัคคีภัย ค.ศ. ๑๙๗๕ (Fire Service Act 1975) ของประเทศนิวซีแลนด์ และมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดการอัคคีภัย ค.ศ. ๑๙๙๖ (Fire Services Act 1996) ของประเทศแคนาดา ที่กล่าวถึงเรื่องการตรวจอาคารได้ตามกฎหมายจัดการอัคคีภัย อีกด้วย

การที่บัญญัติให้ผู้มีอำนาจในการตรวจคือเจ้าพนักงานที่ที่แต่งตั้งโดยผู้อำนวยการกลางซึ่งก็คืออธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนั้น เป็นการให้อำนาจอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัยในฐานะหัวหน้าหน่วยงานกลางในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศคัดสรรผู้มีความรู้ความสามารถในด้านนี้อย่างจริงจังไปปฏิบัติหน้าที่ตรวจอาคารสูงและอาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น ก็เพราะประสงค์จะให้การตรวจอาคารโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนน้อยที่สุดตามหลักการบัญญัติกฎหมายในปัจจุบัน จึงสงวนอำนาจการแต่งตั้งเจ้าพนักงานที่มีอำนาจตรวจอาคารสูงและอาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นตามมาตรานี้ไว้เฉพาะอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งเป็นผู้อำนวยการกลางเท่านั้น และแม้จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานก็ไม่อาจมีหน้าที่ตรวจอาคารดังกล่าวได้ถ้าไม่ได้มีการมอบหมายโดยผู้อำนวยการกลางให้ดำเนินการตรวจสอบได้ และเจ้าหน้าที่ที่จะสามารถตรวจสอบได้ต้องมีความรู้ความสามารถในการตรวจสอบอาคารและการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นอย่างดี ซึ่งในปัจจุบันมีข้าราชการสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิศวกรโยธาและมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากวิศวกรรมสถานจำนวนมากทั้งที่สังกัดสำนักมาตรการป้องกันสาธารณภัยในส่วนกลางหรือตามศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ตลอดจนสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารภัยจังหวัดจำนวนมาก จึงถือได้ว่ากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีบุคลากรในการตรวจสอบอาคารตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพียงพอต่อการรับกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวได้ ที่กล่าวมานี้จึงเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนมิให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจไปในทางจำกัดสิทธิของประชาชนโดยมิชอบและเกินสัดส่วนได้ ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับแนวทางกับการแต่งตั้งนายตรวจหรือ National Commander ของประเทศนิวซีแลนด์ตามพระราชบัญญัติจัดการอัคคีภัย ค.ศ. ๑๙๗๕ (Fire Service Act 1975) มาตรา ๑๗เอ็ม ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทที่ ๓

การเสนอร่างบทบัญญัติแห่งวรรคสองของมาตรา ๔๐/๑ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่บัญญัติให้หลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางการตรวจอาคารตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ก็เพื่อจะให้มีแนวทางในการดำเนินการที่มีกฎหมายรองรับ เป็นการประกันและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในถูกเจ้าหน้าที่ที่เป็นนายตรวจตามกฎหมายนี้ว่าเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการตรวจตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่เหมาะสม (Due Process of Law) ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า มีการแสดงตนและแสดงบัตรก่อนเข้าตรวจสอบอาคารหรือสถานที่ เป็นต้น

การเสนอร่างบทบัญญัติแห่งวรรคสองของมาตรา ๔๐/๑ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่บัญญัติให้เจ้าพนักงานที่ตรวจอาคารสูงและอาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นแล้วพบเห็นว่าอาคารสูงหรืออาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นแห่งใดมีสภาพที่อาจก่อให้เกิดสาธารณภัยได้โดยง่ายหรือมีวัสดุหรือสิ่งของใดในอาคารหรือสถานที่ใดที่อาจก่อให้เกิดสาธารณภัย ให้เจ้าพนักงานตามวรรคหนึ่งมีอำนาจสั่งให้เจ้าของ ผู้ครอบครองหรือผู้ใช้อาคารแก้ไขอาคารหรือสถานที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารกำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด หากเจ้าของ ผู้ครอบครองหรือผู้ใช้อาคารไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้เจ้าพนักงานตามวรรคหนึ่งเสนอให้ผู้อำนวยการกลางสั่งปิดหรือห้ามใช้อาคารจนกว่าจะได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้อง โดยจะกำหนดให้ชำระค่าปรับทางปกครองวันละไม่เกินสองหมื่นบาทจนกว่าจะมีการแก้ไขให้ถูกต้องด้วยก็ได้ และแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป เป็นการกำหนดมาตรการหรือแนวทางทางปกครองที่มีวัตถุประสงค์ให้มีการแก้ไขสภาพอาคารหรือสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยให้มีความมั่นคงปลอดภัย โดยให้อำนาจเจ้าพนักงานซึ่งแต่งตั้งโดยผู้อำนวยการกลางอันเป็นหัวหน้าหน่วยงานจากส่วนกลางมีอำนาจดำเนินการเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากสาธารณภัย เพิ่มเติมจากอำนาจที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งเป็นแนวคิดที่อาจเทียบเคียงได้กับบัญญัติมาตรา ๒๑จี ของพระราชบัญญัติจัดการอัคคีภัย ค.ศ. ๑๙๗๕ (Fire Service Act 1975) แห่งประเทศนิวซีแลนด์ที่บัญญัติให้มีการเสนอต่อศาลแขวงให้ปิดอาคารจนกว่าจะมีการปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ด้วยการนำเสนอต่อผู้อำนวยการกลางทำการสั่งปิดและห้ามใช้อาคารก็ได้ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้เจ้าหน้าที่มีเครื่องมือหรือมาตรการบังคับให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารทำการแก้ไขสภาพการณ์ต่างๆ ของตัวอาคารให้มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้มากขึ้น และสาเหตุที่ต้องบัญญัติมาตรการทางปกครองไว้ในกฎหมายนี้อีกเพราะต้องการอุดช่องว่างกรณีเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ดำเนินการทางปกครองกับอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคาร ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุผลใดๆ ก็สามารถใช้อำนาจเจ้าพนักงานและผู้อำนวยการกลางตามกฎหมายนี้ดำเนินการทางปกครองกับอาคารเสี่ยงภัยดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม การที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานสั่งให้เจ้าของ ผู้ครอบครองหรือผู้ใช้อาคารแก้ไขอาคารหรือสถานที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารกำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด ถือเป็นคําสั่งทางปกครองที่กําหนดให้กระทําหรือละเว้นกระทํา ถ้าผู้อยู่ในบังคับของคําสั่งทางปกครองดังกล่าวไม่มีการดำเนินการตามคำสั่งจะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยสั่งให้มีการชำระค่าปรับทางปกครองได้ตามมาตรฐานของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง โดยที่การกำหนดอำนาจของผู้อำนวยการกลางในการกำหนดค่าปรับทางปกครองจะทำให้อำนาจกระทำการทางปกครองของเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ มีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้การบัญญัติให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ว่าด้วยการนั้นทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปนั้นจะเป็นการประสานการดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นทราบว่า มีการดำเนินการของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ต่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารมาแล้วอย่างไร เพื่อจะได้ปฏิบัติการตามกฎหมายของตนได้อย่างต่อเนื่องและไม่ซ้ำซ้อนต่อไป

ผู้ศึกษาจึงมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหากมีการแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ตามประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและลดผลกระทบจากสาธารณภัยในอาคารสูงหรืออาคารที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นได้ อันเป็นการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข ทำให้ประเทศไทยเป็นเมืองที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนในที่สุด

หมายเหตุ บทความนี้เป็นความเห็นของผุ้เขียนโดยแท้ ไม่ผูกพันองค์กรหรือหน่วยงานใดๆ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท