​ค่ายเทคโนยิ่งใหญ่ฯ.... ค่ายอาสาฯ ที่รอเวลาเบ่งบานสู่การบริการวิชาการแก่สังคม


เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ผ่านค่ายอาสาพัฒนาที่มีมนต์เสน่ห์ในมิติของการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชน กล่าวคือในทุกๆ กิจกรรม โดยเฉพาะที่ว่าด้วยการ "สร้าง" นั้นจะมีแกนนำชุมชน ผู้ซึ่งเป็นเสมือนปราชญ์ชาวบ้านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรมอย่างสนิทแน่น สะท้อนถึงการเป็นส่วนร่วมและการเรียนรู้แบบไม่มีชนชั้นระหว่าง "นิสิตกับชาวบ้าน" เสมือน "พ่อสอนลูก" ช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้กระบวนการเชิงทักษะที่รองรับความรู้ภาคทฤษฎีที่นิสิตนำไปถ่ายทอดได้อย่างลงตัว

คณะเทคโนโลยี ประกาศอัตลักษณ์นิสิตในสังกัดคณะว่า "ผู้มีปัญญาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน" ในบรรดาโครงการอันหลากหลายที่ขับเคลื่อนโดยผู้บริหารคณะ หรือกระทั่งนิสิตในคณะ โครงการ "เทคโนยิ่งใหญ่ปันน้ำใจให้น้องคล้องสายสัมพันธ์" ดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งระบบและกลไกของการเสริมสร้างและพัฒนานิสิตสู่ความเป็นอัตลักษณ์ข้างต้น



โครงการดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓–๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ณ โรงเรียนบ้านเหล่า ต.โคกพระ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญๆ คือ

  • (๑) เพื่อส่งเสริมให้นิสิตมีจิตอาสาและบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมและชุมชน
  • (๒) เพื่อปลูกฝังค่านิยมอันดีงามให้แก่นิสิตและมีความรับผิดชอบต่อสังคม
  • (๓) เพื่อส่งเสริมให้นิสิตได้ถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการแก่นักเรียน
  • (๔) เพื่อให้นิสิตได้ตระนักถึงความมีน้ำใจ การให้โดยไม่หวังผลตอบแทน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่โรงเรียนและเด็กนักเรียนที่ขาดโอกาสทั้งในด้านการศึกษาและการทำกิจกรรมต่างๆ

มองผ่านระบบและกลไกการพัฒนานิสิตผ่านกิจกรรมนอกชั้นเรียนโดยใช้โครงการดังกล่าวเป็นกรณีศึกษา พบประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

๑.เป็นค่ายอาสาบนความเป็นหนึ่งเดียว : เป็นการบูรณาการทุกหลักสูตรในคณะไปสู่การบริการชุมชน โดยให้แต่ละหลักสูตร (แต่ละวิชาชีพ) นำความรู้ไปถ่ายทอดและสร้างประโยชน์ต่อชุมชน ได้แก่ เทคโนโลยีการอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีการเกษตร สัตวศาสตร์ ประมง



๒.เป็นค่ายอาสาแบบสอนและสร้าง : ขับเคลื่อนบนฐานคิดของการ "สอน" (ถ่ายทอดความรู้) ที่เกี่ยวกับวิชาชีพในสังกัดคณะเทคโนโลยี โดยมอบหมายให้นิสิตแต่ละหลักสูตรได้บรรยายความรู้แก่นักเรียนหลักสูตรละ ๒๐ นาที เป็นการวางพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง หรือเชิงปฏิบัติการในลำดับถัดไป นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมในลักษณะของการ "สร้าง" แหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน/โรงเรียนบนฐานวิชาชีพของแต่ละหลักสูตร เช่น กระชังเลี้ยงปลา ซุ้มไม้เลื้อย จักรยานสูบน้ำเพื่อสุขภาพ



๓.เป็นค่ายเรียนรู้คู่บริการผสานพลังชุมชน : เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ผ่านค่ายอาสาพัฒนาที่มีมนต์เสน่ห์ในมิติของการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชน กล่าวคือในทุกๆ กิจกรรม โดยเฉพาะที่ว่าด้วยการ "สร้าง" นั้นจะมีแกนนำชุมชน ผู้ซึ่งเป็นเสมือนปราชญ์ชาวบ้านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรมอย่างสนิทแน่น สะท้อนถึงการเป็นส่วนร่วมและการเรียนรู้แบบไม่มีชนชั้นระหว่าง "นิสิตกับชาวบ้าน" เสมือน "พ่อสอนลูก" ช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้กระบวนการเชิงทักษะที่รองรับความรู้ภาคทฤษฎีที่นิสิตนำไปถ่ายทอดได้อย่างลงตัว



๔.บูรณาการกิจกรรมหลากระบบและกลไก : แทบจะเรียกได้ว่ากิจกรรมค่ายครั้งนี้ครอบคลุมระบบและกลไกทั้ง ๕ ด้านของการพัฒนานิสิตอย่างไม่ผิดเพี้ยน เช่น

  • ด้านนิสิตสัมพันธ์และวิชาการ-ด้านกีฬาและนันทนาการ ผ่านกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้ กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ กิจกรรมกีฬา
  • ด้านบำเพ็ญประโยชน์และสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมฐานการเรียนรู้ที่เป็นซุ้มไม้เลื้อย กระชังเลี้ยงปลา จักรยานสูบน้ำเพื่อสุขภาพ
  • ด้านศิลปวัฒนธรรม ผ่านการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการสร้างฐานการเรียนรู้ การกินอยู่ของชาวบ้านและนักเรียน และวิถีชีวิตปราชญ์ชาวบ้าน
  • ด้านคุณธรรมจริยธรรม ผ่านความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ความมีจิตอาสา การแบ่งปันความรักต่อผู้อื่น หรือกระทั่งกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมของชาวค่ายคือการทำอาหารกลางวันเลี้ยงนักเรียน รวมถึงการบ่มเพาะสภาวะของการเป็นเยาวชนจิตอาสา ทั้งในตัวนิสิต และนักเรียน



อย่างไรก็ดี ถึงแม้ค่ายอาสาในชื่อโครงการ "เทคโนยิ่งใหญ่ปันน้ำใจให้น้องคล้องสายสัมพันธ์" จะยังไม่ครบกระบวนการเรียนรู้ในมิติ "บวร" (บ้าน-วัด-โรงเรียน) แต่นั่นก็ไม่ถึงว่าเป็นความล้มเหลว เพราะในองค์รวมสามารถขับเคลื่อนการเรียนรู้ตอบโจทย์ต่อความเป็นอัตลักษณ์ของนิสิตภายใต้คณะได้อย่างชัดแจ้ง

กอปรกับชุมชน/โรงเรียน ก็ได้มีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจและลงมือทำร่วมกับนิสิต ซึ่งผลผลิตปรากฏเป็นรูปธรรม สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งในระดับชุมชน (หมู่บ้าน) และโรงเรียน (ครู นักเรียน) และนั่นยังอาจหมายถึงการเป็นแหล่งผลิตอาหารกลางวันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนได้ด้วยเช่นกัน

และทั้งปวงนั้นโครงการดังกล่าว ก็ตอบโจทย์อัตลักษณ์ความเป็นนิสิต (ผู้มีปัญญาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) ได้อย่างโดดเด่น มิหนำซ้ำยังเป็นค่ายอาสาพัฒนาบนฐานวิชาชีพ และพร้อมที่จะยกระดับขึ้นสู่ค่ายอาสาพัฒนาในมิติการบริการวิชาการแก่สังคมได้อย่างไม่ยากเย็น



ภาพ : คณะเทคโนโลยี

หมายเลขบันทึก: 588351เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2015 08:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เครื่องไม่อนุญาตให้ ดอกไม้ค่ะ

เป็นกิจดรรมบูรณาการความรู้สู่ชุมชนที่น่าชื่นชม..อีกครั้ง

ชอบที่ให้นิสิตสอนนักเรียนเพราะการสอนนิสิตจะต้องประมวลผลความรู้ของตัวเองทั้งหมดจนถ่องแท้จึงมั่นใจ สอนสิบต้องรู้ร้อย

ชื่นชมการใหนิสิตไดเรียนรู้จากผู้รู้ในชุมชน ชาวบ้านรู้จริงในสิ่งที่ทำ เด็กก็เกิดการถ่อมตนว่า แค่เรียนสูงก็มิไดรู้ทุกสิ่ง ประสบการณ์จริงมีค่ามากกว่า


อยากให้เกิด..พร้อมๆกัน..ทั้งประเทศ..ได้ไหม..เอ่ย...สิ่งดีๆที่จะมีร่วมกัน..ทำอย่างไร..จึงจะ..ต่อยอด..กันไป..ดังเช่นไม้เลื้อย..เถาวัลย์..พันต้นไม้ใหญ่..

มาเป็นกำลังใจ..ให้กันและกัน


สวัสดีค่ะอาจารย์

เป็นกิจกรรมที่น่าชื่นชมจริงๆค่ะ

ดูภาพแล้วคิดถึงบ้านจัง

สวัสดีครับ พี่ nui...

ช่วงนี้ผมอยู่ระหว่างการทบทวนงานเก่าๆ เลยได้ทำเรื่องเก่าๆ มาบอกเล่า เพื่อปักหมุดเป็นโมเดลของแต่ละองค์กร งานของเด็กๆ ก็คงประมาณนี้ในระยะนี้ก็หนีไม่พ้นค่ายอาสา แต่เริ่มเห็นแล้วว่าค่ายอาสา เร่มเกี่ยวโยงกับวิชาชีพของนิสิตมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก...

ตรงนี้แหละครับที่ผมสนใจและให้ความสำคัญ เพราะมันมีค่าและโดดเด่นไม่แพ้การสร้างอาคารอเนกประสงค์ หรือสนามกีฬาทั่วๆ ไป

และนั่นยังรวมถึงการพยายามเชื่อมให้นิสิตได้ออกแบบการเรียนรู้ชุมชนไปพร้อมๆ กัน...

ขอบพระคุณครับ

ครับ พี่ใหญ่นงนาท สนธิสุวรรณ

ผมชอบงานประเภทที่นิสิตลงชุชนแล้วได้ทำงานร่วมกับชุมชน... ไม่ใช่นิสิตทำคนเดียว มันเหมือนการให้ที่ไม่ได้สร้างสำนึกร่วมของผู้ที่ต้องใช้ประโยชน์ หรือดูแลรักษาสืบๆ ไป ครับ

ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท