นัดพบตลาดงาน : ชม ชิม ชอบ แซบ ..สู่การบริการสังคม


ผมพูดหนักแน่นว่าวิธีคิดและวิธีการที่ผมว่านั้น มันหมายถึงการยกระดับงานในเวที "นัดพบตลาดงาน" ไปสู่การเป็นงาน "บริการสังคม" ไปในตัว ซึ่งอาจหมายถึงการเป็นงาน "บริการวิชาการแก่สังคม" ไปในตัวด้วยเช่นกัน

วันนี้ (๒๙ มีนาคม ๒๕๕๘) มีโอกาสเข้าร่วมงานโครงการ "วันนัดพบตลาดงาน" อันเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับสำนักจัดหางาน จังหวัดมหาสารคาม

ปีนี้ในทางเครือข่ายต้องยอมรับว่า มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าภาพอย่างมากมายก่ายกอง มีอัตรางานมารองรับให้ยื่นใบสมัครเกือบๆ จะ 3,000 อัตรา ในบางบริษัทถึงขั้นผู้จัดการลงทุนมานั่งสัมภาษณ์ด้วยตนเองก็มี




กลุ่มเป้าหมายหลักของการจัดงานครั้งนี้หนีไม่พ้นนิสิตที่กำลังสำเร็จการศึกษา รวมถึงที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว ตลอดจนประชาชนทั่วไป จึงอาจนับได้ว่าเป็นเสมือนเวทีของการบริการสังคมไปในตัวด้วยเหมือนกัน

งานครั้งนี้ไม่ได้จัดแต่เฉพาะการเปิดรับสมัครงานเท่านั้น มีกิจกรรมแบบบูรณาการ หรือสหกิจกรรมอย่างเด่นชัด เป็นต้นว่า การทบสอบจิตวิทยาเพื่อให้รู้ว่าแต่ละคนเหมาะสมกับอาชีพใด การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการกรอกใบสมัคร แนวคิดของการเตรียมการสัมภาษณ์งาน การออกร้านจำหน่ายสินค้า การสาธิตอาชีพ การเสวนา การแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ ฯลฯ



ในภาพรวมของการดำเนินงาน ผมถือว่าผ่านพ้นไปได้ด้วยดี อาจมีบ้างที่ระบบพิธีการติดขัดนิดๆ หน่อยๆ และนั่นไม่ใช่ตัวชี้วัดสำคัญอะไรที่ผมจะต้องประเมิน หรือพิพากษาว่างานนั้นดีเด่น หรือดีมาก หรือกระทั่งต้องปรับปรุง เพราะองค์รวมผมถือว่า "ไม่ธรรมดา"

ในช่วงเวทีของการเสวนาในหัวข้อ "คุณลักษณะของบัณฑิตที่นายจ้างต้องการ" ถือเป็นอีกช่วงหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด ให้ความสำคัญถึงขั้นสะพายเป้อันหนักอึ้งของตนเองไปนั่งฟังอย่างใจจดใจจ่อ ซึ่งบนเวทีมีผู้แทนจากสถานประกอบการหลายท่านได้ร่วมเสวนา โดยเท่าที่จับประเด็นนั้น ต่างคนต่างให้แง่คิดสำหรับคนที่กำลังอยู่ระหว่างการทำงาน-กำลังหางาน-กำลังจะเปลี่ยนงาน ประมาณว่า....




  • รู้ตัวตน : การรู้ว่าตนเองชอบอะไร มีความฝันใด อยากทำอะไร จบอะไรมา รู้ว่าตนเองเรียนในระดับใด มีประสบการกิจกรรมระหว่างเรียนอะไร-อะไรคือจุดเด่น จุดอ่อนของตนเอง
  • รู้องค์กร : การรู้บริบทขององค์กรที่ตนเองกำลังสมัครเข้าทำงาน รู้ว่านโยบาย ยุทธศาสตร์ขององค์กรนั้นไปในทิศทางใด
  • กระตือรือร้น : การมีความตื่นตัวในการทำงาน รับผิดขอบต่อหน้าที่ ซื่อสัตย์ และรักในหน้าที่ ไม่เฉื่อยชา และเย็นชาจนเป็นภาระขององค์กร




  • ทะเยอทะยาน : การมีพลังเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ใส่ใจเรียนรู้ เพิ่มพูนความรู้และศักยภาพตนเองอย่างต่อเนื่อง อันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่จะทำให้เกิดการเติบโตในสายงาน
  • ยืดหยุ่น : การไม่ติดยึดว่าจบอะไรมาก็ต้องทำงานในสายงานนั้นเสมอไป รวมถึงหากต้องมีการโยกย้ายปรับเปลี่ยนสายงาน หรือปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงาน ต้องถือว่านั่นคือระบบและกลไกของการเติบโต หรือการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง ซึ่งทั้งปวงหมายถึงการเปิดโอกาสให้ตนเองดีๆ นั่นเอง




  • สองภาษา : การมีทักษะภาษาที่หลากหลาย เช่น ภาษาอังกฤษ จี เกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ เพราะโลกวันนี้คือโลกอันไร้พรมแดน และกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งประชาคมอาเซียน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นยุคสมัยแห่งภาษาโดยแท้จริง
  • เป็นผู้ฟังที่ดี : การมีทักษะในการเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะการเป็นผู้ฟังที่ดีเป็นคุณสมบัติสำคัญของการเป็นนักการเรียนรู้ เป็นคุณลักษณะที่บ่งบอกถึงการเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน การฟังจึงเป็นเสมือนการอ่านไปในตัว... ยิ่งฟังมาก ยิ่งรู้มาก




  • กล้าคิดกล้าทำ : การมีคุณลักษณะเช่นนี้คือบันไดแห่งการเติบโต เพราะการคิดจะสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นนักออกแบบ เป็นนักสร้างสรรค์ และคิดแล้วต้องกล้าที่จะลงมือทำ ใส่ใจกับงาน จริงใจต่อการลงมือทำ พอๆ กับการแสวงหาโอกาสในการคิดและทำอย่างสร้างสรรค์ เพื่อชี้ให้เห็นว่าตนเองเป็นนักเรียนรู้ ไม่หยุดนิ่งต่อการเรียนรู้
  • นักกิจกรรม : การทำกิจกรรม หรือการเป็นนักกิจกรรม จะเป็นทุนอันยิ่งใหญ่ที่เป็นใบเบิกทางเข้าสู่องค์กร เพราะนายจ้างจะไม่มองแค่ผลการเรียน แต่จะมองที่บุคลิกภาพ โลกทัศน์ ทักษะชีวิตและทักษะทางสังคม ซึ่งกลุ่มที่ทำกิจกรรมมาจะได้เปรียบในมิตินี้เฉกเช่นวาทกรรม "การเรียนทำให้คนมีงานทำ กิจกรรมทำให้คนทำงานเป็น"




ครับ, นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผมพยายามจับประเด็นจากสิ่งที่วิทยากรได้สะท้อนในวงเสวนาเล็กๆ แต่มีความหมายและเต็มไปด้วยคุณค่า

ฟังดูเหมือนเป็นตรรกะง่ายๆ ใครๆ ก็รู้... แต่ต้องรู้ว่านี่คือความจริงที่ต้องใส่ใจและตระหนักอย่างจริงจังและจริงใจ มิใช่รู้เพราะมันคือทฤษฎีเท่านั้น แต่ต้องรู้และตระหนักว่านี่คือข้อเท็จจริงที่มองข้ามไม่ได้จริงๆ

นอกจากนี้แล้วอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผมชื่นชอบมาก เป็นกิจกรรมในทำนอง "ชม ชิม ชอบ แซบ" นั่นก็คือกิจกรรมสาธิตอาชีพต่างๆ ซึ่งมีอย่างหลากหลายมาก เป็นต้นว่า ทำน้ำสลัด ปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้ สานกระติบจากริบบิ้น ทำถุงผ้า ขนมคุกกี้ เพ้นท์เล็บต่อเล็บ กรอบรูปวิทยาศาสตร์ โดนัทเค้ก ฯลฯ




ผมชอบกิจกรรมในทำนองนี้ ไม่ใช่เพราะว่าได้เห็น (ชม) ได้ชิม (รับประทาน) ได้ชอบ (กินฟรี..มีรายได้) ได้แซบ (อร่อย) เท่านั้น หากแต่ผมมองไปไกลกว่านั้น จนอดที่จะเสนอแนะแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารและคณะทำงานอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ (แต่ยืนยันว่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบสาภพมากๆ) ประมาณว่า

  • จะดีแค่ไหนหากปีหน้า เราประสานกลุ่มแม่บ้านในชุมชน/คนในชุมชนมาร่วมฝึกทักษะอาชีพในเวทีนี้เลย คัดสรรกันมา เปิดรับสมัครกันมา จัดทำเป็นหลักสูตรระยะสั้น 8 ชั่วโมง มีประกาศนียบัตรให้กับชุมชนแบบเสร็จสรรพ
  • เพราะสิ่งเหล่านี้หมายถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชนได้ในอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งสามารถทำงานร่วมกับ อบต./เทศบาล/กำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้อย่างไม่ยากเย็น




แน่นอนครับ- ผมพูดหนักแน่นว่าวิธีคิดและวิธีการที่ผมว่านั้น มันหมายถึงการยกระดับงานในเวที "นัดพบตลาดงาน" ไปสู่การเป็นงาน "บริการสังคม" ไปในตัว ซึ่งอาจหมายถึงการเป็นงาน "บริการวิชาการแก่สังคม" ไปในตัวด้วยเช่นกัน

และนั่นก็เท่ากับว่าโครงการดังกล่าวนี้ตอบโจทย์เอกลักษณ์มหาวิทยาลัยมหาสารคามอย่างเสร็จสรรพ นั่นคือ "เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน"

ไม่จบแค่นั้นครับ ผมยังฝากแนวคิดว่า ควรให้หน่วยงานในมหาวิทยาลัยฯ ที่กำลังเปิดรับสมัครพนักงาน-เจ้าหน้าที่ได้ออกมาจัดเวทีรับสมัครงานในเวทีนี้ด้วย พร้อมๆ กับการจัดนิทรรศการความเป็นมหาวิทยาลัยฯ ในมิติต่างๆ เข้ามาเสริมบรรยากาศงานไปด้วย....

ครับ-นั่นคือเรื่องของปีหน้า แต่ปีนี้ถือว่าทำได้ดี และสุดยอดแล้วครับ !





หมายเหตุ : บริษัทที่ร่วมเสวนาบนเวทีคือ

  • บริษัทจี เอ็ม เอส ดิวตี้ฟรี จำกัด (ภูเก็ต)
  • บริษัทโคนิกา มินอลต้า บิสสิเสส โซลูซันส์ (ขอนแก่น)
  • บริษัทกรุงไทย แอ็กซ่าประกันชีวิต จำกัดมหาชน (มหาสารคาม)
  • บริษัทสยามคูโบต้า ลิสซิ่ง จำกัด (ปทุมธานี)
  • บริษัทไมโครชิฟเทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด (ฉะเชิงเทรา)
  • บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (กรุงเทพฯ)
หมายเลขบันทึก: 588188เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2015 07:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 18:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เป็นตลาดนัดที่เป็นประโยชน์กับนิสิตมากเลยครับ

ได้เรียนรู้เรื่องงาน

แถมได้งานที่ตนต้องการด้วย

ขอบคุณมากๆครับ


ขอสนับสนุนกิจกรรมดีๆเช่นนี้ค่ะ

ครับ อ. ขจิต ฝอยทอง

อย่างน้อยก็ได้ช่วยลดต้นทุนการเดินทางของนิสิตไปยังแหล่งงาน ทั้งให้บริการสังคมไปพร้อมๆ กัน แต่จะดีมากๆ ถ้าเราสามารถประเมินได้ว่า คนที่สมัครงานผ่านเวทีนี้ ได้งนกันกี่คน บางที่ถึงแม้ปริมาณไม่สำคัญนัก แต่ผมก็สนใจที่จะดูตัวเลขเหล่านี้เหมือนกัน



ครับ อ. Wasawat Deemarn

ที่ มรภ.เชียงใหม่ มีกิจกรรมในทำนองนี้บ้างไหมครับ เผื่อได้ ลปรร. กันบ้าง

ขอบพระคุณครับ พี่ใหญ่

.... กิจกรรมนี้จัดมายาวนานมากเลยครับ ระยะหลังก็ผนึกกำลังกับภาคีภายนอกมากขึ้นเรื่อยๆ ในมุมของผมเป็นการบริการสังคมไปในตัว ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท