หลวงโยนะการพิจิตรพ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมภ์พระเจดีย์ สร้างพระและอุปถัมภ์วัด (ตามรอย 9 วัดไชยมงคล ป่ากล้วย)


คงจะเป็นโชคชะตาและวาสนาที่นำพาให้หลวงโยนะการพิจิตรได้มีโอกาสถวายงานพระราชชายาเจ้าดารารัศมีอยู่หลายครั้ง วัดไชยมงคล(ป่ากล้วย) เชียงใหม่ เป็นวัดอีกวัดหนึ่งที่หลวงโยนะการพิจิตรอยู่เบื้องหลังการสร้างถวายเจ้าดารารัศมี ในเรื่องนี้มีทั้งเรื่องเล่าจากทายาทของหลวงโย ฯ เอง มีทั้งบันทึกที่เป็นทางการ และคำบอกเล่าของขาวบ้านที่เป็นศรัทธาหรืออยู่ในพื้นที่ที่วัดตั้งอยู่

นางแสงเพ็ชร กระแสชัย(หลาน)และนางประภาศรี อุปะโยคิน(บุตรี) ให้สัมภาษณ์นักวิจัย คือ ร.ศ.ดร.โชติมา จตุรวงศ์เมื่อเดือน เมษายน ๒๕๔๔ โดยเล่าว่า หลวงโยนะการพิจิตรอยู่เบื้องหลังการสร้างถวายพระราชชายา เจ้าดารารัศมี โดยมีบันทึกเป็นลายมือของนางประภาศรีเก็บไว้

คุณพิเชษฐ์ ตันตินามชัย นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ เชียงใหม่ เขียนบทความซึ่งอ้างอิงหนังสือ ขัตติยะนารีศรีล้านนา พระราชชายาเจ้าดารารัศมี หน้า ๑๗๕-๑๗๖ ความว่า

"พ.ศ.๒๔๖๕ พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงสร้างและฉลองพระวิหารวัดไชยมงคล(ป่ากล้วย) ชื่อเดิม คือ วัดไชยชนะนางเหลียวไชยมงคลป่ากล้วย ทรงมีรับสั่งให้หลวงโยนะการพิจิตรนำเอาไม้ซุง ล่องลำน้ำปิงไปขึ้นที่วัดไชยมงคลเพื่อนำมาทำเสาพระวิหาร"

หลังจากสร้างพระวิหารเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้มีปอยหลวง(งานสมโภช) ๗วัน ๗ คืน มีมหรสพทั้ง ภาพยนตร์ ลิเก ซอ มวย ตลอดงาน วัดไชยมงคล ป่ากล้วยแห่งนี้เป็นวัดที่มีชื่อเสียงอย่างมากในอดีต โดยมีครูบาปินตา (พระครูญาณรังสี) เป็นเจ้าอาวาส เมื่อจ.ศ.๑๒๕๗ (พ.ศ.๒๔๓๘) ในสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้ทรงสถาปนาพระสังฆราชา ทั้ง ๗ องค์ ครูบาปินตาวัดไชยมงคลแห่งนี้ ได้รับสถาปนาเป็น ฉัฏฐมะสังฆราชาที่ ๗ เมื่อครูบาปินตาได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระสังฆราชาแล้วก็ยิ่งมีกิตติศัพท์ด้วยศีลาธิคุณและทางด้านคาถาอาคม คงกระพันชาตรี บุญบารมีขจรออกไปอย่างกว้างขวาง ผู้คนทุกทิศานุทิศต่างพากันมาเคารพ สักการะ มีตั้งแต่คนธรรมดาสามัญตลอดถึงเจ้านายในนครเชียงใหม่ พระราชชายาเจ้าดารารัศมีเสด็จมาทรงสนทนาธรรมกับครูบาปินตาบ่อยครั้ง

นอกจากนั้นจากการสัมภาษณ์พระอธิการสุรพล สิริวณฺโณเจ้าอาวาสวัดไชยมงคล(ป่ากล้วย)เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๘ และเมื่อ ๑๑ ส.ค.๒๕๕๑ ทำให้ทราบจากศรัทธาผู้สูงอายุของวัดว่า

พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงย้ายวัดจากบริเวณที่ตั้งวัดเดิมซึ่ง ปัจจุบันคือตลาดสดปากทางเข้าวัด มาอยู่ที่บริเวณที่ตั้งวัดปัจจุบัน เนื่องจากบริเวณที่ตั้งวัดเดิมอยู่ใกล้ร.พ.แมคเคนเกินไปทรงเกรงว่าพระเณรอาจติดโรคผิวหนังได้ ในขณะนั้นแมคเคนเป็นโรงพยาบาล.รักษาผู้ป่วยโรคเรื้อน) เจ้าอาวาสเล่าเพิ่มเติมว่าครูบาปินตาเป็นคนบ้านป่ากล้วย นอกจากนั้นท่านทราบว่า เจ้ากุลวงค์ ณ เชียงใหม่ ได้นำรูปพระราชายาฯและพระธิดามาถวายวัด

มีเรื่องเล่าจากศรัทธาวัดป่ากล้วย ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณครู ลัดดา อักษรพรหม ศรัทธาวัดป่ากล้วย อายุ ๗๒ ปี ขณะที่สัมภาษณ์เมื่อ วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ ( อยู่บ้านเลขที่ ๓๔ หมู่ ๑๓ ต.ท่าวังตาล อ.สารภี เชียงใหม่ ) ครูลัดดาเล่าว่าคุณยายของครูอยู่ในเวียงชั้นนอกใกล้วัดศรีสุพรรณ แต่บ้านเดิมอยู่ใกล้วัดกิตติ แต่เนื่องจากคุณทวดของครูลัดดามีที่นาอยู่ใกล้วัดป่ากล้วยจึงย้ายมาอยู่บ้านป่ากล้วย ทวดของครูลัดดาชื่อแม่อุ้ยเขียว เป็นข้าราชบริพารของพ่อเจ้าชีวิต(น่าจะหมายถึง พระเจ้าอินทวิชยานนท์)พ่อเจ้าชีวิต(เจ้าหลวง)ประชวร มีผู้ทักให้ย้ายที่อยู่ คุณทวดซึ่งเป็นข้าหลวงในคุ้ม(วัง) แนะนำให้ทรงย้ายที่อยู่ไปวัดป่ากล้วย เพราะท่านพระครูญาณรังสีเก่งและคุณทวดคุ้นเคยกับท่านเจ้าอาวาสเป็นอย่างดี

พ่อเจ้า(เจ้าหลวง)ออกเดินทางเวลากลางคืน ครูลัดดาไม่ทราบเส้นทางที่เจ้าหลวงทรงใช้ ก่อนที่เจ้าหลวงจะถึงวัดป่ากล้วย คุณทวดรีบเดินทางมาแจ้งข่าวให้พระครูทราบล่วงหน้าว่าเจ้าหลวงจะมาหลีกเคราะห์ให้เจ้าอาวาสเตรียมตัวต้อนรับและให้ศีลให้พรเจ้าหลวง คุณทวดมาถึงวัดเมื่อประมาณตี๓ ตี ๔ เมื่อเจ้าอาวาสทราบเรื่องท่านก็กลัวจนตัวสั่นเพราะไม่เคยรับเสด็จเจ้านาย เมื่อเจ้าหลวงเสด็จมาถึงและมีการต้อนรับดังกล่าวแล้ว เจ้าหลวงประทับอยู่ที่วัดจนสว่าง ถือเป็นการมาหลีก เคราะห์เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย จากนั้นเจ้าหลวงก็ทรงติดต่อกับทางวัดมาโดยตลอด

สำหรับเรื่องการที่หลวงโยนะการพิจิตรล่องไม้ซุงมาสร้างวิหารให้พระราชชายาฯนั้น ครูลัดดาได้ยินว่าเป็นไม้ซุง ๘ ต้น ล่องน้ำแม่ปิงมาขึ้นที่ท่าน้ำโจ้ คุณพ่อของพระอธิการสุรพล ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ยืนยันว่าท่าน้ำโจ้เป็นท่าน้ำใหญ่ หลวงโยฯนำไม้ซุงที่จะมาสร้างวิหารขึ้นที่ท่าน้ำแห่งนั้นอย่างแน่นอน ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงทำท่าน้ำโจ้เป็นฝายชลประทานเพื่อนำน้ำไปหล่อเลี้ยงลำพูน

วิหารวัดป่ากล้วยนี้เคยมีการบูรณะโดยขยายวิหารให้ใหญ่ขึ้น เป็นที่น่าเสียดาย ระหว่างที่กำลังมุงกระเบื้องเกิด มีฝนตกหนัก ภาพเขียนในวิหารจึงเสียหายหมด

ภาพ 1 พระราชชายาและพระธิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี (ภาพจากกูเกิล)

ภาพ 2 พระครูญาณรังษี หรือ ครูบาปินตา อดีตเจ้าอาวาสวัดไชยมงคลป่ากล้วยและอดีตเจ้าคณะอ.สารภี เชียงใหม่

ภาพ3 วิหารวัดไชยมงคล ป่ากล้วย ที่หลวงโยฯสร้างถวายพระราชชายาฯ

ภาพ 4 หน้าบันวิหารวัดไชยมงคลป่ากล้วยที่คอสองมีดอกไม้สี่กลีบสัญลักษณ์ของหลวงโยฯ

ภาพ 5 พระประธานสิงห์หนึ่งในวิหารวัดไชยมงคลป่ากล้วย ดาวบนเพดานคือดาวสัญลักษณ์ของพระราชชายาฯ

ภาพ 6 ที่ฐานพระประธานมีดอกไม้หกกลีบสัญลักษณ์ของหลวงโยฯประดับอยู่ จะพบเห็นดอกสัญลักษณ์นี้ในงานประดับกระจกตามวัดวาอารามต่างๆอีกหลายแห่ง

ภาพ 7 พระพุทธรูปในวิหารวัดไชยมงคลป่ากล้วย องค์ด้านซ้ายของพระประธาน นอกจากจะมีดอกหกกลีบสัญลักษณ์ของหลวงโยฯที่ท่แท่นแก้ว ยังมีดอกไม้หลายกลีบสัญลักษณ์ของหลวงโยฯที่ฐานพระพุทธรูป


ภพ 8 พระพุทธรูปองค์ขวามือของพระประธานในวิหารวัดไชยมงคลป่ากล้วยมีดอกสัญลักษณ์ของหลวงโยฯแค่ครึ่งเดียว

ภาพ 9 ซูมดอกสัญลักษณ์ของหลวงโยฯเป็นดอกไม้ครึ่งดอกที่ฐานพระพุทธรูปองค์ขวามือของพระ


ภาพ 10 พระเจดีย์วัดไชยมงคลป่ากล้วยก่อนการบูรณะ

ภาพ 11 พระเจดีย์วัดไชยมงคลป่ากล้วยหลังการบูรณะ

ภาพ 12 วิหารพระบาทสี่รอยที่ชาวบ้านช่วยกันสร้าง


ภาพ 13 หน้าบันวิหารพระบาทสี่รอย

ภาพ 14 บนเพดานใกล้หน้าบันมีดอกสัญลักษณ์เป็นดอกสี่กลีบ

ภาพ 15 ซูมดอกไม้สี่กลีบ

ภาพ 16 เสาในวิหารเขียนว่าสร้างปี ๒๔๖๗

ภาพ 17 ภายในวิหารพระบาทสี่รอย

ภาพ 18 ลวดลายเสาในวิหารพระบาทสี่รอย

ภาพ 19 พระพุทธรูปในวิหารพระบาทสี่รอยวัดไชยมงคลป่ากล้วย


กราบขอบพระคุณพระอธิการสุรพล สิริวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดไชยมงคล ป่ากล้วยและ

คุณครูลัดดา อักษรพรหม ศรัทธาวัดไชยมงคลป่ากล้วย

เรื่องโดย นางศรีสุดา ธรรมพงษา

ภาพโดย อ.ไพศาล สุกใส

และนายพิชญะ เตชะเสน

ผู้เขียนร่วม ผศ.ดร.กัลยา ธรรมพงษา

หมายเลขบันทึก: 587719เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2015 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2015 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

หลวงโยฯมีคุณูปการมากมายต่อเมืองเชียงใหม่ ผู้เป็นลูกหลานน่าภูมิใจ นะคะอาจารย์

ภาพ 4 -7 หายไปหรือเครื่องดิฉันเปิดไม่ได้ก็ไม่ทราบค่ะ

ชอบบันทึกทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ของอาจารย์มากนะครับ

ขอบคุณครับ

ขอบคุณค่ะหมอนุ้ย แก้ไขและเพิ่มภาพแล้วนะคะ ช่วงนี้ระบบน่าจะถูกรบกวนมาก ใส่รูปไม่ค่อยสำเร็จ ต้องทำหลายครั้งกว่าจะฟลุคสำเร็จ เมื่อคืนนี้ก็ปลุกปล้ำอยู่นานค่ะ

ขอบคุณท่านแสงมากค่ะ รู้สึกเป็นเกียรติและได้กำลังใจในการเขียนมากค่ะ เรื่องของหลวงโย ฯ มีผู้สนใจศึกษาอยู่หลายคนเหมือนกัน คุณศรีสุดาหลานสายตรง ได้เก็บรวบรวมข้อมูล หลักฐานต่าง ๆของคุณตามาหลายปีแล้วและยกร่างมาให้อย่างดีค่ะ

รูปไปธุดงธ์ที่ดอยอินทนนท์เป็นบันทึกความสุขของสานุศิษย์ท่านอาจารย์ ดูแล้วเกิดปิติศรัทธาอย่างยิ่ง ขอบคุณมากนะคะ น้องเขยของ GD ก็เคยไปและกลับมาเล่าคงเป็นแบบนี้นี่เอง ขอบคุณค่ะ

บันทึกนี้น่าสนใจมาก

เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าติดตามมากๆครับอาจารย์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท