​ค่ายอาสาพัฒนาชนบท ครั้งที่ ๘ ...นิสิตแพทย์กับการเรียนรู้คู่บริการ


คณะแพทยศาสตร์ ประกาศอัตลักษณ์นิสิตในสังกัดคณะ คือ "อ่อนน้อมถ่อมตน" มีกระบวนการบ่มเพาะควบคู่กันไประหว่างกิจกรรมในหลักสูตร (ในชั้นเรียน) และการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตร (Extracurricular) อย่างเป็นระบบ มุ่งให้นิสิตเป็นศูนย์กลาง (Student Centered) ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตได้ใช้เวลาว่างออกไปเรียนรู้ชุมชนในรูปแบบของค่ายอาสาพัฒนา ดังปรากฏในชื่อโครงการ "ค่ายอาสาพัฒนาชนบท ครั้งที่ ๘"



โครงการ "ค่ายอาสาพัฒนาชนบท ครั้งที่ ๘" จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๗–๑๐ มีนาคม ๒๕๕๗ ณ โรงเรียนบ้านคำม่วง ต.คำบง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ เป็นการขับเคลื่อนในลักษณะของค่ายอาสาพัฒนาสู่การเรียนรู้คู่บริการบนฐานวิชาชีพ มีระบบและกลไกการเรียนรู้ที่สำคัญๆ โดยสังเขป ดังนี้

๑.ด้านบำเพ็ญประโยชน์และสิ่งแวดล้อม : ประกอบด้วยกิจกรรมหลักคือการทาสีกำแพงโรงเรียน ทาสีและตีเส้นสนามกีฬา ปรับภูมิทัศน์ภายในโรงเรียนและวัด ปูกระเบื้องและติดพัดลมศาลาประชาคมหมู่บ้าน ทำความสะอาดหอประชุมโรงเรียนและบริเวณโรงเรียน โดยในทุกกิจกรรมมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชนอันหมายถึง ครู นักเรียน และชาวบ้าน เรียกได้ว่าครบมิติของความเป็น "บวร" (บ้าน-วัด-โรงเรียนและส่วนราชการ) อย่างเสร็จสรรพ



๒.ด้านการส่งเสริมสุขภาพ : ถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักของค่าย เพราะเป็นกิจกรรมที่ยึดโยงอยู่กับวิชาชีพของนิสิตคณะแพทย์ฯ เช่น ถ่ายทอดความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพแก่นักเรียนและชาวบ้าน การตรวจสารปนเปื้อนให้กับเกษตรกร โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคำบงร่วมเป็นหนึ่งในพลังเครือข่ายร่วมให้บริการแก่สังคมร่วมกับนิสิตชาวค่าย

๓.ด้านศิลปวัฒนธรรม คุณธรรมจริยธรรม : มุ่งให้นิสิตได้เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนผ่านกิจกรรมสำคัญๆ เช่น กิจกรรมถนนสายธรรมโดยการทำบุญตักบาตร จัดทำสวนสุมนไพรเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนและชาวบ้าน เพื่อเชื่อมโยงเรื่องระบบการดูแลสุขภาพผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนั้นยังรวมถึงกิจกรรมรำวงชาวบ้าน การรำบายศรีโดยนิสิตและพิธีบายศรีสู่ขวัญโดยชุมชนที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมของการต้อนรับและให้เกียรติต่อแขกผู้ทำประโยชน์ให้กับชุมชน



๔.ด้านกีฬาและนันทนาการ : นอกเหนือจากการทาสีและตีเส้นสนามกีฬาแล้ว ค่ายอาสาพัฒนาชนบทฯ ยังคงมีกิจกรรมหนุนเสริมการเรียนรู้และการสานสัมพันธ์ที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ การแข่งขันกีฬาระหว่างนิสิตกับนักเรียน กิจกรรมละครของนักเรียน กิจกรรมรอบกองไฟ กิจกรรมเต้นแอโรบิคในทุกเช้าของการออกค่าย



จากข้อมูลข้างต้น เห็นได้ชัดว่าค่ายอาสาพัฒนาของสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ขับเคลื่อนครบมิติ "บวร" อย่างโดดเด่น และถึงแม้จะไม่พบกระบวนการเรียนรู้วิถีชุมชนอย่างเด่นชัดนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการนี้ฯ เป็นค่ายอาสาพัฒนาในแบบบูรณาการการเรียนรู้คู่บริการอย่างน่าสนใจ เนื่องเพราะมีกลิ่นอายของการเพียรพยายามนำวิชาชีพไปสู่การบริการสังคม ผสมผสานกับการจัดกิจกรรมอันหลากหลาย เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง "นิสิตกับชุมชน" ซึ่งมุ่งให้ชุมชน โดยเฉพาะนักเรียนและส่วนราชการในท้องถิ่น (รพ.สต.) ได้มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างเต็มภาคภูมิ เสมือนการจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน (Cooperative Learning) ทั้งนิสิตกับนิสิต และนิสิตกับชุมชนอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้โครงการดังกล่าวจะได้รับการพัฒนาและค้นพบความเป็นตัวตนในแบบฉบับของ "ค่ายนิสิตแพทย์" มากขึ้นตามลำดับ

และโดยส่วนผมแล้ว ผมสุขใจมากมายกับการที่ได้เห็นเด็กนักเรียนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรมในแทบทุกกระบวนการ เพราะนั่นคือภาพของการมีส่วนร่วม เป็นภาพของการบ่มเพาะสำนึกร่วมในการเป็นเจ้าของ เสมือนการปักหมุดเรื่องจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิด (เยาวชนจิตอาสา) หรือจิตอาสาให้แก่เยาวชนดีๆ นั่นเอง ถึงแม้การงานที่เด็กๆ ได้หยิบจับร่วมกับนิสิต จะเป็นเพียงการงานเล็กๆ ก็เถอะ แต่ต้องไม่ลืมว่า เรื่องเล็กๆ เหล่านี้แหละที่มีพลังต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตและสังคมอย่างมหัศจรรย์...

แต่สำหรับนิสิตชาวคณะแพทย์ฯ ก็ยอมรับแหละว่า นี่คือหนึ่งในวิถีแห่งการศึกษาเพื่อรับใช้สังคม ส่วนจะเข้มข้นแค่ไหน นิสิตรู้ดีอยู่แล้ว....(สู้ๆ ครับ)



หมายเหตุ : ภาพจากสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 587566เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2015 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะอาจารย์

คุณยายอยากไปช่วยอาจารย์ทำงานจัง ทำยังไงถึงจะว่างช่วงมีกิจกรรมน๊อ


ดูภาพแล้ว ... เข้าถึง วิถีชุมชน - วิถีชาวบ้าน นะคะ



-สวัสดีครับ

-ตามมาชมชาวค่าย

-ค่ายสร้างคน..จริงๆ ครับ

-ตามมาให้กำลังใจครับ

ชื่นชมกิจกรรมจิตอาสาเช่นนี้มากๆ..เก็บภาพมาแลกกันดูค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท