โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

​"ธรรมกาย" หลายแง่มุม


"ธรรมกาย" หลายแง่มุม

โสภณ เปียสนิท

....................................

ผมมีเพื่อนบนเฟสบุ๊คราวพันห้าร้อยคน ส่วนมากเป็นนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชาที่ผมสอน ส่วนน้อยมาจากกลุ่มเพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์รักชาติด้วยกัน วันดีคืนร้ายเห็นบางรายโพสต์ข้อความแบบความคิดเห็นรุนแรงต่อพระศาสนาโดยเอาภาพพระจำนวนเกินกว่าสิบกว่ารูป บางรูปเป็นพระราชาคณะชั้นสูง และรองๆ ลงไปแล้วกล่าวคำบริภาษด้วยถ้อยคำหยาบคาย ผมสะดุดความคิดของตัวเองทันที "เหตุใดคนนี้จึงกล่าวถ้อยคำหยาบคายได้โดยไม่ละอายปาก (ข้อเขียน)ของตน นั่นเป็นประเด็นที่หนึ่ง ประเด็นสอง เหตุใดคนนี้จึงกล้าบริภาษพระจำนวนกว่าสิบรูป โดยไม่เกรงผ้าเหลือง" มองไปยังผู้ที่นำเสนออีก ว่าเหตุใดจึงพูดแบบนี้ วิเคราะห์ได้ว่า เขาใช้ชื่อปลอม ปกปิดสถานภาพอันแท้จริงของตน จึงทำให้มีความกล้าทำการอันเสี่ยงเช่นนี้ สอง เขาอาจมีประเด็นซ่อนเร้นอยู่ในใจ

อีกรายหนึ่งใช้ชื่อบุคคลซึ่งไม่รู้ว่าเป็นชื่อจริงหรือไม่ แต่ก็ยังดีกว่ารายแรก เพราะเปิดเผยกว่า ประกาศว่า "ใครก็ตามที่เป็นฝ่ายของวัดธรรมกาย เลิกเป็นเพื่อนกันได้เลย" ผมเห็นว่าท่านนี้มีความสง่างามเปิดเผยตรงไปตรงมา ผมมองว่าเขามีจิตใจดีกว่ารายแรกมาก แต่คิดต่อว่า เขาเข้ามาเป็นเพื่อนผมได้อย่างไรก็หาข้อมูลไม่พบ เขามีคุณความดีแก่ผมอย่างไรบ้าง นึกไม่ค่อยออกเลย แม้แต่กดไลค์ยังไม่ค่อยจะมี สรุปได้ว่า ไม่มีคุณานุปการต่อกันใดๆเลย หันไปมองทางวัดพระธรรมกาย อย่างน้อยก็ยังเป็นวัด สอนผมให้รู้จักการทำทาน ให้รู้จักการรักษาศีล ให้รู้จักการภาวนา สรุปว่า วัดมีประโยชน์ต่อชีวิตของผมมากกว่า นายคนนี้แน่นอน ดังนั้น ผมรีบขอบคุณเขาแล้วเลิกเป็นเพื่อนโดยมิลังเล

เรื่องวิชา "ธรรมกาย" ถูกกล่าวหาว่ามิใช่วิชาของพระพุทธเจ้าตั้งแต่สมัยของท่านเจ้าคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนีวัดปากน้ำภาษีเจริญนั่นแล้ว ท่านใช้วิธี "ไม่สู้แต่ไม่หนี" ชนะทุกที ท่านว่าของท่านอย่างนั้น ผ่านพ้นยุคสมัยของท่านมาถึงยุคปัจจุบัน กลายเป็นข่าวอันโด่งดังหลายครั้ง หลายหนจนสั่นสะเทือนวงการพระศาสนาไม่น้อย ผมติดตามข่าวด้วยความห่วงใยพระศาสนาตามวิสัยของคนที่อยู่อาศัยใต้ร่มบุญ

ผมมีความคิดแง่บวกต่อวิชา "ธรรมกาย" ในฐานะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่วัดปากน้ำ เมื่อได้มีโอกาสบวชเรียนหลังจบประถมสี่ และพยายามปฏิบัติธรรมตามหลักวิชาธรรมกายมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน นับแต่ปี 2514 จนถึงปัจจุบัน แม้ผมจะขาดความเพียร ขาดอิทธิบาทสี่อย่างมาก ตามแบบของ ลินคอร์น อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่กล่าวอมตวาจาไว้ว่า "แม้ผมจะเป็นคนเดินช้า แต่ผมไม่เคยเดินถอยหลัง" ผมปฏิบัติมาเรื่อยๆ หยุดบ้างทำบ้าง แต่ไม่เคยทิ้ง ผมจึงเกิดความรักในวิชา "ธรรมกาย" มีความมั่นใจในวิชาสายนี้ว่า เป็นวิชาของพระพุทธองค์

ฟังญาติโยมอ้างคำพระอาจารย์ผู้มีชื่อเสียง รูปนั้น รูปนี้ เพื่อนำมาข่มวิชาธรรมกายให้มีคุณค่าลดลงแล้วเศร้าใจ เพราะญาติโยมผู้พูดเหล่านั้น ไม่เคยปฏิบัติ หรือปฏิบัติเพียงสายเดียว แล้วไปยกเอาคำปราชญ์บางส่วนมาพูด ท่านพูดไว้ยาว ยกเอามาเพียงสั้นๆ เพื่อให้เป็นไปตามอคติของตน ว่า วิชาธรรมกายผิด ต่างพากันพูดเรื่อง ปรมัตถธรรม ธรรมสูงสุดของพระพุทธศาสนา นิพพาน อัตตา อนัตตา ซึ่งคิดเอาว่า เป็นเรื่องเข้าใจง่ายไปซะอย่างนั้น

พระนักปราชญ์ท่านว่าผิดนั้น หมายถึงสภาวะพระนิพพาน ที่ผู้จะเข้าใจได้อย่างแท้จริง พูดได้ถูกต้อง ต้องเป็นผู้เข้าถึงพระนิพพานแล้วเท่านั้น โยมเข้าใจเอาง่ายๆว่า วิชาธรรมกายผิด ไม่ใช่วิชาของพระพุทธองค์ไปนั่น ในที่สุดแล้วก็พาเอาเรื่องส่วนตัวของพระบางองค์เล่นงานพระโดยรวม ลุกลามเหมือนขี้กลากไป เห็นพระนั่งสมาธิแล้วหลับบ้าง จับเอาไปเป็นประเด็นว่าพระ ทั้งที่รู้ว่า เป็นพระบวชใหม่ พระเดินทางมาไกล ด้วยความเหนื่อยล้า ต่างพากันตำหนิ ทำนองกล่าวหาว่า วิชาธรรมกายนั้นผิด ทำให้พระหลับ โยมหนอโยม

จากการปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมมาต่อเนื่องพอควร เข้าใจง่ายๆ ตามแนวคิดว่า พระศาสดาทรงสอนกัมมัฏฐานสองประการ คือ สมถ และ วิปัสสนากัมมัฏฐาน ใช้ประกอบกัน สมถะเป็นอุบายสงบใจ ส่วนวิปัสสนาพิจารณาให้เข้า หลักไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ ทุกขัง เป็นทุกข์แปรปรวน ไม่คงเดิม อนัตตา มิใช่ตัวตน ยึดถือไม่ได้ เพื่อให้เข้าถึงอริยสัจ 4 ประการ ทุกข์ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วทนได้ยาก ดำรงอยู่ไม่นาน สมุทัยเหตุแห่งทุกข์นั้น นิโรธ การดับทุกข์เหล่านั้น และ มรรค หนทางเพื่อก้าวไปสู่การดับทุกข์

ผมเป็นผู้ใหม่ในพระศาสนา มีบุญน้อย มีความเพียรน้อยก็พยายามขึ้นบันไดขั้นแรก ที่สมถะ อุบายสงบใจ ตามวิชา "ธรรมกาย" ซึ่งก็คือ "อาโลกสิณ" กำหนดแสงสว่าง ในกสิณ 10 ที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้นั่นเอง กสิณกองเดียว ปฏิบัติต่อเนื่องให้เป็นฌานได้ พระศาสนาก็เรียกว่า "ทางสายวิชา3" ใครกล่าว่า วิชาธรรมกายผิด แสดงว่า คนนั้น "พูดผิด" จากคำสอนของพระพุทธองค์ และแน่นอน

มีคำถามว่า เหตุใดปราชญ์พระเช่นท่านเจ้าคุณประยุทธิ์ ปยุตโต และพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี จึงมีข้อสรุปว่า วิชาธรรมกายผิด นั้นเพราะเหตุใด สรุปจากการอ่านผลงานของพระคุณเจ้าทั้งสองรูป ท่านมีจุดประสงค์ชี้เป้าหมายไปที่ เป้าหมายสูงสุดของพระศาสนา "พระนิพพาน อัตตา อนัตตา" ซึ่งย่อมไกลเกินกว่าสามัญชนคนธรรมดาจะเข้าใจ หากแต่จะมีผู้เข้าใจไปเองว่า "วิชาธรรมกายผิด มิใช่วิชาของพระพุทธศาสนา" เสียเป็นส่วนมาก ซึ่งกลายเป็นความเสียหาย บางรายถึงกับจ้วงจาบวิชาของพระพุทธเจ้า ว่ามิใช่วิชาของพระพุทธเจ้าไปเป็นส่วนมาก

ประเด็กถกเถียงเรื่อง พระนิพพาน อัตตา อนัตตา ควรเป็นเรื่องที่ต้องฟังกันไป แต่คงไม่ต้องถึงกับเอามาตัดสินกันจนผลักใครคนใดออกนอกพระศาสนาไป เพราะเกรงว่า แม้พระอริยบุคคล สายสุกขวิปัสสกะ กับพระอริยสายวิชาสาม สายอภิญญาหก สายปฏิสัมภิทัปปัตตะย่อมกล่าวถึงพระนิพพานในรูปแบบที่ต่างกันแน่นอน ส่วนผู้คงแก่เรียนสายปริยัติ ไม่ว่าจะจบนักธรรมเอก จนถึงระดับเปรียญธรรม 9 ประโยค สูงสุดในพระศาสนา ก็น่าจะเป็นเพียงรับฟังไว้ให้คิดเท่านั้น โดยนำมาประกอบกับการปฏิบัติอย่างยิ่งยวดแล้วจะพึงรู้เองเห็นเองด้วยตนเอง เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตน

ประเด็นสำคัญพุทธบริษัท4 ควรช่วยกันแยกแยะเป็นประเด็กไปให้ชัดเจน ไม่ลำเอียงเข้าข้างหนึ่งข้างใดด้วยอคติ4 อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะยิ่งจะเป็นผลเสียของพระศาสนามากกว่าผลดี อีกเรื่องหนึ่ง พึ่งตรวจตรองมิให้ "การเมือง" เข้าไปปะปนกับพระศาสนา เพราะการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ เมื่อเปิดช่องให้การเมืองเข้าไปในพระศาสนา ก่อให้เกิดผลเสียเพราะ พระศาสนาจะเป็นเพียงเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ อำนาจ และชื่อเสียง เพื่อเรียกคะแนนนิยมของตน

เรื่องเคยมีมาแล้ว ราว 16 ปีก่อน พรรคการเมืองพาอำนาจรัฐ ตำรวจ ทหาร เข้าสู่วัดพระธรรมกาย เพื่อล้มล้างด้วยข้ออ้างที่เหมือนกับปัจจุบัน มีคำถามว่าเหตุใดจึงปล่อยให้ล่วงเลยมาจนถึงวันนี้ น่าจะแก้ไขตรงนี้มากกว่าอย่างอื่น วันนี้ ยกข้ออ้างเดิม มาบวกกับข้ออ้างใหม่ เพื่อทำลายล้างเหมือนเดิม โดยมองไม่เห็นความดีงามของวัดพระธรรมกายที่ได้กระทำมาตลอดระยะเวลา 40 กว่าปี หรือคุณผู้อ่านเห็นด้วยว่า "วัดพระธรรมกายไม่มีความดีงามอันเป็นคุณูปการแก่พระศาสนาใดๆ เลย" อะไรจะโหดหินมืดบอดถึงปานนั้น

บางรายเสนอให้ยุบมหาเถระสมาคม องค์การปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ เมื่อไม่ได้ดั่งใจตน กล่าวได้ว่าขาดสัมมาคาราวะอย่างแรง ดูแล้วไม่เหมือนชาวพุทธที่แท้ เพราะการปฏิบัติตนขัดกับหลักการทางพระศาสนา เมื่อมิใช่ชาวพุทธที่ดี แล้วจะสมควรกับการยื่นข้อเสนอด้วยความรุนแรงให้ยุบหน่วยงานสูงสุดของพระศาสนาได้อย่างไร และเมื่อยุบแล้วก็มิได้คิดต่อว่าจะทำเช่นไรต่อ และเสนอให้เข้าตรวจเงินวัด เงินพระ ฟังดูเหมือนจะดี แต่น่าจะทำด้วยความรอบครอบกว่านี้

นึกภาพย้อนหลัง ที่เห็นพระศาสนามัวหมองเพราะ ชาวพุทธปล่อยให้การเมืองเข้าแทรกแซงในพระศาสนามากไป เริ่มแต่นักการเมืองเข้าวัด ด้วยหวังให้วัดเป็นฐานทางการเมือง หากเป็นชาวพุทธที่หวังดีกับพระ กับวัดโดยแท้ก็น่าจะต้องเห็นภัยและช่วยกันท้วงติงเสียแต่ตอนนั้น เพื่อป้องกันพระศาสนาด้วยความบริสุทธิ์ใจ พระคุณเจ้าเองก็ต้องมองให้เห็นเจตนารมณ์ของการเมืองที่เข้าวัด เพื่อพัฒนาวัด หรือเข้าวัดเพื่อหวังฐานการเมือง

แม้ตอนนี้ก็ต้องแยกประเด็นให้ออก สิ่งใดที่เป็นประเด็นการเมือง ก็น่าจะแยกออกไปวางไว้ก่อน ส่วนที่เป็นเรื่องคดีความ ปล่อยให้เป็นเรื่องของทางบ้านเมืองดำเนินการให้เรียบร้อย ส่วนเรื่องการตัดสินพระ ที่ตัดสินด้วย "เจตนา" หากชัดเจนก็ควรดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญบ่งชี้ เพราะเจตนา ทางพระศาสนาเป็นเรื่องรู้เฉพาะตน ซึ่งการเอาเจตนาของคน ตัดสินเจตนาของพระ อาจไม่ใช่มาตรฐานที่ดีเท่าใด

และสุดท้ายควรแยกวิชาธรรมกายออกจากตัวบุคคล เหมือนคนมีมีดอยู่เล่มหนึ่ง คนหนึ่งใช้มีดเพื่อทำกิจการงานต่างๆนานาได้อย่างเป็นประโยชน์อย่างดี อีกคนหนึ่งใช้มีดทำร้ายผู้อื่น เราไม่ควรโทษว่ามีดว่า เป็นมีดไม่ดี ต้องทำลายทิ้งมิใช่หรือ

หมายเลขบันทึก: 587561เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2015 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2015 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

"ธรรมกาย" หลายแง่มุม จริงๆๆ ค่ะ .... ท่าน อาจารย์สบายดี นะคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ต่างคน ต่างความคิดนะคะ
  • โลกนี้วุ่นวายหนอ

อยากได้ยินได้ฟังความเห็นในแนวนี้ค่ะ อาจารย์ เพราะดูน่าสับสนมาก

Dr. Ple

สบายดีครับ ดร ครับ

คุณหมอสบายดีนะ

มนัสดา

ครับหลายแง่คิดมุมมอง

คนไทยใช้ความรู้แทนความรู้ มีมากเหลือเกิน

เชื่อความรู้สึก ตามข่าวนั่นเอง

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท