ขับเคลื่อน PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม _๒๔ : PLC ขับเคลื่อน ปศพพ. เทศบาลเมืองมหาสารคาม


วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ CADL สำนักศึกษาทั่วไป ร่วมกับเทศบาลเมืองมหาสารคาม จัดเวที PLC เทศบาลเมืองมหาสารคามเพื่อขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) ที่โรงเรียนเทศบาลบ้านแมด ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมเป็นคณะครูคนละกลุ่มกับ PLC-อ่านออกเขียนได้ กับ PLC-พัฒนาการคิด ประมาณ ๕๐ ท่าน ผู้บริหาร ๗ ท่าน โดยมี รองนายกเทศมนตรีวัลลภ วรรณปะเถาว์ ให้เกียรติมาเป็นประธานในครั้งนี้เช่นเคย... ขอขอบพระคุณท่านที่ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องครับ

BAR (Before Action Review)

ก่อนเริ่มกิจกรรม สิ่งที่เราทำไม่ขาดก็คือ แจกกระดาษโพสท์อิทคนละใบ แล้วให้เขียนคำตอบของคำถาม เพื่อสร้างและปรับค่านิยมร่วม (Shared Value) ได้แก่ ๑) หากเราทำสำเร็จ ทุกคนมีอุปนิสัย "พอเพียง" นักเรียนจะมีคุณลักษณะหรือความสามารถอย่างไร และเพื่อสำรวจความเข้าใจต่อ ปศพพ. ด้านการศึกษา ผมตั้งปัญหาให้เขียนตอบในกระดาษโพสท์อิทแผ่นที่ ๒) ว่า จงยกตัวอย่างวิธีการปลูกฝังอุปนิสัย "พอเพียง" ที่ท่านได้ทำมาแล้ว

ต่อไปนี้คือคำตอบของครู เมื่อถามว่า เด็กมีอุปนิสัย "พอเพียง" จะมีคุณลักษณะและความสามารถอย่างไร?

  • รักบ้านเกิด รักโรงเรียน มีค่านิยม ๑๒ ประการ มีคุณธรรมดี
  • พอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่
  • ห่อข้าวมากินที่โรงเรียน
  • ชอบเอาผลไม้ที่มีอยู่บ้าน มาฝากครูและแบ่งปันเพื่อนๆ
  • อารมณ์ร่าเริง ชอบแบ่งปันสิ่งของให้เพื่อนๆ
  • เป็นคนมีความรู้ มีเหตุผล รู้จักพอประมาณ
  • ประหยัด อดออม
  • แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
  • รับฟังความเห็นของผู้อื่น
  • รับผิดชอบ กตัญญู มีจิตอาสา มีวินัยในตนเอง
  • สนใจ อดทน มุ่งมั่น
  • อยากลองปฏิบัติ อยากเห็นผลที่ได้
  • มีความรู้ มีคุณธรรม ไม่ทำให้คนอื่นเดือนร้อน
  • ซื่อสัตย์ ประหยัด กตัญญู
  • รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
  • ไม่โกหก พูดความจริง
  • เรียบร้อย สุภาพ ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียน
  • ไม่นิยมใช้เทคโนโลยีมากนัก เช่น โทรศัพท์มือถือ
  • ไม่ฟุ่มเฟือย
  • รับผิดชอบหน้าที่ของตน
  • รู้จักตนเอง รู้จักพฤติกรรมของตนเอง รู้จักการปรับปรุงให้ดีขึ้น
  • สามารถใช้ชีวิตรร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และรู้จักเอื้อเฟื้อ
  • สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางสังคม
  • มีความคิดสร้างสรรค์ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การเก็บออมและการใช้จ่าย
  • รู้จักช่วยงานบ้าน เช่น ล้างจาน กรอกน้ำ
  • รู้จักการเลือกซื้อของ ไม่จำเป็นไม่ซื้อ
  • มีความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ
  • ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

และ คำตอบของครู เมื่อถาม ข้อ ๒) ให้ยกตัวอย่างในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้

  • ใช้เป็นแนวคิดในการดำเนินชีวิต เช่น การวางแผนชีวิตอย่างมีเป้าหมาย การวางรากฐานที่มั่นคง
  • ด้านดำเนินชีวิต เช่น การวางแผนการใช้จ่าย
  • ให้ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ในการดำรงชีวิต
  • รับประทานอาหาร ขนม เป็นเวลา
  • รู้จักเลือกรับประทานอาหาร
  • สมุดหนังสือไม่ฉีกขาด
  • พัฒนาการเรียนรู้ให้ดีขึ้น
  • สั่งสอนนักเรียนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม มีระเบียบ
  • ฝึกให้เด็กรู้จักการนำวัสดุเหลือใช้ไปทำให้เกิดประโยชน์
  • ฝึกการเก็บออม
  • ใช้ในการทำงานและการใช้ในชีวิตประจำวัน

วิเคราะห์จากคำตอบของครู เราจะรู้ไดัระดับหนึ่งว่า

  • ความเข้าใจต่อ ปศพพ. ของครู ผูกผันอยู่กับ "๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข" ครูสังกัดเทศบาลส่วนใหญ่ ไม่ได้ยึดติดอยู่กับการเกษตร แต่เข้าใจว่าต้องนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต และชีวิตประจำวันของนักเรียน ... แสดงว่าเข้าใจการปรับใช้ ปศพพ. กับด้านการศึกษาอย่างถูกต้อง
  • ส่วนการนำไปเชื่อมโยงใช้ใน ๔ มิติ จะมุ่งไปที่ด้านวัตถุและเศรษฐกิจ คือ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย การใช้เก็บอออม การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ฝึกให้ใช้วัสดุเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ ฯลฯ ยังไม่มีมิติด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
  • เป้าหมายที่ครูต้องการให้เกิดกับนักเรียนตามคำตอบของคำถามแรก ครอบคลุมทั้งระดับ "มูลค่า" คือหวังให้นักเรียน รู้จักการออม ประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ระดับ "คุ้มค่า" ได้แก่การเลือกใช้วัสดุอย่างคุ้มค่า การวางแผน การทำงาน และการแก้ปัญหาต่างๆ และระดับ "คุณค่า" เกิดปัญญา รู้จักตนเอง ภูมิใจในตนเอง รักโรงเรียน รักท้องถิ่น รู้จักแบ่งปัน ฯลฯ
  • แต่คำตอบของครูต่อข้อคำถามที่ ๒) เรื่องการปลูกฝัง เน้นเพียงด้านเงื่อนไขคุณธรรม และการนำไปใช้ด้านวัตถุและการเงิน ในระดับ "มูลค่า" แต่ยังขาดกระบวนการพัฒนาการคิดและทักษะการแก้ปัญหา
  • ไม่มีคำตอบที่สะท้อนถึงการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนกับการปลูกฝังอุปนิสัย "พอเพียง" ด้านการคิดและทักษะการดำเนินชีวิต

จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดของการขับเคลื่อน ปศพพ. คือ เริ่มจากถอดบทเรียนสิ่งที่ทำแล้วหรือสิ่งที่กำลังทำอยู่แล้ว

ปัญหาสำคัญที่สุดของการขับเคลื่อน ปศพพ. สู่สถานศึกษา คือ บุคลากรเข้าใจว่า การขับเคลื่อนฯ เป็นภาระเพิ่มเติมจากงานประจำที่ทำตามหลักสูตร ซึ่งถือเป็นความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง เพราะอุปนิสัย "พอเพียง" คือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหลักสูตรแกนกลาง ๒๕๕๑ ซึ่งใช้โรงเรียนกำลังใช้อยู่ เช่น คุณธรรมพื้นฐาน ๘ ประการ ได้แก่ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี มีน้ำใจ และสมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียน ๕ ประการ ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการคิด การแก้ปัญหา ทักษะชีวิต และทักษะการใช้เทคโนโลยี นั่นหมายความว่า การขับเคลื่อน ปศพพ. ก็คือการทำให้นักเรียนบรรลุถึงคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตร นั่นหมายถึง การขับเคลื่อนฯ คืองานหลักนั่นเอง...

ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำสำหรับผู้ต้องการจะขับเคลื่อน ปศพพ. ด้านการศึกษาสู่โรงเรียนของตนคือ ทำใจตนเองให้ยอมรับว่า งานขับเคลื่อนฯ คืองานหลัก คือภาระหน้าที่หลัก ไม่ใช่ภาระหน้าที่เสริมเพิ่มเติมใดๆ

วิธีที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นดำเนินการคือ "ถอดบทเรียน" ตนเอง โรงเรียนตนเอง ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้น "พอเพียง" หรือไม่ โดยมุ่งพิจารณาภาระหน้าที่ของตนเป็นหลัก เช่น ผู้บริหารก็พิจารณาการบริหารจัดการของตนว่า แต่ละสิ่งอย่างที่ทำนั้นมีเหตุผลที่ถูกต้องเพียงพอหรือไม่ ใช้วิธีการที่เหมาะสมพอประมาณหรือไม่ และมีแนวทางและการบริหารความเสี่ยงหรือภูมิคุ้มกันที่ดีหรือไม่ แต่ถ้าหากเป็นครู ต้องดูที่การจัดการเรียนรู้และปฏิบัติสัมพันธ์ระหว่างตนกับนักเรียนเป็นสำคัญ

การแยกกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็น "ที่ผ่านมาเราขับเคลื่อน ปศพพ. ในโรงเรียนอย่างไร" แล้วเปิดโอกาสให้แต่ละกลุ่มได้นำเสนอต่อหน้าทุกคน และจับประเด็นเด่นๆ สรุปได้ดังแบ่งไว้เป็น ๓ หมวด คือ เกี่ยวกับการเรียนการสอน กิจกรรมเสริม และกิจวัตรในชีวิตประจำวัน ดังภาพ


การแยกกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้และส่งตัวแทนมานำเสนอ แท้จริงก็คือการ "ถอดบทเรียน" อย่างรวดเร็ว พบว่ากิจกรรมการขับเคลื่อนฯของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลฯ ก็เหมือนโรงเรียนส่วนใหญ่ ที่ให้ความสำคัญกับ กิจกรรมปลูกฝังและส่งเสริมด้านคุณธรรม และนำเข้าสู่ห้องเรียนผ่านรายวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี

ผมในฐานะผู้ขับเคลื่อนฯ บอกกับครูแบบ "ฟันธง" เราไม่ต้องทำอะไรใหม่ เพียงแค่เอาสิ่งที่เราทำอยู่แล้วเหล่านี้ มา"ถอดบทเรียน"อย่างละเอียด ให้เห็น วิธีคิด วิธีการ และผลลัพธ์ของตนเองที่ผ่านมาในแต่ละเรื่อง และฝึกให้นักเรียนได้คิดบนฐาน ปศพพ. ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติ

ฟังจากการนำเสนอ โรงเรียนเทศบาลบ้านส่องนางใย มีครูแกนนำที่รู้แล้วเข้าใจ และน้อมนำหลัก ปศพพ. ไปปฏิบัติอยู่แล้วจนเห็นผล บันทึกหน้าจะมาว่าให้ฟังเรื่องนี้โดยเฉพาะครับ ...

ตอนทายผมบรรยายสรุปหลักปฏิบัติในการขับเคลื่อน ปศพพ. ด้านการศึกษา อ่านได้ที่บันทึกนี้ครับ





















ดูรูปทั้งหมดที่นี่ครับ




หมายเลขบันทึก: 586958เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2015 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มีนาคม 2015 09:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท