การพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในประเทศจีน


เรียบเรียงโดย วิโรจน์ แก้วเรือง

จีน แหล่งกำเนิดของอุตสาหกรรมไหมที่รักษาความเป็นผู้นำในการผลิตมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ แม้อุตสาหกรรมอื่นจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และการพัฒนาชนบทเป็นเมืองใหญ่ แต่อุตสาหกรรมไหมของจีนก็ยังคงรักษาระดับการผลิตได้อย่างยั่งยืน

สาธารณรัฐประชาชนจีน แหล่งกำเนิดไหม จากวัฒนธรรมอันลึกซึ้งกลายเป็นอุตสาหกรรม มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 7,000 ปี เรารู้จัก "เส้นทางสายไหม (Silk Road)" หนึ่งในสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมชาวตะวันตก มีผลกระทบต่อชาวโลกอย่างมาก ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง (Xi Jinping) เสนอให้สร้างเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม (Silk Road Economic Belt) อีก 1 เดือนต่อมา ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้กล่าวอย่างชัดเจนที่อินโดนีเซียถึงเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 ว่าจะให้เป็น "หนึ่งเขตฯ หนึ่งเส้นทาง(One Belt, One Road : OBOR)" เป็นนโยบายของรัฐบาลจีน

ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่ผลิตรังไหมและเส้นไหมมากเป็นอันดับที่ 1 ของโลก มากกว่า 77% และ 81% ของผลผลิตโลกตามลำดับ ขณะเดียวกันจีนยังเป็นประเทศที่ผลิตผ้าไหมสำเร็จ ผ้าไหมย้อม ผ้าไหมพิมพ์ เสื้อผ้าไหมตัดเย็บและผ้าไหมถัก อันดับต้นๆของโลก มีการส่งออกเส้นไหม ผ้าไหมสำเร็จมากถึง 90% และ 60% ของโลกตามลำดับ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าจีนเป็นประเทศที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาไหมของโลก

สถานการณ์

การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของจีน กระจายไปใน 28 มณฑล มากกว่า 1,000 เมือง มีการสร้างงานให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับหม่อนไหมมากกว่า 20 ล้านครัวเรือน และมีผู้ที่ทำงานในโรงสาวและโรงทอมากกว่า 1 ล้านคน ดังนั้นการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและอุตสาหกรรมไหม มีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจของชนบทอย่างยิ่งใหญ่ <table style="font-size: 14px;">

</table>

ภายใต้นโยบายของรัฐบาลในปี 2556 ตามยุทธศาสตร์ "การปรับโครงสร้างการผลิต การสร้างตราสินค้า การส่งเสริมเพื่อพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรม และการขยายการบริโภคไหมภายในประเทศให้มากขึ้น" ทำให้อุตสาหกรรมไหมและการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ยังคงมีการเจริญเติบโตอย่างมั่นคง ดังจะเห็นได้จากข้อมูลสถิติ พื้นที่การปลูกหม่อนในปี 2556 เพิ่มเป็น 12.4275 ล้านมู หรือ 5,178,125 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 1.38 % จากปี 2555 ผลิตไข่ไหมให้เกษตรกร 16.4954 ล้านกล่อง ลดลง 0.07 % จากปีที่ผ่านมา ราคารังไหมสูงเป็นประวัติการ 201 บาท/กิโลกรัม มูลค่ารังไหมมากถึง 130,720 ล้านบาท

การเคลื่อนย้ายฐานการผลิต

จากตารางที่ 2 จะเห็นได้ว่า การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้กระจายตัวจากเขตที่มีการพัฒนาแล้วไปสู่เขตที่กำลังพัฒนา ด้วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในมณฑลที่อยู่ในภาคตะวันออก เช่น เจ้อเจียง (Zhejiang) เจียงซู(Jiangsu) และซานตง (Shandong) เป็นต้น การพัฒนาอุตสาหกรรมและการพัฒนาเมือง จะเป็นตัวเร่งให้ที่ดินมีราคาแพง ค่าแรงเพิ่ม ทำให้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมลดลงปีต่อปี ในพื้นที่ประเทศจีนแม้จะมีการพัฒนาน้อยที่สุด ขาดแคลนปัจจัยในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ แต่เกษตรกรก็ยังมีที่ดินและแรงงานเป็นทุนทางสังคม พร้อมที่จะพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การผลิตรังไหมเคลื่อนย้ายจากเขตที่พัฒนาแล้วไปสู่เขตที่ยังไม่มีการพัฒนา ตัวอย่างเช่น ในปี 2556 รายได้ของประชากรในมณฑลเจียงซู เจ้อเจียง และซานตง เป็น 237,728 บาท 237,347 บาท และ 186,483 บาท ตามลำดับ ผลผลิตรังไหมมีแนวโน้มลดลง ในปี 2544 ผลผลิตรังไหมของมณฑลเจียงซู มีมากสูงสุดของประเทศ ผลิตได้ 19.64% ของประเทศ แต่ในปี 2556 ผลิตได้เป็นอันดับ 3 ของประเทศ เพียง 9.46 % ขณะเดียวกันมณฑลเจ้อเจียง และมณฑลซานตง ลดลงจากอันดับ 2 และ 4 ซึ่งผลิตได้รวม 31.36 % เป็นอันดับ 5 และ 8 ผลิตได้รวมสองมณฑลเพียง 10.31 % ในทางตรงกันข้าม ในปี 2556 รายได้ประชากรของมณฑลกวางสี เป็น 237,728 บาท ข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่าการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในกวางสีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 5,600 ตัน ในปี 2544 เป็น 271,000 ตัน ในปี 2556 มากถึง 4739.29 % จากอันดับที่ 13 ในปี 2544 เป็นอันดับที่ 1 ในปี 2548 ใช้เวลาเพียง 4 ปี เท่านั้น และรักษาแชมป์ได้ถึง 9 ปี ติดต่อจนถึงปัจจุบัน และผลิตได้มากกว่าประเทศอินเดียที่ผลิตได้เป็นอันดับ 2 ของโลก สำหรับมณฑลยูนนาน ผลิตรังไหมได้ 9,400 ตัน ในปี 2544 คิดเป็น 2.15% เป็นอันดับ 10 ของประเทศ ในปี 2556 ผลิตได้ 52,400 ตัน มากขึ้น 4.9 เท่า เป็นอันดับ 4 และจะขยับเป็นอันดับ 3 อย่างแน่นอนในปี 2557

จากการวิเคราะห์จะเห็นว่า ในปี 2544 มณฑลที่ผลิตไหมมากที่สุด 10 แห่งของจีน ได้แก่ มณฑลเจียงซู เจ้อเจียง เสฉวน ซานตง ฉงชิ่ง อันฮุย กวางตุ้ง ซานสี เหอเป่ย ยูนนาน เปลี่ยนเป็นมณฑล กวางสี เสฉวน เจียงซู ยูนนาน เจ้อเจียง กวางตุ้ง อันฮุย ซานตง ฉงชิ่ง และส่านซี ในปี 2556 แต่มีเพียง กวางสี ยูนนาน และกวางตุ้งเท่านั้นที่มีการเติบโตขึ้นในขณะที่มณฑลเหลือมีแนวโน้มลดลง

ตามสถิติการผลิตรังไหมในปี 2556 ได้ 1,371,000 ตัน เพิ่มขึ้น 3.52% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 มีการผลิตเป็นสปันซิลค์ 11,921 ตัน ลดลง 2.37% ผลิตภัณฑ์สิ่งทอผลิตได้ 935.79 ล้านเมตร ลดลง 1.71% ผ้าห่ม 22.79 ล้านเมตร ลดลง 19.7% ส่งออกไหมได้ 105,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7% จากปี 2555 นำเข้า 7,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5%

การพัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยี

เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมไหมของจีน มีการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง มีเทคโนโลยีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมระดับแนวหน้าของโลก ระบบเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของจีน (CARS-22) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 ระบบนี้ประกอบด้วยคณะบุคคลที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ 29 คน ได้แก่ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมหม่อนและไหม พันธุศาสตร์ การปรับปรุงพันธุ์ การป้องกันกำจัดโรค การปลูกหม่อน ดินและปุ๋ย เครื่องมือและเครื่องจักร การใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ เศรษฐศาสตร์ และอื่นๆ มีสถานีทดลอง 30 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทั่วประเทศ เพื่อแนะนำเทคโนโลยีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเบื้องต้น และดำเนินการผลิตหม่อนไหมตามความต้องการ ทำให้เกษตรกรได้เข้าถึงพันธุ์ไหมที่ดี เทคโนโลยีการผลิตเส้นไหม และเครื่องมือที่ทันสมัยอย่างรวดเร็ว การผลิตเส้นไหมด้วยเครื่องสาวอัตโนมัติเพิ่มขึ้น 20 % ในปี 2543 เป็น 100 % ในปี 2556 ทำให้เส้นไหมดิบมีคุณภาพสูงขึ้น การผลิตผ้าไหมด้วยเครื่องทอผ้าแจ็กการ์ด (Jacquard shuttleless looms) เครื่องพิมพ์ผ้าแบบ CMYK 4-Color Process Printers and Inkjet Textiles ในขณะเดียวกันการผลิตจะควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน ลดการปลดปล่อยของเสีย ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้กับอุตสาหกรรมไหม เช่น การให้น้ำแบบหมุนเวียนในการสาวไหม ซึ่งเป็นที่นิยมของโรงสาวไหม การปรับปรุงคุณภาพไหม โดยสมาคมไหมจีน (China Silk Association) เป็นผู้รับรองคุณภาพด้วยเครื่องหมาย "The Mark of High Quality Silk" คล้ายกับเครื่องหมาย "Silk Mark" ขององค์การเครื่องหมายไหมอินเดีย (Silk Mark Organization of India) มีการจัดตั้งคณะกรรมการเทคนิคด้านมาตรฐานไหมแห่งชาติ (National Technical Committee 401 on Silk of Standardization Administration of China : SAC/TC401) ในปี 2551 เพื่อสร้างมาตรฐานการผลิตในอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีมาตรฐานแห่งชาติ 10 ฉบับ ได้แก่ มาตรฐานการผลิต 2 ฉบับ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ 8 ฉบับ มาตรฐานอุตสาหกรรม 34 ฉบับ (31 มาตรฐานผลิตภัณฑ์ 3 มาตรฐานการทดลอง) ซึ่งเป็นมาตรฐานเบื้องต้นของประเทศจีน


บรรณานุกรม

Long, L. 2014. Sericulture Development in China. Indian Silk. Vol.5 (53 old) No.5-7. pp.15-17

หมายเลขบันทึก: 586532เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2015 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2015 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท