การแก้ไขรายการในประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง รายนายชนินทร์ และนายเบียะอ่อ ตอนที่ 4


การแก้ไขรายการในประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง รายนายชนินทร์ และนายเบียะอ่อ ตอนที่ 4

ประเด็นวิเคราะห์นายชนินทร์ และนายเบียะอ่อ หรือยาว ไม่มีนามสกุล [1]

19 กุมภาพันธ์ 2558

มีภาษิตกฎหมายอยู่บทหนึ่งที่นักกฎหมายมักนำมาอ้างอิงอยู่เสมอ ๆ ก็คือ ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม [2]

"การไม่อนุมัติคำร้องขอแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงฯ ของนายทะเบียนหรือของนายอำเภอท่าสองยาง" ในกรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่า เป็นเรื่องของการใช้ "ดุลพินิจ" (Pouvoir discrétionaire or Discretion) ของนายอำเภอฯ ด้วยสาเหตุหลักก็คือ เป็นกรณีที่ผู้ร้องไม่มี "พยานเอกสาร" ใด มาแสดง แม้จะมี "ประจักษ์พยานที่เป็นญาติใกล้ชิด" มายืนยันข้อเท็จจริง ก็ประสบกับปัญหา "ความน่าเชื่อถือ" ของพยานบุคคล โดยพยานบุคคลมีลักษณะเป็น "พยานสมรู้ร่วมคิด" นายอำเภอท่าสองยางจึงมีคำสั่ง "ไม่รับคำร้อง" ไว้พิจารณาในเนื้อหาฯ

แต่เมื่อผู้ร้องทั้งสองคนได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่ง ไม่รับคำร้องฯ นายอำเภอฯ ก็ได้เพิกถอนคำสั่งไม่รับคำร้องฯ และให้รับคำร้องฯ ของผู้ร้องทั้งสองไว้พิจารณาต่อไป

ผู้เขียนได้ลองวิเคราะห์ลำดับขั้นตอนการเดินเรื่องมาแล้วสามตอนถึงเพียงเท่านี้

ก่อนอื่นผู้เขียนขอเท้าความเกี่ยวกับอำนาจ "ดุลพินิจ" ของนายอำเภอ หรือ นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นฯ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ "ไม่อนุมัติ" คำร้องฯ ยิ่งในสมัยก่อนนั้นยังไม่มีการตรวจสารพันธุกรรม "DNA" (ในกรณีเพิ่มชื่อบุคคลสัญชาติไทย) ยิ่งยุ่งยากวุ่นวายมากในการหาพยานหลักฐานมาอ้างอิงซึ่งเรื่องนี้ ผู้เขียนมีความรู้สึกในทางที่มี "อคติ" บ้าง โดยเฉพาะ "คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทย"

จากประสบการณ์ในพื้นที่ชายแดนหรือต่อเนื่องชายแดน และได้ร่วมในกระบวนการพิจารณาลงสัญชาติไทยให้แก่ชาวไทยภูเขามาก่อน [3] ในการพิจารณาเพิ่มชื่อบุคคล "คนไทย" ในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) ว่าจะถือกฎหมายใดเป็นหลักในการพิจารณานั้นผู้เขียนให้ความหมายแคบเฉพาะ "บุคคลคนไทยที่มีสิทธิในสัญชาติไทยตาม พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534" เท่านั้น หากเป็นคนไทยที่ต้องอ้างอิงเกี่ยวโยงไปถึง "กฎหมายสัญชาติ" ตาม พรบ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 ในกรณีหลังนี้กระบวนการขั้นตอนการขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านจะค่อนข้างยาว ด้วยต้องไปดำเนินการตามกระบวนการเพื่อให้ได้สัญชาติไทยเสียก่อน อาทิเช่น ชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ (ชาวเขา 9 เผ่า และหรือบุคคลบนพื้นที่สูง) หรือในกรณีที่เป็นการขอมีสัญชาติไทย หรือ ขอถือสัญชาติไทยตามสามี กรณีเหล่านี้มักจะเกี่ยวข้องกับนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นฯ ในขั้นตอนสุดท้ายในการขอเพิ่มชื่อลงในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) เท่านั้น

สำหรับกรณีของ "บุคคลคนไทยที่มีสิทธิในสัญชาติไทยตาม พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534" ซึ่งมีสิทธิได้รับการพิจารณาแจ้งการเกิดหรือการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) แต่ความยุ่งยากมักเกิดขึ้นเมื่อ "คนไทย" คนนั้นเป็นบุคคลประเภท "ไร้รากเหง้า" หรือ "ไร้ซึ่งเอกสารแสดงตัว" หรือ "หาพยานและเอกสารมายืนยันพิสูจน์ตัวบุคคลไม่ได้ หรือหาพยานได้ยาก" หรือหาก "หาพยานบุคคลมายืนยันข้อเท็จจริงหรือยืนยันตัวบุคคลได้ก็มักเป็นพยานบุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือ และได้รับการปฏิเสธจากฝ่ายปกครอง" เป็นต้น

โดยหลักการแล้ว บุคคลประเภทนี้ไม่ต้องไปวินิจฉัยในเรื่องสัญชาติตามกฎหมาย พรบ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 ก็ย่อมได้รับการพิจารณารับคำร้องเพื่อ "ขอแจ้งการเกิด" หรือ "ขอเพิ่มชื่อบุคคลสัญชาติไทย" ในทะเบียนบ้านได้ตามกฎหมายทันที แม้ในบางกรณีอาจมีข้อสงสัยตามกฎหมายคนเข้าเมืองว่าบุคคลดังกล่าวจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ ก็อาจมีการส่งตัวให้ตรวจคนเข้าเมืองตรวจสอบเพื่อ "ขอพิสูจน์สัญชาติ" ตาม พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 [4] แต่มีกรณีเช่นนี้น้อยรายมาก (ในจังหวัดที่มิใช่ชายแดนอาจไม่มีกรณีนี้เลย)

ฉะนั้น บุคคลประเภทนี้จึงอยู่ภายใต้บังคับของระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 อันเป็นช่องทางที่เขาจะเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนในการแจ้งการเกิดหรือการขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) ของบุคคลสัญชาติไทย เพียงแต่มีอุปสรรคบางประการ และการมีอุปสรรคนี้ทำให้บุคคลที่เห็นได้ชัดจากข้อเท็จจริงว่าจะต้องได้เพิ่มชื่อบุคคลในทะเบียนบ้านในฐานะ "บุคคลสัญชาติไทย"

เมื่อได้รับการปฏิเสธจากนายอำเภอหรือนายทะเบียนฯ ทำให้ "คนไทย" เหล่านี้หมดโอกาสโดยสิ้นเชิงที่จะได้ "สัญชาติไทย"เพราะ หากเป็นคนไทยที่เป็นตาสีตาสา คนยากไร้ คนยากจน หรือที่เรียกว่า "คนชายขอบ" ( Marginal People) ยิ่งแย่เลย โอกาสที่จะได้สิทธิหรือลืมตาอ้าปาก ปกติลำพังบุคคลประเภทนี้ในสภาพความเป็นอยู่หรือโอกาสต่าง ๆ ก็แย่อยู่แล้ว ยังจะถูกปิดกั้นโอกาสการเข้าถึงใน "สิทธิพลเมือง" อีกต่างหาก ในกรณีเช่นนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็น "ความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง" (Unfair/ Unjustified) บุคคลประเภทนี้ในความเข้าใจของผู้เขียนก็คือ "คนไม่มีสถานะทางทะเบียน" ตามที่มีการให้นิยามความหมายไว้ [5] ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า เป็นการผลักไส "คนไทย" ที่มีสิทธิในสัญชาติไทยให้กลายเป็นบุคคลต่างด้าวไปอย่างกลาย ๆ ทำให้ไม่ได้รับการรับรองสิทธิหรือได้สิทธิใด ๆ ในฐานะ "บุคคลสัญชาติไทย" ได้เลย ไม่ว่าจะเป็น สิทธิการรักษาพยาบาล เบี้ยผู้สูงอายุ ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้วเขาคือ "คนไทยที่มีสัญชาติไทย" ในภาษากฎหมายถือว่าเขา "เป็นคนต่างด้าวเทียม" [6] ในทัศนะของผู้เขียนแล้วเห็นว่า ไม่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง เป็นความจำเป็นที่ "รัฐ" จะต้องลดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในจุดนี้ลงให้ได้ ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม ประกอบกับเหตุผลว่า การที่รัฐมีนโยบายในการจดทะเบียนบุคคลทุกคนในประเทศและให้สัญชาติไทยแก่ชนกลุ่มน้อย หรือบุคคลกลุ่มอื่นที่มิได้เป็นคนไทยแท้ตามหลักสายโลหิต แต่กาลกลับเป็นว่า "คนไทยที่มีสายเลือดไทยโดยกำเนิด" กลับถูกสภาพบังคับของกฎหมายและสภาพข้อเท็จจริงบางอย่างบีบบังคับอย่างผลักไสทำให้เขากลายเป็นคนต่างด้าวไปในที่สุด ซึ่งไม่มีความเป็นธรรมแก่เขาเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง ตามแนวคิดแบบ "กฎหมายนิยม" หรือ "แนวคิดปรัชญากฎหมายธรรมชาติ" (Natural Law) [7] และหลักปรัชญา "มนุษยนิยม" (Humanism) [8] ที่ยืนยันถึงความสง่างามและคุณค่าของมนุษย์ทุกคน การยอมรับโดยมนุษย์ทั่วไปที่มีคุณภาพ เพื่อดำรงรักษาความถูกต้องเป็นธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนไว้

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร นักกฎหมาย นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ผู้เขียนขออ้างอิงและขออนุญาตโพสต์อ้างอิงด้วยความเคารพ พอรวบรวมได้ดังนี้

(1) แนวคิดกฎหมายนิยมเป็นสิ่งที่ครูสอนกฎหมายควรยืนยัน และคำว่า "กฎหมาย" นี้ ก็ควรสะท้อนสิ่งที่ถูกต้องกับธรรมชาติและศีลธรรม จะให้ผู้มีอำนาจมาสั่งเอา หรือเขียนกระดาษเพื่อบันทึกมนุษย์ที่ผิดไปจากธรรมชาติของมนุษย์ ขอบคุณที่ท่านทั้งหลายสู้เพื่อมนุษย์ตัวน้อยที่ยากไร้ ... อ.แหววเพิ่งสะเทือนใจในคนเรียนกฎหมาย แต่ไม่เป็นกฎหมายนิยม … กระบวนการยุติธรรมทางปกครองก็น่าจะได้มีโอกาสชี้ถูกผิดในการจัดการประชากรอีกครั้งหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่หน่วยงานของกรมการปกครองอาจจะต้องทบทวน ก็คือ การขจัดปัญหาความไร้สัญชาติของมนุษย์ที่ปรากฏตัวบนแผ่นดินไทยเป็นภารกิจสำคัญของกรมหรือไม่ ความมั่นคงของรัฐไทยขึ้นอยู่กับความมั่นคงของประชากรทุกคนบนแผ่นดินไทยหรือความมั่นคงของประชากรบางคน เป็นคำถามเพื่อการปฏิรูปแนวคิดและวิธีการจัดการประชากรของกรมการปกครอง กรมที่ทำหน้าที่นี้มาตั้งแต่ปลายสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 5 อ.แหววจะพยายามคิด เพื่อเขียนบันทึกสักฉบับเพื่อแลกเปลี่ยนกับอำเภอท่าสองยาง มวลมิตรที่มีโปรดสละเวลามาช่วยคิดก็น่าจะดี [9]

(2) "หนังสือที่ (นายอำเภอท่าสองยางแจ้งไม่อนุมัติคำร้องขอแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงฯ) ตอบมานี้ ไม่ชัดเจนและน่าจะทำให้ปัญหาแบบนี้ยืดเยื้ออีกนาน ไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร เดินเข้าไปหารือกันเลย ถามกันชัดๆ หารือกันชัดๆ ตรงประเด็น ตรงกับใจที่อยากถาม" และ "ขอเน้นว่า ถ้าต้องสู้คดีกันในศาลปกครอง ก็ต้องทำ ไม่ได้บอกว่า ไม่ทำ แต่อยากให้ฟ้องกันไป คุยกันไป จะให้ศาลปกครองชี้ประเด็นอะไรกันแน่ ? อาทิ ปากคำชาวบ้านฟังไม่ได้จริงหรือ ? การเดินเผชิญสืบทำไม่ได้จริงหรือ ? อำเภอสามารถเงียบเฉย/ไม่ร่วมมือในการพิสูจน์สิทธิของเจ้าของปัญหาได้จริงหรือ ? เป็นอำเภอใจของอำเภอเต็มร้อยหรือไม่ที่จะฟังหรือไม่ฟังชาวบ้าน ? การเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านจะทำไม่ได้เลยจริงหรือ ? ประเด็นของความถูกต้อง/ความยุติธรรมอันใดที่จะขอให้ศาลชี้กันแน่ ?? คุยกับอำเภอให้ชัด หรืออาจจะต้องคุยให้ชัดถึงจังหวัด/กรมการปกครอง/กระทรวงมหาดไทย ... ลองเอาคดีแม่อายมาทบทวนเลย ประเทศไทยคงมีคดีปกครองใหญ่อีกครั้งแล้ว" [10]

(3) ได้เรียกร้องข้อเสนอที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาข้อขัดข้องในพยานหลักฐานว่า "ท่านนายอำเภอท่าสองยาง ที่เปิดพื้นที่ทำงานเพื่อคนชายแดนที่ยากจน การทำให้หลักกฎหมายชัดเจนเป็นงานนิติธรรมที่เป็นภารกิจของกรมการปกครองมายาวนาน การรักษาหลักนิติธรรมเพื่อประชาชนยากจนเป็นงานที่กรมการปกครองก็ทำเสมอมา ทำได้ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่ในภาพรวมก็คงดีล่ะ เพราะคนในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยดูจะมีปัญหาน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อยากให้ทุกท่านทำงานกันข้ามปีอย่างมีความสุขที่ได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดต่อคนยากไร้"

"หาก อ.แหวว จะสามารถทำอะไรที่มีประโยชน์ต่อท่านทั้งหลายได้ ก็ขอให้บอกมา อย่าได้เกรงใจ กระบวนการสร้างความชัดเจนดังที่เป็นมาในคดีแม่อายก็เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์และงดงาม จะเห็นว่า การถอนคนออกจากทะเบียนราษฎรของรัฐไทยก็จะทำตามอำเภออีกไม่ได้แล้ว 3 ปีที่ใช้ในการคุยกันในศาลปกครอง ก็น่าจะทำให้ความชัดเจนในเรื่องนี้เกิดขึ้น"

"หากท่านนายอำเภอท่าสองยางจะไม่มั่นใจในข้อกฎหมายและข้อนโยบายที่เป็นอยู่ ก็น่าจะใช้กระบวนการทางศาลได้ และก็คงมีมวลมิตรมาช่วยกันทำให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมายที่ว่า (1) ประชาชนยากจนไร้การศึกษาอาจแสดงตนเป็นพยานบุคคลได้หรือไม่ (2) ในสถานการณ์ยากลำบาก และไม่ใช่ พื้นที่ที่เป็นสภาพเมือง การเรียกร้องให้เจ้าของปัญหาต้องมีพยานหลักฐานที่สมบูรณ์นั้น เป็นสิ่งที่ชอบธรรมหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองข้อที่คาใจอำเภอท่าสองยางนี้ ก็มีคำสอนและคำพิพากษามากมาย หากทางกรมการปกครองในส่วนกลางลงมาช่วยจังหวัดตากและอำเภอท่าสองยาง ก็น่าจะดีกว่าหรือไม่ กระบวนการยุติธรรมที่จัดการโดยฝ่ายปกครองเอง ก็น่าจะเพียงพอ" และเห็นว่า "หากท่านนายอำเภอท่าสองยางจะไม่มั่นใจในข้อกฎหมายและข้อนโยบายที่เป็นอยู่ ก็น่าจะใช้กระบวนการทางศาลได้" ซึ่งเป็นทางออกสุดท้ายที่ดูจะเป็นความล่าช้าก็ได้ [11]

(4) เสนอให้ท่านคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน Naresuan Legal Clinic) ช่วยงานวิจัยของนักศึกษา (ในพื้นที่หมู่บ้านกุยต๊ะ ซึ่งตั้งอยู่ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ชาวบ้านประสบปัญหาเรื่องการพิสูจน์สิทธิในสถานะบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในสัญชาติไทย) ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่รักษาการตามกฎหมายเกี่ยวกับสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนทั้งหมด และอธิบดีกรมการปกครอง มีประชาชนไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายที่ได้รับผลกระทบจากทัศนคติที่มิชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวนี้มากมาย [12]

(5) เสนอให้ทำจดหมายถึง มท.1 และอธิบดีกรมการปกครองเลย จะช่วยให้ท่านทั้งสองกลับมาดูแลการกระทำที่ไม่ถูกต้องนี้ อย่ารอแม้วินาทีเดียว เราคงได้เห็นคดีปกครองใหญ่ๆ ประมาณคดีแม่อายเร็วๆ นี้ ถ้าเรายอมรับจิตนิยมที่จะให้มีการปฏิเสธคำพยานบุคคลของชาวบ้านยากจนและเป็นคนชาติพันธุ์ตามอำเภอใจ เป็นโอกาสที่นิตินเรศวรจะช่วยเช็คน้ำตาให้ประชาชนยากไร้ อย่ารอว่างเลย ควรทำทันที [13]

ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายต่อคนจนและคนยากไร้นั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ หากรัฐมีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำทุกในทุกมิติ การบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มคนที่ยากไร้จึงเป็นสิ่งสำคัญอันอันที่จะลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำลง ดังที่ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ [14] ได้อภิปรายถึงการบังคับใช้กฎหมายต่อคนจนและคนยากไร้ต่อที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในญัตติ "จะทำอย่างไรให้มีการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม" เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558

ยังมีต่อ ตอนต่อไปจะวิเคราะห์ดูเนื้อหา...

[1] "พยานสมรู้ร่วมคิดในการสอบพยานเพื่อรับรองตัวบุคคลในการแก้ไขรายการในทะเบียนราษฎร"

, 5 มกราคม 2558, https://www.gotoknow.org/posts/583457&ศิวนุชสร้อยทอง, การรับรองความน่าเชื่อถือของ "พยานหลักฐานในการพิสูจน์การเกิดเพื่อแก้ไขทะเบียนประวัติ ฯ ของนายชนินทร์" : ปลาทอง นักกม.โครงการ4หมอ, 1 มกราคม 2015, https://www.facebook.com/notes/1030676490283094

[2] "justice delayed is justice denied"; ดูใน "ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม", จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, http://th.wikipedia.org/wiki/ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม

[3] ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านให้แก่ชาวไทยภูเขา พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นระเบียบฯเดิมก่อนระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. 2543

[4] รวมทั้งในกรณีตามข้อ 95 และข้อ 96/1 (บุคคลที่อ้างว่ามีสัญชาติไทยซึ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ, บุคคลสัญชาติไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ) แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535

และตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 57 "เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ใดอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยถ้าไม่ปรากฏหลักฐานอันเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย

การพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หากผู้นั้นไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่จะร้องขอต่อศาลให้พิจารณาก็ได้

ในกรณีที่มีการร้องขอต่อศาล เมื่อได้รับคำร้องขอแล้ว ให้ศาลแจ้งต่อพนักงานอัยการ พนักงานอัยการมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านได้"

[5] ตาม ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนพ.ศ. 2548 ข้อ 3 "บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน" หมายถึง บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแต่ไม่มีรายการในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 13 และ ท.ร. 14) เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันถิ่นกำเนิดหรือประวัติของบุคคลหรือมีหลักฐานไม่เพียงพอที่นายทะเบียนจะพิจารณาเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ทั้งนี้ไม่รวมถึงคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่ไม่อยู่ในความควบคุมของทางราชการหรือรัฐไม่มีนโยบายผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ"..... อ่านต่อได้ที่: รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, 23 ตุลาคม 2552, https://www.gotoknow.org/posts/308024

[6] โดยข้อสันนิษฐานของมาตรา 57 แห่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย..... อ่านต่อได้ที่: กิติวรญา รัตนมณี, "คนต่างด้าว" คือใครกัน ????, 18 มีนาคม 2552, https://www.gotoknow.org/posts/249368

[7] ซึ่งเกี่ยวกับคุณค่าทางศีลธรรม ความยุติธรรมอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) ดูใน สิทธิกร ศักดิ์แสง, "สิทธิมนุษยชนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540: การต่อสู้เพื่อคำนิยามปรัชญากฎหมายเชิงอุดมคติ", วารสารสงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ปีที่13, ฉบับที่ 2 เมษายน - มิถุนายน 2550, http://kaekae.oas.psu.ac.th/ojs/psuhsej/include/getdoc.php?id=1115&article=429&mode=pdf

[8] "มนุษยนิยม", จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, http://th.wikipedia.org/wiki/มนุษยนิยม

[9] ความเห็นรศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ในเฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2557

[10] ความเห็นรศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ในเฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2557.

[11] ความเห็นรศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ในเฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2557.

[12] ความเห็นรศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ในเฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558

[13] ความเห็นรศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ในเฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558

[14] นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี

หมายเลขบันทึก: 586466เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2015 06:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2015 12:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท